x close

ปวดข้อศอก อย่านิ่งนอนใจ

ปวดข้อศอก



ปวดข้อศอก อย่านิ่งนอนใจ (ไทยรัฐ)
โดย โรงพยาบาลเวชธานี

          อาการปวดบริเวณข้อศอก เป็นอาการที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์บ่อยๆ ท่านเคยมีอาการเช่นนี้หรือไม่? ปวดข้อศอกเวลาออกแรงทำกิจกรรมบางอย่าง เช่น ยกของหนัก ทำงานบ้าน บิดผ้า เป็นต้น และกดเจ็บบริเวณตุ่มกระดูกข้อศอกด้านนอก เราเรียกอาการเช่นนี้ว่า Tennis elbow แต่ถ้าอาการเจ็บอยู่ที่ตุ่มกระดูกข้อศอกทางด้านใน เราเรียกอาการนี้ว่า Golfer elbow 

          โดยพบว่าผู้ป่วยส่วนมากมีอาการของ Tennis elbow มากกว่า Golfer elbow ถึงประมาณ 7 เท่า และพบโรคนี้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงเล็กน้อย อายุที่พบบ่อยประมาณ 40 - 50 ปี และพบเกิดอาการในแขนข้างที่ถนัดมากกว่าประมาณ 2 เท่า

อาการของโรค Tennis elbow นี้แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ 

          กลุ่มที่ 1 เกิดจากการเล่นกีฬาจริงๆ ส่วนมากในกลุ่มนี้จะมีอายุน้อย 

          กลุ่มที่ 2 เกิดจากการทำงานที่เป็นลักษณะใช้งานซ้ำๆ หรือใช้งานหนักๆ เช่น คนทำงานบ้าน ช่างไม้ เป็นต้น ซึ่งในกลุ่มนี้ส่วนมากมีอายุมากกว่ากลุ่มแรก ปัจจุบันนี้พบว่าผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ส่วนมากเป็นคนทำงานมากกว่านักกีฬา

 ส่วนสาเหตุของการเกิดโรคยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดในปัจจุบัน แต่เชื่อกันว่าน่าจะเกิดจาก 2 สาเหตุ คือ 

          1. มีการฉีกขาดของจุดเกาะกล้ามเนื้อที่ใช้ในการกระดกข้อมือ (extensor carpi radialis brevis) โดยเป็นการฉีกขาดระดับที่เล็กมากๆ ซึ่งเกิดจากการทำงานซ้ำๆ หรือเกิดจากการทำงานหนักดังที่ได้กล่าวแล้ว 

          2. เกิดจากความเสื่อมที่บริเวณจุดเกาะของกล้ามเนื้อดังกล่าวข้างต้น เมื่อมีการใช้งานหรือเล่นกีฬาจึงกระตุ้นให้เกิดอาการเจ็บปวดขึ้น

แนวทางในการรักษาสำหรับโรคนี้แบ่งใหญ่ๆ เป็น 2 แนวทาง คือ 

          1. การรักษาโดยวิธีประคับประคอง (conservative treatment) 

          2. การรักษาโดยวิธีผ่าตัด (operative treatment) 

          ผู้ป่วยส่วนมาก (มากกว่า 90%) อาการจะดีขึ้นได้ด้วยวิธีประคับประคอง โดยการรักษาวิธีนี้ยังแบ่งออกเป็น 

           การพักการใช้งานและพักการออกแรงหนักๆ ในแขนข้างที่ปวด (rest) 

           การให้ยารับประทาน โดยยาที่ใช้เป็นยากลุ่มลดการอักเสบลดอาการปวด อาจเสริมด้วยยาคลายกล้ามเนื้อหรือยาแก้ปวดกลุ่มอื่นๆ 

           การใส่สนับข้อศอกเฉพาะโรคนี้ (tennis elbow brace) โดยใส่เพื่อลดแรงที่มากระทบต่อจุดเกาะของกล้ามเนื้อเวลาออกแรงทำงานหรือเล่นกีฬา 

           การออกกำลังกาย เป็นการออกกำลังกายแบบยืดกล้ามเนื้อเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่น (stretching exercise) โดยเริ่มออกกำลังกายวิธีนี้หลังจากอาการปวดลดลงแล้วจากการรักษาสองวิธีแรกประมาณ 3-6 สัปดาห์ 

           การฉีดยากลุ่มลดการอักเสบสเตียรอยด์ ใช้เมื่อปวดมากหรือรักษาด้วยวิธีต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นแล้วมากกว่า 3 เดือนอาการยังไม่ดีขึ้น โดยฉีดยาเข้าตรงบริเวณข้อศอกตำแหน่งที่เจ็บ ผู้ป่วยส่วนมากอาการจะดีขึ้นหลังฉีดยา 

          แพทย์จะพิจารณาผ่าตัดเมื่อให้การรักษาด้วยวิธีประคับประคองแล้วอย่างน้อย 6 - 9 เดือน แต่ยังปวดมากและอาการไม่ดีขึ้น หรือในกรณีที่ฉีดยาไปแล้วหลายครั้งก็ยังกลับมีอาการอีก (ไม่ควรฉีดยาเกิน 3 ครั้ง) 

          ดังนั้น ถ้าท่านมีอาการดังกล่าวข้างต้นไม่ควรนิ่งนอนใจ รีบปรึกษาแพทย์ศัลยกรรมกระดูกและข้อ เพราะถ้ามีอาการในระยะต้นๆ หรือยังไม่รุนแรงมากสามารถรักษาให้หายได้ด้วยวิธีพัก รับประทานยา ใส่สนับข้อศอก และการออกกำลังกาย แต่หากปล่อยไว้หรือมีอาการปวดมากอาจต้องรักษาด้วยวิธีฉีดยาหรืออาจถึงขั้นผ่าตัดก็ได้

  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 

 คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ปวดข้อศอก อย่านิ่งนอนใจ อัปเดตล่าสุด 10 กันยายน 2552 เวลา 14:44:06 7,176 อ่าน
TOP