ยาสตรีบำรุงเลือดได้ไหม
ช่วยอะไรบ้าง
ยาสตรีมีส่วนผสมของสมุนไพรหลายชนิด ทั้งสมุนไพรไทย สมุนไพรจีน ขึ้นอยู่กับแต่ละสูตร แต่ส่วนใหญ่จะเป็นสมุนไพรฤทธิ์ร้อนที่ช่วยขับลม บำรุงธาตุไฟ บำรุงร่างกาย กระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต จึงช่วยบำรุงเลือดลมไปในตัว และมีส่วนช่วยให้ประจำเดือนมาปกติ โดยสมุนไพรที่นิยมใช้เป็นส่วนผสมของยาสตรี ได้แก่
-
โกฐเชียง หรือตังกุย : มีสารไฟโตเอสโตรเจนที่มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกับฮอร์โมนเอสโตรเจน จึงช่วยดูแลสุขภาพของผู้หญิง บำรุงเลือด ฟอกเลือด กระตุ้นการไหลเวียนโลหิต
-
โกฐหัวบัว : ช่วยขับลม แก้ปวดประจำเดือน ช่วยให้ประจำเดือนมาปกติ
-
โกฐสอ : ช่วยให้เลือดไหลเวียนดี ช่วยขับประจำเดือน
-
บักคี้ หรืออึ้งคี้ : สมุนไพรจีนที่นำมาใช้บรรเทาอาการประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ
-
ฝาง : ช่วยบำรุงเลือด ขับประจำเดือน ช่วยลดอาการปวดมดลูกในสตรีหลังคลอด
-
ว่านชักมดลูก : มีสารกลุ่มไฟโตเอสโตรเจนที่คล้ายกับฮอร์โมนเพศหญิง มีฤทธิ์ขับประจำเดือน ขับน้ำคาวปลา แก้ปวดมดลูก รักษาสุขภาพของสตรีวัยทอง
-
ว่านสากเหล็ก : ช่วยให้เลือดไหลเวียนสะดวก ลดอาการปวดประจำเดือน เป็นยาชักมดลูกสำหรับสตรีคลอดบุตร
-
กวาวเครือขาว : ออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน จึงช่วยเพิ่มฮอร์โมนเพศหญิง บำรุงสตรีวัยหมดประจำเดือน บำรุงโลหิต ช่วยให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง เจริญอาหาร
-
ขิง : ช่วยขับลม ทำให้การไหลเวียนโลหิตดีขึ้น กระตุ้นการเผาผลาญพลังงาน
-
ชะเอม : บรรเทาอาการปวดประจำเดือน ช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ
-
ดอกคำฝอย : ช่วยให้เลือดไหลเวียนสะดวก บรรเทาอาการปวดประจำเดือน ขับน้ำคาวปลา บรรเทาอาการไข้หลังคลอด
-
ยอ : ช่วยขับเลือดลม ฟอกเลือด ขับลม ทำให้เจริญอาหาร
-
เอี๊ยะบ่อเช่า หรือกัญชาเทศ : แก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ ขับน้ำคาวปลา ทำให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น
-
แก่นขี้เหล็ก : มีรสขมเฝื่อน ช่วยขับโลหิต
-
โสม : กระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ช่วยปรับสมดุลฮอร์โมน บรรเทาอาการวัยทอง
-
แสมสาร : ช่วยบำรุงเลือด ให้เลือดไหลเวียนดี แก้โลหิตประจำเดือนเสีย
นอกจากนี้ ยาสตรีบางยี่ห้อยังมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ที่ใช้เป็นกระสายยา หรือเป็นตัวสกัดยาออกจากสมุนไพรด้วย
ยาสตรีแบบเม็ดกับน้ำ
ต่างกันอย่างไร
ยาสตรีแบบเม็ดกับแบบน้ำต่างก็ปรุงมาจากสมุนไพรหลายชนิดและมีสรรพคุณไม่ต่างกัน โดยหากเป็นยาสตรีแบบน้ำมักมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ อีกทั้งบางยี่ห้อมีกลิ่นฉุนของตัวยา บางคนจึงอาจไม่ชอบรับประทาน
