เช้าควบเที่ยง เสี่ยงโรคอ้วน

 อาหารเช้า

เช้าควบเที่ยง เสี่ยงโรคอ้วน (Slim up)
เรื่อง : Fat Fighter

          เรามักได้ยินข้อคิดเตือนใจต่าง ๆ ที่กระตุ้นให้เห็นความสำคัญของการกินอาหารเช้า เช่น "อาหารเช้าเปรียบเสมือนขุมพลังประจำวันที่ไม่ควรมองข้าม" หรือ "จงกินอาหารเช้าให้เต็มอิ่มและเต็มที่ ประหนึ่งว่าคุณเป็นพระราชา" ซึ่งสำหรับผู้ที่รับประทานอาหารเช้าเป็นประจำคงเข้าใจถึงคุณประโยชน์เป็นอย่างดี แต่สำหรับคนที่ไม่ได้กินอาหารเช้า ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม คุณได้พลาดช่วงเวลาสำคัญที่ร่างกายจะได้ชาร์จแบตอย่างเต็มที่ เพื่อรับความกระปรี้กระเปร่าตลอดทั้งวันไปเสียแล้วล่ะ

          สาเหตุหลักของการละเลยอาหารเช้า มักมาจากการที่เราเลือกที่จะไม่กินมาโดยตลอดจนติดเป็นนิสัย และบางทีการรับประทานอาหารเย็นมื้อใหญ่ หรือกินของจุบจิบตลอดเวลาจนกระทั่งเข้านอน ก็อาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้คุณรู้สึกไม่อยากกินอาหารเช้าก็เป็นได้

          แต่คุณรู้หรือไม่ว่าการงดรับประทานอาหารเช้าโดยจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ผลที่ตามมาคือ ร่างกายจะขาดความสามารถในการควบคุมน้ำหนัก นั่นหมายความว่า คนที่ไม่กินอาหารเช้าเป็นประจำมีแนวโน้มที่จะกินอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง และมักจะมีพฤติกรรมเลือกที่จะบริโภคอาหารที่มีไขมัน แคลอรี่ และน้ำตาลสูงกว่าคนที่รับประทานอาหารเช้า แถมยังเลือกที่จะกินผักและผลไม้น้อยลงกว่าปกติ ซึ่งพฤติกรรมทั้งหมดที่กล่าวมานี้ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคอ้วน และโรคอื่น ๆ ที่ติดตามมากับความอ้วน

เคล็ดลับสุขภาพ

          หากต้องการแก้ไขก่อนจะสายเกินแก้ ลองหันมาปฏิวัติปรับพฤติกรรมนั้นด้วย 6 เคล็ด (ไม่) ลับ เพื่อเติมพลังให้ร่างกายด้วยอาหารมื้อเช้า ดังนี้...

เริ่มต้นมื้อเช้าด้วยอาหารเบา ๆ ปริมาณน้อย ๆ

          ฝึกรับประทานอาหารมื้อเช้าด้วยเมนูอาหารที่ย่อยง่าย แต่เปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางอาหาร และไม่ควรบริโภคในปริมาณที่มากเกินไปสำหรับการเริ่มต้น เช่น ลองรับประทานเครื่องดื่มโปรตีนเชคกับผลไม้ หรือไข่ต้มสักลูก ตบท้ายด้วยผลไม้สัก 2 – 3 ชิ้น แค่นี้ก็เป็นการเริ่มต้นในการรับประทานอาหารเช้าที่ดีและมีคุณค่าแล้ว

"โปรตีน" สารอาหารสำคัญสำหรับมื้อแรก

          จากการศึกษากลุ่มตัวอย่างพบว่า ผู้ที่รับประทานอาหารเช้าโดยบริโภคโปรตีนในปริมาณสูง มีแนวโน้มที่จะลดแคลอรี่จากการบริโภคอาหารมื้อเย็นได้ต่ำกว่าผู้ที่รับประทานอาหารมื้อเช้าแบบปกติถึง 200 กิโลแคลอรี่ เนื่องจาก "โปรตีน" เป็นสารอาหารที่สำคัญสำหรับมื้อเช้า เพราะนอกจากจะทำให้ร่างกายรู้สึกอิ่มได้นานแล้ว ยังช่วยกระตุ้นให้ร่างกายและจิตใจตื่นตัวไปตลอดทั้งวันอีกด้วย

