x close

รู้จักอาการปวดประจำเดือน

ปวดประจำเดือน

ปวดประจำเดือน (หมอชาวบ้าน)

          ปวดประจำเดือน หมายถึง อาการปวดท้องน้อยขณะมีประจำเดือน ซึ่งมักจะเป็นประจำอยู่ทุกเดือน ส่วนใหญ่จะปวดไม่มากและสามารถทำงานได้ตามปกติ ส่วนน้อยที่อาการรุนแรงจนต้องพักงาน ในรายที่ปวดรุนแรงขึ้นทุกเดือน หรือเริ่มปวดครั้งแรกหลังอายุ 35 ปี ก็อาจมีความผิดปกติของมดลูกหรือรังไข่ ซึ่งจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ


          ชื่อภาษาไทย : ปวดประจำเดือน

          ชื่อภาษาอังกฤษ : Dysmenorrhea

สาเหตุ

          ปวดประจำเดือนแบ่งได้เป็น 2 ชนิด ได้แก่

          1.ปวดประจำเดือนชนิดปฐมภูมิ (primary dysmenorrhea) จะพบในเด็กสาว ส่วนมากจะมีอาการตั้งแต่มีประจำเดือนครั้งแรก หรือไม่ก็เกิดขึ้นภายใน 3 ปี หลังมีประจำเดือนครั้งแรก จะมีอาการมากที่สุดในช่วงอายุ 15-25 ปี หลังจากวัยนี้อาการจะค่อย ๆ ลดลงบางรายอาจหายปวดหลังแต่งงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังมีบุตรแล้ว ส่วนน้อยที่ยังมีอาการตลอดไปจนถึงวัยหมดประจำเดือน

          ผู้ป่วยจะไม่พบว่ามีความผิดปกติของมดลูกและรังไข่แต่อย่างใด ปัจจุบันเชื่อว่า มีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนระหว่างมีประจำเดือน และมีการหลั่งสารพรอสตาแกลนดิน (prostaglandins) ออกมามากผิดปกติซึ่งกระตุ้นให้มดลูกมีการบิดเกร็งตัว เกิดอาการปวดประจำเดือน

          2.ปวดประจำเดือนชนิดทุติยภูมิ (Secondary dysmenorrhea) มักจะมีอาการปวดครั้งแรก เมื่ออายุมากกว่า 25 ปีขึ้นไป โดยก่อนหน้านี้จะไม่เคยมีอาการปวดประจำเดือนมาก่อน

          มักตรวจพบว่าผู้ป่วยมีความผิดปกติของมดลูกหรือรังไข่ เช่น เยื่อบุมดลูกต่างที่ (endometriosis) ซึ่งมักทำให้มีบุตรยาก เนื้องอกมดลูก ปีกมดลูกอักเสบเรื้อรังมดลูกย้อยไปทางด้านหลังมาก

          เชื่อว่าอารมณ์มีส่วนเสริมความรุนแรงของอาการปวดประจำเดือนทั้ง 2 ชนิด เช่น พบว่าผู้มีอารมณ์อ่อนไหวง่าย หรือมีความเครียดจะมีอาการปวดรุนแรงมากกว่าผู้ที่มีอารมณ์ดี

อาการ

          จะเริ่มมีอาการก่อนมีประจำเดือนไม่กี่ชั่วโมง และเป็นอยู่ตลอดช่วง 2-3 วันแรกของประจำเดือน โดยมีอาการปวดบิดเป็นพัก ๆ ที่บริเวณท้องน้อย บางรายอาจมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน ใจคอ หงุดหงิดร่วมด้วย

          ถ้าปวดรุนแรงอาจมีอาการเหงื่อออก ตัวเย็น มือ เท้าเย็นได้

การแยกโรค

          ผู้หญิงที่มีอาการปวดท้องน้อย อาจเกิดจากสาเหตุอื่นที่บังเอิญมาเกิดอาการช่วงมีประจำเดือนก็ได้ เช่น

          ไส้ติ่งอักเสบ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตรงบริเวณท้องน้อยข้างขวา ติดต่อกันนานกว่า 6 ชั่วโมง มักมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย เดินกระเทือนถูกหรือกดถูกบริเวณนั้นจะมีอาการเจ็บปวด (ซึ่งอาการนี้ จะไม่พบในอาการปวดประจำเดือน)

          ปีกมดลูกอักเสบ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดและกดเจ็บตรงบริเวณท้องน้อย ร่วมกับมีอาการไข้สูง อาจมีอาการตกขาวร่วมด้วย (อาการปวดประจำเดือน จะไม่มีไข้)

          นิ่วท่อไต ผู้ป่วยจะมีอาการปวดบิดเกร็งตรงบริเวณท้องน้อยข้างใดข้างหนึ่ง และมักมีอาการปวดร้าวลงมาที่ช่องคลอดข้างเดียวกัน (ไม่มีไข้ และกดถูกไม่เจ็บแบบเดียวกับอาการปวดประจำเดือน)

          ผู้ที่เคยมีอาการปวดประจำเดือนมาก่อน หากมีอาการปวดท้องน้อยที่มีลักษณะที่ไม่เหมือนที่เคยเป็น เช่น ปวดรุนแรงหรือติดต่อกันนานกว่าปกติ กดถูกหรือกระเทือนถูกรู้สึกเจ็บ มีไข้ขึ้นหรือมีอาการตกขาวร่วมด้วย ก็ควรปรึกษาแพทย์เพราะอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ก็ได้

การวินิจฉัย

          แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการปวดท้องน้อยขณะมีประจำเดือน ซึ่งเป็นอยู่ประจำทุกเดือน โดยไม่มีไข้ กดถูกไม่เจ็บ

          ในกรณีที่สงสัยว่า เป็นปวดประจำเดือนชนิดทุติยภูมิ หรือเกิดจากสาเหตุอื่น แพทย์อาจทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น เอกซเรย์ อัลตราซาวนต์ ใช้กล้องส่องตรวจช่องท้อง เป็นต้น

การดูแลตนเอง

          1.นอนพัก ใช้กระเป๋าน้ำร้อนประคบ

          2.กินยาแก้ปวด-พาราเซตามอล หรือยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ (เช่น ไอบูโพรเฟน) ครั้งละ 1 เม็ด ซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง

          3.ควรปรึกษาแพทย์ ถ้าปวดรุนแรง หรือกินยาแก้ปวดไม่ทุเลา หรือกดถูกเจ็บ มีไข้ ตกขาว มีประจำเดือนออกมากกว่าปกติ หรือหลังแต่งงานแล้วยังมีอาการปวดประจำเดือนและมีบุตรยาก หรือสงสัยว่าเกิดจากสาเหตุอื่น

การรักษา

          กรณีที่เป็นปวดประจำเดือนปฐมภูมิ แพทย์จะให้ยาบรรเทาปวด ถ้ามีอาการปวดบิดเกร็งมาก แพทย์อาจให้ยาต้านการบิดเกร็ง (แอนติสปาสโมติก) เช่น ไฮออสซีน (hyoscine)

          รายที่ปวดประจำเดือนรุนแรงเป็นประจำ หากตรวจแล้วไม่พบสิ่งผิดปกติ (ไม่ใช่ปวดประจำเดือนชนิดทุติยภูมิ) แพทย์อาจให้ผู้ป่วยกินยาเม็ดคุมกำเนิด (กินแบบเดียวกับการใช้คุมกำเนิด คือวันละ 1 เม็ดทุกคืน เพื่อไม่ให้มีการตกไข่ จะช่วยไม่ให้ปวดได้ระยะหนึ่ง อาจให้ติดต่อกันนาน 3-4 เดือน แล้วลองหยุดยา ถ้าหากมีอาการกำเริบใหม่ ก็ควรให้กินต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง จนกว่าเมื่อหยุดยาแล้ว อาการปวดประจำเดือนทุเลาไป

          ในรายที่ตรวจพบมีสาเหตุผิดปกติ (เป็นปวดประจำเดือนชนิดทุติยภูมิ) แพทย์ก็จะให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ เช่น ผ่าตัดเนื้องอกมดลูก

ภาวะแทรกซ้อน

          ส่วนใหญ่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน

          ส่วนในรายที่เกิดจากเยื่อบุมดลูกต่างที่อาจทำให้มีบุตรยาก หรือในรายที่เกิดจากเนื้องอกมดลูกอาจทำให้ตกเลือดมากจนเกิดภาวะซีด หรือก้อนโตมากอาจกดทางเดินปัสสาวะ ทำให้เกิดการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะได้

การดำเนินโรค

          ในรายที่เป็นปวดประจำเดือนชนิดปฐมภูมิ มักจะทุเลาเมื่ออายุมากกว่า 25 ปี หรือหลังแต่งงานหรือมีบุตรแล้ว

          ในรายที่เป็นปวดประจำเดือนทุติยภูมิ ถ้าไม่ได้รับการรักษา อาการปวดมักจะเป็นรุนแรงขึ้นทุกเดือน และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ ถ้าได้รับการรักษาอาการปวดประจำเดือนก็จะหายไปได้

ความชุก

          พบได้ประมาณร้อยละ 70 ของผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์


  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย


คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ




ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รู้จักอาการปวดประจำเดือน อัปเดตล่าสุด 27 พฤษภาคม 2558 เวลา 18:01:18 105,616 อ่าน
TOP