บัตรทองเตรียมตัวพัง หลังรัฐบาลจ่ายแหลกผู้เดียว สัดส่วน 4.6% ของจีดีพี เตรียมหารือให้ประชารัฐร่วมจ่าย ลั่น ไม่หวั่นถูกตีกลับ หากไม่มีใครแก้ ระบบล่มแน่นอน
เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2558 นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงผลงานของกระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ "บัตรทอง" ว่า ใช้งบประมาณน้อย ดูแลระบบได้ทั้งประเทศ แต่งบประมาณนั้นมาจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียว แต่แนวโน้มการใช้งบประมาณกลับสูงขึ้น จนปัจจุบันอยู่ที่สัดส่วน 16-17% คิดเป็น 4.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี ซึ่งเรื่องนี้จะให้รัฐบาลจ่ายฝ่ายเดียวก็ไม่ไหว จะต้องมีการมาหารือร่วมกันว่า ใครจะช่วยจ่าย
ด้านคณะกรรมการจัดทำแนวทางเพื่อระดมทรัพยากรเพื่อความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพ ที่มี นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ เป็นประธาน และนายอัมมาร สยามวาลา เป็นที่ปรึกษา ได้เสนอทางออกในภาพรวมว่า จะต้องดำเนินการอย่างยั่งยืน เข้าถึง มีความเป็นธรรม มีประสิทธิภาพ แต่ต้องมีกระบวนการที่มีเงินเข้ามาช่วยระบบนอกเหนือจากงบประมาณจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียว ซึ่งประเทศที่รวยกว่าและใช้ระบบเดียวกัน ไม่มีใครใช้เงินจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียว ดังนั้น ประเทศไทยต้องยอมรับความเป็นจริง หากการที่จะให้ประชาชนร่วมออกค่าใช้จ่ายถูกตีกลับก็ต้องยอม เพราะถ้าไม่มีใครกล้าปรับปรุงระบบ ระบบนี้ก็เจ๊ง ถ้าไม่เห็นด้วยก็เสนอแนวทางมาด้วยว่าให้ทำอย่างไร ซึ่งประชารัฐต้องมีส่วนร่วมเรื่องหลักประกันสุขภาพ เดินหน้าบนความเป็นจริง
โดยในวันที่ 29 ธันวาคม 2558 จะมีการเชิญคณะกรรมการที่มี นพ.สุวิทย์ เป็นประธาน มาประชุมร่วมกัน จากนั้น จะตั้งคณะทำงานเพื่อเดินหน้าต่อ และจะดีมากหากภาคประชาชนจะมาร่วมเสนอแนวทาง
ส่วนที่มีมากติงว่า สวัสดิการข้าราชการ ใช้งบประมาณการรักษามากกว่าประชาชนทั่วไปนั้น นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ข้าราชการได้รับเงินเดือนน้อยกว่าเอกชน การให้สิทธิรักษาพยาบาลจึงเป็นสวัสดิการ มิฉะนั้น ต้องเพิ่มเงินเดือนข้าราชการเพื่อให้จ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่ากันกับเอกชน
ร่วมโหวตและแสดงความคิดเห็น ในหัวข้อ คุณคิดเห็นอย่างไร กับแนวคิดของรัฐที่ให้ประชาชนร่วมจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลบัตรทอง ?
ภาพจาก สำนักข่าวอิศรา
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก