
1 เดือน 3 ฤดู : เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย? (กรุงเทพธุรกิจ)
โดย : ทีมข่าวจุดประกาย
สำหรับ คน อาการเดี๋ยวร้อนเดี๋ยวหนาว อาจเป็นสัญญาณเตือนก่อนเป็นไข้ แต่สำหรับเมืองไทยในช่วงเดือนกว่าๆ ที่ผ่านมา มีทั้งร้อน ฝน ปนหนาว (ปะแล่มๆ)
ในความรู้สึก เราอาจมีคำตอบไว้ในใจอยู่แล้วว่า "มันเป็นเรื่องผิดปกติ ที่ปกติ" เพราะอากาศบ้านเราก็หลงฤดูบ่อยๆ อยู่เป็นนิจ แต่ในภาควิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะอุตุนิยมวิทยาการมี 3 ฤดูในเดือนเดียว ย่อมต้องมี "มูล" อยู่แล้ว
...จากพยากรณ์อากาศย้อนหลัง ไม่วิกฤตแต่เริ่มผิดปกติ

"ความกดอากาศสูง มวลอากาศเย็นและแห้งจากจีน พัดผ่านลงมาปกคลุมบริเวณตอนล่าง ปกคลุมมาถึงเมืองไทย ไล่มาตั้งแต่ภาคเหนือ ภาคอีสาน ซึ่งปกติก็จะพัดมาถึงภาคกลางและกรุงเทพฯ" ดร.สมชาย ใบม่วง รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาฝ่ายบริหาร เผยให้เห็นที่มาความหนาวของทุกปี
พิเศษก็ตรงปีนี้ที่ความหนาวกลับพัดเข้ามาไกลสุดแค่พิษณุโลก หรือ นครสวรรค์ (ภาคกลางตอนบน) นั่นเป็นเพราะ ระหว่างทาง ความกดอากาศสูงจากจีน เกิดไปปะทะกับ กระแสลมตะวันออกที่พัดมาจากทะเลจีนใต้เข้าอ่าวไทย ผสมกับพายุโซนร้อนมิลเลียนแนร์จากเวียดนาม ความหนาวเย็นที่ควรจะยะเยือก เลยกลายเป็นฝนตกไป
จนมาถึงปลายเดือนพฤศจิกายน ความกดอากาศสูงแผ่มายังภาคเหนือและภาคอีสานอีกระลอก คราวนี้ไม่เจอลมใดๆ ปะทะ คนกรุงเทพฯ และภาคกลางตอนล่าง เริ่มสัมผัสได้ถึงลมหนาววูบแรกของปี
"พอต้นเดือนถึงปลายเดือนธันวาคม ความกดอากาศจากจีนยังคงปกคลุม เหนือ,อีสาน ยังหนาวต่อเนื่อง แต่พอจะพัดมาถึงตอนกลางก็เจอลมทะเลมากั้นอีก เลยไม่หนาว และพอเข้าปลายเดือน ความกดอากาศสูง ซึ่งลงมาถี่มาก ก็พัดลงมาอีก ช่วง 24-25 ธ.ค.คนกรุงเลยได้หนาวกันอีกรอบ"
เข้าปีใหม่ ปักกิ่งเจออุณหภูมิติดลบ 40 องศาเซลเซียส ความหนาวหอบใหญ่จึดพัดลงมาตอนล่างอีกรอบ แต่ระหว่างทางก็เจอเข้ากับลมทะลส่วนกลางที่พัดจากอ่าวไทยเข้ามากระทบอีก เมื่อความกดอากาศสูง ที่ทั้งเร็วและแรง มาชนเข้ากับความกดอากาศต่ำ ผลก็คือ ฝนตกหนักและน้ำท่วม ในช่วงวันที่ 6 มกราคม ที่ผ่านมา
ดร.สมชาย สรุปสภาพที่เกิดขึ้นว่าเป็นความปกติ ที่มีความไม่ปกติอยู่
"ความปกติ คือ ความกดอากาศสูงจากจีนที่แผ่ลงมาทุกปี แต่ความผิดปกติกลับอยู่ตรง ลมทะเลหรือคลื่นอากาศจากฝั่งตะวันตก เคลื่อนรอบเส้นศูนย์สูตรพัดเข้ามาในช่วงเวลาเดียวกัน เบี่ยงมวลอากาศให้ออกทางตะวันออก" ภาษาอุตุฯ แบบนี้แปลว่า ความเย็นจึงมาไม่ถึงกรุงเทพฯ เพราะถูดเบียดให้ตกทะเลไป
เอาให้ง่ายกว่านั้นคือ...
"ลมหนาวก็พัดลงมาปกติ เพียงแต่คราวนี้มันพัดไม่เข้าเป้าเท่านั้นเอง" ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ช่วยขมวดประเด็นตอนต้น ในงานเสวนาเรื่อง "ร้อนปนฝน เกิดอะไรขึ้นกับฤดูหนาวของไทยในปี 2553" เมื่อสองวันก่อน
โลกร้อน หรือ มือคน
ความผันผวนของสภาพอากาศที่เกิดขึ้น ทำให้หลายฝ่ายมองเชื่อมโยงไปถึงกระแสภาวะโลกร้อนที่กำลัง "ติดปาก" ผู้คนในพ.ศ.นี้ว่าน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญ แต่ในความเป็นจริงแล้วยังมีอะไรที่น่าจะวิเคราะห์ให้มากกว่านั้น
"ความไม่เข้าเป้า" ของอากาศหนาวที่แผ่วปลายอยู่แถวพิษณุโลก และนครสวรรค์แทนที่จะลงมาให้คนกรุงหาเสื้อคลุมมาใส่กันบ้าง ขณะที่ กรุงเทพมหานครมีองค์ประกอบพิเศษอยู่ตรงที่มีลักษณะเป็น "เกาะความร้อน" ทำให้สภาพอากาศรอบข้างแทบไม่ได้ส่งผลกระทบถึงความเปลี่ยนแปลงต่ออุณหภูมิใน เมืองกรุงเลยแม้แต่น้อย
"เพราะบ้านเราศูนย์กลางข้อมูลอยู่ที่กรุงเทพ ที่ผ่านมา ถึงเราจะมีฝนตก แต่อุณหภูมิไม่ได้เปลี่ยนแปลงมาหลายปีแล้ว ถ้าร้อนจะอยู่ที่ 36-35 องศา ถ้าเย็นก็จะอยู่ราวๆ 20 กว่าองศาเท่านั้น" ดร.สธน อธิบาย
นอกจาก ปัจจุบันปรากฏการณ์เอลนีโญทวีกำลังแรงขึ้น ทำให้อุณหภูมิบริเวณนอกชายฝั่งอินโดนีเซียสูงกว่าค่าเฉลี่ย เพราะกระแสลมเกิดการเปลี่ยนแปลงทำให้ระบบหมุนเวียนอากาศปกติอ่อนลง จนมวลอากาศเย็นเคลื่อนตัวลงทะเลไหลออกสู่มหาสมุทรแปซิฟิกไปจะเป็นปัจจัย หนึ่งที่สื่อถึงความไม่ปกติ แต่ก็ต้องไม่มองข้ามความรู้สึกคนเมืองที่ใช้ประเมินความเปลี่ยนแปลงที่เกิด ขึ้นด้วย
"ความรู้สึกของคนกรุงเทพเชื่อไม่ได้ เพราะเอลนิญโญแรง หน้าร้อนก็จะร้อน วันร้อนเยอะเพราะหย่อมความกดอากาศสูงน้อยลง ปีนี้หน้าหนาวอาจจะมาช้าก็มีความเป็นไปได้ แต่เราใช้ความรู้สึกตัดสินว่ามันไม่ปกติไปแล้ว" เขาตั้งข้อสังเกต
ดร.อัศมน ลิ่มสกุล ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็ระบุถึงผลการศึกษา สภาพอากาศของโลกวันนี้ต่างไปจากอดีตอย่างชัดเจน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติจะเป็นตัวแปรสำคัญกว่า กิจกรรมของมนุษย์
จากการศึกษาปรากฏการณ์การเคลื่อนตัวของกระแสลมแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Oscillation หรือ NAO) ที่เคลื่อนตัวขี้นด้านบนทำให้ยุโรปตอนบนมีฝนในฤดูหนาวเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ยุโรปตอนล่างปริมาณฝนกลับลดน้อยลง ประเทศไทยเองอากาศก็แปรปรวนที่เชื่อมโยงระหว่างอากาศกับทะเลในมหาสมุทร อินเดีย หรือ Indian Ocean Dipole (IOD) ที่ทำให้เกิดมวลอากาศเย็นเกิดขึ้้นนั้นมีความเชื่อมโยงกับกิจกรรมของมนุษย์ จากปริมาณก๊าซที่เพิ่มขึ้นทำให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้น 0.74 องศาเซลเซียล ทำให้น้ำระเหยมากขึ้น มวลอากาศแห้งเพิ่มขึ้น วัฏจักรเร่งตัวมากขึ้นทำให้ฝนตกถี่และแรงขึ้นด้วย
สอดคล้องกับงานวิจัยเกี่ยวกับแผนภูมิเฉลี่ยอุณหภูมิเกิน 35 องศาเซลเซียส ย้อนหลัง 20 ปี ของนิสิตในชั้นเรียนที่ ดร.สธน สอนอยู่ มีแนวโน้มลักษณะการขยายวงความร้อนที่น่าจะเกิดจากผลงานของมนุษย์มากกว่า ธรรมชาติ
ภาพประกอบงานวิจัยชิ้นดังกล่าว ใช้สีแดงแทนพื้นที่ที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 35 องศาเซลเซียส ซึ่งกระจายตัวไปตามเมืองใหญ่ในภูมิภาคต่างๆ และดูจะแดงเถือกเป็นพิเศษตรงภาคกลางและภาคอีสาน หากภาคเหนือกลับโล่ง ยกเว้นอยู่เมืองเดียว
"ถ้าโลกร้อน ภาคเหนือคงไม่เป็นสีแดงเฉพาะที่เชียงใหม่หรอกนะครับ" เขายืนยัน

"สิ่งที่ต้องระวังก็คือความรู้ และการอธิบายในทางที่ผิด" ดร.สธนบอกถึงเรื่องที่ต้อง "คิดต่อ"
"ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของโลกจนไปถึงกระแส 2012 ก็ตามเมื่อมีคนเห็นก็พยายามหาคำอธิบายให้เข้าใจมากขึ้น แต่บางครั้งเราต้องยอมรับว่าการสื่อสารในทางที่ผิดไปมันก็มีผลกับคนหมู่มาก"
ขณะที่ ดร.อัศมน ยืนยันว่าไม่ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะมีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับ เรื่องโลกร้อน หรือพฤติกรรมของมนุษย์หรือไม่ เป็นเรื่องที่ยังปฏิเสธไม่ได้เพราะทุกปัจจัยล้วนมีความเชื่อมโยงถึงกันแทบ ทั้งสิ้น
ถึงแม้จะมีข้อเห็นต่างถึงความแปรปรวนของสภาพอากาศนั้นเกิดจากภาวะ โลกร้อน หรือจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น แต่การทำความเข้าใจถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นภาพรวมของมวลอากาศ โลก และผลกระทบที่จะส่งถึงประเทศไทย ทั้งหมดก็เพื่อนำไปสู่แนวทางการรับมือที่มีประสิทธิภาพนั่นเอง
"เราคงจะไม่เจอคำถามแค่ต่อไปหิมะจะตกในเมืองไทยหรือเปล่า" ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ จากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ เปิดประเด็น
เขามองว่าการทำความเข้าใจปรากกการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นก็เพื่อนำไปสู่ องค์ความรู้ที่จะใช้เป็นข้อมูลสำหรับแนวทางการปรับตัวหรือการรับมือการ เปลี่ยนแปลงของอากาศที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่เอาแต่ตั้งหลักใหม่ทุกครั้งหลังมีเรื่อง
"ถึงแม้ปรากฏการณ์ดังกล่าวจะไม่ถึงกับเวียนเป็นวงรอบ แต่เป็นปรากฎการณ์ที่น่าสนใจว่าเกิดขึ้นจากอะไร ถ้าเราไม่เข้าใจกัน มันกลับมาอีกเราก็งง แต่ถ้าเราเข้าใจมัน คราวหน้าถ้าขั้วโลกเปลี่ยน หรือมีอะไร เราก็สามารถบอกว่าได้เมืองไทยจะเกิดความผันผวน ในช่วงฤดูหนาว เป็นต้น ทุกเรื่อง ถ้าเราไม่เข้าใจ เราจะถอยกลับไปตั้งหลักทุกครั้ง ยกตัวอย่าง แผ่นดินไหว เอาแล้ว พูดถึงรอยเลื่อน เขื่อนจะแตกไหม คำถามเดิมอีกแล้ว ทั้งที่จริงน่าจะถามว่า ชาวบ้านควรทำอะไร รัฐช่วยเหลืออะไรได้บ้าง ถามให้ไกลกว่านั้น
"เช่นเดียวกัน เรื่องนี้ถ้าเราไม่ทำให้เข้าใจเรื่องพื้นฐาน ในอนาคตเราจะเต็มไปด้วยการคาดเดาตลอด ต่างจากทางอเมริกา ยุโรป จีน เขาตอบคำถามชัดเลย มีอะไรตามมา มีวิธีการรับมืออย่างไร ยกตัวอย่างง่ายๆ ฝนตกทางใต้ มีผลต่อการกรีดยาง แต่ถ้าเขารู้ล่วงหน้าก็ปรับเปลี่ยนแผนทันได้ เตรียมตัวล่วงหน้าได้ ฝนปนหนาวที่เกิดขึ้นอาจเป็นเป็นกรณีเล็กๆ แต่ถ้าพายุใหญ่ เราจะเตรียมรับมือยังไง"
ส่วนความร่วมมือในการศึกษาเพื่อหาข้อสรุปถึงสถานการณ์ และผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นมีการประเมินความร่วมมือในสายตาของ ดร.สมชายคิดว่าน่าจะใช้เวลาราว 10 ปีเป็นอย่างน้อย
"ดูอย่างกรอบความร่วมมือของไจก้า (JIGA) จากญี่ปุ่นที่เข้ามาทำงานในภูมิภาคนี้แค่ขั้นตอนการรวมรวบข้อมูลเองนะ ก็กินเวลาไป 5 ปีแล้ว และยังมีค่าใช้จ่ายอีกกว่าร้อยล้าน" เขาบอก
และอีกประเด็นสำคัญที่ผู้เชี่ยวชาญในวงเสวนา เห็นตรงกัน คือ การเหมาเอาสภาพอากาศแปรปรวนที่เกิดขึ้นเฉพาะกรุงเทพฯ เป็นอากาศโดยรวมของทั้งประเทศ
"ทั้งๆ ที่ ภาคเหนือและอีสานก็หนาวเป็นปกติ แต่ร้อนฝนปนหนาวที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ กลับเป็นเรื่องใหญ่" ดร.สมชาย เตือน
...ประเทศไทยหรือกรุงเทพฯ กันแน่ที่แปรปรวน
.......................................

ขณะที่บ้านเราแค่ร้อนๆ หนาวๆ แต่อีกฟากหนึ่งอย่างอังกฤษ, รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา กระทั่งพี่ใหญ่ร่วมทวีปอย่างจีน ต้องทรมานกับหิมะถล่ม และอากาศอันหนาวเหน็บผิดปกติ
เรื่องนี้ องค์การบริหารการบินและและอวกาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา หรือ นาซ่า ทำการหาคำตอบมาเรียบร้อยแล้ว และถูกถอดความ เรียบเรียงให้ฟังง่ายขึ้นจาก อ.บัญชา ธนบุญสมบัติ ที่ศึกษามาอย่างละเอียด
"ช่วงหน้าหนาว อากาศขั้วโลกมันหนาวอยู่แล้ว เป็นน้ำแข็ง ซึ่งปกติมันก็หนาวเฉพาะแถวๆ นั้น ไม่ลามลงมามาก เช่นเดียวกัน อากาศทางยุโรปก็หนาวเย็น แต่ไม่หนาวเหมือนในตอนนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การเปลี่ยนแปลงของมลอากาศขั้วโลก จนอากาศเกิดแรงกระเพื่อม แล้วเกิดการหมุน (ตามโลกที่หมุน) คราวนี้ พออากาศข้างบน (ขั้วโลก) เย็น แต่ข้างล่าง (ยุโรป) อุ่นกว่า ตรงช่วงขอบรอยต่อ มีความแตกต่างของอุณหภูมิสูงมาก ตรงขอบมักจะเกิดมีกระแสลมแรงวิ่งวน เรียก "กระแสมลมกรด"
กระแสลมกรดดังกล่าว พัดมาสู่เกาะอังกฤษ ซึ่งติดกับทะเลแอตแลนติก ผลที่เกิดขึ้นคือ ทำให้ลมพัด เข้าจากทางซ้าย (ทิศตะวันตก)
"เดิมทีอากาศบริเวณนี้อุ่น เพราะกระแสน้ำใต้เกาะอังกฤษ เป็นกระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีม พอลมพัดเย็นมาเจอกับอุณหภูมิอุ่น ทำให้อากาศตรงนี้หมุน เกิดการเปลี่ยนแปลง แตกเป็น 2 วง ลมแรกไหลลงมาสหรัฐอเมริกา ทำให้อเมริกาเย็น เย็นถึงฟลอริดาเลย"
ลมอีกหอบพัดมาอังกฤษ เป็นลมเย็น ด้วยความที่เป็นเกาะ ใกล้กับนอร์เวย์ ฝรั่งเศส ลม(ทะเล)อีกด้านที่พัดหอบเอาความชื้นเข้ามาด้วย ซึ่งปกติจะกลายเป็นฝน แต่พอมาเจอกับอากาศเย็นจัด น้ำฝนก็ถูกแช่แข็งกลายเป็นหิมะ
"โดยสรุป คือ การเปลี่ยนแปลงของมวลอากาศขั้วโลกที่ไหลลงมา (เฉพาะยุโรป) มันไปเปลี่ยนทิศทางลม เดิมพัดจากซ้าย กลายเป็นพัดจากขวาเข้ามา พัดผ่านทะเลเหนือ หอบเอาความชื้นเข้ามาเป็นอากาศเย็นจัด จากเป็นฝนเลยกลายเป็นหิมะหนักที่สุดในรอบหลายสิบปี"
นักวิทยาศาสตร์แห่งสวทช. เรียกปรากฏการณ์ครั้งนี้ว่าเป็น ความผิดปกติในรอบ 30 ปี
คำถามต่อมาคือ ภูมิอากาศที่รุนแรงเช่นนั้น จะฟาดหางมาถึงโซนศูนย์สูตรอย่างไทยหรือไม่
"นักวิจัยเองไม่ค่อยอยากจะเชื่อว่ามันจะเชื่อมต่อกันแรงขนาดนั้น โดยเฉพาะขั้วโลกกับไทย แต่ถ้าเป็นขั้วโลกกับยุโรปมันต่อกันตรงๆ อาจจะแรงถึงกันได้"
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
