ความดันปกติอยู่ที่เท่าไร ความดันต่ำต้องกินอะไร
แล้วความดันสูงประมาณไหนถึงขีดอันตราย
อาการของความดันสูงที่สังเกตได้มีอะไรบ้าง
สารพัดคำถามเรื่องความดันโลหิตที่เราหยิบคำตอบมาฝาก
โรคเรื้อรังที่คนไทยเป็นกันมาก และมีแนวโน้มจะเกิดกับวัยทำงานที่อายุน้อยมากขึ้นอย่างโรคความดันโลหิตสูง เป็นชนวนของคำถามมากมายค่ะว่าจริง ๆ แล้วโรคความดันโลหิตสูงอันตรายขนาดไหน
ความดันโลหิตปกติจะต้องอยู่ที่เท่าไร
แล้วความดันโลหิตจุดไหนถึงจะเรียกว่าความดันโลหิตสูง
หรือในบางคนเคยวัดความดันแล้วผลออกมาว่าความดันต่ำ
เคสนี้ก็หนักใจกับความดันโลหิตของตัวเองอยู่หลายประการ
ฉะนั้นเพื่อความกระจ่างในเรื่องความดันโลหิตของมนุษย์เรา
กระปุกดอทคอมจึงได้รวบรวมคำถาม-คำตอบในประเด็นความดันโลหิตสูง
และความดันโลหิตต่ำมาให้ทุกคนได้ทำความเข้าใจ
ลองไปค้นหาในสิ่งที่คุณอยากทราบเกี่ยวกับเรื่องความดันโลหิตกันเลยค่ะ
ค่าความดันโลหิตสูง-ต่ำ บอกอะไรได้บ้าง
ความดันโลหิตคือแรงดันในหลอดเลือดแดงเฉลี่ย อันเกิดจากการที่หัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกาย และเราสามารถวัดค่าความดันโลหิตได้จากเครื่องวัดความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจ ทั้งนี้การวัดค่าความดันโลหิตจะวัดเป็น 2 ค่าคือ
1. แรงดันโลหิตขณะหัวใจสูบฉีดเลือดออกมา หรือความดันตัวบน (Systolic Blood Pressure)
2. แรงดันที่ยังคงค้างอยู่ในหลอดเลือดแดงขณะที่หัวใจคลายตัว (ไม่ได้สูบฉีดเลือดออกมา) หรือความดันตัวล่าง (Diastolic Blood Pressure)
ความดันปกติ คือเท่าไร
ความดันโลหิตปกติ คือ 120/80-139/89 มม. ปรอท แต่ถ้าให้ "เหมาะสม" ในผู้ใหญ่ที่อายุมากกว่า 18 ปี คือ ตัวบนไม่เกิน 120 มม.ปรอท และตัวล่างไม่เกิน 80 มม.ปรอท แต่ทั้งนี้ค่าความดันโลหิตสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามเหตุปัจจัยต่าง ๆ เช่น อารมณ์ ความเครียด ความตื่นเต้น การออกกำลังกาย หรือกิจกรรมที่กระตุ้นการบีบตัวของหัวใจ ส่งผลให้แรงดันเลือดเพิ่มสูงขึ้น เป็นเหตุให้ความดันเลือดมีค่าเกินกว่าภาวะปกติชั่วคราว
อย่างไรก็ตาม สมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกาได้จำกัดค่าความดันโลหิตใหม่ขึ้นมา โดยระดับความดันโลหิตที่ปกติไปจนถึงความดันโลหิตสูงจนเสี่ยงอันตราย มีเกณฑ์ดังนี้
*ตารางค่าความดันโลหิตในผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไป
ทั้งนี้ หากผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุมีค่าความดันโลหิตน้อยกว่า 140/90 มม. ปรอท ก็ยังถือว่ามีภาวะความดันโลหิตสูงเล็กน้อย แต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ การจะชี้วัดว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูงหรือไม่นั้น ต้องมีตัวเลขตัวบนมากกว่าหรือเท่ากับ 140 และตัวล่างมากกว่าหรือเท่ากับ 90 มม. ปรอท ส่วนความดันโลหิตต่ำนั้น ค่าตัวเลขความดันจะต้องต่ำกว่า 90/60 มม. ปรอท
ความดันปกติ ค่าความดันผู้หญิง-ผู้ชาย ต่างกันไหม
ความดันเลือดของผู้หญิงและค่าความดันของผู้ชายอาจไม่ได้ต่างกันมากนัก ด้วยเพราะเพศไม่ใช่ปัจจัยที่ทำให้ค่าความดันโลหิตต่างกัน แต่ถึงอย่างนั้นจากสถิติก็พบว่า เพศชายมีความเสี่ยงเป็นโรคความดันโลหิตสูงกว่าเพศหญิง ซึ่งก็อาจเป็นเพราะผู้ชายมีปัจจัยเสี่ยงอย่างโรคอ้วนลงพุง พฤติกรรมสูบบุหรี่ รวมไปถึงการดื่มแอลกอฮอล์มากกว่าผู้หญิงนั่นเอง
ความดันผิดปกติ เกิดจากอะไร
ปัจจัยที่ทำให้ค่าความดันโลหิตเกิดการเปลี่ยนแปลงมีอยู่หลายปัจจัยด้วยกัน โดยสามารถจำแนกสาเหตุของโรคความดันสูง และสาเหตุของภาวะความดันต่ำกว่าปกติ ได้ดังนี้
ความดันโลหิตสูง
ความดันโลหิตสูง สาเหตุเกิดจากอะไร
- พันธุกรรม มีประวัติพ่อ-แม่ ญาติพี่น้องป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง ความดันโลหิตต่ำ โรคหัวใจและหลอดเลือดมาก่อน
- อายุ เมื่ออายุมากขึ้น ความดันโลหิตก็จะสูงขึ้น
- เวลา ค่าความดันโลหิตจะขึ้น ๆ ลง ๆ ไม่เท่ากันตลอดทั้งวัน ขึ้นอยู่กับกิจกรรมในชีวิตประจำวันที่ทำด้วยว่าส่งผลต่อการสูบฉีดเลือดจนเกิดแรงดันเลือดที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงหรือไม่
- จิตใจและอารมณ์ ความเครียด ความเจ็บปวด เศร้า เสียใจ หรือความรู้สึกตื่นเต้น ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ความดันโลหิตสูงหรือต่ำได้เช่นกัน
- เพศ พบว่าเพศชายมีความเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูงกว่าเพศหญิง
- สังคมและสิ่งแวดล้อม การอยู่ในสถานการณ์หรือสภาวะแวดล้อมที่ตึงเครียด กดดัน หรือสังคมเมืองที่มีการแข่งขันสูง ก็เป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูงได้
- พฤติกรรมการบริโภค ทั้งอาหารรสเค็ม และอาหารไขมันสูง รวมไปถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็มีส่วนทำให้เสี่ยงโรคความดันโลหิตสูงมากกว่าปกติ
- ความอ้วน คนที่มีน้ำหนักตัวเกินหรืออยู่ในภาวะอ้วนจะทำให้แรงต้านทานของเส้นเลือดที่อยู่ในร่างกายสูงขึ้นได้เช่นกัน
- พฤติกรรมขาดการออกกำลังกาย คนที่ไม่ออกกำลังกายหัวใจจะไม่แข็งแรง การสูบฉีดเลือดและความดันเลือดก็เสี่ยงจะผิดปกติได้มากกว่าคนที่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
ความดันสูง กินอะไรดี
โรคความดันโลหิตสูงเราสามารถดูแลตัวเองโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารได้ และอาหารที่คนเป็นความดันสูงควรกินก็มีดังนี้เลยค่ะ
- 13 อาหารลดความดันโลหิตสูง ที่ทุกครัวเรือนควรมี
- สมุนไพรลดความดันโลหิตสูง พืชมหัศจรรย์ใกล้ตัว
ความดันสูง ห้ามกินอะไร
คนที่มีภาวะความดันโลหิตสูง ห้ามกินอาหารต่อไปนี้ หรืออย่างน้อยควรหลีกเลี่ยงอาหารเหล่านี้ให้ไกล
- ลดการกินเค็ม เช่น อาหารหมักดอง ไข่เค็ม ปลาเค็ม กะปิ เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงการเติมรสเค็มในอาหาร ไม่ว่าจะเป็นการเติมเกลือ น้ำปลา ซีอิ๊ว ซอสปรุงรส หรือผงชูรสในการปรุงอาหารก็ตาม
- หลีกเลี่ยงการกินขนมกรุบกรอบ เช่น ข้าวเกรียบทอด มันฝรั่งทอด เนื่องจากมีโซเดียมสูง
- ลดการกินอาหารที่ใส่ผงฟู เช่น ขนมปัง ขนมถ้วยฟู เพราะในผงฟูมีโซเดียมไบคาร์บอเนต
- โรคความดันโลหิตสูง รักษาได้ แค่หลีกให้ไกลจากโซเดียม
ความดันโลหิตสูง รักษาอย่างไร
สามารถทำได้ 2 ทางคือ การใช้ยา และไม่ใช้ยา โดยในผู้ป่วย โรคความดันโลหิตสูง ที่เริ่มรู้ตัวว่าเป็น แพทย์จะสามารถรักษาโรคความดันโลหิตสูงได้ โดยป้องกันไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อน แต่สำหรับผู้ที่มีโรคแทรกซ้อนร่วมด้วย แพทย์จะต้องให้ยา และพยายามควบคุมระดับความดันให้อยู่ในเกณฑ์ที่ปกติ
ความดันโลหิตสูง ดูแลตัวเองอย่างไร
หากพบว่าเป็นความดันโลหิตสูง ให้ปฏิบัติตัวตามนี้ค่ะ
- คุมอาหาร ลดอาหารหวาน มัน เค็ม ค่อย ๆ ปรับมารับประทานอาหารรสจืด
- ออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน เพื่อช่วยให้ระบบไหลเวียนโลหิตดีขึ้น
- งดสูบบุหรี่และดื่มสุรา
- หลีกเลี่ยงความเครียด
- ปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการกินยา และมาพบหมอตามนัด
ความดันโลหิตต่ำ
ความดันต่ำ สาเหตุเกิดจากอะไร
- ภาวะขาดน้ำ ขาดเกลือแร่ ส่งผลให้การไหลเวียนเลือดไม่คล่องตัว เลือดกลับสู่หัวใจน้อยลง หัวใจบีบตัวลดลง ความดันโลหิตจึงต่ำ
- ภาวะเสียเลือดมาก เลือดหมุนเวียนกลับหัวใจไม่ทัน หัวใจบีบตัวสูบฉีดเลือดลดลง ส่งผลให้ความดันโลหิตตก
- ภาวะโลหิตจาง ภาวะความเข้มข้นเลือดลดลงจากปริมาณเม็ดเลือดแดงลดลง ส่งผลให้ปริมาตรในภาพรวมของเลือดผิดปกติ ความดันต่ำได้
- ความดันต่ำขณะเปลี่ยนท่า จากการอยู่ในท่าเดิมนาน ๆ เลือดไหลไปคั่งในส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เมื่อเปลี่ยนท่าจึงไหลเวียนกลับเข้าสู่หัวใจไม่ทัน ก่อให้เกิดภาวะความดันต่ำ มีอาการวูบ หน้ามืด เป็นต้น
>>>> เปลี่ยนท่า หน้ามืดบ่อย เช็กหน่อย...ความดันต่ำขณะเปลี่ยนท่าอันตรายไหม
- ภาวะอิ่มจัด กินอาหารมากเกินไป ทำให้เลือดต้องไปเลี้ยงกระเพาะอาหารและลำไส้เพิ่มขึ้น จึงขาดปริมาณเลือดโดยรวมในการไหลเวียนในกระแสโลหิต เลือดจึงกลับเข้าหัวใจน้อยลง ส่งผลให้เกิดความดันโลหิตต่ำได้
- ผลข้างเคียงของโรคที่เป็น เช่น โรคพาร์กินสัน หรือโรคความจำเสื่อมบางชนิด ซึ่งมีสาเหตุมาจากระบบประสาทที่ควบคุมการบีบตัวของเลือดและหัวใจทำงานผิดปกติไป ส่งผลให้ความดันเลือดต่ำกว่าปกติไปด้วย รวมไปถึงโรคต่อมไร้ท่อ เช่น โรคไทรอยด์ โรคของต่อมหมวกไต หรือภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในผู้ป่วยโรคเบาหวาน และภาวะหัวใจบีบตัวผิดปกติในผู้ป่วยโรคหัวใจ เป็นต้น
- ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาขับน้ำ ยาลดความดันโลหิตสูง ไวอะกร้า หรือยาทางจิตเวชบางตัว
- การแพ้ยา แพ้อาหารอย่างรุนแรง ส่งผลให้หลอดเลือดทั่วตัวขยายทันที ร่วมกับมีของเหลว/น้ำในเลือดซึมออกนอกหลอดเลือด จึงเกิดการขาดเลือดไหลเวียนในกระแสโลหิต ความดันโลหิตจึงต่ำลง
- ความกลัว ภาวะหดหู่ ตกใจ ซึ่งอาจเกิดการกระตุ้นของวงจรประสาทอัตโนมัติ ทำให้หลอดเลือดและหัวใจทำงานช้า ความดันเลือดก็จะต่ำลง
- การหยุดพักทันทีขณะออกกำลังกายอย่างหนัก ส่งผลให้เลือดกลับคืนสู่หัวใจได้ช้าลง ส่งผลให้ความดันต่ำและอาจมีอาการวูบ หมดสติได้
- การตั้งครรภ์ เนื่องจากร่างกายต้องเพิ่มเลือดในการหล่อเลี้ยงทารกในครรภ์ ทำให้การไหลเวียนเลือดและปริมาตรของเลือดไม่สมดุล ความดันเลือดจึงต่ำได้
- ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ส่งผลให้เกิดหลอดเลือดขยายตัวมากขึ้นพร้อม ๆ กัน รวมทั้งเกิดการล้มเหลวในการทำงานของหัวใจและปอด จึงส่งผลให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ อันตรายถึงชีวิตได้
ความดันต่ำกินอะไรดี
หากมีอาการความดันต่ำ ควรดื่มน้ำให้มาก ๆ อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว เพื่อช่วยในการไหลเวียนของเลือด และควรกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ หรือหากมีภาวะโลหิตจางก็ควรกินอาหารบำรุงเลือดควบคู่ไปด้วย
- อาหารหลัก 5 หมู่มีอะไรบ้าง เช็กให้รู้แต่ละวันกินครบ 5 หมู่หรือเปล่า
- อาหารบำรุงเลือด กินอย่างนี้สิป้องกันภาวะโรคโลหิตจาง
นอกจากนี้ยังควรทานอาหารที่มีวิตามินบี วิตามินซี วิตามินอี ให้มากขึ้น ซึ่งหาทานได้จากธัญพืชชนิดต่าง ๆ และผัก-ผลไม้
ความดันต่ำ ห้ามกินอะไร
- ไม่ควรรับประทานอาหารมื้อใหญ่ในมื้อเดียว แต่ควรแบ่งทานทีละน้อย เป็นมื้อย่อย ๆ
- เลี่ยงการทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูงในปริมาณมาก ๆ เพราะจะทำให้ความดันโลหิตต่ำลงอย่างรวดเร็วหลังทานอาหาร
- ลดการทานอาหารที่มีรสจัด เช่น เค็มจัด หวานจัด
- ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนในตอนกลางคืน
- จำกัดปริมาณเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ความดันต่ำ รักษาอย่างไร
วิธีรักษาความดันต่ำสามารถทำได้โดยการเพิ่มความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติตามสาเหตุ เช่น ให้น้ำและเกลือแร่ทางหลอดเลือดดำเมื่อเกิดจากภาวะขาดน้ำ การให้เลือดเมื่อเสียเลือดมาก หรือการให้ยาเพิ่มความดันโลหิต หรือยาเพิ่มการบีบตัวของหลอดเลือด เมื่อเกิดจากหลอดเลือดขยายตัวผิดปกติ
