x close

วิธีอ่านค่าความดันโลหิตที่ถูกต้อง พร้อมไขข้อสงสัยวัดความดันเองที่บ้านช่วงเวลาไหนดีที่สุด

           ความดันโลหิตสูง ความดันโลหิตต่ำ เราสามารถวัดเองได้โดยเครื่องวัดความดันโลหิต ทว่าต้องอ่านค่ายังไงให้ได้ความดันเลือดที่ใกล้กับความเป็นจริงที่สุด
ความดันโลหิต

           วิธีอ่านค่าความดันโลหิตด้วยตัวเองเมื่อต้องวัดความดันที่บ้าน ควรอ่านแบบไหนถึงจะถูกต้อง รวมไปถึงการวัดความดันควรทำช่วงเวลาไหนถึงจะดี และความดันโลหิตสูง-ความดันโลหิตต่ำอยู่ที่เท่าไร ข้อมูลเหล่านี้รอให้คุณมาอ่านด้านล่างนี้แล้ว

ค่าความดันโลหิตปกติอยู่ที่เท่าไร

          ค่าความดันโลหิตในระดับที่ปกติ วัดจากผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ถูกกำหนดไว้ดังนี้

  • ความดันโลหิตที่ดีต่อร่างกาย : ความดันโลหิตตัวบนต่ำกว่า 120 มิลลิเมตรปรอท และความดันโลหิตตัวล่างต่ำกว่า 80 มิลลิเมตรปรอท

  • ความดันโลหิตปกติ : ความดันโลหิตตัวบน 120-129 มิลลิเมตรปรอท และความดันโลหิตตัวล่าง 80-84 มิลลิเมตรปรอท

          ส่วนค่าความดันโลหิตสูงจะถูกแบ่งออกเป็นระดับความสูงทีละสเต็ปไปอีก ตั้งแต่ค่อนข้างสูงไปจนถึงระดับสูงมาก

ความดันโลหิตสูง คือเท่าไร

ความดันโลหิตสูง

          ค่าความดันโลหิตสูง ถูกแบ่งเป็นช่วง ๆ ดังนี้

  • ความดันโลหิตเริ่มสูง แต่ยังไม่ถึงกับเป็นโรค : ความดันโลหิตตัวบน 130-139 มิลลิเมตรปรอท และ/หรือความดันโลหิตตัวล่าง 85-89 มิลลิเมตรปรอท
  • ความดันโลหิตสูงเล็กน้อย (ระยะที่ 1) : ความดันโลหิตตัวบน 140-159 มิลลิเมตรปรอท และ/หรือความดันโลหิตตัวล่าง 90-99 มิลลิเมตรปรอท
  • ความดันโลหิตสูงปานกลาง (ระยะที่ 2) : ความดันโลหิตตัวบน 160-179 มิลลิเมตรปรอท และ/หรือความดันโลหิตตัวล่าง 100-109 มิลลิเมตรปรอท
  • ความดันโลหิตสูงมาก (ระยะที่ 3) : ความดันโลหิตตัวบนตั้งแต่ 180 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป และ/หรือความดันโลหิตตัวล่างตั้งแต่ 110 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป

          อย่างไรก็ตาม ในกรณีมีโรคประจำตัวอื่น ๆ ร่วมด้วย เกณฑ์ที่ใช้วัดความดันโลหิตสูงจะแตกต่างไปจากนี้ เช่น ผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงและเป็นเบาหวานหรือไตเสื่อมด้วย หากมีค่าความดันโลหิตสูงกว่า 130/80 มิลลิเมตรปรอท จะถือว่ามีความดันโลหิตสูงแล้ว

วัดความดันช่วงเวลาไหนดีที่สุด

วัดความดันช่วงเวลาไหนดีที่สุด

          การวัดความดันโลหิตด้วยตัวเองที่บ้าน ปกติแล้วแพทย์จะแนะนำให้วัดความดันโลหิต 2 ช่วงเวลา (รวมวันละ 4 ครั้ง) คือ

  • ช่วงเช้า : ภายใน 1 ชั่วโมงหลังตื่นนอน และปัสสาวะให้เรียบร้อย งดกินยาหรืออาหารก่อนวัดความดัน และวัดความดันทั้งหมด 2 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 1 นาที

  • ช่วงก่อนนอน : วัดความดันโลหิต 2 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 1 นาที

          ทั้งนี้ เพราะค่าความดันโลหิตมีการเปลี่ยนแปลงตลอดทั้งวัน จึงควรวัดหลายครั้งในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน เพื่อหาค่าความดันโลหิตเฉลี่ย

ความดันโลหิต ควรวัดมือไหน

           การวัดความดันโลหิตควรวัดแขนข้างที่ไม่ถนัด เนื่องจากแขนที่เราถนัดจะมีแรงดันโลหิตสูงกว่า ทำให้วัดค่าได้สูงกว่าปกติ ทั้งนี้ การวางแขนก่อนวัดต้องให้อยู่ในระดับเดียวกับหัวใจ เพื่อให้ได้ค่าที่แม่นยำ

ก่อนวัดความดันที่บ้าน
ควรเตรียมตัวยังไง

          ก่อนจะวัดความดันโลหิต ควรเตรียมตัวดังนี้

  1. งดสูบบุหรี่ ดื่มชา กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และงดออกกำลังกาย ก่อนทำการวัดความดันโลหิต 30 นาที 
  2. ปัสสาวะให้เรียบร้อย
  3. นั่งพักอย่างน้อย 5 นาที
  4. นั่งในท่าสบาย ไม่เกร็ง หลังพิงพนักเก้าอี้ เท้าทั้งสองข้างราบกับพื้น
  5. วางแขนบนโต๊ะ ให้ข้อศอกอยู่ในระดับหัวใจ

วิธีวัดความดันที่ถูกต้อง

วิธีวัดความดันที่ถูกต้อง

          เพื่อให้ได้ค่าความดันที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงที่สุด คลาดเคลื่อนน้อยที่สุด การวัดความดันที่บ้านจึงควรปฏิบัติดังนี้

  1. วางแขนข้างที่ไม่ถนัดให้อยู่ในระดับเดียวกับตำแหน่งหัวใจ 

  2. หากใส่เสื้อแขนยาวที่ผ้ามีความหนา ควรถกแขนเสื้อขึ้น หรือเปลี่ยนเป็นเสื้อแขนสั้น ก่อนทำการวัดความดัน

  3. พันผ้าพันแขนรอบต้นแขน จัดสายยางของผ้าพันแขนให้ชี้ลงข้างล่าง ให้ขอบล่างของผ้าพันแขนอยู่เหนือข้อพับแขนประมาณ 2-3 เซนติเมตร 

  4. จัดผ้าพันแขนให้เข้าที่ โดยให้สัญลักษณ์จุดกลม ๆ ที่ขอบล่างของผ้าอยู่ด้านในของข้อพับแขน

  5. ดึงผ้าพันแขนให้แน่นพอสมควร โดยยังสามารถสอดนิ้วเข้าไประหว่างแขนและผ้าพันแขนได้

  6. นั่งพักในท่าผ่อนคลายสัก 2 นาที ก่อนทำการวัดความดัน

  7. กดปุ่มเริ่มการทำงานของเครื่องวัดความดัน ไม่กำมือ ไม่พูดคุย หรือขยับตัว ระหว่างที่เครื่องกำลังทำการวัดความดัน

  8. รอจนเครื่องวัดความดันโลหิตแสดงค่า

  9. บันทึกค่าความดันโลหิตลงในสมุดบันทึก

วิธีอ่านค่าความดันโลหิต

วิธีอ่านค่าความดัน

          ค่าความดันโลหิตจะแสดงบนจอ 3 ค่า ได้แก่

  • ค่าความดันโลหิตตัวบน (SYS) หรือ ค่าความดันโลหิตซิสโตลิก (Systolic blood pressure) ซึ่งเป็นแรงดันของเลือดขณะหัวใจบีบตัว โดยค่าปกติคือ 120-129 มิลลิเมตรปรอท

  • ค่าความดันโลหิตตัวล่าง (DIA) หรือ ค่าความดันโลหิตไดแอสโตลิก (Diastolic blood pressure) ซึ่งเป็นแรงดันของเลือดขณะหัวใจคลายตัว โดยค่าปกติคือ 80-84 มิลลิเมตรปรอท

  • ชีพจร (PULSE) หรืออัตราการเต้นของหัวใจ โดยค่าชีพจรปกติจะอยู่ที่ 60-100 ครั้ง/นาที

วัดความดันโลหิตทุกวันได้ไหม

           เราไม่จำเป็นต้องวัดความดันโลหิตทุกวัน เพราะอาจจะทำให้รู้สึกเครียดได้ แต่แนะนำให้วัดความดันโลหิตเดือนละ 3-7 วันติดต่อกัน หรืออย่างน้อย 1 สัปดาห์ ก่อนมาพบแพทย์ หรือในคนที่มีโรคความดันโลหิตสูงหรือต่ำ อาจจะวัดความดันเมื่อมีอาการผิดปกติ เช่น เวียนศีรษะ ตาพร่ามัว หน้ามืด วูบ หายใจไม่ออก เหงื่อออก ตัวเย็น ซึ่งเป็นอาการที่เกิดจากความดันโลหิตสูงหรือต่ำกว่าปกติ

          ทั้งนี้ หากวัดหลาย ๆ ครั้งแล้วพบว่าความดันโลหิตสูงหรือต่ำกว่าปกติ หรือมีอาการไม่ค่อยสบาย ดูคล้าย ๆ จะเกี่ยวข้องกับความดันเลือด ก็ลองไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาได้เลย เพราะโรคความดันโลหิตเป็นภัยเงียบที่หากรักษาได้ไวก็จะช่วยลดการเกิดโรคเรื้อรังอื่น ๆ ตามมาได้

บทความที่เกี่ยวข้องกับความดันโลหิต

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิธีอ่านค่าความดันโลหิตที่ถูกต้อง พร้อมไขข้อสงสัยวัดความดันเองที่บ้านช่วงเวลาไหนดีที่สุด อัปเดตล่าสุด 3 เมษายน 2567 เวลา 13:46:53 8,126 อ่าน
TOP