โรค IBS
เครียดบ่อยระวังเป็นโรค IBS (Lisa)
ถ้าสะสมความเครียดอยู่บ่อยๆ อาจเกิดอาการแสบแน่นท้อง ท้องผูก ท้องเสีย หรือคลื่นไส้อาเจียนจนเป็นโรค IBS ได้
คุณแม่ลูกสองอย่าง กวินเน็ธ พัลโทรว์ มักเล่นโยคะเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง แถมยังหมั่นกินอาหารแมโครไบโอติกและจำกัดการกินน้ำตาล รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม ทั้งนี้ นอกจากเธอจะมีสุขภาพแข็งแรงแล้ว ระบบขับถ่ายของเธอก็ยังไม่มีปัญหาแต่อย่างใด เมื่อเธอดูแลตัวเองได้อย่างมีความสุข ปัจจัยที่จะก่อให้เกิดโรค IBS (Imitable Bowel Syndrome) หรือโรคลำไส้แปรปรวนเช่นเดียวกับที่ ไทร่า แบงก์ส เผชิญอยู่ ก็มีน้อยลงไปด้วย
โรค IBS คืออะไร
ถ้าใครเคยมีอาการเครียดลงกระเพาะอยู่บ่อยๆ เช่น เจอความเครียดกับการงาน หรือเจอความเครียดจากปัญหาต่างๆ รุมเร้า รวมทั้งกินอาหารไม่เป็นเวลาและกินอาหารรสจัด ไม่ว่าจะเป็นเปรี้ยวจัด มันจัด หรือเผ็ดจัด แล้วเกิดอาการแสบท้อง แน่นอืด มีลมเยอะ ลำไส้บีบมวน คลื่นไส้อาเจียน บางครั้งอาจถ่ายแข็ง ถ่ายเหลว หรือทั้งแข็งและเหลวสลับกันไป
คนวัยใดมักป่วยเป็นโรค IBS
ที่พบบ่อยคือผู้หญิงตั้งแต่วัยรุ่นไปจนถึงวัยกลางคน อย่างไรก็ดี โรคนี้คนหลากหลายอายุก็สามารถเป็นได้
ถ้าป่วยแล้วเป็นอันตรายถึงชีวิตมั้ย
โรคนี้จะเป็นเรื้อรัง คือเป็นๆ หายๆ ตลอดชีวิต แต่ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิตแต่อย่างใด โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มักรู้สึกรำคาญ แต่สุดท้ายก็ปรับตัวได้ อย่างไรก็ดี ก่อนที่หมอจะวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้ได้ ต้องมีการตรวจอย่างละเอียดเสียก่อน เพราะอาการพื้นฐานของ IBS จะมีอาการคล้ายๆ กับโรคร้ายบางโรค ฉะนั้น ถ้าสงสัยควรให้หมอตรวจให้ถี่ถ้วนเสียก่อนว่าไม่ได้ป่วยเป็นโรคร้ายอื่นๆ เช่น มีแผลในกระเพาะอาหาร ลำไส้อักเสบนิ่วในถุงน้ำดี มะเร็งกระเพาะอาหาร หรือมะเร็งตับ ฯลฯ
โรคหวัดลงกระเพาะถือเป็นโรค IBS หรือไม่
ไม่เป็น แม้จะมีอาการคล้ายโรค IBS แต่โรคหวัดลงกระเพาะเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ฉะนั้นจึงถือว่าโรคหวัดลงกระเพาะเข้าข่ายกลุ่มอาการการติดเชื้อไวรัสใช้หวัดเสียมากกว่า เมื่อไข้หวัดหายแล้ว อาการเหล่านั้นก็จะหายตามไปด้วย
วิธีรักษาโรค IBS
ก่อนอื่นผู้ป่วยต้องได้รับการวินิจฉัยให้แน่ชัดเสียก่อนว่าป่วยเป็นโรคนี้แน่ๆ อันดับต่อไปให้สร้างความคุ้นเคยกับหมอรักษา เพราะโรคนี้เป็นเรื้อรัง ฉะนั้น ต้อมีหมอที่เข้าใจการรักษาในระยะยาว หลังจากนั้น ก็ต้องรักษาตามอาการ ถ้าท้องผูกให้กินอาหารที่มีกากใยเยอะๆ ถ้ามีอาการท้องเสียให้เลิกกินอาหารที่ก่อให้เกิดการท้องเสีย หรืออาหารที่ทำให้มีแก๊สเยอะๆ อย่างถั่ว
ทางที่ดีเราควรหมั่นกินอาหารที่มีกากใยมากๆ หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ และพยายามหลีกเลี่ยงอาหารจำพวกน้ำตาลและไขมัน ที่สำคัญควรดีท็อกซ์ความเครียดให้ออกไปจากกายและจิตใจของเราโดยเร็ว
เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย
คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