ความดันต่ำ ดูแลตัวอย่างไร
1. ปฏิบัติตามแพทย์และพยาบาลแนะนำอย่างเคร่งครัด
2. ดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม
3. เคลื่อนไหวร่างกายเสมอ
4. เมื่อจะเปลี่ยนท่าทาง เช่น จากนอนเป็นยืน โดยเฉพาะผู้สูงอายุต้องค่อย ๆ เปลี่ยนท่าทาง จากนอนอาจต้องลุกนั่งพักสักครู่ก่อนแล้วจึงยืน จากนั่งอาจต้องยืนยึดจับสิ่งยึดเหนี่ยวให้มั่นคงก่อนจึงค่อยก้าวเดิน
5. หลีกเลี่ยงการยืนนาน ๆ แต่ถ้าเป็นอาชีพ อาจต้องใส่ถุงน่องช่วยพยุงหลอดเลือดไม่ให้เกิดการแช่ค้างของเลือด และไม่นั่งไขว่ห้างนาน ๆ เพื่อลดการเบียดทับหลอดเลือด จึงเพิ่มการไหลเวียนเลือด
6. ควรกินยาตามแพทย์และเภสัชกรสั่ง และควรรู้จักผลข้างเคียงของยาที่กินอยู่ทุกตัว
7. อย่ากินอาหารแต่ละมื้อในปริมาณมากเกินไป
8. ต้องจำให้ได้ว่าแพ้อาหารหรือยาอะไรบ้าง และหากแพ้อาหารควรหลีกเลี่ยงอาหารนั้น ๆ หรือหากแพ้ยาต้องแจ้งแพทย์และเภสัชกรทุกครั้ง
9. ดูแลรักษา และควบคุมโรคต่าง ๆ ที่เป็นสาเหตุ
10. ควรพบแพทย์เมื่อเกิดความผิดปกติ เช่น อาการแย่ลง โดยเฉพาะอาการทางการหายใจ และอาการเจ็บหน้าอก
อย่างไรก็ตาม การวัดค่าความดันไม่ได้วัดเพียงครั้งเดียวและจะวินิจฉัยได้ว่าความดันโลหิตของเรานั้นปกติหรือผิดปกติ เพราะแพทย์จะต้องทำการซักประวัติ รวมไปถึงวัดความดันโลหิตอย่างน้อย 3 ครั้ง ในช่วงเวลาที่ต่างกัน เพื่อให้ทราบค่าเฉลี่ยความดันเลือดที่จริงที่สุด ทว่าสำหรับคนที่มีอาการผิดปกติ เช่น วูบบ่อย หรือมีอาการเวียนหัว ปวดหัวบ่อย เหนื่อยง่ายผิดปกติ จะลองเช็กอาการด้วยตัวเองเบื้องต้นก่อนก็ได้ หากพบว่ามีความเสี่ยงเป็นโรคความดันโลหิตสูงหรือความดันโลหิตต่ำก็ควรพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
ขอบคุณข้อมูลจาก
สมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย, ชัวร์ก่อนแชร์, คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี, คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี, คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี, โรงพยาบาลเวชธานี, heart.org
บทความเกี่ยวกับความดันโลหิตสูง
- โรคความดันโลหิตสูง ภัยเงียบ อันตราย !
- ความดันโลหิตสูง เพชฌฆาตเงียบที่ต้องระวัง เช็กค่าความดันปกติคือเท่าไร
- เครื่องวัดความดัน ยี่ห้อไหนดี ราคาไม่เกิน 2,000 บาท ใช้งานง่าย ฟังก์ชันครบ
- 13 อาหารลดความดันโลหิตสูง ที่ทุกครัวเรือนควรมี
- สมุนไพรลดความดันโลหิตสูง พืชผักมหัศจรรย์ใกล้ตัว
- 9 ผลไม้ลดความดันโลหิต กินเพิ่มความฟิต คุมความดันโลหิตไม่ให้พุ่ง
- เปิดเมนูอาหารโรคความดันโลหิตสูง กินอะไรดี ช่วยควบคุมความดัน
- ความดันสูง ฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม สรุปชัด ๆ ข้อปฏิบัติก่อน-หลังฉีดวัคซีน