โซดามินต์ คืออะไร กินแล้วช่วยให้สุขภาพดีขึ้นจริงไหม ถ้าซื้อมารับประทานเองจะปลอดภัยหรือเปล่า ? โซดามินต์ เป็นอีกหนึ่งประเด็นสุขภาพ ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงกันบ่อยครั้ง บ้างก็ว่ากินยาโซดามินต์ช่วยลดกรดยูริกที่มีผลต่อโรคเกาต์ ช่วยปรับสมดุลกรด-ด่างของเลือด หรือช่วยชะลอโรคไต ซึ่งข้อมูลที่ปรากฏออกมาก็มีหลากหลายความเห็น วันนี้เราลองมาศึกษาอีกมุมมองหนึ่งจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคไตกัน โซดามินต์ที่กำลังกล่าวถึงในบทความนี้ไม่ใช่เครื่องดื่มดับกระหายคลายร้อนแต่ประการใด แต่เราจะพูดกันถึงยาโซดามินต์ ที่มีส่วนผสมของโซเดียมไบคาร์บอเนต (Sodium Bicarbonate) หรือที่เรารู้จักกันในชื่อของ ผงฟู หรือเบกกิ้งโซดา ซึ่งมีฤทธิ์เป็นด่าง นอกจากนี้ยังมีส่วนผสมของน้ำมันหอมระเหยเปปเปอร์มินต์ที่ทำให้รู้สึกเย็นซ่า โดยโซดามินต์ 1 เม็ด จะมีโซเดียมไบคาร์บอเนตอยู่ในปริมาณ 300 มิลลิกรัม โซดามินต์ เป็นยาที่ใช้สำหรับบรรเทาอาการจุกเสียด ท้องอืด ท้องเฟ้อ ลดอาการระคายเคืองจากกรดในกระเพาะอาหารมากเกินไป แต่ไม่สามารถใช้รักษาโรคกระเพาะอาหารหรือกรดไหลย้อนได้ ตามข้อบ่งใช้บนฉลากยาโซดามินต์ ผู้ใหญ่รับประทานครั้งละ 3-6 เม็ด ส่วนเด็กอายุ 6-12 ปี รับประทานครั้งละ 1-3 เม็ด หลังอาหารวันละ 3 ครั้ง หรือเมื่อมีอาการ ทั้งนี้ ควรใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร จากข้อมูลที่แชร์กันว่า การกินโซดามินต์ช่วยปรับสมดุลกรด-ด่างในเลือด ทำให้เลือดมีค่า pH 7.4 ประเด็นนี้ พญ.ศศิธร คุณูปการ อายุรแพทย์เฉพาะทางโรคไต ได้แสดงความคิดเห็นผ่านเพจเฟซบุ๊ก Doctor Kidney - ตอบคำถามสุขภาพโรคไต ไว้ว่า ยาโซดามินต์ใช้ปรับสมดุลกรด-ด่างในเลือดสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังได้ โดยจะมีประโยชน์กับคนไข้ที่ไม่สามารถขับกรดเองได้ เช่น คนไข้ที่มีโรคประจำตัว เป็นโรคไต โรคปอด หรือโรคหัวใจ แต่สำหรับคนปกติ ทั้งไตและปอดจะช่วยขับกรดที่เกิดจากการรับประทานอาหาร การเผาผลาญพลังงานของร่างกาย เช่น การออกกำลังกาย โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งการใช้ยาแต่อย่างใด ดังนั้น ที่มีคนแชร์ข้อมูลว่าให้รับประทานโซดามินต์ 2-3 เม็ด ก่อนอาหารทุกมื้อ เพื่อลดการดูดซึมกรดนั้นเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ขณะที่ รศ. ดร. นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ อดีตนายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย เคยให้สัมภาษณ์ในรายการชัวร์ก่อนแชร์ ว่า โซดามินต์คือยาที่ปรับให้ร่างกายเป็นด่าง ดังนั้น ในคนไข้ที่ร่างกายเป็นกรด การให้โซดามินต์จะทำให้ระดับกรด-ด่างในร่างกายสมดุลหรือเป็นกลาง อย่างไรก็ตาม แพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยจากผลเลือดว่ามี pH ที่เหมาะสมหรือไม่ ถ้าไม่เหมาะสมจะให้โซดามินต์เพื่อปรับสมดุล ซึ่งคนไข้แต่ละคนให้ขนาดยาไม่เท่ากัน แต่สำหรับคนทั่วไปการกินโซดามินต์อาจทำให้ร่างกายเป็นด่างมากเกินไป จึงไม่ควรซื้อมากินเอง เพราะร่างกายมีกลไกในการปรับสมดุลกรด-ด่างตามธรรมชาติอยู่แล้ว เมื่อป่วยเป็นโรคไต ไตทำงานลดลง ร่างกายจะกรองและกำจัดกรดออกมาได้น้อยลง ขับของเสียไม่ได้ ทำให้เลือดมีความเป็นกรดมากขึ้น และอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพร้ายแรงได้ ดังนั้นจึงมีความเชื่อว่า หากกินโซดามินต์ คือการนำด่างเข้าไปช่วยลดกรด จะช่วยชะลอความเสื่อมของไตได้ เกี่ยวกับเรื่องนี้ รศ. ดร. นพ.สุรศักดิ์ ให้ข้อมูลว่า ในกรณีที่คนไข้มีความผิดปกติของไต โดยเฉพาะโรคไตระยะต้น มีผลงานทางการแพทย์พบว่า การรักษาด้วยยาโซดามินต์อาจช่วยชะลอความเสื่อมของไตได้บ้าง แต่ผลงานทางการแพทย์ดังกล่าวยังเป็นการศึกษาในระยะสั้น ยังไม่ได้มีการติดตามระยะยาวในผู้ป่วยโรคไต อย่างไรก็ดี แพทย์โรคไตมักจะให้โซดามินต์ในกรณีที่เลือดเป็นกรด แล้วผู้ป่วยเป็นโรคไตระยะต้น หรือโรคไตระยะสุดท้ายที่จำเป็นต้องปรับสมดุลกรด-ด่างให้อยู่ในเกณฑ์พอเหมาะ อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญก็คือ การกินโซดามินต์ไม่ได้ช่วยรักษาโรคไต และสำหรับคนปกติ การกินโซดามินต์ก็ไม่ได้ช่วยป้องกันโรคไต อีกหนึ่งประเด็นที่คนพูดถึงกันเยอะก็คือ กินโซดามินต์ลดกรดยูริกที่เป็นสาเหตุของโรคเกาต์ ซึ่ง พญ.ศศิธร ชี้ว่าในผู้ป่วยโรคเกาต์มีการใช้โซดามินต์เพื่อปรับให้ปัสสาวะเป็นด่างมากขึ้นจริง เพื่อป้องกันการตกตะกอนของนิ่วยูริกในระบบทางเดินปัสสาวะ แต่หากปัสสาวะเป็นด่างมากเกินไปก็สามารถทำให้เกิดนิ่วชนิดอื่น ๆ ตกตะกอนแทน ดังนั้น การรับประทานยาโซดามินต์ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ไม่ควรหาซื้อกินเอง เช่นเดียวกับ รศ. ดร. นพ.สุรศักดิ์ ที่ระบุว่า คนที่ดื่มน้ำอัดลม น้ำหวานเยอะ ๆ หรือกินสัตว์ปีก เครื่องใน มีโอกาสที่กรดยูริกสูงและตกตะกอนตามที่ต่าง ๆ รวมถึงที่ไต ในกรณีแบบนี้ถ้าคนไข้มีความเสี่ยง แพทย์จะวินิจฉัยและจ่ายยาโซดามินต์ให้เมื่อมีความจำเป็น แต่สำหรับคนปกติถ้าไปซื้อโซดามินต์มากินเองอาจไม่ได้ช่วยป้องกันโรคเกาต์ และยังส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว สำหรับคนที่ไม่ป่วยแล้วซื้อโซดามินต์มากินเองควรระวังผลข้างเคียงต่อไปนี้ มีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ หรือเรอ อาจมีภาวะตัวบวม บวมน้ำ เนื่องจากยาโซดามินต์แต่ละเม็ดมีปริมาณโซเดียม 300 มิลลิกรัม ถ้ากินหลายเม็ดยิ่งเพิ่มโซเดียมในร่างกาย ทั้งที่ปกติเราก็ได้รับโซเดียมจากอาหารในปริมาณมากอยู่แล้ว เสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูงจากการได้รับโซเดียมมากเกินไป เสี่ยงต่อโรคไต เพราะโซเดียมในเลือดมากเกินไป ทำให้ไตทำงานหนักขึ้น การใช้ยาโซดามินต์ติดต่อกันเป็นเวลานานอาจเกิดภาวะเลือดเป็นด่าง (Metabolic Alkalosis) ทำให้ชาปลายมือ-ปลายเท้า กล้ามเนื้อเกร็ง อ่อนแรง สับสน ชัก หมดสติ หายใจช้า และเสียชีวิตได้ อาจมีภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ ทำให้กล้ามเนื้อกระตุก ชาตามมือ ชารอบปาก หัวใจเต้นผิดปกติ หรือมีอาการชัก ยาโซดามินต์อาจทำปฏิกิริยากับยาอื่น ๆ ที่รับประทานอยู่ ดังนั้น ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบถึงยาที่กำลังรับประทานอยู่ทั้งหมด คนที่ไม่ควรซื้อยาโซดามินต์มากินเองโดยไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ อาทิ คนที่เป็นโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคไต โรคตับ โรคลมชัก หรือโรคความดันโลหิตสูง คนที่มีภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ คนที่มีภาวะเลือดเป็นด่างสูง คนที่มีภาวะเกลือโซเดียมในร่างกายสูง คนที่มีภาวะบวมน้ำ คนที่กำลังใช้ยาสเตียรอยด์ คนที่เคยแพ้ยาโซดามินต์หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้ สตรีมีครรภ์หรือสตรีให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา สรุปจากความคิดเห็นของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็คือ ในคนปกติที่ไม่ได้มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับไต ปอด หรือหัวใจ การรับประทานยาโซดามินต์เองไม่ได้มีประโยชน์และไม่มีความจำเป็นใด ๆ เพราะอย่าลืมว่า โซดามินต์ก็คือโซเดียม ซึ่งการที่เรารับประทานโซเดียมมากเกินไปโดยไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ อาจยิ่งทำให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคไตหรือโรคหัวใจเพิ่มขึ้น ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยจึงไม่ควรซื้อยาโซดามินต์มารับประทานเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ ยาพาราห้ามกินกับอะไร อาหารหรือสมุนไพรกินคู่กับพาราเซตามอลได้ไหม ยาก่อนอาหารกินหลังอาหารได้ไหม ถ้าลืมกินยาต้องทำยังไงดี ยาก่อนนอนควรกินกี่โมง กินยาแล้วนอนเลยได้ไหม ถ้าลืมกินเลื่อนไปมื้ออื่นได้หรือเปล่า ยาสามัญประจำบ้านมีอะไรบ้าง ติดบ้านไว้อุ่นใจทั้งครอบครัว ยาแก้ไอ ยาละลายเสมหะ ยาขับเสมหะ ไอแบบไหนควรใช้ยาอะไรบรรเทาอาการ ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, เฟซบุ๊ก Doctor Kidney - ตอบคำถามสุขภาพโรคไต, ชัวร์ก่อนแชร์, Thai PBS
แสดงความคิดเห็น