ไทรอยด์ VS สารกัมมันตรังสีไอโอดีน ระวังอย่างไม่ตื่นตระหนก

สารกัมมันตรังสี


ไทรอยด์ VS สารกัมมันตรังสีไอโอดีน ระวังอย่างไม่ตื่นตระหนก (สุขกายสบายใจ)

หมอคู่กาย เรื่อง : ศ.เกียรติคุณ นพ.เทพ หิมะทองคำ

          ตั้งแต่เกิดภัยธรรมชาติแผ่นดินไหว คลื่นสึนามิ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ที่ผ่านมา และตามด้วยเหตุการณ์ระเบิดของเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูในประเทศญี่ปุ่น ไอโอดีน และ ไทรอยด์ ได้รับความสนใจและสร้างความกังวลให้ประชาชนจำนวนมาก หมอคู่กาย ในเดือนนี้ จึงขอนำเรื่องราวเกี่ยวกับไอโอดีนและต่อมไทรอยด์มาเล่าสู่กันฟังครับ

ความจริงที่ควรทราบ

          • ไอโอดีนที่กินสำหรับป้องกันร่างกายจากการรับรังสี จะสามารถป้องกันอวัยวะได้เพียงอวัยวะเดียวคือ ต่อมไทรอยด์

          • เมื่อเกิดการรั่วของสารกัมมันตรังสีออกมาจากเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณู จะมีสารกัมมันตรังสีรั่วออกมาหลายชนิด หนึ่งในนั้นคือสารกัมมันตรังสีไอโอดีน

          • เมื่อมีสารกัมมันตรังสีไอโอดีนหลุดเข้าไปในร่างกาย สารจะสะสมในกระแสเลือด ส่วนต่อมไทรอยด์จะดูดสารนี้เข้าไปในต่อมเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์จะดูดสารนี้เข้าไปในต่อมเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ ผลกระทบของการได้รับสารกัมมันตรังสีไอโอดีนจึงมีเพียงกับต่อมไทรอยด์เพียงอวัยวะเดียว

          • การได้รับสารกัมมันตรังสีไอโอดีนมากผิดปกติ จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งไทรอยด์ได้ในอนาคต

          • เนื่องจากต่อมไทรอยด์ไม่สามารถแยกแยะระหว่างไอโอดีนธรรมดา (เช่นไอโอดีนที่ใส่ในเกลือ เป็นต้น) กับสารกัมมันตรังไอโอดีน และจะดูดซึมไอโอดีนไม่ว่าชนิดใดก็ตามที่มีอยู่ในกระแสเลือดเพื่อนำไปผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ การกินสารไอโอดีนธรรมดาจำนวนมากจึงสามารถช่วยลดปริมาณของสารกัมมันตรังสีไอโอดีนที่ต่อมไทรอยด์จะดูดซึมลงได้ โดยที่ไอโอดีนธรรมดาจะทำให้ความเข้มข้นของสารกัมมันตรังสีไอโอดีนในเลือดลดลง ปริมารรังสีที่ต่อมไทรอยด์ดูดเข้าไป จึงน้อยลงเช่นกัน

ต่อมไทรอยด์คืออะไร?

          ต่อมไทรอยด์คือ ต่อมที่มีหน้าที่สร้างฮอร์โมนไทรอยด์ อยู่บริเวณคอใต้ลูกกระเดือก ฮอร์โมนไทรอยด์มีหน้าที่ช่วยควบคุมอัตราการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย หากขาดฮอร์โมนไทรอยด์ อวัยวะทุกอย่างในร่างกายจะทำงานช้าลง แต่หากมีมากเกินไป อวัยวะจะทำงานเร็วเกินไป ทำให้เกิดอาการเหนื่อยใจสั่น ซึ่งเป็นอาการของโรคที่รู้จักกันในชื่อ โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ

          ฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายมี 2 ชนิดคือ T3 และ T4 ตัวเลข 3 และ 4 คือจำนวนอะตอมของไอโอดีนต่อหนึ่งโมเลกุลของฮอร์โมน นั่นคือไอโอดีนเป็นส่วนสำคัญของสูตรโครงสร้างของฮอร์โมนไทรอยด์ต่อมไทรอยด์จึงต้องเก็บสารไอโอดีนจากกระแสเลือดไปสะสมไว้ เพื่อสร้างฮอร์โมน T3 และ T4 หากบังเอิญสารไอโอดีนที่เก็บเข้าไปมีกัมมันตภาพรังสีอยู่ ต่อมไทรอยด์จะโดนกัมมันตภาพรังสีไปด้วย ทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งไทรอยด์ หรือเกิดความเสี่ยงที่เซลล์ของต่อมไทรอยด์จะถูกทำลาย และต่อมไทรอยด์จะผลิตฮอร์โมนไทรอยด์น้อยลง จนอาจเกิดภาวะไอโปไทรอยด์ได้

อะไรคือสารไอโอดีนที่รับประทานเพื่อป้องกันสารกัมมันตรังสี?

          สารไอโอดีนที่แจกจ่ายให้ประชาชนกินเพื่อป้องกันสารกัมมันตรังสีนั้น จะมาในรูปแบบของโปรแทสเซียมไอโอไดด์ (KI) ซึ่งเป็นสารชนิดเดียวกับที่ใส่ลงในเกลือเพื่อป้องกันประชาชนจากการขาดสารไอโอดีน การกิน KI ต้องกินทุกวันตลอดเวลาที่ยังได้รับสารกัมมันตรังสีมากเกินปกติ ผู้ที่ควรได้รับ KI มากที่สุดคือกลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ ทารก เด็ก และสตรีตั้งครรภ์ สำหรับผู้ใหญ่นั้นความเสี่ยงลดน้อยลงมาก

          KI มาในทั้งรูปแบบเม็ดและน้ำ ขนาดของ KI ที่ควรได้รับจากการแนะนำของคณะกรรมการอาหารและยา ประเทศสหรัฐอเมริกาคือ

อะไรพิสูจน์ว่าโพแทสเซียมไอโอไดด์ (KI) ช่วยป้องกันอันตรายจากกัมมันตรังสีได้จริง?

          จากเหตุการณ์การระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอโนบิวเมื่อปี 1986 ในสหภาพโซเวียต (บริเวณซึ่งเป็นประเทศยูเครนในปัจจุบัน) ประชากรมากถึง 3,000 คน ส่วนใหญ่เป็นทารกและเด็กเล็กซึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณยูเครน เบลารูส เกิดเป็นมะเร็งไทรอยด์ในระยะเวลาประมาณ 10 ปีหลังการระเบิด ในขณะที่ประชากรที่อาศัยอยู่บริเวณโปแลนด์ ซึ่งมีพื้นที่ติดกัน แต่มีการแจกจ่าย KI ให้กับประชากรเด็กมากกว่า 95% ภายในระยะเวลา 3 วันหลังจากการระเบิด ไม่พบว่าอัตราการเป็นมะเร็งไทรอยด์สูงขึ้นกว่าปกติ

อยู่ประเทศไทย ต้องกิน KI หรือไม่?

          ผู้อาศัยอยู่ในประเทศไทยไม่มีความจำเป็นต้องกิน KI นอกจากผู้ที่ต้องการเดินทางเข้าไปในบริเวณที่มีสารกัมมันตรังสีสูง เช่น เขตเมือง เซนได ประเทศญี่ปุ่น

          ผมขอสรุปสั้น ๆ ว่า พวกเราไม่ต้องตื่นตระหนกหรือตกใจกลัวกับเหตุการณ์รั่วไหลของสารกัมมันตรังสีในประเทศญี่ปุ่นมากเกินไปครับ และไม่ต้องกลัวสารกัมมันตรังสีไอโอดีน โดยเฉพาะผู้เป็นไทรอยด์ที่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ให้รักษาด้วยการกลืนสารนี้ เพราะขนาดของกัมมันตรังสีที่ใช้นั้นน้อยมาก และทางการแพทย์มีมาตรฐานควบคุมชัดเจนรัดกุม มั่นใจได้ในความปลอดภัยของทั้งผู้รับการรักษาและผู้ที่อยู่รอบข้างครับ



เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย





ขอขอบคุณข้อมูลจาก

หนังสือสุขกายสบายใจ ฉบับ 03 พฤษภาคม 2554


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไทรอยด์ VS สารกัมมันตรังสีไอโอดีน ระวังอย่างไม่ตื่นตระหนก อัปเดตล่าสุด 18 ธันวาคม 2556 เวลา 11:03:15 5,186 อ่าน
TOP
x close