ในขณะที่ยาสตรีแบบเม็ดจะนำตัวยาสมุนไพรมาสกัดแห้งแล้วบรรจุในรูปแบบเม็ดหรือแคปซูล จึงไม่ค่อยมีกลิ่นฉุน สามารถรับประทานได้ง่ายกว่าและพกพาสะดวก เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่อยากรับประทานยาแบบน้ำ
ยาสตรีแบบเม็ด มียี่ห้อไหนบ้าง
1. ยาสตรีเพ็ญภาคสกัด ชนิดแคปซูล
ยาสตรีแบรนด์ดังที่อยู่คู่คนไทยมากว่า 100 ปีแล้ว นอกจากจะมียาสตรีแบบน้ำที่รู้จักกันดี ปัจจุบันก็ยังผลิตยาสตรีเพ็ญภาคสกัดชนิดแคปซูลออกสู่ตลาด โดยนำสมุนไพรหลายชนิด เช่น โกฐเชียง, โกฐหัวบัว, ชะเอม, บักคี้, ฝาง และตัวยาอื่น ๆ มาสกัดแห้ง เพื่อช่วยบำรุงโลหิต บรรเทาอาการประจำเดือนมาไม่ปกติ เหมาะกับคนที่ไม่ชอบรับประทานชนิดน้ำ
-
เลขทะเบียนยา : G 370/50
-
ขนาดรับประทาน : รับประทานครั้งละ 1-2 แคปซูล วันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหารเช้า-เย็น
-
ราคาปกติ : 95 บาท (30 แคปซูล)
2. ยาสตรีฟลอร่า แบบแคปซูล
ยาสตรีฟลอร่าในแคปซูลสีชมพู ภายในประกอบด้วย โสม, เอี๊ยะบ่อเช่า, ดอกคำฝอย และโกฐหัวบัว มีส่วนช่วยปรับฮอร์โมนเพศหญิงและฮอร์โมนในร่างกายให้สมดุลกัน จึงช่วยบรรเทาอาการปวดท้องประจำเดือน ประจำเดือนมาไม่ปกติ ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต แถมยังปราศจากแอลกอฮอล์ด้วย
-
เลขทะเบียนยา : G 64/45
-
ขนาดรับประทาน :
-
ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือปวดท้องประจำเดือน รับประทานครั้งละ 1 แคปซูล หลังอาหารเช้า-เย็น
-
เป็นสิว แพ้ง่าย สิวฮอร์โมน ประจำเดือนมาไม่ปกติ ผิวหมองคล้ำ รับประทานครั้งละ 2 แคปซูล หลังอาหารเช้า-เย็น
-
-
ราคาปกติ : 100 บาท (30 แคปซูล)
3. เลดิน่า ยาสตรีสกัดชนิดแคปซูล
ยาสตรีสมุนไพรสกัด เลดิน่า มีส่วนผสมของสมุนไพร 7 ชนิด ประกอบไปด้วย ว่านชักมดลูก, ตังกุย, เอี๊ยะบ่อเช่า, พริกไทยดำ, ดอกคำฝอย, แสมสาร และฝาง ที่มีสรรพคุณเด่นในเรื่องการบำรุงโลหิต แก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ เพื่อสุขภาพภายในของผู้หญิง
-
เลขทะเบียนยา : G 345/59
-
ขนาดรับประทาน : รับประทานครั้งละ 1-2 แคปซูล หลังอาหารเช้า
-
ราคาปกติ : 110 บาท (20 แคปซูล)
4. ยาสตรีตังกุย ชนิดเม็ด ตรานกเป็ดน้ำ
ยาสตรีที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากรากตังกุย ซึ่งมีส่วนช่วยลดการบีบตัวของมดลูก แก้ปวดประจำเดือน ทำให้ประจำเดือนมาปกติ นอกจากนี้ยังมีสมุนไพรจีนและไทยอีกหลายชนิด เช่น โกฐเชียง, โกฐหัวบัว, ตังเซียม, อึ้งคี้, เส็กตี่, โปร่งสน, แปะเจียก, อากาว, ชะเอม, น้ำผึ้ง และตัวยาอื่น ๆ ที่ช่วยเรื่องการบำรุงโลหิต สตรีหลังคลอดบุตรก็สามารถรับประทานได้
