อาการโควิด 2568 เป็นยังไง ใครติดโควิด รอบใหม่ต้องรู้ว่าเป็นโควิดกี่วันหาย ยังต้องกักตัวอยู่ไหม ลองมาทบทวนข้อมูลล่าสุดกันอีกที สถานการณ์ของโรค โควิด 19 ในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมาก จากการระบาดใหญ่ทั่วโลก (Pandemic) ได้กลายเป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) ที่มีการระบาดเป็นวัฏจักรคล้ายกับโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งในประเทศไทยมักพบการระบาดของ COVID-19 ในช่วงหลังสงกรานต์ที่มีการรวมตัวของผู้คนและมีการเดินทางระหว่างจังหวัด ต่อเนื่องไปถึงช่วงเดือนพฤษภาคมที่เด็กนักเรียนเปิดเทอม อย่างไรก็ตาม แม้อาการโควิดล่าสุด ปี 2025 จะไม่รุนแรงมากนัก แต่หลายคนที่เพิ่งติดโควิดก็คงอยากทบทวนถึงวิธีการรักษา การดูแลตัวเอง รวมถึงคำถามที่ว่า โควิดกี่วันหาย กักตัวโควิดกี่วัน เพื่อไม่ให้เชื้อแพร่ไปยังคนอื่น งั้นตามมาอ่านกันเลย โควิดสายพันธุ์ใหม่ที่พบการระบาดอยู่ทั่วโลกตั้งแต่ปลายปี 2567 เป็นต้นมา คือ สายพันธุ์ LP.8.1 และ XEC ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอนที่แพร่เชื้อได้เร็วกว่าเดิม สำหรับในประเทศไทย ยังพบผู้ป่วยโควิดสายพันธุ์ XEC และ LP.8.1 ไม่มากนัก เพราะส่วนใหญ่ยังเป็นการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ JN.1 และสายพันธุ์ KP อาการโควิด 2568 โดยส่วนใหญ่มีความรุนแรงไม่มากเท่าตอนที่ระบาดเมื่อหลายปีก่อน และไม่ค่อยลงปอดแล้ว ทำให้มีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างต่ำ โดยอาการโควิดล่าสุดที่พบก็ไม่ต่างกับการป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจอื่น ๆ มากนัก ได้แก่ มีไข้ เจ็บคอ ไอ คัดจมูก มีน้ำมูกไหล ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ท้องเสีย คลื่นไส้ หรืออาเจียนในบางราย สูญเสียการรับกลิ่น อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงของโรคอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น สายพันธุ์ของไวรัสที่ได้รับ ปริมาณของเชื้อที่ได้รับ สุขภาพร่างกายพื้นฐาน เป็นต้น โดยกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังคือ หญิงมีครรภ์ ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ซึ่งหากติดโควิดอาจมีอาการรุนแรงกว่าคนทั่วไป โควิดกี่วันหาย ? ประเด็นนี้ขึ้นอยู่กับสุขภาพพื้นฐานของผู้ป่วยและความรุนแรงของโรคด้วย หากเป็นคนที่มีอาการน้อย สุขภาพแข็งแรงดี ไม่มีโรคประจำตัว หรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยง อาการป่วยจะเริ่มดีขึ้นในช่วง 3-5 วัน และหายป่วยได้ภายในช่วง 7-10 วัน แต่ถ้าเป็นคนที่มีอาการรุนแรงอาจใช้เวลานานกว่า 1 สัปดาห์ โควิดหายเองได้ไหม ? หากอาการโควิดไม่รุนแรงก็สามารถกินยารักษาตามอาการเองได้ โดยยาที่นิยมใช้รักษาโควิด เช่น ยาลดไข้ ยาแก้ไอ สเปรย์พ่นคอแก้เจ็บคอ ยาละลายเสมหะ ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก ฟ้าทะลายโจร ฯลฯ ขึ้นอยู่กับอาการที่เป็น ซึ่งอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นภายใน 5-7 วัน หลังกินยา อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่มีอาการหนัก เช่น รู้สึกหายใจลำบาก เจ็บหน้าอก หรือผู้ป่วยเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยง คือ มีอายุมาก มีโรคประจำตัว มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ปกติ กำลังตั้งครรภ์ เช่นนี้ควรไปพบแพทย์ เพื่อรับยาต้านไวรัส หรือให้แพทย์ดูแลอย่างใกล้ชิดป้องกันภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา เป็นโควิดหยุดกี่วัน ต้องกักตัวนานแค่ไหน ? แนวทางปฏิบัติตัวในปี 2568 ก็ยังคงไม่ต่างจากเดิมคือ ใช้เกณฑ์ 5+5 5 วันแรก กักตัวที่บ้าน โดยแยกห้องนอน ห้องน้ำ อุปกรณ์การกิน ของใช้ส่วนตัว ออกจากผู้อื่นอย่างเคร่งครัด สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือบ่อย ๆ และตรวจ ATK ซ้ำในวันที่ 5 ของการกักตัว 5 วันถัดมา สามารถออกจากบ้านได้ แต่ต้องสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งและเว้นระยะห่างทางสังคม เพราะเชื้อโควิดยังสามารถแพร่กระจายไปให้ผู้อื่นได้ ทั้งนี้ หากถามว่า โควิดกี่วันไม่แพร่เชื้อ ? จากข้อมูลการศึกษาในต่างประเทศ พบว่า ถ้าคนป่วยโควิดกักตัวไปแล้ว 5 วัน จะยังมีโอกาสแพร่เชื้อได้อยู่ 50% และเมื่อผ่าน 7 วันไปแล้ว โอกาสแพร่เชื้อจะลดลงเหลือ 25% หากถึงวันที่ 10 โอกาสแพร่เชื้อจะเหลือเพียง 10% และจะปลอดภัยที่สุดเมื่อพ้น 14 วันไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ในชีวิตจริง เราอาจไม่สามารถกักตัวได้นานถึง 14 วัน ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงแนะนำให้ใช้เกณฑ์ 5+5 วัน ซึ่งก็ช่วยลดโอกาสแพร่เชื้อได้มากพอสมควร ไขข้อสงสัยเรื่องอาการโควิดล่าสุด ปี 2568 กันไปแล้ว หากใครกำลังรักษาตัวอยู่ก็ขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด และคอยสังเกตอาการตัวเองอยู่เสมอ ถ้าผ่านไป 7 วันแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เจ็บคอจากโควิด 19 กินยาอะไร มีวิธีไหนช่วยบรรเทาอาการแสบคอได้บ้าง วิธีรักษาโควิดที่บ้าน เป็นโควิดกินยาอะไรได้บ้าง มาอัปเดตล่าสุดกัน เป็นโควิดกินนํ้าเย็นได้ไหม น้ำอัดลมดื่มได้หรือเปล่า ควรดื่มอะไรดี เป็นโควิดสระผม อาบน้ำได้ไหม จะเป็นไข้ หรือป่วยหนักกว่าเดิมหรือเปล่า ? ติดโควิดกินกาแฟ เหล้า เบียร์ ได้ไหม ดื่มอะไรได้บ้าง ติดโควิดกินทุเรียนได้ไหม ผลไม้อะไรควรกิน-ควรเลี่ยงเมื่อเป็นโควิด เป็นหวัดตรวจ ATK ได้ไหม จะขึ้น 2 ขีดหรือเปล่า หรือว่าเราติดโควิด ? สเปรย์พ่นคอ แก้ไอ แก้เจ็บคอ ยี่ห้อไหนดี ไอเทมที่หลายบ้านมีติดไว้ ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล (1), (2), เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan, องค์การอนามัยโลก
แสดงความคิดเห็น