ผลไม้น้ำตาลต่ำ นอกจากจะอร่อยแล้ว ยังช่วยให้ร่างกายได้รับประโยชน์ดี ๆ จากผลไม้เหล่านี้อีกด้วย ผลไม้หลายชนิดถือเป็นผลไม้น้ำตาลต่ำ ที่สามารถกินเป็นของหวานเพื่อสุขภาพได้แบบชิล ๆ อีกทั้งยังหาได้ง่ายในบ้านเราด้วยนะคะ และเพื่อให้ทุกคนได้กินผลไม้น้ำตาลต่ำ หวานน้อย อร่อย แถมดีต่อสุขภาพ เราได้คัดผลไม้น้ำตาลน้อย 10 ชนิด จากผลไม้ไทยทั้งหมด 82 ตัวอย่าง ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน และกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ทำการศึกษาและวิจัยไว้เกี่ยวกับปริมาณน้ำตาลในผลไม้ไทย ต่อปริมาณเนื้อที่กินได้ 100 กรัม มาให้เช็กลิสต์ตรงนี้แล้ว กระจับ หรือผลไม้ที่มีลักษณะเหมือนเขาควาย เป็นผลไม้ไทยที่รสชาติหวานมัน แต่ปริมาณน้ำตาลในเนื้อกระจับนั้นเท่ากับ 0 กรัม ส่วนประโยชน์ของกระจับจะโดดเด่นในเรื่องช่วยบำรุงกำลัง บำรุงครรภ์ ฟื้นฟูกำลังในคนที่เพิ่งฟื้นไข้หรือหลังท้องเสีย และยังเป็นผลไม้ที่มีสรรพคุณแก้เมาค้างอีกด้วย แปะก๊วย หรือกิงโกะ (Ginkgo) 100 กรัม (ดิบ) มีปริมาณน้ำตาล 0 กรัมเช่นกัน และยังมีสรรพคุณเด็ดดวงตรงที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ทั้งวิตามินบี ไนอะซิน ไทอามีน กรดแพนโทเทนิก โฟเลต แมงกานีส ธาตุเหล็ก สังกะสี นอกจากนี้ยังมีต้านอนุมูลอิสระสูง ถึงขนาดที่ศาสตร์แพทย์แผนจีนถือกันว่าแปะก๊วยเป็นยาอายุวัฒนะเลยนะคะ ว่าแล้วเย็นนี้ก็ไปหาแปะก๊วยกินเลยดีกว่า ผลไม้ไทยบ้าน ๆ ที่เคี้ยวเพลินอย่างเม็ดบัว ก็มีปริมาณน้ำตาลต่ำ โดยเนื้อเม็ดบัว 100 กรัม มีน้ำตาลเพียง 1.7 กรัม และยังมาพร้อมสรรพคุณทางยาบำรุงกำลัง แก้อ่อนเพลีย ช่วยให้เลือดไหลเวียนดี ผ่อนคลายประสาท ช่วยเพิ่มความรู้สึกผ่อนคลาย ทำให้นอนหลับสบายอีกด้วย ผลไม้หวานหอมอย่างแตงไทย อาจทำให้หลายคนแปลกใจเพราะมีปริมาณน้ำตาลเบา ๆ ที่ 2.48 กรัม ต่อเนื้อ 100 กรัม และยังถือเป็นผลไม้ฉ่ำน้ำ กินแล้วช่วยดับกระหาย เพิ่มความสดชื่นเพราะมีฤทธิ์เย็น อีกทั้งไฟเบอร์ในแตงไทยยังช่วยกระตุ้นการขับถ่าย ขับปัสสาวะ และวิตามินต่าง ๆ ก็ช่วยบำรุงร่างกาย ขับน้ำนม และบำรุงธาตุ เนื้อมะพร้าวอ่อน 100 กรัม มีปริมาณน้ำตาลอยู่ที่ 2.75 กรัม จัดเป็นผลไม้น้ำตาลต่ำ ที่อร่อยถูกใจใครหลายคน และยังให้ไขมันดี ช่วยลดไขมันเลวในเลือด นอกจากนี้ในเนื้อมะพร้าวอ่อนยังอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยดูแลผิวพรรณ และยังช่วยบำรุงฮอร์โมนคุณสาว ๆ อีกด้วย ผลไม้ที่มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ รสหวานกำลังพอดีอย่างลูกหว้า จัดเป็นทั้งผลไม้เพื่อสุขภาพและสมุนไพรช่วยบำรุงสุขภาพเลยทีเดียว โดยผลลูกหว้า 100 กรัม จะมีปริมาณน้ำตาลอยู่ที่ 4.93 กรัม และยังมีวิตามินซี สารต้านอนุมูลอิสระอย่างแอนโทไซยานิน แทนนิน นอกจากนี้สารสกัดจากผลลูกหว้ายังมีคุณสมบัติต้านการเกิดสิวได้อีกด้วย กระเจี๊ยบแดง (แห้ง) น้ำหนัก 100 กรัม มีน้ำตาลอยู่ 5 กรัม แต่เวลารับประทานจริงก็จะใช้เพียงเล็กน้อย เช่น 10 ดอก จะมีปริมาณน้ำตาลอยู่เพียง 0.40 กรัมเท่านั้น รสชาติของกระเจี๊ยบแดงจึงออกเปรี้ยว ใช้ปรุงรสอาหารได้ หรือนำไปต้มน้ำกระเจี๊ยบก็ช่วยดับกระหาย บำรุงธาตุ แก้อ่อนเพลีย ลดความดัน บำรุงหัวใจ แต่ทั้งนี้หากดื่มเป็นน้ำสมุนไพรก็อย่าใส่น้ำตาลเยอะนะคะ หรือจะนำดอกไปต้มเป็นชากระเจี๊ยบ แล้วเติมรสหวานด้วยน้ำผึ้ง น้ำตาลหล่อฮั้งก้วย หรือหญ้าหวานแทนก็ได้ ระกำ เป็นผลไม้รสชาติหวานอมเปรี้ยวอมฝาด กลิ่นหอมแรง มักนิยมกินเพื่อให้ชุ่มคอ แก้ไอ ขับเสมหะ ช่วยให้เจริญอาหาร และในปริมาณ 100 กรัม ระกำจะมีน้ำตาลอยู่ที่ 5.13 กรัม ซึ่งถือเป็นผลไม้น้ำตาลต่ำอีกหนึ่งชนิดที่น่าสนใจ แตงโมเหลืองส้ม หรือที่เรียกว่าแตงโมฮันนีมูน ในปริมาณ 100 กรัม มีน้ำตาลอยู่ที่ 5.28 กรัม ถ้าใครเคยกินแตงโมสายพันธุ์นี้ก็จะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ารสชาติหวานฉ่ำ หอม อร่อย แบบที่ไม่เหมือนแตงโมสีแดงหรือสีเหลือง และด้วยความที่มีเนื้อสีส้มสว่างก็จะให้สารแคโรทีนอยด์ ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพ ช่วยบำรุงสายตา ลดความเสี่ยงภาวะจอประสาทตาเสื่อม และปกป้องผิวจากรังสียูวี เนื้ออ่อน ๆ ของลูกตาลสดในปริมาณ 100 กรัม จะมีน้ำตาลราว ๆ 5.45 กรัม แต่แนะนำให้กินครั้งละ 1 ลูกย่อม ๆ ซึ่งจะมีน้ำตาลเพียง 2.07 กรัม ให้ความหวานกำลังพอดี แถมยังมีความนุ่ม หอม อร่อย ช่วยดับกระหาย ลดความร้อนในร่างกาย หรือจะนำลูกตาลไปลอยน้ำแข็งก็กินแล้วชุ่มคอ ชื่นใจดีทีเดียว ใครที่กำลังลดน้ำหนัก หรือต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด หรือแค่อยากดูแลสุขภาพให้เฮลธ์ตี้ ผลไม้น้ำตาลต่ำเหล่านี้ หากรับประทานในปริมาณที่เหมาะสมก็ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจนะคะ 15 ผลไม้น้ำตาลน้อย อร่อยแบบสุขภาพดี ผลไม้น้ำตาลน้อย ค่า GI ต่ำ สำหรับคนอยากคุมน้ำตาล-ผู้ป่วยเบาหวานก็กินได้ ส่องผลไม้ให้พลังงานไม่เกิน 60 กิโลแคลอรี กินเท่านี้สิไม่อ้วน 12 ผลไม้ลดน้ำหนักสำหรับชาวออฟฟิศ ซื้อแบบพร้อมกินก็เลือกได้ ไม่อ้วน ! 12 ผลไม้คลายร้อนให้ร่างกาย ของกินเล่นแก้กระหาย แถมยังไม่อ้วนด้วย ! ขอบคุณข้อมูลจาก : เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน, กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก, สถาบันการแพทย์แผนไทย, หมอชาวบ้าน, nectec.or.th, disthai.com, webmd.com
แสดงความคิดเห็น