-
เลขทะเบียนยา : G280/45
-
ขนาดรับประทาน : รับประทานครั้งละ 5 เม็ด วันละ 3 เวลา หลังอาหาร
-
ราคาปกติ : 120 บาท (150 เม็ด)
5. ยาสตรีบัวแก้ว ตราพารา ชนิดแคปซูล
ยาสตรีบัวแก้ว เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่สาว ๆ รู้จักกันดีว่ามีส่วนช่วยบำรุงโลหิต แก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ โดยยาสตรีชนิดแคปซูลนี้ไม่มีแอลกอฮอล์ ประกอบด้วยตัวยาสำคัญ เช่น ว่านชักมดลูก, ว่านมหาเมฆ, เอี๊ยะบ่อเช่า, แก่นฝาง, แก่นขี้เหล็ก, ดอกคำฝอย และตัวยาอื่น ๆ ทั้งนี้ ห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์และคนที่มีอาการไข้
-
เลขทะเบียนยา : G 496/46
-
ขนาดรับประทาน : รับประทานครั้งละ 1-2 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร
-
ราคาปกติ : 95 บาท (30 แคปซูล)
6. ยาสตรีแคปซูลปัญจศรี
ยาสตรีสมุนไพรแบบเม็ดจากปัญจศรี มีส่วนประกอบจากสมุนไพรเกษตรอินทรีย์ ปลอดสารเคมี ผลผลิตจากเกษตรกรไทย แต่ละเม็ดประกอบด้วย ฝาง, ดอกคำฝอย, โกฐเชียง, โกฐสอ, แสมทะเล, ว่านสากเหล็ก, ผิวมะกรูด และตัวยาอื่น ๆ ที่ช่วยบำรุงโลหิต เหมาะกับสตรีตั้งแต่วัยเริ่มมีประจำเดือนและสตรีที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ
-
เลขทะเบียนยา : G 730/49
-
ขนาดรับประทาน : รับประทานครั้งละ 3-4 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร
-
ราคาปกติ : 350 บาท (100 แคปซูล)
7. ยาสตรีเล่งคุณ สูตรผสมโสม ชนิดแคปซูล
ยาสตรีเล่งคุณ สูตรผสมโสม ซึ่งเป็นสมุนไพรที่ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง เลือดลมไหลเวียนดี มาพร้อมกับสมุนไพรอื่น ๆ ได้แก่ กวาวเครือขาว, ว่านชักมดลูก, ว่านมหาเมฆ, โกฐเชียง, โกฐหัวบัว, ดอกคำฝอย เป็นต้น มีสรรพคุณบำรุงโลหิต บรรเทาอาการปวดประจำเดือน แก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ
-
เลขทะเบียนยา : G 142/62
-
ขนาดรับประทาน : รับประทานครั้งละ 2 แคปซูล วันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหารเช้า-เย็น
-
ราคาปกติ : 119 บาท (30 แคปซูล)
วิธีเลือกซื้อยาสตรีแบบเม็ด
-
เลือกยาสตรีสูตรที่ตรงความต้องการ เช่น ต้องการใช้เพื่อบำรุงโลหิต หรือช่วยให้ประจำเดือนมาปกติ หรือต้องการใช้หลังคลอดบุตร
-
ดูส่วนประกอบของสมุนไพร และหลีกเลี่ยงสมุนไพรที่ตัวเองมีอาการแพ้
-
หากแพ้แอลกอฮอล์ ไม่สามารถรับประทานแอลกอฮอล์ได้ ควรเลือกยาสตรีที่ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ โดยอ่านจากฉลากผลิตภัณฑ์หรือสอบถามเภสัชกร
-
เลือกยาสตรีที่ผลิตจากบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือ และขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์ยา มีเลขทะเบียนยาชัดเจน ไม่ใช่อาหารเสริม โดยสามารถเช็กข้อมูลได้ที่เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
-
ยาสตรีเป็นยาที่ขายเฉพาะสถานที่ที่มีใบอนุญาตเท่านั้น ควรซื้อจากร้านขายยาและมีเภสัชกรแนะนำ
ใครไม่ควรรับประทานยาสตรี
-
สตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทาน เพราะแม้จะไม่ได้ทำให้แท้ง แต่เนื่องจากในยาสตรีมักมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ หรือมีสมุนไพรบางชนิดที่อาจส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์และพัฒนาการของทารกหลังคลอด
-
สตรีให้นมบุตรไม่ควรรับประทาน เนื่องจากยาบางตัวมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ทำให้น้ำนมมีแอลกอฮอล์ผสม หากทารกรับประทานจะทำให้เป็นอันตราย
-
ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด หรือลิ่มเลือดอุดตัน หรือผู้ที่รับประทานยาละลายลิ่มเลือด จะทำให้เส้นเลือดอุดตันมากขึ้น
-
ผู้ที่มีก้อนซีสต์หรือเป็นมะเร็งที่เต้านม รังไข่ มดลูก ปากมดลูก ผู้ที่เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวผิดปกติ ผู้ที่มีอาการมดลูกอักเสบ เพราะสมุนไพรบางตัวมีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน อาจไปกระตุ้นให้อาการกำเริบ หรือซีสต์มีขนาดใหญ่ขึ้น
-
คนที่มีภาวะติดเชื้อในช่องคลอด หรือมีอาการอักเสบช่องคลอด อาจมีอาการอักเสบมากขึ้นหากรับประทานยาสตรี
-
ผู้ที่มีประจำเดือนมากกว่าปกติ หรือเป็นช็อกโกแลตซีสต์ เนื่องจากยาสตรีจะทำให้เลือดออกมากขึ้น
-
คนที่มีไข้สูงไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดไม่ควรรับประทาน เพราะยาสตรีมีฤทธิ์ร้อน อาจทำให้ไข้ไม่ลด
-
คนที่แพ้แอลกอฮอล์ไม่ควรรับประทานยาสตรี หรือควรเลือกสูตรที่ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์
-
ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต รวมถึงโรคที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนผิดปกติ ไม่ควรใช้ยาสตรี
ข้อควรระวังในการใช้ยาสตรี
-
อ่านฉลาก วิธีใช้ ข้อบ่งใช้ คำเตือนต่าง ๆ อย่างละเอียดก่อนรับประทาน
-
ไม่ควรใช้นานเกิน 3-6 เดือน เนื่องจากบางสูตรมีแอลกอฮอล์ผสมอยู่ อาจทำให้มีอาการติดสุราได้
-
ตัวยาสมุนไพรบางชนิดหากรับประทานติดต่อกันนานจะมีผลต่อตับและไต
-
การรับประทานยาสตรีเกินขนาดหรือติดต่อกันเป็นเวลานานอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ บริเวณเต้านม มดลูก รังไข่ เช่น ซีสต์ ช็อกโกแลตซีสต์ มะเร็ง เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เนื่องจากเป็นการเพิ่มฮอร์โมนเพศหญิงเข้าสู่ร่างกาย
-
หากรับประทานยาสตรีแล้วมีอาการผิดปกติ ควรหยุดยาทันทีและปรึกษาแพทย์