เปลี่ยน "อาหารมื้อหนัก" เป็น "ของว่าง" ที่กินได้เรื่อย ๆ

          สำหรับการฝึกรับประทานอาหารเช้าให้เป็นนิสัยนั้น ไม่จำเป็นต้องรับประทานอาหารทั้งมื้อให้หมดภายในครั้งเดียว แต่สามารถใช้เวลาไปกับอาหารมื้อนั้น ๆ ด้วยการละเลียดอาหารแต่ละอย่าง หรือเว้นช่วงการรับประทาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างอาหารคาว - อาหารหวาน เว้นวรรคพักก่อน ไม่จำเป็นต้องกินต่อเนื่องทันทีหรอก

ตื่นนอนเร็วขึ้นกว่าปกติ 15 นาที

          เพียง 15 นาทีที่เพิ่มขึ้นจากการที่คุณตื่นก่อนเวลาปกติอย่างที่เคย นอกจากจะได้ปฏิบัติกิจวัตรประจำวันในยามเช้าแบบไม่ต้องเร่งรีบแล้ว ยังเป็นการช่วยปลุกกระตุ้นระบบต่าง ๆ ภายในในร่างกาย ให้ค่อย ๆ ตื่นตัวจากการนอนหลับและพร้อมที่จะผจญภัยกับภารกิจหนักต่าง ๆ ในช่วงวันอีกด้วย

เมนูอะไรก็เป็นอาหารเช้าได้

          ไม่เคยมีกฎเกณฑ์ตายตัวหรือข้อบังคับว่า เมนูอาหารชนิดใดควรหรือไม่ควรเป็นอาหารมื้อเช้า เพราะที่ถูกต้องควรเน้นที่คุณค่าของสารอาหารเป็นหลัก ดังนั้นไม่ว่าอาหารมื้อเช้าจะเป็นอาหารที่เหลือจากมื้อเย็นของเมื่อวาน หรืออาหารปรุงสำเร็จในช่องแข็ง ทุกเมนูอาหารสามารถเป็นอาหารมื้อเช้าได้เสมอ

แน่ใจหรือว่า "แค่" กาแฟ กับมัฟฟิน

          ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เชื่อว่า แค่ดื่มกาแฟคู่กับมัฟฟิน หรือเบเกอรี่อื่น ๆ สักชิ้นสองชิ้นก็อิ่มท้อง เทียบเท่ากับอาหารมื้อเช้าที่มีคุณค่าได้แล้ว แต่ในความเป็นจริง แค่กาแฟกับมัฟฟินกลับให้พลังงานที่สูงกว่า 700 กิโลแคลอรี่ รวมทั้งมีไขมันไม่ดีที่ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายของคุณถึง 6 ช้อนชา!!!

          การเริ่มต้นกินอาหารเช้าแบบไม่ฝืนความรู้สึก เพื่อการมีสุขภาพที่ดีในอนาคตทำได้ไม่ยาก เริ่มต้นลองปรับพฤติกรรมการกินโดยหันมาให้ความสำคัญกับการรับประทานอาหารมื้อเช้าซึ่งมีความสำคัญ เพราะถือว่าเป็นอาหารมื้อแรกของวัน เริ่มเลยตั้งแต่พรุ่งนี้แล้วจะพบการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นเพื่อสุขภาพที่ดียิ่งขึ้นของตัวเราเอง


  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย

 คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

 


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เช้าควบเที่ยง เสี่ยงโรคอ้วน อัปเดตล่าสุด 18 มกราคม 2556 เวลา 10:22:12 5,258 อ่าน
TOP
x close