กระเจี๊ยบแดง สรรพคุณดีงาม ลดความดัน ไขมัน บำรุงหัวใจ


          สรรพคุณของกระเจี๊ยบแดงมีความดีงามเบอร์แรงมาก ๆ จัดเป็นสมุนไพรเพื่อสุขภาพที่หาง่าย รสชาติอร่อย ราคาก็ไม่แพงอีกต่างหาก

          ถ้าพูดถึงกระเจี๊ยบแดง หลายคนคงนึกไปถึงน้ำกระเจี๊ยบสีแดง ๆ รสชาติอมเปรี้ยวอมหวาน ดื่มแล้วชื่นใจ แล้วเคยสงสัยถึงสรรพคุณกระเจี๊ยบกันบ้างไหมคะว่า กระเจี๊ยบ สรรพคุณดีต่อสุขภาพยังไงบ้าง ถ้ายังไม่ทราบก็มารู้จักประโยชน์ของกระเจี๊ยบแดงกันเลย


กระเจี๊ยบ สมุนไพรไทยสีแดงแรงฤทธิ์

          กระเจี๊ยบแดงมีชื่อทางวิทยาศาตร์ว่า Hibiscus sabdaiffa L. ชื่อภาษาอังกฤษของกระเจี๊ยบแดงคือ Jamaica sorrel หรือ Roselle ส่วนในบ้านเราเรียกกันทั้งกระเจี๊ยบแดง กระเจี๊ยบ กระเจี๊ยบเปรี้ยว ผักเก็งเค็ง ส้มเก็งเค็ง ส้มตะเลงเครง ส้มปู เป็นต้น

          ถิ่นกำเนิดของกระเจี๊ยบแดงอยู่ในแถบแอฟริกาตะวันตก จากนั้นได้มีการนำกระเจี๊ยบแดงมาปลูกในประเทศแถบเส้นศูนย์สูตรทั่วไป ต้นกระเจี๊ยบจะชอบแดดจัดและจะเติบโตได้ดีในดินที่มีความชุ่มชื้นพอเหมาะ ดังนั้นกระเจี๊ยบจึงปลูกในบ้านเราได้สบาย ๆ กลายเป็นพืชสมุนไพรที่หาง่ายมาก ๆ

กระเจี๊ยบแดง

          ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของกระเจี๊ยบแดงจะเป็นไม้พุ่ม ความสูงของต้นประมาณ 1-2 เมตร กิ่งก้านของต้นมีสีม่วงแดง มีขนตามกิ่งและก้านรำไร ใบกระเจี๊ยบเป็นใบเดี่ยว รูปทรงไข่หรือรูปนิ้วมือ ขนาดใบกว้างกระมาณ 7-12 เซนติเมตร ยาว 8-15 เซนติเมตร ขอบใบจัก

          ส่วนดอกกระเจี๊ยบมีสีเหลือง กลางดอกมีสีม่วงอมแดง ขนาดความดอกกว้างประมาณ 4-5 เซนติเมตร ดอกกระเจี๊ยบจะออกเดี่ยวหรือดอกคู่ตามซอกใบ ในดอกกระเจี๊ยบมีเกสรตัวผู้เชื่อมกันเป็นหลอด ผลเผ็นผลแห้ง แตกได้ มีกลีบเลี้ยงสีแดงฉ่ำน้ำหุ้มไว้

กระเจี๊ยบแดง

คุณค่าทางโภชนาการของกระเจี๊ยบแดง

          ตารางแสดงคุณค่าทางโภชนาการของอาหารไทยจากกองโภชนาการ กรมอนามัย แสดงคุณค่าทางโภชนการของใบกระเจี๊ยบในปริมาณ 100 กรัม ดังนี้

          พลังงาน 48 กิโลแคลอรี

          น้ำ 87.9 กรัม

          โปรตีน 1.7 กรัม

          ไขมัน 0.1 กรัม

          คาร์โบไฮเดรต 10.1 กรัม

          ไฟเบอร์ 1.3 กรัม

          เถ้า 0.2 กรัม

          แคลเซียม 9 มิลลิกรัม

          ฟอสฟอรัส 4 มิลลิกรัม

          เหล็ก 0.8 มิลลิกรัม

          ไทอะมีน 0.11 มิลลิกรัม

          ไรโบฟลาวิน 0.24 มิลลิกรัม

          ไนอะซิน 4.5 มิลลิกรัม

          วิตามินซี 44 มิลลิกรัม

กระเจี๊ยบแดง

สรรพคุณของกระเจี๊ยบแดง

          คราวนี้เรามาดูสรรพคุณของกระเจี๊ยบแดงกันบ้างดีกว่า กระเจี๊ยบแดง สรรพคุณจะแรงฤทธิ์เหมือนสีที่แจ่มจรัสไหม ตามมาดูกันค่ะ

1. ลดไข้

          ในกระเจี๊ยบมีสารพฤกษเคมีที่สำคัญ คือ สารต้านอนุมูลอิสระทั้งสารในกลุ่มฟีนอลิก สารกลุ่มฟลาโวนอยด์ และสารในกลุ่มแอนโธไซยานิน ซึ่งจากข้อมูลทางวิชาการแสดงให้เห็นว่า สารพฤกษเคมีดังกล่าวมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ ลดไข้ และต้านการอักเสบ นอกจากนี้วิตามินซีในกระเจี๊ยบยังมีส่วนช่วยเสริมความแข็งแรงให้ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายด้วยนะคะ

กระเจี๊ยบแดง

2. แก้ไอ ละลายเสมหะ

          ในตำรับยาแผนโบราณพบว่าใบกระเจี๊ยบมีฤทธิ์แก้ไอ ละลายเสมหะ ขับเมือกมันในลำคอให้ไหลลงสู่ทวารหนัก ทั้งยังช่วยแก้โรคพยาธิตัวจี๊ดได้อีกต่างหาก

3. ขับปัสสาวะ

         
จากการศึกษาให้ผู้ป่วยดื่มน้ำสกัดกลีบเลี้ยงของกระเจี๊ยบแดง พบว่า กระเจี๊ยบแดงมีฤทธิ์ขับปัสสาวะได้ดี โดยในการทดลองได้ใช้กลีบเลี้ยงกระเจี๊ยบแดงตากแห้ง บดเป็นผง 3 กรัม ชงน้ำเดือด 1 ถ้วยแก้ว หรือประมาณ 300 มิลลิลิตร ให้ผู้ป่วยดื่มวันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 1 ปี ส่วนในตำราพื้นบ้าน แนะนำให้นำกลีบเลี้ยงของกระเจี๊ยบแดงมาชงกับน้ำร้อนดื่มเป็นยาขับปัสสาวะได้

4. แก้กระหาย ให้ร่างกายสดชื่น

กระเจี๊ยบแดง

          ดอกกระเจี๊ยบมีรสเปรี้ยว เพราะมีวิตามินซี และกรดซิตริก จึงช่วยขับน้ำลายและแก้กระหาย โดยนำดอกกระเจี๊ยบตากแห้ง ต้มในน้ำเดือดเป็นน้ำกระเจี๊ยบหอมหวานชื่นใจ

5. รักษาแผลในกระเพาะอาหาร

          ดอกกระเจี๊ยบมีสรรพคุณต้านการอักเสบ และมีสรรพคุณช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร หล่อลื่นลำไส้ และเป็นยาระบายอ่อน ๆ

6. ลดไขมันในเลือด

          ส่วนเมล็ดของกระเจี๊ยบแดงมีสรรพคุณช่วยลดไขมันและคอเลสเตอรอลในเลือด โดยนำเมล็ดกระเจี๊ยบตากแห้งมาบดให้เป็นผง จากนั้นนำมาชงกับน้ำร้อนหรือต้มน้ำดื่ม ช่วยลดไขมันในเลือด บำรุงเลือด ขับน้ำดี แก้ปัสสาวะขัด

          - 10 สมุนไพรพื้นบ้านลดไขมันในเลือด อาหารเป็นยาคู่ครัวไทย

7. ป้องกันโรคหัวใจ

กระเจี๊ยบแดง

          สารแอนโธไซยานินที่ทำให้กลีบเลี้ยงของดอกกระเจี๊ยบมีสีแดง เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยทำให้เลือดไม่หนืด ช่วยลดไขมันเลวในเส้นเลือด จึงป้องกันไม่ให้หลอดเลือดแข็งตัว ป้องกันหัวใจขาดเลือด และลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ โดยนิยมนำกระเจี๊ยบแดงไปต้มกับพุทราจีน เพื่อบำรุงหัวใจ

          - น้ำกระเจี๊ยบพุทราจีน สองเพื่อนซี้คู่หูสมุนไพรคู่สุขภาพ 

8. รักษาแผล

          ใบของกระเจี๊ยบมีสรรพคุณในการต้านอาการอักเสบ จากตำรับยาแผนโบราณจะพบว่ามีการนำใบสดของกระเจี๊ยบแดง ล้างให้สะอาด และตำให้ละเอียด จากนั้นนำมาประคบฝีหรือต้มใบแล้วนำน้ำต้มใบมาล้างแผล ก็จะช่วยบรรเทาอาการแผลให้หายเร็วขึ้น นอกจากนี้ ใบยังมีวิตามินเอ สามารถทานบำรุงสายตาได้

9. ป้องกันโลหิตจาง

          กระเจี๊ยบแดงมีธาตุเหล็ก ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่สำคัญของฮีโมโกลบิน อีกทั้งความเป็นกรดของสารพฤกษเคมีในดอกกระเจี๊ยบแดงยังช่วยเพิ่มการดูดซึมและการกระจายแร่ธาตุต่าง ๆ ในร่างกาย ส่งผลให้กระเจี๊ยบแดงช่วยป้องกันภาวะโลหิตจางได้

10. ลดน้ำตาลในเลือด

กระเจี๊ยบแดง

          จากการศึกษากับผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ได้รับชากระเจี๊ยบแดง 3 กรัม ชงกับน้ำร้อน 150 มิลลิลิตร ติดต่อกันเป็นเวลา 1 เดือน พบว่า ระดับน้ำตาลในเลือดของอาสาสมัครลดลงสูงสุดจาก 162.1 เป็น 112.5 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร จากกลไกทางชีวภาพของสารพฤกษเคมีที่ช่วยลดการย่อยและการดูดซึมน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวและโมเลกุลคู่ผ่านการยับยั้งเอนไซม์แอลฟา-อะไมเลส แลแอลฟา-กลูโคซิเดส

           - 15 สมุนไพรรักษาเบาหวาน บำรุงสุขภาพก็ได้ ลดน้ำตาลก็ดีไม่เบา

11. ลดความดันโลหิต

          จากการศึกษาทางคลินิกในอาสาสมัครที่มีความเสี่ยงภาวะความดันโลหิตสูง โดยให้อาสาสมัครดื่มชากระเจี๊ยบแดง 1.25 กรัม ชงกับน้ำร้อน 240 มิลลิลิตร วันละ 3 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 6 สัปดาห์ พบว่า ความดันโลหิตของอาสาสมัครลดลง 7.2 มิลลิเมตรปรอท (ขณะหัวใจบีบตัว) และ 3.1 มิลลิเมตรปรอท (ขณะหัวใจคลายตัว)

12. ปกป้องไต

          การศึกษาในคลินิกที่ให้อาสาสมัครดื่มน้ำกระเจี๊ยบแดง 24 กรัมต่อวัน พบว่า สารพฤกษเคมีในกระเจี๊ยบแดงมีส่วนช่วยขับครีเอตินิน กรดยูริก ซิเตรต ทราเทรต แคลเซียม โพแทสเซียม และฟอสเฟต และในข้อมูลสัตว์ทดลองยังพบว่า กรดของสารพฤกษเคมีในดอกกระเจี๊ยบแดงขนาด 750 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม สามารถป้องกันและยับยั้งการพัฒนาของก้อนนิ่วได้ ทว่าผลการยับยั้งนิ่วในคนยังต้องศึกษากันต่อไป

13. ฆ่าเชื้อแบคทีเรียในทางเดินปัสสาวะ

          มีการศึกษาที่ยืนยันว่า กระเจี๊ยบแดงมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียในทางเดินปัสสาวะ โดยสารในกระเจี๊ยบแดงจะทำให้ปัสสาวะเป็นกรดจึงช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียในทางเดินปัสสาวะได้

กระเจี๊ยบแดง

ข้อควรระวังของกระเจี๊ยบแดง

          โทษและความเป็นพิษของกระเจี๊ยบแดงก็มีเหมือนกันนะคะ โดยจากการศึกษาพบว่า สารสกัดดอกกระเจี๊ยบแดงในปริมาณที่มากเกินไปมีผลต่อการสร้างอสุจิและจำนวนอสุจิที่ลดลง จึงไม่ควรกินกระเจี๊ยบแดงในปริมาณมาก หรือติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเกินไป

          นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตบกพร่องก็ไม่ควรทานกระเจี๊ยบแดง รวมทั้งสตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตร ควรหลีกเลี่ยงการกินกระเจี๊ยบแดงติดต่อกันเป็นเวลานานเช่นกันค่ะ เพราะผลการศึกษาในหนูทดลองพบว่า อาจทำให้ลูกหนูเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ช้าลง

          ส่วนกระเจี๊ยบแดงที่ถูกใช้มากที่สุดก็เป็นกลีบเลี้ยงหรือที่หลายคนเข้าใจว่าเป็นส่วนดอกของกระเจี๊ยบนั่นเองค่ะ และนอกจากทำน้ำกระเจี๊ยบดื่มแก้กระหายแล้ว เรายังสามารถนำยอดและใบอ่อนของกระเจี๊ยบมาปรุงอาหาร หรือคั้นเอาสีแดงของกลีบดอกมาแต่งสีอาหารได้ด้วยนะคะ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กระเจี๊ยบแดง สรรพคุณดีงาม ลดความดัน ไขมัน บำรุงหัวใจ อัปเดตล่าสุด 16 สิงหาคม 2565 เวลา 14:11:33 439,981 อ่าน
TOP
x close