ยาอบสมุนไพร สูตรบำบัดสุขภาพฉบับภูมิปัญญาท้องถิ่น


อบสมุนไพร


          ภูมิปัญญาการดูแลสุขภาพแบบไทย ๆ เป็นเอกลักษณ์และไม่เป็นสองรองใคร หนึ่งในนั้นก็คือ ยาอบสมุนไพร ที่ใช้พืชสมุนไพรมารักษาอาการเจ็บป่วยได้หลายโรค

          ประเทศไทยช่างโชคดีที่มีพืชสมุนไพรปลูกกันอยู่ทั่วประเทศ และได้มีการนำพืชเหล่านั้นมาพัฒนาหาวิธีดูแลสุขภาพและรักษาโรคแบบฉบับภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งก็ได้ผลดีจนน่าสนใจ อย่างเช่นการอบยาสมุนไพรที่นิตยสาร Happy+ หยิบมาแนะนำกันครั้งนี้

          ยาอบ เป็นการใช้ไอน้ำและความร้อนพาตัวยาและน้ำมันหอมระเหยจากสมุนไพรไปสัมผัสผิวหนัง แทรกซึมผ่านเยื่อบุเข้าสู่ร่างกายของคนไข้ และผ่านเข้าทางลมหายใจที่สูดเข้าไปด้วย ทำให้ตัวยาสามารถออกฤทธิ์ได้ทั่วร่างกายในเวลาอันรวดเร็ว ช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย เป็นการเยียวยาบำบัดอีกวิธีหนึ่งที่ใช้ได้ผลดีกับคนที่มีอาการเกี่ยวกับจิตประสาทและระบบทางเดินหายใจ

          การอบสมุนไพรในแต่ละชุมชนจะมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน ทั้งชนิดของสมุนไพรวิธีการ และอุปกรณ์ที่ใช้กักไอน้ำร้อนไว้สำหรับการอบ ในแต่ละท้องถิ่นยิ่งเรียกยาอบในชื่อต่าง ๆ เช่น ยาอุ๊ป ยาฮม เป็นต้น

อบสมุนไพร

          การอบสมุนไพรมีหลากหลายรูปแบบตามภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น การต้มสมุนไพรอยู่ภายนอก แล้วต่อท่อเข้าไปยังห้องอบ การนำหม้อยาที่เดือดเข้าไปตั้งอยู่กับผู้ป่วยภายในกระโจมต้มอบ สุ่มไก่ หรือผ้าห่มผืนหนา ๆ การนำหม้อต้มยาที่ต้มจนเดือดดี แล้วตั้งไว้ได้แคร่ นำผ้าล้อมไว้ทั้งสี่ด้าน เพื่อให้ไอร้อนลอยขึ้นสัมผัสผู้ป่วยที่นอนห่อผ้าอยู่บนแคร่ หรือการนำสมุนไพรมาตำคั้นน้ำผสมกับน้ำเปล่าให้ได้ปริมาณ 1 กระป๋อง นำมาราดลงบนก้อนหินที่เผาจนร้อน เพื่อให้เกิดไอขึ้นภายในสุ่มไก่

          การอบสมุนไพรโดยทั่วไป จะห้ามใช้สำหรับคนไข้ และห้ามคนป่วยกินของแสลงสำหรับโรคนั้น ๆ นอกจากนี้ ยังมีข้อห้ามสำหรับแต่ละโรคหรืออาการ เช่น

          คนที่ฟกช้ำจากการตกต้นไม้ ควายชน หากมีบาดแผลห้ามอบ

          แม่หลังคลอดห้ามกินของหมักดอง อาหารรสเผ็ด รสเค็ม เนื้อควายเผือก ปลาไหล กบ อึ่งอ่าง ชะอม ห้ามเดินข้ามหม้อต้มยา

          อัมพฤกษ์อัมพาต แขนขาไม่มีแรง ห้ามกินหน่อไม้ เงาะ มะพร้าว อาหารหมักดอง ห้ามกินไก่ กินเนื้อ ห้ามกินปลาไหล ปลาซิว ปลาฝา ปลาหลาด ปลาเคิง ปลาเลิม เต่า

          ริดสีดวง ห้ามกินอาหารหมักดอง หน่อไม้ ไก่ เป็ด ปลาไหล ปลาหลด เต่า

          ถ้าเป็นผื่นคัน ลมพิษ ห้ามกินอาหารรสเผ็ด เค็ม อาหารหยาบย่อยยาก

อบสมุนไพร

วิธีการอบ

          1. นำสมุนไพรมาล้างให้สะอาด มัดเป็นกำหรือย่อยขนาดตามสูตร

          2. นำสมุนไพรลงต้มในน้ำจนเดือด

          3. ให้ผู้ป่วยเช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นเพื่อเปิดรูขุมขนแล้วนั่งในกระโจมกับหม้อต้มที่เดือดแล้ว

          4. ในรายที่ไม่เคยอบมาก่อน ให้อบครั้งละ 15 นาที จำนวน 3 รอบ ผู้ที่อบเป็นประจำ ให้อบครั้งละ 20 นาที จำนวน 2 รอบ

          5. ระหว่างพักให้สังเกตอาการผู้ที่เข้าอบว่ามีอาการเวียนศีรษะ และหายใจไม่สะดวกหรือไม่ หากมีอาการดังกล่าวควรหยุดอบ ระหว่างพักให้ผู้ป่วยรับประทานน้ำอุ่น อาจผสมเกลือลงในน้ำเล็กน้อยเพื่อป้องกันการเสียเกลือแร่

          ยาอบนั้นมีอยู่มากมายหลายตำรับ และใช้รักษาอาการได้หลากหลาย โดยตัวยาสมุนไพรหลัก ๆ คือ สมุนไพรที่มีกลิ่นหอม สมุนไพรรสเปรี้ยว สมุนไพรที่มีฤทธิ์ลดการอักเสบ คล้ายกับที่ใช้ในยาประคบ

         สมุนไพรหลักสำคัญ ๆ ในตำรับยาอบได้แก่ ใบหนาด ใบเปล้า รองลงไปคือ ตะไคร้ ไพล มะกรูด และสมุนไพรที่มีกลิ่นหอมพวกพืชตระกูลส้ม เช่น ส่องฟ้า มะกรูด ส้มโอ สมุนไพรที่มีรสเปรี้ยว เช่น ใบมะขาม ใบส้มป่อย และสมุนไพรที่ใช้รักษาอาการต่าง ๆ เช่น ผักบุ้ง ดอกปีบ เป็นต้น นอกจากนี้ยังใส่เกลือในปริมาณเล็กน้อยด้วย

         ข้อควรระวังในการอบ ต้องระมัดระวังสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน อัมพาต เด็กหรือผู้สูงอายุ เพราะคนเหล่านี้มักมีความรู้สึกตอบสนองช้า สำหรับผู้ป่วยที่เป็นผู้วิกลจริตหรือลมบ้าหมูควรมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด หลังการอบสมุนไพรไม่ควรอาบน้ำทันที เพราะจะไปชะล้างตัวยาออกจากผิวหนัง และทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน และห้ามอบหากมีไข้ตัวร้อน

อบสมุนไพร


ตำรับยาอบแก้ปวดเมื่อย

          ใช้ไพล ขมิ้นขัน ตะไคร้ ใบและผิวมะกรูด ใบหนาด ว่านน้ำ ใบส้มป่อย เหงือกปลาหมอชะลูด กระวาน เกสร 5 สมุลแว้ง พิมเสน การบูร

ตำรับยาแก้ปวดศีรษะ แก้ปวดในสมองเรียกว่าลมจมประสาท

          ใช้ตะไคร้ 1 กอ ต้มให้เดือด แล้วเอากระดานปูบนปากหม้อ ให้ผู้ป่วยนั่งเข้ากระโจมบนนั้น

ตำรับยาอบสมุนไพรคลายเครียด

          ใช้ใบเล็บครุฑ ลวกน้ำข้าวแล้วตากให้แหง หัวเปราะหอม ผลมะกรูดอ่อนแก่ ใบหนาด เปล้าใหญ่เปล้าเล็ก ขมิ้นขัน ขมิ้นอ้อย ไพล ว่านน้ำ ว่านหอมแดง ตะไคร้หอม เตยหอม นำยาทั้งหมดตากให้แห้ง เอามาต้มอบ ใส่พิมเสน การบูรเล็กน้อย

ตำรับยาอบแก้วิงเวียน หน้ามืด ปวดศีรษะ

          ใช้ใบปีกไก่ตัวผู้สด ใบปีกไก่ตัวเมียสด ต้นกะเพราสด ต้นและใบตะไคร้สด อย่างละ 1 กำมือ หัวว่านไฟ 1 หัว ต้มอบ

ตำรับยาอบแก้วิงเวียน หน้ามืด ตาลาย


          ใช้ใบมะกรูด ใบมะนาว หัวและใบไพล เอา 3 อย่าง สดหรือแห้ง ถ้าสดโขลกกรองเอาน้ำใส่กะละมัง ผสมน้ำ 6-10 ลิตร

ตำรับยาอบแก้ผื่นคัน ลมพิษ คันทั้งตัว หายใจขัด

          ใช้ต้นและใบเสลดพังพอนตัวผู้สด ต้นและใบเสลดพังพอนตัวเมียสด อย่างละ 1-2 กำมือ ใช้ยานี้ประมาณ 3 วันจึงหยุดยา อาจมีผลข้างเคียงคือ ไม่อยากกินข้าวกินน้ำ กินอาหารไม่มีรส

ตำรับยาอบเพื่อสุขภาพ

          ใช้ยอดผักบุ้ง ใบมะกรูด ใบมะขาม ใบส้มป่อย ต้นตะไคร้ หัวไพล ใบพลับพลึง ใบหนาด การบูร ขมิ้นชัน





ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่อง ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ยาอบสมุนไพร สูตรบำบัดสุขภาพฉบับภูมิปัญญาท้องถิ่น อัปเดตล่าสุด 15 พฤศจิกายน 2566 เวลา 11:00:23 96,273 อ่าน
TOP
x close