ผักลดความดัน จริง ๆ ก็มีอยู่หลายชนิดด้วยกัน และวันนี้เราจะมาชี้เป้าให้คนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง หรือกำลังเสี่ยงกับภาวะนี้ มาจดลิสต์แล้วตามไปกินได้เลย
ความดันโลหิตสูงเป็นภัยเงียบที่กัดกร่อนสุขภาพโดยรวมไปเรื่อย ๆ และหากปล่อยให้ความดันโลหิตสูงอย่างต่อเนื่อง เลือดก็จะลำเลียงไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายไม่สม่ำเสมอ จนเพิ่มความเสี่ยงโรคเรื้อรัง เช่น โรคหลอดเลือดในสมองตีบ โรคหลอดเลือดหัวใจและกล้ามเนื้อหัวใจ โรคไตวาย เส้นเลือดแดงใหญ่โป่งพอง อัมพาต อัมพฤกษ์ ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตโดยเฉียบพลันได้ และที่น่าเป็นห่วงคือ ปัจจุบันโรคความดันโลหิตสูงพบได้ในคนที่อายุน้อย ๆ ไม่ใช่เป็นได้แค่คนสูงอายุเหมือนก่อนอีกต่อไป
ดังนั้นหากใครกำลังสุ่มเสี่ยงเป็นความดันโลหิตสูง ลองมาให้ผักลดความดันช่วยปรับสมดุลการไหลเวียนของเลือดในเบื้องต้นกันก่อนดีกว่า โดยสามารถเลือกรับประทานผักลดความดันตามนี้ได้เลย
ผักลดความดัน เป็นความดันโลหิตสูง กินผักอะไรดี
1. บรอกโคลี
บรอกโคลีอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ทั้งสารต้านอนุมูลอิสระ ไฟเบอร์ วิตามินซี วิตามินบี แคลเซียม ฟอสฟอรัส และยังมีการศึกษาที่รวบรวมข้อมูลจากอาสาสมัคร 187,453 คน พบว่า หากรับประทานบรอกโคลี 4 ครั้ง หรือมากกว่านั้นต่อสัปดาห์ จะมีระดับความดันโลหิตต่ำกว่าคนที่รับประทานบรอกโคลีเดือนละครั้งหรือน้อยครั้งกว่านั้น อย่างไรก็ตาม นอกจากบรอกโคลีจะมีส่วนช่วยลดความดันโลหิตแล้ว ยังมีสรรพคุณดี ๆ อีกเพียบเลยนะคะ
2. ปวยเล้ง
ปวยเล้งที่หลาย ๆ คนชอบรับประทานกันอยู่แล้วก็จัดเป็นผักช่วยลดความดันโลหิตได้ค่ะ เพราะอุดมไปด้วยไนเตรตที่ช่วยควบคุมระดับความดันโลหิต และยังมีแมกนีเซียมสูง โพแทสเซียมสูง ไฟเบอร์สูง สารต้านอนุมูลอิสระแน่น ๆ ที่สำคัญยังสามารถนำไปทำอาหารได้หลายเมนูอีกด้วย
3. กระเทียม
นอกจากกระเทียมจะช่วยลดไขมันในเลือดแล้ว ประโยชน์ของกระเทียมก็ช่วยลดระดับความดันโลหิตได้ด้วย เพราะจัดเป็นเครื่องเทศที่มีสรรพคุณช่วยผ่อนคลายหลอดเลือด ส่งผลให้เลือดไหลเวียนได้เป็นปกติ ระดับความดันโลหิตก็จะเข้าสู่โหมดปกติเช่นกัน
4. กระเจี๊ยบแดง
ขึ้นชื่อลือชาว่าเป็นสมุนไพรลดไขมันในเลือด แต่ก็ยังพ่วงสรรพคุณลดความดันโลหิตมาด้วย แถมยังจัดเป็นยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกแนะนำให้ใช้กระเจี๊ยบแดง 2-3 กรัม ชงกับน้ำร้อนปริมาณ 120-200 มิลลิลิตร ดื่มวันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร แต่ก็ควรระวังอาการท้องเสีย เพราะกระเจี๊ยบแดงมีฤทธิ์เป็นยาระบาย อีกทั้งยังห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตบกพร่องด้วยค่ะ
5. ขึ้นฉ่าย
ขึ้นฉ่ายเป็นผักที่มีกลิ่นเป็นเอกลักษณ์ และเป็นผักที่มีสรรพคุณน่าสนใจ เพราะมีการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่พบว่า ขึ้นฉ่ายมีฤทธิ์ลดความดันโลหิต ขับปัสสาวะ ลดบวม ควบคุมน้ำตาลในเลือด แถมยังช่วยลดไขมันและมีฤทธิ์ต้านการอักเสบอีกด้วย
6. ตะไคร้
เราใช้ตะไคร้ทั้งในบทบาทผักและสมุนไพร เพราะประโยชน์ของตะไคร้ก็ดีต่อสุขภาพหลายประการ โดยฤทธิ์เผ็ดร้อนของตะไคร้จะช่วยขับปัสสาวะ แก้อาการขัดเบา ส่งผลให้ระดับความดันโลหิตลดลงได้ อีกทั้งเรายังสามารถนำตะไคร้ไปประกอบอาหารได้หลายเมนู หรือจะทำเป็นน้ำตะไคร้ดื่มระหว่างวันก็ยังได้
7. มะรุม
มะรุมเป็นผักพื้นบ้านที่นอกจากจะช่วยแก้ท้องผูกได้ดีแล้ว ยังมีสรรพคุณอื่น ๆ ที่น่าสนใจ และหนึ่งในนั้นก็คือการช่วยลดความดันโลหิตนี่แหละค่ะ เพราะมะรุมอุดมไปด้วยโพแทสซียม ซึ่งมีมากกว่ากล้วยถึง 3 เท่าเลยทีเดียว ทั้งยังมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่พบว่า ในผลและฝักของมะรุมมีสารในกลุ่มไกลโคไซด์ ที่มีส่วนช่วยลดระดับความดันโลหิตในหลอดทดลองได้อีกด้วย
8. ใบบัวบก
ถ้าพูดถึงใบบัวบกหลายคนจะนึกถึงประโยชน์แก้ช้ำใน แต่ทราบไหมคะว่าเราก็สามารถใช้ใบบัวบกช่วยลดความดันโลหิตได้ และใบบัวบกก็ยังเป็นผักพื้นบ้านที่ทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกจัดไว้ในกลุ่มผักและสมุนไพรลดความดันโลหิตด้วยวิธีธรรมชาติ เพราะเป็นผักที่มีสรรพคุณช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้หลอดเลือดดำและเส้นเลือดฝอย อีกทั้งยังช่วยลดภาวะความเครียด อันเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง
ส่วนวิธีการรับประทานใบบัวบกก็แค่นำใบบัวบกไปคั้นน้ำ กรองกากออก แล้วนำมาดื่ม โดยสามารถนำไปผสมกับน้ำผึ้งสักเล็กน้อย หรือผสมกับน้ำผลไม้อื่น ๆ เพื่อให้ดื่มง่ายขึ้นก็ได้ค่ะ
วิธีลดความดันโลหิตด้วยวิธีธรรมชาติ นอกจากจะสลับรับประทานผักลดความดันเบื้องต้นแล้ว ก็ควรหมั่นออกกำลังกาย รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และเลือกกินแต่ของที่มีประโยชน์ ลดอาหารมัน ๆ ทอด ๆ อาหารโซเดียมสูง ที่สำคัญควรลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงความเครียด และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอด้วยนะคะ
บทความที่เกี่ยวข้องกับวิธีลดความดันโลหิต
ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก (1), (2), Rama Channel, healthline.com, medicalnewstoday.com