วิธีรักษาตาปลาที่เท้าง่าย ๆ ไม่ต้องทนรำคาญอีกต่อไป

           ตาปลา ก้อนหนังกำพร้าที่สร้างความรำคาญ และอาจสร้างความเจ็บปวดให้ใครหลายคน มาดูวิธีรักษาที่แสนจะง่ายจากของใกล้ตัวในบ้าน อยากให้เท้าเรียบเนียนสวยต้องรีบทำตาม

วิธีรักษาตาปลา

          ตาปลา หนึ่งในโรคผิวหนัง ที่แม้จะไม่มีความอันตราย แต่ก็สร้างความรำคาญใจได้ไม่น้อยเพราะเมื่อเป็นแล้วก็อาจจะทำให้รู้สึกเจ็บได้ขณะที่เดินหรือสวมใส่รองเท้า ซึ่งวิธีรักษาเจ้าตาปลานี้ก็ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ก่อนที่จะไปดูวิธีรักษาตาปลา ลองมาทำความรู้จักตาปลากันหน่อยดีกว่า

* ตาปลาเกิดจากอะไร แตกต่างจากหูดอย่างไร

          ตาปลา หรือที่มีชื่อเรียกภาษาอังกฤษว่า Corn เป็นก้อนของหนังขี้ไคลที่หลายคนมักสับสนกับโรคหูด แต่ตาปลาเกิดจากการเสียดสีหรือกดทับของผิวหนังเรื้อรังเ­­ป็นเวลานาน เช่น การเสียดสีกันระหว่างเท้าและร­องเท้า บริเวณนิ้วเท้าที่กระดูกนิ้วเท้าเสียดสีกัน หรือด้านบนหลังเท้าที่เกิดจากการสวมรองเท้าหัวแบนเป็นประจำ ซึ่งแตกต่างจากหูดที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส สามารถเกิดบริเวณใดก็ได้ที่ติดเชื้อ ไม่จำเป็นต้องมีการเสียดสี และหากลองใช้มีดฝานตาปลาบาง ๆ จะไม่พบจุดเลือดออกเหมือนหูด เพราะตาปลาจะเป็นหนังแข็ง ๆ ที่ไม่มีเส้นเลือดมาเลี้ยงเยอะ ๆ เหมือนหูด อีกทั้งตาปลาเองก็ไม่ได้เป็นโรคติดต่อ เหมือนหูดด้วย

วิธีรักษาตาปลา

* ตาปลาอันตรายไหม

          ตาปลาจะเป็นตุ่มหนา แข็ง หรือผิวหนังหยาบ ๆ เฉพาะจุด กดแล้วเจ็บ ซึ่งอาการเจ็บปวดที่เกิดจากตาปลานั้น เป็นเพราะก้อนหนังขี้ไคลที่แข็งตัวถูกกดเข้าไปลึกในผิวหนัง หรือถ้าเป็นมากก็อาจจะไปกดทับกระดูกและเส้นประสาททำให้รู้สึ­­กเจ็บได้ แต่อย่างไรก็ตาม ตาปลาไม่ใช่โรคติดเชื้อ หากรักษาตาปลาอย่างถูกวิธีและป้องกันดี ๆ ก็จะหายได้ไม่ยาก โดยวิธีรักษาตาปลาก็มีหลากหลายวิธีตามนี้เลย

* วิธีรักษาตาปลา

         
1. ใช้หินขัดเท้าเบา ๆ

          แช่เท้าในน้ำอุ่นนาน 15-20 นาที เพื่อให้ตาปลานุ่มลง จากนั้นใช้หินขัดเท้าขัดเบา ๆ ซึ่งจะช่วยให้ตาปลาหลุดได้ แล้วใช้ครีมทาบำรุงเท้าโดยเฉพาะเพื่อให้ความชุ่มชื้น แต่วิธีนี้อาจต้องทำซ้ำหลายครั้งกว่าตาปลาจะหายไป

          2. แปะพลาสเตอร์ยา

วิธีรักษาตาปลา

          ใช้พลาสเตอร์ที่มีกรดซาลิไซลิก 40% ปิดบริเวณตาปลาประมาณ 2-3 วัน หลังจากนั้นลอกพลาสเตอร์ออก แล้วแช่เท้าในน้ำอุ่นนาน 15-20 นาที เพื่อให้ตาปลานิ่มลงและลอกออกง่าย วิธีนี้ก็ควรต้องทำซ้ำบ่อย ๆ จนกว่าตาปลาจะหายไปด้วย

          3. ทายา

          แช่เท้าในน้ำอุ่นนาน 15-20 นาที จากนั้นเช็ดเท้าให้แห้ง และทาปิโตรเลียมเจลหรือน้ำมันมะกอกบริเวณรอบ ๆ ตาปลาเพื่อป้องกันกรดในตัวยากัดผิว จากนั้นจึงทายาที่มีกรดซาลิไซลิก หรือยาทารักษาหูดลงบนตาปลา วิธีนี้ก็ไม่ยากแต่อาจต้องทำซ้ำหลายครั้งจนกว่าตาปลาจะหลุดออก

