คอคาร์บอน คืออะไร เกิดจากอะไรได้บ้าง คนที่มีรอยดำที่คออย่าเพิ่งชะล่าใจคิดว่าเป็นเพียงขี้ไคลธรรมดา เพราะจริง ๆ แล้วอาจมีโรคบางอย่างแฝงอยู่ ซึ่งเป็นได้ทั้งคนอ้วน คนผอม คอดำ หรือที่หลายคนเรียกว่า คอคาร์บอน เกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ ตั้งแต่ปัญหาเรื่องผิวพรรณธรรมดาไปจนถึงโรคผิวหนัง หรืออาจเป็นสัญญาณบอกปัญหาสุขภาพบางอย่าง เอาเป็นว่าถ้าใครสังเกตเห็นรอยดำที่คอของตัวเองหรือคนใกล้ตัว อยากให้ลองเช็กสาเหตุกันดูสักหน่อย แล้วรีบหาวิธีแก้คอดำ ให้หายไว ๆ จะได้ไม่ต้องอายใคร คอคาร์บอน หรือ คอดำ เป็นคำที่หลายคนใช้เรียกโรคผิวหนังประเภทหนึ่งที่บริเวณคอด้านหลังหรือด้านข้างลำคอมีลักษณะคล้ำ เป็นปื้นดำ หนา ดูขรุขระคล้ายกำมะหยี่ และอาจมีกลิ่นเหม็น สามารถเกิดได้กับทุกส่วนของร่างกาย เช่น คอ รักแร้ ขาหนีบ ข้อพับ ริมฝีปาก ใต้หน้าอก ท้อง เป็นต้น โดยในทางการแพทย์จะเรียกว่า Acanthosis Nigricans (อะแคนโทซิส นิกริแคนส์) ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน และจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในคนที่มีน้ำหนักตัวมาก คนที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้ รวมถึงคนผิวคล้ำ อย่างไรก็ตาม คอคาร์บอนสามารถเกิดขึ้นได้จากสาเหตุที่ไม่ใช่โรคและสาเหตุที่เป็นโรค เรามาทำความเข้าใจถึงสาเหตุของรอยดำที่คอส่งสัญญาณบอกโรคก่อนดีกว่า คอคาร์บอน อาจเป็นอาการหนึ่งที่เกิดจากโรคต่อไปนี้ ภาวะดื้ออินซูลินเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยในคนที่เป็นคอคาร์บอน เพราะเมื่อร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินได้ไม่ดี ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น จะไปกระตุ้นเซลล์ผิวหนังสร้างเม็ดสีมากขึ้น ส่งผลให้ผิวหนังมีสีคล้ำและหนาขึ้น สืบเนื่องจากภาวะดื้ออินซูลินก็เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ ดังนั้น คนที่มีภาวะคอคาร์บอนจึงมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นเบาหวาน ในผู้หญิงที่มีภาวะ PCOS มักมีภาวะดื้ออินซูลินร่วมด้วย ซึ่งระดับอินซูลินที่สูงขึ้นนี้สามารถกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์ผิวหนังและเซลล์สร้างเม็ดสีบริเวณคอ รักแร้ ขาหนีบ ฯลฯ ได้เช่นกัน อาการภูมิแพ้ผิวหนังอาจทำให้เกิดการอักเสบและระคายเคืองผิวหนังบริเวณลำคอ ยิ่งเกาก็ยิ่งอักเสบมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการสร้างเม็ดสีเมลานินมากขึ้น ดังนั้น แม้ว่าจะรักษาภูมิแพ้หายแล้วก็ตามแต่ก็อาจทิ้งรอยดำไว้ เช่น โรคที่เกิดจากฮอร์โมนไทรอยด์ ความผิดปกติของต่อมหมวกไต ความผิดปกติของต่อมใต้สมอง โรคมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งตับ มะเร็งลำไส้ ที่อาจทำให้ลำคอมีสีคล้ำขึ้น นอกจากภาวะที่เกี่ยวข้องกับอาการป่วยแล้ว การปรากฏรอยดำที่คอยังอาจเป็นเพราะสาเหตุอื่น ๆ ต่อไปนี้ เกิดจากการสะสมของสิ่งสกปรก เหงื่อ แบคทีเรีย และเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว เนื่องจากทำความสะอาดผิวหนังบริเวณนั้นไม่เพียงพอ ทำให้กลายเป็นขี้ไคลหรือรอยดำ การเสียดสีไป-มาบริเวณผิวหนังในคนที่มีน้ำหนักตัวมาก ๆ หรือเป็นโรคอ้วน สวมเสื้อผ้าหรือเครื่องประดับที่รัดคอมากเกินไป ทำให้มีการเสียดสีเป็นประจำ ความอับชื้นจากการใส่เสื้อผ้าหรือผ้าพันคอ สัมผัสแสงแดดมากเกินไป หรือไม่ได้ทาครีมกันแดดก่อนออกจากบ้าน ความเครียดเรื้อรังส่งผลให้ระดับฮอร์โมนในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจกระตุ้นการสร้างเม็ดสีผิวมากขึ้นในบางบริเวณ เช่น คอ ทำให้เกิดรอยดำคล้ำได้ ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงในระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งไปกระตุ้นให้เกิดรอยดำคล้ำตามบริเวณต่าง ๆ ของร่างกายได้ ซึ่งรวมถึงคอ แต่รอยดำเหล่านี้มักจางลงได้เองหลังคลอดบุตร ความผิดปกติทางพันธุกรรม ดังนั้น คนที่มีประวัติคนในครอบครัวมีรอยดำที่คอจึงมีความเสี่ยง การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด ยาสเตียรอยด์ เป็นต้น รอยดำที่คอต้องรักษาตามสาเหตุที่เกิดจึงจะเห็นผล เช่น สำหรับคนที่มีน้ำหนักเกินควรลดน้ำหนัก เพื่อลดการเสียดสีของผิวหนังและลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะดื้ออินซูลิน รวมถึงออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อเร่งกระบวนการเผาผลาญน้ำตาล หากรอยดำบนคอเกิดจากคราบขี้ไคลหรือเกิดจากความอับชื้น ต้องหมั่นทำความสะอาดบริเวณลำคอให้ทั่วถึง และบำรุงบริเวณลำคอด้วยการทาโลชั่นหรือครีมบำรุงผิวเป็นประจำเพื่อลดรอยดำ ถ้ารอยดำเกิดจากการสวมใส่เสื้อผ้าหรือเครื่องประดับที่รัดแน่นเกินไป ควรเลือกใส่เสื้อผ้าที่หลวมหน่อย ไม่พันผ้าพันคอเป็นเวลานาน และไม่ใส่สร้อยคอที่สั้นจนเกินไป สำหรับคนที่ต้องทำงานกลางแจ้งหรือออกแดดบ่อย ๆ ควรทาครีมกันแดดบริเวณลำคอก่อนตากแดดทุกครั้ง ในกรณีที่รอยดำเกิดจากภาวะดื้ออินซูลินหรือโรคอื่น ๆ ต้องรักษาภาวะดังกล่าวให้หาย โดยหมั่นพบแพทย์และรับประทานยาตามคำแนะนำ อย่างไรก็ตาม หากปรับพฤติกรรมแล้ว เช่น ควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย ลดน้ำหนัก รอยดำบนคอยังไม่หาย แนะนำให้ไปพบแพทย์โรคผิวหนังเพื่อรักษาเพิ่มเติม โดยแพทย์จะใช้ยาทาเฉพาะที่หรือให้ยารับประทานมาช่วยรักษา รวมไปถึงการเลเซอร์ผิวหนังที่จะช่วยให้รอยดำดูจางลง แม้ว่าภาวะคอดำ หรือคอคาร์บอน จะไม่ใช่โรค ไม่ได้ติดต่อระหว่างกัน แต่ก็อาจทำให้คนที่มีอาการนี้ขาดความมั่นใจไม่น้อย ดังนั้น จึงควรรีบหาสาเหตุที่ทำให้เกิดรอยดำที่คอและรีบรักษา ส่วนคนที่ไม่ได้ป่วยก็ต้องป้องกันตัวเองด้วยการรักษาสุขอนามัยให้ดี ร่วมกับการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เช่น ลดอาหารหวานหรืออาหารที่ให้พลังงานสูง และดูแลน้ำหนักตัวให้สมดุล เพื่อป้องกันภาวะดื้ออินซูลินที่เป็นสาเหตุสำคัญของภาวะคอคาร์บอน วิธีแก้คอดำ ต้นคอดำ 6 วิธี ไม่อยากเสียเซลฟ์ รีบจัดการด่วนจี๋ ! โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง คัน ผิวแพ้ง่าย ดูแลอย่างไรไม่ให้ผื่นเห่อ โรคผิวหนังอักเสบ ติดเชื้อ มีอะไรบ้าง ผื่นคันแบบนี้ป่วยโรคอะไร 11 โรคผิวหนังหน้าร้อนต้องระวัง คันตามตัวในฤดูนี้ประจำ ทำยังไงดี 9 โรคผิวหนังที่ต้องระวังในหน้าฝน รู้ให้ครบช่วยลดความเสี่ยง ขอบคุณข้อมูลจาก : สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ, โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล, โรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี, clevelandclinic.org, mayoclinic.org
แสดงความคิดเห็น