x close

ขยับนิด ๆ ระหว่างทำงาน เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น


สาวออฟฟิศ


ขยับนิด ๆ ระหว่างงาน เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น (e-magazine)

          ถ้าไม่มีเวลา ระหว่างวันเรามายืดเส้นยืดสายสักนิด โรคภัยจะได้ไม่มาเยือน

          ทำงานกันทั้งวี่วัน จนมองข้ามสุขภาพร่างกายกันบ้างไหม ยิ่งคนหนุ่มสาวในสังคมเมืองของปัจจุบัน เวลาจะออกกำลังกายของพวกเขาช่างน้อยเสียเหลือเกิน กว่าจะเลิกงานแล้วต้องนั่งฝ่าฟันกับการจราจรติดขัด พอเข้าถึงบ้าน พลังที่อยากจะขยับแข้งขยับขาก็หายไปจนหมด ดังนั้น เวลาไหนที่จะเหมาะกับการออกกำลังกายมากที่สุดเท่ากับช่วงเวลาระหว่างวันขณะที่คุณกำลังทำงาน

          กิจวัตรประจำวันของเราทุกคน คือ การออกจากบ้านไปที่ทำงาน หลังเลิกงานบางท่านอาจมีกิจกรรมอื่น ๆ นอกบ้าน เช่น ไปฟิตเนส ไปวิ่งที่สวนสาธารณะ หรือไปออกกำลังกายด้วยการเต้นแอโรบิก แต่ความยากลำบากของคนส่วนใหญ่ คือ ไม่สามารถทำตามตารางเวลาที่จัดไว้ได้ เช่น เคยตั้งเป้าหมายว่า จะต้องออกกำลังกายก่อนหรือหลังเลิกงาน อย่างน้อย 1 ถึง 2 ครั้ง ต่อสัปดาห์ แต่ด้วยความรับผิดชอบในหน้าที่การงานในแต่ละวัน จึงทำให้เราไม่สามารถมีเวลา หรือหากมีก็ไม่สามารถปฎิบัติได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

          โดยปกติแล้วร่างกายของเราทุกคนจะอยู่ในท่าพักผ่อน หรือท่านั่ง ประมาณ 8 ชั่วโมงต่อวัน บางทีอาจนั่งทำงานมากถึง 10 ชั่วโมงต่อวัน (รวมเวลานั่งทานอาหารและนั่งอยู่ในรถด้วย) ซึ่งนั่นถือว่าเราอยู่ในท่านั่งเป็นเวลานานมากต่อวัน ซึ่งใครจะคิดล่ะว่า พฤติกรรมท่านั่งปกติธรรมดาเช่นนี้ จะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคร้ายอย่าง กล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท

          น.อ.นพ.ทายาท บูรณกาล ผู้อำนวยการสถาบันโรคกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า ผู้ป่วยบางรายมีอาการปวดรุนแรงกว่าโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทเสียอีก นอนตอนกลางคืนจะปวดมากจนนอนไม่หลับ เวลาเปลี่ยนท่า อย่างการเดินแรก ๆ มักจะปวดสะโพกลงขา แต่พอเดิน ๆ ไประยะหนึ่งจะค่อย ๆ หายปวดขา ถ้าเป็นที่กล้ามเนื้อต้นคอ เวลาขยับกล้ามเนื้อคอจะมีอาการปวดเสียวอาการปวดตามบ่า ไหล่ สะโพกที่ค่อย ๆ ขยายวงกว้างขึ้นจนไปถึงปลายมือ ปลายเท้า ไม่ว่าจะกินยาขนานใดก็ตาม ไม่มีทีท่าว่าจะหายขาดนั้น

          คนส่วนใหญ่มักคิดว่าเป็นสาเหตุมาจากกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะคนไข้บางรายที่ตรงไปพบแพทย์ด้วยอาการที่ว่าอาจจะพบความผิดปกติของหมอนรองกระดูกสันหลังที่อาจเกิดขึ้นตามวัยด้วย บางรายยอมที่จะเจ็บตัวกับการผ่าตัด ทว่าอาการของโรคก็ดูเหมือนจะยังไม่หายไป อย่างแรงเหมือนไฟฟ้าช็อตไปที่แขนได้ ซึ่งอาการนี้คล้ายคลึงกับในโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทมาก


ปวดหลัง


          จากสาเหตุดังกล่าว จึงทำให้หลายบริษัทและองค์กรต่าง ๆ หันมาส่งเสริมกิจกรรมการออกกำลังกายด้วยท่าบริหารร่างกายในเวลาทำงานให้กับ พนักงานมากยิ่งขึ้น ซึ่งมีวิธีง่าย ๆ ดังนี้


          เวลายืนอยู่กับที่

          เราสามารถใช้ท่ายืนอยู่กับที่ให้เป็นประโยชน์ได้ ในท่ายืนนั้นสามารถช่วยเผาผลาญแคลอรี่ได้ง่าย ๆ

          ยืนพูดโทรศัพท์หรือส่งข้อความจากโทรศัพท์มือถือ
         
          ยืนประชุมเพื่อคิดงานแทนนั่ง
         
          ยืนรับประทานอาหาร
         
          ลุกขึ้นยืนประมาณ 3-5 นาที ทุก ๆ 3 ชั่วโมง


          เวลาพักกลางวัน

          เราทุกคนควรใช้เวลาพักทานกาแฟหรือพักทานอาหารกลางวันให้เป็นประโยชน์ เช่น เดินเร็ว หรือเดินรอบบริเวณอาคารพร้อม ๆ กับการยืดเส้นยืดสาย ยืดกล้ามเนื้อไปด้วย

          ก้มลงไปจับนิ้วเท้า
         
          ก้มศีรษะลงและให้คางแตะที่หน้าอกจนรู้สึกตึงที่บริเวณหลังและลำคอ
         
          ยกไหล่ทั้งสองข้างขึ้นให้ถึงระดับหู
         
          ยกแขนข้างขวาและพับแขนลงมา ทำให้ข้อศอกตั้งฉาก จากนั้นใช้แขนซ้ายดันไปที่ข้อศอกจนรู้สึกตึง ทำซ้ำข้างละ 2 นาที
 

ออกกำลังกาย


          การใช้อุปกรณ์ยกนํ้าหนัก

          คุณควรมีดัมเบลล์เล็ก ๆ ที่ไม่หนักมากไว้ในที่ทำงาน ดัมเบลล์สามารถเป็นตัวช่วยในการออกกำลังกายที่แแขนและขา เพื่อผ่อนคลายจากอาการตึงของกล้ามเนื้อได้


          ใช้บันไดแทนลิฟต์หลังอาหารกลางวัน

          การเดินขึ้นบันไดหลังรับประทานอาหารกลางวันเป็นสิ่งที่ทุกคนไม่ค่อยอยากทำ แต่หากคุณเดินขึ้นบันไดเพียงแค่ 2-3 ขั้น ก็ถือเป็นการออกกำลังกายที่ดีทีเดียว


          เดินมาทำงาน

          หากคุณอยู่ไม่ไกลจากที่ทำงาน แทนที่จะขับรถมาทำงาน ลองหันมาเดินหรือปั่นจักรยานแทนก็เป็นการออกกำลังกายที่ดี หากต้องขับรถมาทำงานก็ควรเลือกที่จะจอดรถให้ไกลจากที่ทำงานซักนิด เพื่อทิ้งระยะในการเดินเข้าที่ทำงาน เพียงเท่านี้ก็เป็นการออกกำลังกายที่ทำได้ง่าย ๆ

          เมื่อเริ่มจัดตารางเพื่อออกกำลังกายในที่ทำงาน คุณก็จะเห็นได้ทันทีว่า เพียงไม่กี่นาทีเราก็สามารถดูแลสุขภาพเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายของเราแบบไม่มีข้อจำกัด











ลิขสิทธิ์บทความของ e-magazine.info
ติดตามบทความ สุขภาพ หรืออ่าน แมกกาซีน





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ขยับนิด ๆ ระหว่างทำงาน เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น อัปเดตล่าสุด 18 มีนาคม 2557 เวลา 08:17:13 1,758 อ่าน
TOP