โรคโลหิตจางอันตรายไหม ถ้าป่วยโรคเลือดจางอาการจะเป็นอย่างไร ควรกินอะไร-ไม่ควรกินอะไรบ้าง เช็กให้รู้จะได้ดูแลตัวเองได้ถูกต้อง
โรคโลหิตจาง คืออะไร
โรคโลหิตจาง หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Anemia เป็นภาวะที่ร่างกายมีเม็ดเลือดแดงน้อยกว่าปกติ ส่งผลให้มีอาการซีด เหนื่อยง่าย ร่างกายอ่อนเพลีย เพราะเม็ดเลือดแดงทำหน้าที่ส่งออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงเซลล์และเนื้อเยื่อต่าง ๆ ในร่างกาย หากเม็ดเลือดแดงลดลง จะทำให้ร่างกายเกิดความผิดปกติได้ ซึ่งภาวะเลือดจางหรือโลหิตจาง เกิดได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน
สาเหตุของโรคโลหิตจาง สามารถแบ่งตามกลไกการเกิดโรคได้ 3 สาเหตุใหญ่ ๆ ดังนี้
1. ร่างกายสร้างเม็ดเลือดแดงลดลง
ภาวะโลหิตจางจากร่างกายสร้างเม็ดเลือดแดงลดลง เกิดได้จากหลายปัจจัย โดยจำแนกได้ตามนี้
- โรคโลหิตจางเพราะขาดธาตุเหล็ก วิตามินบี 12 และกรดโฟลิก ซึ่งเป็นสารอาหารจำเป็นต่อการสร้างเม็ดเลือดแดง มักพบในกลุ่มคนที่ไม่ทานเนื้อสัตว์ หรือทานน้อยเกินไป ผู้ป่วยโรคเรื้อรังบางโรคที่มีอาการเบื่ออาหาร ผู้สูงอายุที่ทานอาหารได้น้อย รวมทั้งเด็ก ๆ วัยเจริญเติบโต และสตรีมีครรภ์ที่ต้องการธาตุเหล็กมากกว่าคนปกติ
- โรคไตวายเรื้อรัง ส่งผลให้การสร้างเม็ดเลือดแดงของร่างกายบกพร่อง เนื่องจากร่างกายสร้างฮอร์โมนอิริโธรโพอิติน (Erythropoietin) จากไตได้ลดลง ซึ่งฮอร์โมนตัวนี้มีหน้าที่ในการกระตุ้นไขกระดูกในการสร้างเม็ดเลือดแดง
- โรคไขกระดูก เช่น โรคกระดูกฝ่อ มะเร็งไขกระดูก หรือการติดเชื้อในไขกระดูก เป็นต้น
- โรคเรื้อรังบางชนิด เช่น โรคมะเร็ง (โดยเฉพาะโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว) โรคข้ออักเสบ โรคติดเชื้อเรื้อรัง หรือโรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน เป็นต้น
2. โรคที่ก่อให้เกิดภาวะทำลายเม็ดเลือดแดงในร่างกาย
นอกจากโรคที่เกี่ยวข้องกับไขกระดูกแล้ว โรคในกลุ่มที่ส่งผลให้เม็ดเลือดแดงถูกทำลายได้ง่ายกว่าปกติ หรือมีอายุสั้นกว่าปกติ ที่พบได้บ่อยในไทยก็ได้แก่
- โรคธาลัสซีเมีย เป็นโรคถ่ายทอดทางพันธุกรรม อาจมีอาการโลหิตจางอย่างรวดเร็วเมื่อมีไข้ หรือบางรายอาจมีอาการตัวเหลือง ม้ามโต ตับโต มีภาวะโลหิตจางตั้งแต่อายุน้อย ๆ
* ธาลัสซีเมีย โรคทางพันธุกรรมที่คนไทยเป็นพาหะกว่า 20 ล้านคน !
- โรคเม็ดเลือดแดงแตกง่ายจากการขาดเอนไซม์ G-6PD หรือโรคแพ้ถั่วปากอ้า ผู้ป่วยจะมีความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับเม็ดเลือดแดงได้ง่ายกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะหากถูกกระตุ้นด้วยสารบางอย่างที่เม็ดเลือดแดงไม่อาจต้านทานได้ เช่น สารบางชนิดในถั่วปากอ้า เป็นต้น
* โรคแพ้ถั่วปากอ้า G6PD อันตรายไหม เช็กอาการจากอะไรได้บ้าง
- โรคเม็ดเลือดแดงแตกง่ายจากภาวะภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง ส่งผลให้เม็ดเลือดแดงถูกทำลาย โดยอาจพบโรคนี้ร่วมกับโรคทางระบบภูมิคุ้มกันอื่น ๆ
- การติดเชื้อบางชนิด เช่น เชื้อมาลาเรีย คลอสติเดียม หรือเชื้อไมโคพลาสมา เป็นต้น
3. การเสียเลือด
ภาวะเสียเลือดอย่างฉับพลันจากอุบัติเหตุ การตกเลือด
หรือภาวะเสียเลือดเรื้อรัง เช่น เสียเลือดทางประจำเดือนในผู้หญิง
เสียเลือดในทางเดินอาหารในผู้ชายและผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เช่น
มีแผลในกระเพาะอาหาร-ลำไส้ใหญ่ หรือเสียเลือดไปกับโรคริดสีดวงทวาร
โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ที่มีภาวะเสียเลือดมากมักจะมีภาวะขาดธาตุเหล็กร่วมด้วย
ด้วยสาเหตุของโรคโลหิตจางหรือภาวะเลือดจางมีอยู่หลายสาเหตุด้วยกัน และอาการของผู้ป่วยโรคโลหิตจางในแต่ละสาเหตุอาจมีความแตกต่างกันไปตามรอยโรคนั้น ๆ ทว่าเราก็สามารถเช็กอาการโลหิตจางเบื้องต้นได้จากอาการต่อไปนี้
1. ตัวซีด จนมีคนทักว่าซีดลง (หน้าซีด เยื่อบุตาซีด และริมฝีปากซีด) โดยไม่มีไข้
2. ตัวเหลืองจนสังเกตเห็นได้ชัด
3. เหนื่อยง่ายกว่าปกติ โดยเฉพาะขณะออกแรง
4. อ่อนเพลีย
5. เบื่ออาหาร
6. หน้ามืด วิงเวียน
7. หงุดหงิดง่าย อารมณ์แปรปรวน
8. ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว หากรุนแรงอาจหัวใจล้มเหลว
วิธีรักษาโรคโลหิตจางแพทย์จะทำการรักษาตามความรุนแรงของอาการผู้ป่วยแต่ะราย โดยวิธีรักษามีตั้งแต่การให้เลือดแดงทดแทน ให้ออกซิเจนในเคสที่อาการค่อนข้างรุนแรงมาก และอาจให้ผู้ป่วยพักฟื้นในโรงพยาบาลเป็นหลัก
ส่วนผู้ป่วยโลหิตจางที่อาการไม่รุนแรง แพทย์อาจรักษาตามอาการโดยให้ยาบำรุงโลหิตไปรับประทานเพื่อเพิ่มความเข้มข้นของเลือด แต่อย่างไรก็ตาม หลักการรักษาโรคโลหิตจางที่สำคัญคือการตรวจหาสาเหตุของโรคให้ชัดเจน เพื่อช่วยให้แพทย์เลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมและให้ผลการรักษาที่น่าพอใจ ที่สำคัญในบางครั้งภาวะโลหิตจางก็อาจทำให้เราตรวจพบโรคร้ายแรงที่ซ่อนอยู่ในผู้ป่วยภาวะเลือดจางได้
ฉะนั้นหากสงสัยว่าตัวเองมีภาวะโลหิตจางก็ควรไปปรึกษาแพทย์จะดีที่สุดนะคะ อย่างไรก็ดี โรคโลหิตจางในบางเคสที่มีสาเหตุจากโรคทางพันธุกรรม หรือโรคเรื้อรัง อาจรักษาไม่หายขาด แต่หากเป็นโรคเลือดจางจากอุบัติเหตุ การเสียเลือด หรือภาวะร่างกายขาดสารอาหารบำรุงเลือด ในเคสนี้สามารถรักษาโรคโลหิตจางให้หายขาดได้นะคะ
อย่างไรก็ตาม หากมีอาการข้างต้นและสงสัยว่าตัวเองมีภาวะโลหิตจาง ควรไปตรวจเช็กกับแพทย์อย่างละเอียดอีกทีเพื่อความแน่ใจ โดยแพทย์จะทำการซักประวัติอย่างละเอียด ร่วมกับตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด โดยดูจากระดับฮีโมโกลบินและฮีมาโตคริตของเม็ดเลือดแดง หรือบางเคสอาจต้องเข้ารับการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุของภาวะโลหิตจางต่อไป
ความอันตรายของโรคนี้ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่เป็นด้วยค่ะ หากเลือดจางเพราะขาดสารอาหาร อาการจะไม่รุนแรงมากนัก บางคนอาจแค่มีอาการอ่อนเพลีย ซีด รู้สึกเหนื่อยง่าย ซึ่งแม้จะดูไม่ได้อันตรายมาก แต่อาการเหนื่อยง่าย ร่างกายอ่อนแอ ก็มักจะกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน รวมทั้งประสิทธิภาพในการทำงานและสติปัญญาลดลงได้เหมือนกัน
แต่หากเป็นภาวะเลือดจางที่เกิดจากอุบัติเหตุ การเสียเลือดกะทันหัน หรือโรคต่าง ๆ ย่อมเป็นอันตรายได้ หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคร้ายแรงต้องระวังภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นตามมา
โรงเลือดจาง ต้องกินอะไรบำรุง
สำหรับคนที่มีภาวะเลือดจาง ที่ไม่มีอาการป่วยของโรคเรื้อรังอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ภาวะความดันโลหิตสุง โรคเบาหวาน หรือโรคไต ควรกินอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น เนื้อสัตว์ ตับหมู ตับวัว เลือดหมู ไตหมู นม ไข่ ตำลึง กะหล่ำ มะเขือเทศ ผักโขม ใบชะพลู กว้างตุ้ง หรือสามารถกินอาหารบำรุงเลือดตามนี้ก็ได้
* อาหารบำรุงเลือด กินอย่างนี้สิป้องกันภาวะโลหิตจาง
ทั้งนี้แนะนำให้ทานอาหารที่มีวิตามินซีสูงควบคู่ไปด้วยในมื้อเดียวกัน เช่น ทานเนื้อสัตว์ร่วมกับผักใบเขียว หรือขี้เหล็ก มะรุม ผักหวาน สะเดา มะระขี้นก คะน้า บรอกโคลี ที่มีวิตามินซีสูง เพราะปกติแล้วร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กจากอาหารได้ไม่มาก แต่วิตามินซีจะช่วยให้ดูดซึมธาตุเหล็กได้มากขึ้น
ในกรณีที่มีภาวะโลหิตจางจากโรคธาลัสซีเมีย
ผู้ป่วยควรระมัดระวังการรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เพราะอาจทำให้เกิดการดูดซึมและสะสมของธาตุเหล็กในร่างกายเยอะเกินไป
และอาจส่งผลให้เกิดอาการแทรกซ้อน เช่น หัวใจล้มเหลว โรคตับ
โรคนิ่วในถุงน้ำดี เป็นต้น
ดังนั้นผู้ป่วยโรคโลหิตจางที่เกิดจากธาลัสซีเมีย ควรเลี่ยงอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงอย่างตับสัตว์ เลือด ผักขี้เหล็ก ผักคะน้า รวมไปถึงช็อกโกแลต และควรเลือกรับประทานอาหารโปรตีนสูง เช่น เนื้อปลาทะเล เนื้อไก่ ธัญพืชต่าง ๆ เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ข้าวกล้อง ข้าวบาร์เลย์ ด้วยนะคะ
สำหรับคนที่มีร่างกายปกติดี ไม่ได้ป่วยด้วยโรคเรื้อรังหรือโรคทางพันธุกรรมที่ส่งผลให้เม็ดเลือดแดงในร่างกายลดน้อยลง สามารถป้องกันภาวะโลหิตจางได้ด้วยการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ ทารก วัยรุ่น และผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์ ควรรับประทานอาหาร ผัก ผลไม้บำรุงเลือด และควรทานยาบำรุงโลหิตเป็นประจำ
นอกจากนี้ยังควรไปตรวจสุขภาพประจำปีเป็นประจำเพื่อเช็กความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดแดง แต่หากใครมีอาการซีด อ่อนเพลีย และวูบบ่อย ๆ แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจภาวะโลหิตจางก่อนเลยนะคะ เพราะไม่แน่ว่าเราอาจขาดสารอาหารที่ดีต่อเลือดจนส่งผลให้ร่างกายป่วยได้ง่าย ๆ
ขอบคุณข้อมูลจาก
หมอชาวบ้านคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล