การปฐมพยาบาลในการห้ามเลือดมีให้เลือกปฏิบัติหลากหลายวิธี ทว่าในกรณีที่บาดแผลมีขนาดใหญ่ และมีเลือดออกค่อนข้างมาก การขันชะเนาะก็มักจะเป็นวิธีปฐมพยาบาลในเบื้องต้นที่คนเลือกปฏิบัติกัน ส่วนรายละเอียดอื่น ๆ ในการขันชะเนาะนั้น กระปุกดอทคอมขอพาทุกคนมารู้จักวิธีห้ามเลือดด้วยการขันชะเนาะกันอีกครั้งค่ะ
การขันชะเนาะเป็นวิธีห้ามเลือดวิธีหนึ่ง โดยใช้เชือก ผ้า หรือสายยาง รัดเหนือบาดแผล เพื่อกันไม่ได้เลือดจากเส้นเลือดแดงไหลลงสู่อวัยวะส่วนที่บาดเจ็บ โดยเราจะใช้วิธีขันชะเนาะกับบาดแผลที่มีเลือดออกอย่างรุนแรงตามแขนและขาเท่านั้น เพราะอวัยวะดังกล่าวเป็นกระดูกท่อนเดียว เมื่อรัดเชือกให้แน่น เส้นเลือดแดงก็จะฟีบติดกับท่อนกระดูก ยับยั้งการไหลของเลือดได้ ทว่าหากใช้วิธีขันชะเนาะกับอวัยวะส่วนที่มีกระดูกสองท่อนเรียงกัน โดยมีเส้นเลือดแดงผ่านกลาง การรัดห้ามเลือดด้วยวิธีขันชะเนาะจะไม่ได้ผลนั่นเอง
1. ท่อนแขนส่วนบนประมาณหนึ่งฝ่ามือลงมาจากรักแร้ ใช้ขันชะเนาะเพื่อห้ามเลือดบริเวณมือและแขน
2. ท่อนขาส่วนบนประมาณหนึ่งฝ่ามือลงมาจากขาหนีบ ใช้ขันชะเนาะเพื่อห้ามเลือดบริเวณขาและเท้า
วิธีขันชะเนาะ
ภาพจาก สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9
1. ใช้ผ้าเช็ดหน้า ผ้าพันคอ หรือผ้าอื่น ๆ ที่หาได้ขณะนั้นมาพับเป็นเบาะสี่เหลี่ยมวางบนเส้นเลือดแดงบริเวณแขนหรือขา ตรงตำแหน่งที่คลำชีพจรพบ
2. ใช้ผ้าหรือเชือกพันรอบแขนหรือรอบขาบนเบาะข้างที่วางทับเส้นเลือดแดงไว้สักสองรอบ จากนั้นผูกเงื่อน 1 ครั้ง เสร็จแล้วให้สอดท่อนไม้ แท่งดินสอ หรือไม้บรรทัดไว้ตรงกลางก่อนผูกเงื่อนตายอีกทบหนึ่ง
3. หมุนท่อนไม้ไปรอบ ๆ เงื่อนที่ผูกไว้หลาย ๆ รอบ เป็นการขันชะเนาะ ขันต่อไปจนเลือดที่ไหลออกจากบาดแผลหยุดก็พอ จากนั้นผูกอีกปลายหนึ่งของท่อนไม้เข้ากับท่อนแขนหรือท่อนขาเพื่อไม่ให้เกลียวคลาย
ข้อควรระวังในการปฐมพยาบาลด้วยวิธีขันชะเนาะ
1. ควรคลายเกลียวชะเนาะทุก ๆ 10 นาที โดยให้พักครึ่งนาที เพื่อให้เลือดไปเลี้ยงแขนหรือขาส่วนนั้นได้บ้างระหว่างที่คลายเกลียว และถ้าไม่มีเลือดออกจากบาดแผล ก็ให้หยุดขันชะเนาะเพื่อห้ามเลือดได้ ทว่าหากมีเลือดออกมามาก ให้ใช้ผ้ากดห้ามเลือดบนบาดแผลชั่วคราว เมื่อครบเวลาจึงขันชะเนาะใหม่ ทำเช่นนี้ไปเรื่อยจนกว่าจะถึงโรงพยาบาลหรือพบแพทย์
2. เมื่อส่งผู้ป่วยถึงมือแพทย์แล้วให้แจ้งแก่ทีมแพทย์และพยาบาลด้วยว่า บริเวณและเวลาที่ขันชะเนาะห้ามเลือดไว้คือที่ใดและเมื่อใด เพราะบางครั้งจุดที่ขันชะเนาะอาจมีผ้าคลุมเอาไว้จนลืมหรือสังเกตเห็นได้ยาก ซึ่งเสี่ยงต่อการที่อวัยวะส่วนที่ถูกขันชะเนาะจะขาดเลือดจนเน่าได้
อย่างไรก็ตาม การขันชะเนาะยังช่วยบำบัดอาการบวมในผู้ป่วยโรคบวมน้ำเหลืองได้อีกด้วยนะคะ อีกทั้งการขันชะเนาะยังเป็นวิธีรักษาอาการบวมน้ำเหลืองที่ได้ผลดีโดยใช้เวลาในการรักษาไม่นานด้วย
แนวคิดการใช้วิธีขันชะเนาะเพื่อรักษาผู้ป่วยโรคบวมน้ำเหลืองเป็นของคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ศึกษาวิจัยจนพบว่า การขันชะเนาะซึ่งเป็นวิธีปฐมพยาบาลในการห้ามเลือด สามารถนำมาใช้เพื่อลดอาการท่อน้ำเหลืองอุดตันจนก่อให้เกิดอาการบวมในผู้ป่วยโรคบวมน้ำเหลืองได้
โดยการรักษาอาการบวมน้ำเหลืองด้วยการขันชะเนาะ มีจุดประสงค์เพื่อลดภาวะอุดตันภายในเนื้อเยื่อส่วนที่บวมน้ำเหลือง โดยใช้หลักการบีบโครงสร้างรังผึ้งให้ค่อย ๆ แฟบลง โดยใช้ผ้ารัดและใช้ไม้ขัดยังบริเวณขาที่บวมด้วยวิธีเดียวกับการขันชะเนาะ จากนั้นหมุนผ้าที่รัดบริเวณขาที่บวมบ่อย ๆ ขันเข้าจนรู้สึกตึงมือและคลายออกอย่างสม่ำเสมอเป็นระยะ เป็นจุด ๆ ซึ่งจะช่วยลดอาการบวมได้มากขึ้น
ภาพจาก โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีรักษาโรคบวมน้ำเหลือง หน่วยวิจัยตับ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล
ขันชะเนาะกับงูกัด ความเชื่อที่ผิด ๆ
ความเข้าใจผิดว่าวิธีปฐมพยาบาลด้วยการขันชะเนาะสามารถใช้ป้องกันพิษงูแล่นสู่หัวใจเมื่อถูกงูกัดได้ เป็นความเข้าใจผิดที่มีมาเนิ่นนาน ทั้งที่จริงแล้วเมื่อถูกงูกัดห้ามปฐมพยาบาลด้วยการขันชะเนาะเด็ดขาดค่ะ เนื่องจากการขันชะเนาะเหนือบาดแผลที่ถูกงูกัด อาจทำให้เนื้อบริเวณที่ถูกขันชะเนาะขาดเลือดจนเสี่ยงต่อภาวะเนื้อตายได้ และแม้จะใช้วิธีขันชะเนาะเพื่อกันพิษงูแล้วคลายปมออกเป็นระยะ ก็ไม่สามารถป้องกันการแพร่กระจายของพิษงูได้แต่อย่างใด
ดังนั้นเมื่อถูกงูกัดควรปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยการล้างแผลด้วยน้ำสะอาด ไม่ควรใช้เหล้า ยาสีฟัน หรือสิ่งอื่น ๆ ทาแผล ไม่ควรใช้ปากดูดเลือด ทว่าหากจะรัดผ้าเพื่อป้องกันการแพร่ของพิษงู ให้รัดผ้าทั้งเหนือและใต้แผลประมาณ 3 นิ้วมือ โดยรัดให้แน่นแบบที่ยังสามารถสอดนิ้วมือเข้าไปได้ 1 นิ้วมือ จากนั้นรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด
วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นในการห้ามเลือดอย่างการขันชะเนาะ ศึกษาไว้เป็นความรู้ติดตัวไว้ก็ไม่เสียหลาย เพราะเราอาจจะได้งัดเอามาใช้ช่วยชีวิตเพื่อนร่วมโลกในสักวันหนึ่งก็ได้นะคะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9, สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ, โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีรักษาโรคบวมน้ำเหลือง หน่วยวิจัยตับ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล, เฟซบุ๊ก Tanbabasnake