x close

ความดันโลหิตสูง ภัยเงียบ อันตราย !



          ความดันโลหิตสูง (Hypertension) เป็นหนึ่งในโรคที่คนปัจจุบันเป็นกันมาก และคนส่วนใหญ่ก็ไม่รู้ตัวว่าเป็น โรคความดันโลหิตสูง แต่หากปล่อยให้เป็น โรคความดันโลหิตสูง ไปนาน ๆ อาจนำมาซึ่งโรคร้ายอื่น ๆ ตามมาอีกมากมาย วันนี้ กระปุกดอทคอม มีข้อมูลดี ๆ เกี่ยวกับ โรคความดันโลหิตสูง มาบอกเพื่อเป็นความรู้กันค่ะ
 

ความดันปกติ คือเท่าไร


          โดยปกติทุกคนจะมีความดันโลหิต ที่จะคอยผลักดันเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งอัตราปกติหัวใจของคนเราจะเต้นอยู่ประมาณ 60-80 ครั้ง ความดันก็จะเพิ่มขณะที่หัวใจบีบตัวและลดลงขณะที่หัวใจคลายตัว ทั้งนี้ โดยปกติคนจะมีระดับความดันโลหิต 120/80-139/89 มิลลิเมตรปรอท

ค่าความดันโลหิตสูง วัดได้เท่าไร


          องค์การอนามัยโลกได้กำหนดไว้ว่า หากใครมีความดันโลหิตสูง 140/90 มิลลิเมตรปรอท ถือว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง


โรคความดันโลหิตสูง

          อย่างไรก็ตาม ความดันโลหิตของคนไม่เท่ากันตลอดเวลา เพราะขึ้นอยู่กับสิ่งต่าง ๆ เช่น สภาพแวดล้อม ท่าทาง อากัปกิริยา เช่น หากวัดความดันโลหิตในท่านอน จะมีค่าสูงกว่าท่ายืน  รวมทั้งช่วงเวลาระหว่างวัน จิตใจ อารมณ์ ความเครียด อายุ เพศ ฯลฯ ก็เป็นสาเหตุให้ระดับความดันเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

          ทั้งนี้ โรคความดันโลหิตสูง เป็นโรคที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน แต่คนกว่า 70% มักไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคนี้ ทำให้ไม่ได้รับการรักษาหรือการปฏิบัติตนอย่างถูกต้องเหมาะสม แต่เมื่อเริ่มมีอาการแล้วจึงเริ่มใส่ใจรักษา ซึ่งบางครั้งก็อาจไม่ทันท่วงที

โรคความดันโลหิตสูง นำไปสู่โรคร้ายอะไร


          ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง จะมีความดันโลหิตเลี้ยงไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายไม่สม่ำเสมอ ซึ่งนำมาสู่โรคต่าง ๆ เช่น โรคหลอดเลือดในสมองตีบ โรคหลอดเลือดหัวใจและกล้ามเนื้อหัวใจ โรคไตวาย เส้นเลือดแดงใหญ่โป่งพอง อัมพาต อัมพฤกษ์ ฯลฯ ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตโดยเฉียบพลันได้

ระดับของโรคความดันโลหิตสูง


ความรุนแรงของ โรคความดันโลหิตสูง แบ่งเป็น 3 ระยะคือ

           ระดับที่ 1 ความดันโลหิตสูงระยะเริ่มแรก ค่าความดันโลหิต ระหว่าง 140-159/90-99 มิลลิเมตรปรอท

           ระดับที่ 2 ความดันโลหิตสูงระยะปานกลาง ค่าความดันโลหิต ระหว่าง 160-179/100-109 มิลลิเมตรปรอท

           ระดับที่ 3 ความดันโลหิตสูงระยะรุนแรง ค่าความดันโลหิต มากกว่า 180/110 มิลลิเมตรปรอท

          ทั้งนี้ การวัดความดันโลหิตควรจะวัดขณะนอนพัก และควรวัดซ้ำ 2-3 ครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นความดันโลหิตสูงจริง ๆ

ความดันสูง เกิดจากอะไร


          สาเหตุของการเป็นโรคความดันโลหิตสูงยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ส่วนใหญ่จะพบโรคความดันโลหิตสูงในกลุ่มคนที่อายุ 40 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีอาการป่วยบางประเภท เช่น อาการป่วยเกี่ยวกับสมอง ต่อมหมวกไต และต่อมไร้ท่อบางประเภท รวมทั้งโรคเรื้อรังอื่น ๆ ที่ทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น เช่น โรคโลหิตจางอย่างรุนแรง เบาหวาน เป็นต้น

ความดันสูง

ความดันสูง อาการเป็นอย่างไร


          ปกติแล้วผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงมักไม่ปรากฏอาการใด ๆ ให้ทราบ อาจพบอาการปวดศีรษะ มึนงง เวียนศีรษะ เหนื่อยง่ายผิดปกติ อาจมีอาการแน่นหน้าอก หรือนอนไม่หลับ สูญเสียความจำ สับสน มึนงง ซึ่งล้วนเป็นอาการเล็ก ๆ น้อย ๆ นั่นจึงทำให้คนไม่เอะใจ จึงไม่ได้รับการรักษา และควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับเหมาะสม ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงตามมาได้

ความดันโลหิตสูงมีภาวะแทรกซ้อนอย่างไรได้บ้าง


          โรคความดันโลหิตสูง อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ 2 กรณีคือ

          1. ภาวะแทรกซ้อนจาก โรคความดันโลหิตสูง โดยตรง คือ

          -  ภาวะหัวใจวาย ที่เกิดจากหัวใจทำงานหนักขึ้น ทำให้ผนังหัวใจหนาตัว เกิดหัวใจโต และหัวใจวายตามมา

          -  หลอดเลือดในสมองแตก หรือตีบตัน

          2. ภาวะแทรกซ้อนจากหลอดเลือดแดงตีบ หรือตัน เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือเรื้อรัง ซึ่งจะส่งผลให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ รวมทั้งหลอดเลือดสมองตีบ เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ไตวายเรื้อรังจากการที่เลือดไปเลี้ยงไตไม่เพียงพอได้ รวมทั้งอาการตาบอด ที่เมื่อเป็นโรคความดันโลหิตสูง อาจทำให้หลอดเลือดแดงในตาค่อย ๆ เสื่อมลง จนอาจมีเลือดออกที่จอตา ทำให้ประสาทตาเสื่อมจนตาบอดได้

          ทั้งนี้มีข้อมูลทางการแพทย์ระบุว่า ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง หากไม่ได้การรักษา อาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวาย 60-75%, เสียชีวิตจากเส้นเลือดในสมองอุดตัน หรือแตกราว 20-30% และเสียชีวิตจากไตวายเรื้อรัง 5-10%

ความดันโลหิตสูง ใครเสี่ยงบ้าง


          - พันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม พบว่า คนประมาณ 30-40% ที่บิดามารดาเป็นโรคความดันโลหิตสูง จะมีแนวโน้มเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้มากกว่าคนที่ไม่มีประวัติในครอบครัว

          - ความเครียด หากคนมีความเครียดสูง อาจทำให้ความดันโลหิตสูงไปด้วย

          - อายุ โดยปกติเมื่ออายุมากขึ้น ความดันโลหิตจะสูงขึ้นตามไปด้วย แต่สำหรับโรคความดันโลหิตสูง มักพบในผู้ที่อายุ 40-50 ปีขึ้นไป แต่ในอายุต่ำกว่านี้ก็สามารถพบได้เช่นกัน

          - เพศ มักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังวัยหมดประจำเดือน

          - รูปร่าง มักพบในผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกิน หรือคนอ้วนมากกว่าคนผอม

          - เชื้อชาติ มักพบในคนอเมริกัน เชื้อสายแอฟริกัน หรือกลุ่มผิวสี

          - พฤติกรรมการกิน ผู้ที่ชอบทานเค็ม ทานเกลือ มักมีโอกาสเป็นโรคความดันโลหิตสูงมากกว่าคนปกติ

          - สภาพภูมิศาสตร์ ผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองมักมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้ที่อยู่อาศัยในชนบท เพราะมีความเครียด และสภาพแวดล้อมที่วุ่นวายรบกวนจิตใจและอารมณ์มากกว่า

ความดันโลหิตสูง รักษาได้ !


