โรคอ้วน วิธีลดความอ้วน

คนอ้วน โรคอ้วน
โรคอ้วน



ก็แค่พุงใหญ่ จะเป็น "โรค" ได้อย่างไร? (ไทยรัฐ)
ข้อมูลโดย ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลเวชธานี

          โรคอ้วนลงพุง ไม่ใช่แค่ความอ้วนธรรมดา แต่เป็นภาวะอ้วนที่มีไขมันสะสมบริเวณช่วงเอว หรือช่องท้องปริมาณมาก ๆ และก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายหลายระบบ ในทางการแพทย์เรียกโรคนี้ว่า Metabolic syndrome ถือเป็นกลุ่มความผิดปกติที่ เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ด้วย ดังนั้นภาวะอ้วนลงพุง จึงนับว่าเป็นโรคที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพร่างกายได้


ไขมันที่พุงอันตรายกว่าไขมันส่วนอื่นของร่างกายอย่างนั้นหรือ?

          โดยทั่วไปไม่ว่าจะเป็นไขมันตรงส่วนใด หากมีมากเกินไปก็ถือว่าไม่ดีทั้งนั้น แต่ไขมันที่สะสมในช่องท้องหรือบริเวณพุงจะสลายตัวเป็นกรดไขมันอิสระ ส่งผลให้ในกระแสเลือดมีกรดไขมันอิสระเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดผลเสียต่อระบบต่างๆ ภายในร่างกาย โดยกรดไขมันชนิดนี้จะไปยับยั้งกระบวนการเผาผลาญของกลูโคสที่กล้ามเนื้อ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ความดันโลหิตสูง และอาจส่งผลให้หลอดเลือดแดงแข็งตีบและอุดตันได้

          พบว่าในคนอ้วนลงพุงจะมีระดับฮอร์โมน Adiponectin ในกระแสเลือดลดลง ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่พบในเซลล์ไขมันเท่านั้น ระดับ Adiponectin ในเลือดที่ต่ำจะสัมพันธ์กับภาวะดื้อต่ออินซูลิน และเป็นตัวทำนายการเกิดโรคเบาหวานและโรคหัวใจและหลอดเลือดได้อีกด้วย

          นอกจากนี้ เชื่อว่าความอ้วนและภาวะดื้อต่ออินซูลิน ยังเป็นสาเหตุสำคัญของการสะสมไขมันในเนื้อตับ เพราะกรดไขมันอิสระที่ออกมาจากไขมันบริเวณพุงจะเข้าสู่ตับโดยตรงได้มากกว่าไขมันบริเวณสะโพก ซึ่งกรดไขมันที่สะสมภายในตับหากเกิดในช่วงที่ร่างกายมีอนุมูลอิสระมากจนเกินที่สารต้านอนุมูลอิสระสามารถรับมือไหว จะส่งผลให้เกิดการอักเสบของตับตามมาอีกด้วย ดังนั้นคนที่อ้วนลงพุงจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ และหลอดเลือด โรคเบาหวาน และโรคตับมากกว่าคนที่มีไขมันสะสมที่สะโพก


อ้วน
โรคอ้วน



คุณ! พุงโตเกินไปหรือไม่?

          รอบเอวเป็นตัวบ่งชี้ภาวะอ้วนที่ง่ายและชัดเจนโดยไม่ต้องใช้การคำนวณ สำหรับคนเอเชีย ในปัจจุบันการวินิจฉัยว่าใครจัดอยู่ในกลุ่มโรคอ้วนลงพุงบ้าง จะใช้เกณฑ์ดังนี้

           เส้นรอบเอวของผู้ชายตั้งแต่ 36 นิ้วขึ้นไป และสำหรับผู้หญิงตั้งแต่ 32 นิ้วขึ้นไป
           มีระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดมากกว่า 150 มก./ดล.
           มีระดับ HDL คอเลสเตอรอล น้อยกว่า 40 มก./ดล.ในผู้ชาย หรือน้อยกว่า 50 มก./ดล.ในผู้หญิง
           ความดันโลหิตมากกว่า 130/85 มม.ปรอท หรือรับประทานยาลดความดันโลหิตอยู่
           ระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารมากกว่า 100 มก./ดล.


          พบว่าผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงเพียง 3 ข้อจากเกณฑ์ข้างต้น จะมีอัตราการเกิดโรคหัวใจเพิ่มขึ้น 2 เท่า และผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง 4 ข้อจะมีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มเป็น 3 เท่า และเกิดโรคเบาหวานเพิ่มถึง 24 เท่า

          นอกจากนี้ยังพบว่ามีปัจจัยเสี่ยงสำคัญอื่นๆ อีกที่ส่งผลให้เกิด Metabolic syndrome อาทิ ยิ่งอายุมากก็มีโอกาสเป็นสูงขึ้น พบว่าคนผิวดำจะมีโอกาสพบโรคมากกว่า คนอ้วนมีความเสี่ยงมากกว่าคนผอม ผู้ที่มีประวัติในครอบครัวเป็นโรคเบาหวานจะมีโอกาสเป็นโรคนี้สูง นอกจากนั้นยังมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคอื่นๆ ได้ง่าย เช่น ความดันโลหิต เป็นต้น


ลดพุง...ลดโรค

          การรักษา Metabolic syndrome หรือ โรคอ้วนลงพุง นั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือ การปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตเป็นอันดับแรก เช่น การลดน้ำหนัก ออกกำลังกาย ควบคุมอาหารที่รับประทาน บริโภคผักและผลไม้ให้มากขึ้น ลดการดื่มสุรา ตรวจสุขภาพเป็นประจำ เมื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้ว ยังไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาล ไขมัน หรือความดันโลหิตได้ อาจจำเป็นต้องมีการใช้ยาในการควบคุมร่วมด้วย เป้าหมายในการใช้ยาก็เพื่อลดระดับไขมัน Triglyceride เพิ่มระดับไขมัน HDL(ทำหน้าที่เก็บกวาดคอเลสเตอรอลจากหลอดเลือดไปขจัดที่ตับ นับว่าเป็นไขมันชนิดดี) และลดระดับไขมัน LDL(ทำหน้าที่นำคอเลสเตอรอลออกจากตับไปสะสมตามผนังหลอดเลือด ถือว่าเป็นไขมันชนิดไม่ดี) ซึ่งเหล่านี้เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงโรคเบาหวาน

          พูดง่ายๆ ก็คือ ยิ่งพุงโตมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งสะสมโรคมากขึ้นนั่นเอง รู้อย่างนี้แล้ว หันมาออกกำลังกายวันละนิด ค่อยๆ ปรับพฤติกรรมทีละน้อย ทำบ่อยๆ จนกลายเป็นนิสัย นอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคดังกล่าวแล้ว ยังเป็นเหมือนเกราะป้องกันโรคภัยต่างๆ ทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นอีกด้วย...





ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคอ้วน วิธีลดความอ้วน อัปเดตล่าสุด 16 ธันวาคม 2556 เวลา 12:06:48 2,833 อ่าน
TOP
x close