          4. ผ่าตัด

          หากตาปลาเป็นเยอะหรือรุนแรง ไม่สามารถรักษาด้วยยาได้ แพทย์จะฝาตาปลาออก หรืออาจต้องผ่าตัด ซึ่งวิธีนี้จะหายเร็วกว่าการใช้ยา ทว่ามีโอกาสจะเป็นแผลเป็น และต้องรักษาแผลผ่าตัดนาน และควรทำแผลให้ถูกต้อง เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่แผลได้ ที่สำคัญค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดค่อนข้างสูงกว่าการใช้ยาค่อนข้างมาก

          5. รักษาด้วยเลเซอร์หรือการจี้ไฟฟ้า

          วิธีรักษาตาปลาด้วยความร้อน หรือเลเซอร์ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง และอาจทิ้งรอยแผลเป็นได้ แต่จะทำให้ตาปลาหายเร็วกว่าการใช้ยา

          6. ใช้กระเทียมรักษา

วิธีรักษาตาปลา

          ฝานกระเทียมสดเป็นชิ้นหนา ๆ แล้วนำมาถูบริเวณที่เป็นตาปลา จากนั้นแปะกระเทียมกับตาปลาแล้วใช้ผ้าพันไว้ข้ามคืน ตื่นเช้ามาจึงค่อยแกะผ้าแล้วทำความสะอาดปกติ พอก่อนนอนก็ค่อยพันกระเทียมที่ตาปลาอีกครั้ง ทำต่อเนื่องกันประมาณ 1-2 สัปดาห์ หรืออาจใช้มะนาวไม่ก็สับปะรดแทนกระเทียมได้ ทว่าวิธีนี้อาจไม่ได้ช่วยให้ตาปลาหายได้เท่าไรนะคะ

          7. เช็ดด้วยน้ำส้มสายชู

          กรดที่เข้มข้นในน้ำส้มสายชูจะช่วยให้ผิวที่แห้งแข็งนิ่มลงได้ โดยนำน้ำส้มสายชูผสมกับน้ำ 3 ส่วน แล้วใช้สำลีชุบน้ำส้มสายชูเจือจางทาลงบนตาปลา ปิดทับด้วยผ้าพันแผลทิ้งไว้ข้ามคืน จากนั้นนำผ้าพันแผลออก แล้วขัดด้วยหินขัดเท้าเบา ๆ บำรุงด้วยน้ำมันมะกอกหรือน้ำมันมะพร้าว ทำซ้ำได้จนกว่าตาปลาจะหลุดออก แต่ควรระวังไม่ให้น้ำส้มสายชูที่ใช้เข้มข้นจนเกินไป

* ใช้กรรไกรตัดหรือเฉือนตาปลาได้ไหม

วิธีรักษาตาปลา

          แม้ตาปลาจะเป็นหนังแข็ง แต่ก็ไม่ควรตัดหรือเฉือนตาปลาด้วยของมีคม เพราะอาจเสี่ยงต่อการเป็นแผลติดเชื้อที่ผิวหนังได้

* ใช้ธูปจี้ตาปลาได้ไหม

          อีกหนึ่งวิธีที่มีการแนะนำกันอย่างแพร่หลาย ด้วยการใช้ความร้อนจากธูปจี้ตาปลา ซึ่งไม่ได้ช่วยให้ตาปลาหายเลยนะคะ และอาจทำให้เกิดแผล ติดเชื้อ ต้องรักษาทั้งแผลและการติดเชื้อยาวไป ดังนั้นรักษาตาปลาด้วยวิธีอื่นที่ปลอดภัยเถอะ

* ตาปลา ป้องกันได้ง่าย ๆ

วิธีรักษาตาปลา

          ถ้าไม่อยากให้ตัวเองต้องมานั่งรักษาตาปลากันทีหลัง ก็ลองป้องกันด้วยวิธีตามนี้ดู

          - สวมรองเท้าพื้นนิ่ม  

          - สวมรองเท้าที่ไม่คับหรือหลวมจนเกินไป  

          -  เลือกรองเท้าให้เหมาะกับรูปเท้าของตัวเอง

          - หลีกเลี่ยงการใส่ส้นสูงนาน ๆ

          - หลีกเลี่ยงการเดินลงน้ำหนักที่เท้าอย่างไม่เหมาะสม

          - รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อลดแรงกดที่ฝ่าเท้า

          หากเป็นตาปลาแล้วก็พยายามลดแรงกดที่ตาปลาให้ได้มากที่สุด โดยอาจใช้ฟองน้ำ หรือแผ่นรองกันกัดรองส่วนที่เป็นตาปลาไว้ เพื่อกันไม่ให้หนังแข็ง ๆ ฝังลงไปในเนื้อเท้ามากขึ้น นอกจากนี้พยายามอย่าเดินเยอะหรือยืนนาน ๆ ด้วยนะคะ

          * หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 30 กันยายน 2563

ขอบคุณข้อมูลจาก
รายการสามัญประจำบ้าน, โรงพยาบาลสำโรงการแพทย์, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์, Youtube ใกล้มือหมอ Doctor Near U, Mahidol Channel มหิดล แชนแนล, ศูนย์ข้อมูลเครื่องสำอาง กองเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิธีรักษาตาปลาที่เท้าง่าย ๆ ไม่ต้องทนรำคาญอีกต่อไป อัปเดตล่าสุด 30 กันยายน 2563 เวลา 11:58:53 827,142 อ่าน
TOP
x close