          สามารถทำได้ 2 ทางคือ การใช้ยา และไม่ใช้ยา โดยในผู้ป่วย โรคความดันโลหิตสูง ที่เริ่มรู้ตัวว่าเป็น แพทย์จะสามารถรักษา โรคความดันโลหิตสูง ได้ โดยป้องกันไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อน แต่สำหรับผู้ที่มีโรคแทรกซ้อนร่วมด้วย แพทย์จะต้องให้ยา และพยายามควบคุมระดับความดันให้อยู่ในเกณฑ์ที่ปกติ

ความดันสูง

ความดันโลหิตสูง ป้องกันได้อย่างไร


          - ผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรตรวจวัดความดันโลหิตสูงอย่างสม่ำเสมอ

          - หลีกเลี่ยงอาหารเค็มจัด เพราะเกลือจะทำให้ความตึงตัวของผนังหลอดโลหิตแดงเพิ่มขึ้น

          - หลีกเลี่ยงอาหารกลุ่มไขมันจากสัตว์ เช่น กะทิ เนื้อสัตว์ รวมทั้งอาหารกลุ่มแป้งและน้ำตาลขัดขาวทุกชนิด เพราะจะทำให้น้ำหนักตัว และระดับไขมันในเลือดเพิ่มขึ้น

          - งดสูบบุหรี่ และงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาจดื่มได้ในปริมาณพอเหมาะ คือ วิสกี้ 2 ออนซ์ หรือไวน์ 8 ออนซ์

          - พยายามควบคุมน้ำหนักตัว ไม่ให้อ้วนมากเกินไป เพราะความอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงได้

          - ออกกำลังกายให้พอควรและสม่ำเสมอ ด้วยการเดินเร็ว ๆ  วิ่งเหยาะ ๆ  หรือปั่นจักรยาน ประมาณ 15-20 นาที อย่างน้อย 3-6 ครั้งต่อสัปดาห์

          - พักผ่อนให้เพียงพอ

          - ทำจิตใจให้เบิกบาน ไม่เครียด

วิธีลดค่าความดันโลหิต ทำง่าย ๆ ด้วยตัวเอง


          นอกจากการรักษาและป้องกันแล้ว เราสามารถลดระดับความดันโลหิตได้ ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

          - ลดปริมาณเกลือ ด้วยการหันมาทานอาหารที่มีธาตุโพแทสเซียม และแมกนีเซียม ซึ่งมีมากในผักและผลไม้สด อย่าง กล้วย มันฝรั่ง และผักใบเขียวต่าง ๆ

          - ดื่มน้ำสมุนไพร เช่น ขึ้นฉ่าย กระเจี๊ยบแดง และบัวบก

          - ผ่อนคลายความเครียดด้วยการฟังเพลง

          - ใช้น้ำมันหอมระเหยกลิ่นต่าง ๆ ช่วยผ่อนคลายอารมณ์และความเครียด

          - นั่งสมาธิ วันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 20 นาที จะช่วยรักษาระดับความดันโลหิตได้

          เห็นแล้วว่าสิ่งที่จะช่วยป้องกันความดันโลหิตสูงได้ก็คือ เลี่ยงการกินเค็ม งดปัจจัยเสี่ยงทั้งหลาย และพยายามอย่าเครียด เพราะหากป่วยความดันโลหิตสูงขึ้นมาแล้ว อาจส่งผลให้เกิดโรคร้ายแรงอื่น ๆ ตามมาได้ เช่น โรคหลอดเลือดสมองที่ปัจจุบันมีคนป่วยจำนวนไม่น้อยเลย

บทความเกี่ยวกับความดันโลหิตสูง


          - ความดันโลหิตสูง เพชฌฆาตเงียบที่ต้องระวัง เช็กค่าความดันปกติคือเท่าไร
          - ความดันต่ำ ความดันสูง หลากปัญหาโลหิตที่ควรรู้ให้กระจ่าง
          - เครื่องวัดความดัน ยี่ห้อไหนดี ราคาไม่เกิน 2,000 บาท ใช้งานง่าย ฟังก์ชันครบ
          - 13 อาหารลดความดันโลหิตสูง ที่ทุกครัวเรือนควรมี
          - สมุนไพรลดความดันโลหิตสูง พืชผักมหัศจรรย์ใกล้ตัว
          - 9 ผลไม้ลดความดันโลหิต กินเพิ่มความฟิต คุมความดันโลหิตไม่ให้พุ่ง
          - เปิดเมนูอาหารโรคความดันโลหิตสูง กินอะไรดี ช่วยควบคุมความดัน
          - ความดันสูง ฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม สรุปชัด ๆ ข้อปฏิบัติก่อน-หลังฉีดวัคซีน

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ความดันโลหิตสูง ภัยเงียบ อันตราย ! อัปเดตล่าสุด 2 เมษายน 2567 เวลา 16:08:07 140,669 อ่าน
TOP