รมว.สาธารณสุข เผย 6 มาตรการความพร้อม รับมือไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่ H7N9 เตรียมเสนอมาตรการป้องกันโรคในคน
เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับมาตรการการควบคุมป้องกันโรคว่า ที่กำลังเป็นปัญหาสำคัญขณะนี้มี 3 โรค คือ โรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่สายพันธุ์เอช7 เอ็น9 (H7N9) โรคไข้เลือดออก และโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งได้กำชับให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทุกระดับทั่วประเทศ เร่งดำเนินการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรค เพิ่มประสิทธิภาพระบบการเฝ้าระวังทุกพื้นที่
นพ.ประดิษฐ กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์โรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ เอช7 เอ็น9 ระบาด ล่าสุด พบผู้ป่วยใน 11 พื้นที่ของจีน ได้แก่ ฝูเจี้ยน, เจียงซี, หูหนาน, เซี่ยงไฮ้, เจียงซู, เจ้อเจียง, อันฮุย, เหอหนาน, ปักกิ่ง, ซานตง และไต้หวัน ซึ่งมีผู้ป่วยยืนยันการติดเชื้อทั้งสิ้น 126 ราย เสียชีวิต 24 ราย คิดเป็นร้อยละ 19 ของผู้ป่วยทั้งหมด โดย สธ. ไทย ได้ตั้งวอร์รูม ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเตรียมยกระดับการเตรียมพร้อมจากระดับ 3 เป็นระดับ 4 ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก เนื่องจากมีข้อมูลว่า เอช7 เอ็น9 อาจมีการติดต่อจากคนสู่คนในวงจำกัด เช่น ในรายที่สัมผัสผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ยังไม่พบเชื้อโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ เอช7 เอ็น9 ในประเทศไทย ทั้งในคน สัตว์ นกธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
1. ให้เฝ้าระวังจับตาสัญญาณการระบาดในผู้ป่วย 4 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ป่วยติดเชื้อทางเดินหายใจรุนแรง, ผู้มีอาการปอดบวมหลังเดินทางกลับจากต่างประเทศ, ผู้ป่วยปอดบวมที่พบเป็นกลุ่มตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปในชุมชน และบุคลากรทางการแพทย์ที่ป่วยเป็นปอดบวม
2. การตรวจเฝ้าระวังตรวจจับเชื้อ เอช7 เอ็น9 ทางห้องปฏิบัติการ ทั้งใน สธ. และภาคมหาวิทยาลัย
3. การดูแลรักษาพยาบาล ใช้แนวทางการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ และการป้องกันการติดเชื้อตามมาตรฐานไข้หวัดนก
4. เพิ่มการให้ความรู้แก่ประชาชนเรื่องโอกาสการเกิดระบาด การรักษาพฤติกรรมสุขภาพ เช่น การล้างมือ หรือให้ผู้ป่วยไข้หวัดสวมหน้ากากอนามัยและหยุดพักผ่อนอยู่บ้าน รวมทั้งหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ เนื่องจากมีข้อมูลทางวิชาการพบว่า สัตว์ปีกที่ติดเชื้อเอช7 เอ็น9 ไม่มีอาการป่วยและไม่ตาย โดยให้ล้างมือหลังสัมผัสสัตว์ รวมทั้งไม่นำสัตว์ที่ป่วยตายผิดปกติมาขาย หรือรับประทาน
5. เตรียมพร้อมยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ ทั้งชนิดกินและฉีด รวมถึงวัสดุอุปกรณ์ป้องกันร่างกาย
6. การเตรียมการตรวจคัดกรองบริเวณช่องทางเข้า-ออกประเทศ โดยไทยจะยึดปฏิบัติตามคำแนะนำขององค์การอนามัย ซึ่งขณะนี้แนะนำว่ายังไม่มีความจำเป็นในการคัดกรองพิเศษ
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก