กลิ่นตัว...น่าชัง-น่าชิด?


กลิ่นตัว

กลิ่นตัว...น่าชัง-น่าชิด? (หมอชาวบ้าน)
โดย นพ.ประวิตร พศาลบุตร

          ปัญหากลิ่นตัวแม้ไม่ทำอันตรายถึงชีวิต แต่ก็มีผลต่อบุคลิกภาพ บางคนไม่ทราบว่าตัวเองมีกลิ่นตัวเพราะความเคยชิน จนจัดเป็นปัญหาหนักใจของคนรอบข้าง เรียกว่าถ้าไม่ใช่คนที่สนิทกันจริง ๆ คงจะออกปากเตือนเรื่องกลิ่นตัวลำบาก

          ปัญหากลิ่นตัวพบได้บ่อยทั้งหน้าร้อนและหน้าฝน เพราะอากาศร้อนอบอ้าว เหงื่อออกมาก ตามธรรมชาติแล้วเหงื่อเป็นสิ่งจำเป็น เพราะช่วยควบคุมอุณหภูมิในร่างกายให้คงที่ ถ้าอยู่ในที่ร้อน ร่างกายจะหลั่งเหงื่อเพื่อระบายความร้อน

          ต่อมเหงื่อมี 2 ชนิด คือ ต่อมเหงื่อเอ็กครายน์ มีกระจายทั่วร่างกาย เป็นต่อมเหงื่อที่หลั่งเหงื่อใส ๆ ปริมาณมากออกมาเวลาร้อนจัด และต่อมเหงื่ออะโพครายน์ อยู่ตามรักแร้ รอบหัวนม ทวารหนัก และรอบอวัยวะเพศ

กลิ่นตัวเกิดได้อย่างไร

          กลิ่นตัวเกิดจากต่อมเหงื่ออะโพครายน์หลั่งของเหลวสีน้ำนมออกมา แต่เนื่องจากมีปริมาณน้อยมากจึงไม่ค่อยเห็นกัน เมื่อแบคทีเรียย่อยสลายของเหลวสีน้ำนมนี้จะทำให้เกิดกลิ่นตุ ๆ

          ส่วนเหงื่อใสปริมาณมากจนทำให้มีรอยเปียกเสื้อที่ใต้วงแขนจะหลั่งโดยต่อมเหงื่อเอ็กครายน์ ช่วงแรกก็ไม่มีกลิ่น ต่อมาเมื่อมีการเติบโตของแบคทีเรียจึงเกิดกลิ่นตัวขึ้น

          พบว่าคนอ้วน ผู้ป่วยโรคเบาหวาน และหญิงตั้งครรภ์เกิดกลิ่นตัวง่ายกว่าคนทั่วไป อากาศที่ร้อนอบอ้าว และอารมณ์ที่ตึงเครียดกระวนกระวายใจก็ทำให้มีเหงื่อมากกว่าปกติ

อาบน้ำ

แก้ปัญหาที่กลิ่นตัวอย่างไรดี

          1. สวมใส่เสื้อผ้าที่โปร่งบางและหลวม เพื่อให้เหงื่อระบายออกง่าย

          2. อาบน้ำวันละ 1-2 ครั้ง ใช้สบู่ฟอกตามตัวและตามซอกพับ ถ้าบริเวณใดอับชื้นง่าย เช่น รักแร้ ขาหนีบ หรือซอกนิ้วเท้า

          3. ใช้แป้งฝุ่นโรย เพื่อดูแลให้ผิวหนังบริเวณนั้นให้แห้ง

          4. เสื้อผ้าต้องซักให้สะอาด ผึ่งแดดให้แห้งสนิทได้ก็ดี เพราะเสื้อผ้าที่ไม่สะอาดและอับชื้นเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดกลิ่นตัว

          5. โกนขนรักแร้ช่วยลดกลิ่นตัวได้ เพราะเชื้อแบคทีเรียชอบบริเวณที่อับชื้นอย่างเช่นที่รักแร้อยู่แล้ว

          6. ลดการกินเครื่องเทศ หอม กระเทียม หน่อไม้ฝรั่ง เพราะอาการเหล่านี้ล้วนเสริมให้กลิ่นตัวมากขึ้นได้

          7. ลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีสารกาเฟอีนผสมอยู่ เช่น กาแฟ ชา น้ำอัดลม เพราะสารกาเฟอีนกระตุ้นให้หลั่งเหงื่อได้มาก

          8. ลด ละ เลิกบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

เทคนิคทางการแพทย์ที่รักษากลิ่นตัว

          กรณีที่รักษาสุขอนามัยและใช้ยาลดเหงื่อดับกลิ่นแล้วไม่ได้ผล มีเทคนิคทางการแพทย์ที่รักษากลิ่นตัว เช่น การดูดไขมันเพื่อเอาต่อมเหงื่ออะโพครายน์ออก การผ่าตัดต่อมเหงื่ออะโพครายน์ออก ยากินบางชนิด การใช้เทคนิคไอออนโต การผ่าตัดปมประสาทซิมพาเทติก การฉีดสารพิษโบทูลินัม หรือโบท็อกซ์ อย่างไรก็ตาม เทคนิคเหล่านี้อาจมีข้อแทรกซ้อนและมีค่าใช้จ่ายสูง จึงควรเลือกใช้กรณีที่จำเป็นเท่านั้น

          กลิ่นตัว... ถ้ามากไปจัดเป็นสิ่งน่าชังที่ทำให้ใคร ๆ ไม่อยากเข้าใกล้ แต่ถ้ามีเพียงนิดหน่อยอาจเป็นกลิ่นเสน่ห์ที่ทำให้คนอยากมาชิดใกล้ได้เช่นกัน


  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 

คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

 


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กลิ่นตัว...น่าชัง-น่าชิด? อัปเดตล่าสุด 11 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 08:58:07 8,836 อ่าน
TOP
x close