อัตราการเต้นของหัวใจก็เป็นส่วนสำคัญของการมีสุขภาพดี เชื่อหรือไม่ว่าคนที่หัวใจเต้นช้าจะมีอายุยืนยาวกว่าคนที่หัวใจเต้นเร็ว
ถ้าพูดถึงการมีสุขภาพดีและอายุยืน หลาย ๆ
คนอาจจะคิดว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ถ้าหากเราใส่ใจออกกำลังกายและรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
หมั่นใส่ใจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ
โดยเฉพาะสุขภาพหัวใจที่สำคัญต่อร่างกายมากที่สุด
และการรักษาสุขภาพหัวใจที่ดีที่สุดก็คือการทำให้หัวใจแข็งแรงและสามารถสูบฉีดเลือดได้มากขึ้นโดยที่อัตราการเต้นของหัวใจน้อยลงนั่นเอง
อัตราการเต้นของหัวใจ คือ อัตราความเร็วของการบีบตัวของหัวใจเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย มีหน่วยในการวัดเป็นครั้งต่อนาที ซึ่งอัตราการเต้นของหัวใจของคนเรานั้นเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับกิจกรรมที่เราทำ ไม่ว่าจะเป็นการ ยืน นั่ง เดิน นอน และขึ้นอยู่กับสภาวะความเครียด รวมทั้งสุขภาพร่างกายโดยรวมของคนเรา
อัตราการเต้นของหัวใจไม่เพียงแต่ช่วยทำให้เราทราบได้ถึงสภาวะความผิดปกติของร่างกายของเราเท่านั้น แต่มันยังช่วยบ่งบอกถึงสุขภาพของหัวใจได้อีกด้วย ยิ่งหัวใจเต้นเร็วก็แปลว่าประสิทธิภาพของกล้ามเนื้อหัวใจของเราไม่ดีพอที่จะสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกายได้อย่างเพียงพอ ตรงข้ามกับหัวใจเต้นช้าที่แปลว่ากล้ามเนื้อหัวใจของเราสามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกายได้โดยไม่ต้องบีบตัวบ่อย ๆ ตัวอย่างเช่นนักกีฬาและผู้ที่ออกกำลังกาย คนเหล่านี้จะมีอัตราการเต้นของหัวใจที่ต่ำ แต่กลับมีสุขภาพแข็งแรงเนื่องมาจากหัวใจของพวกเขามีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงทำให้ไม่ต้องบีบตัวเพื่อสูบฉีดเลือดไปร่างกายบ่อย ๆ ค่ะ
อัตราการเต้นของหัวใจเท่าไรถึงจะดี
โดยปกติแล้วในช่วงเวลาพักผ่อน หัวใจของคนเราจะมีอัตราการเต้นอยู่ที่ 72 ครั้งต่อนาที หรือประมาณ 60-80 ครั้งต่อนาที ส่วนในทารกและเด็กเล็กจะมีอัตราชีพจรอยู่ที่ 90-140 ครั้งต่อนาที แต่สำหรับนักกีฬาที่ถูกฝึกเป็นเวลานาน หรือผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำก็อาจจะมีอัตราการเต้นของหัวใจเพียง 30-50 ครั้งต่อนาที ซึ่งผู้ใหญ่ไม่ควรจะมีอัตราการเต้นของหัวใจเกิน 100 ครั้งต่อนาที เพราะนั่นเป็นสัญญาณที่แสดงว่าคุณกำลังมีปัญหาสุขภาพ โดยมีการศึกษาในประเทศเดนมาร์กที่ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Heart ที่ทำการศึกษากับชายวัยกลางคนกว่า 3,000 คน เป็นเวลา 16 ปี พบว่าผู้ที่มีอัตราการเต้นมากกว่า 90 ครั้งต่อนาทีมีโอกาสที่จะเสียชีวิตมากกว่าผู้ที่มีอัตราการเต้นของหัวใจช้ากว่าถึง 3 เท่า
วิธีการวัดชีพจร
ชีพจรคืออัตราที่หลอดเลือดหดและขยายตัวตามจังหวะการเต้นของหัวใจสามารถวัดได้หลายที่ในร่างกาย เช่น บริเวณข้อมือทางด้านนิ้วหัวแม่มือ ขมับ มุมกระดูกขากรรไกรล่าง ข้าง ๆคอ ข้อพับแขน ขาหนีบ บริเวณขาพับ และบนหลังเท้าทางนิ้วหัวแม่เท้า โดยเราสามารถสังเกตได้ว่าบริเวณนั้นใช่บริเวณที่วัดชีพจรได้หรือไม่จากการจับดู จะรู้สึกว่ามีเส้นหยุ่น ๆ แน่น ๆ ส่วนวิธีการจับชีพจรมีดังนี้
วางปลายนิ้วมือ 2 นิ้วได้แก่ นิ้วชี้กับนิ้วกลาง เบา ๆ ที่บริเวณเส้นชีพจร และไม่ควรใช้นิ้วหัวแม่มือ เพราะว่าชีพจรบริเวณนิ้วหัวแม่มือของเรานั้นเต้นแรง อาจจะทำให้เกิดความสับสนได้
นับจำนวนชีพจรที่จับได้ไปพร้อมกับการจับเวลาโดย วิธีการคำนวณชีพจรมี 3 วิธี ได้แก่
- การคำนวณแบบเร็ว ซึ่งจะนับจำนวนชีพจรที่เต้นภายในเวลา 10 วินาที แล้วคูณด้วย 6 ตัวอย่างเช่น ในเวลา 10 วินาที นับชีพจรได้ทั้งหมด 12 ครั้ง ให้นำมาคูณ 6 ก็จะได้เป็น 12 x 6 = 72 ครั้งต่อนาที
- การจับชีพจนแบบละเอียด แบบ 30 วินาที แล้วคูณด้วย 2 หรือ ตัวอย่างเช่น ในเวลา 30 วินาที นับชีพจรได้ 35 ครั้ง ให้นำมาคูณ 2 ก็จะได้เป็น 35 x 2 = 70 ครั้งต่อนาที
- การจับชีพจนแบบละเอียด แบบ 60 วินาที วิธีนี้สามารถนำจำนวนที่นับได้มาใช้ได้เลยโดยไม่ต้องคำนวณใด ๆ เพราะเป็นการจับชีพจรครบ 1 นาที แล้วค่ะ
หัวใจเต้นช้า ดีอย่างไร
หัวใจที่เต้นช้าไม่ได้มีประโยชน์แค่เพียงทำให้สุขภาพหัวใจแข็งแรงเท่านั้น แต่ยังส่งผลทำให้คนเราไม่เหนื่อยเร็วอีกด้วย นอกจากนี้การที่หัวใจเต้นช้าลงก็จะทำให้หลอดเลือดลดความตึงเครียดลง ทำให้เซลล์ในหัวใจได้รับออกซิเจนอย่างเต็มที่ ส่งผลให้เลือดที่ถูกสูบมีออกซิเจนมากขึ้น และร่างกายก็จะได้รับออกซิเจนอย่างเต็มที่ค่ะ ซึ่งก็จะทำให้มีอายุที่ยืนยาวขึ้นค่ะ
แล้วหัวใจเต้นเร็ว ส่งผลร้ายอย่างไร
ในวารสารวิชาการของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด Harvard Heart Letter ได้เปิดเผยเกี่ยวการศึกษาเมื่อ 60 ปีก่อนว่า ผู้ชายที่มีอัตราการเต้นของหัวใจสูงจะมีแนวโน้มมีความดันโลหิตสูง มากกว่าผู้ที่มีอัตราการเต้นหัวใจต่ำ เพราะการที่หัวใจเต้นเร็วจะทำให้เกิดความตึงเครียดของผนังหลอดเลือด ส่งผลให้สมดุลระหว่างความต้องการออกซิเจนของหัวใจและความสามารถของหัวใจในการสูบฉีดเลือดลดลง นอกจากยังพบอีกว่าการเต้นหัวใจที่เร็วกว่าปกติยังมีการเชื่อมโยงกับกับโรคหลอดเลือด การเสียชีวิตอย่างกระทันหัน และความเสี่ยงเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดอีกด้วย
ทำอย่างไรให้หัวใจเต้นช้าลง
การทำให้อัตราการเต้นของหัวใจช้าลงไม่ใช่เรื่องยากค่ะ เพียงแค่เราลดความเครียด และหมั่นออกกำลังกาย รวมถึงการเลิกสูบบุหรี่ เลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เลิกรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ อย่างเช่นอาหารที่มีไขมันสูง หรืออาหารที่หวาน หรือเค็มจัด นอกจากนี้ ในวารสารวิชาการของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ยังได้แนะนำให้ทำสมาธิ ที่สามารถช่วยทำให้ร่างกายผ่อนคลายลงได้อีกด้วยค่ะ
เห็นข้อดีของการที่หัวใจเต้นช้ากันแล้วใช่ไหมคะ ฉะนั้นอย่ามัวแต่รอช้า เรามาเริ่มออกกำลังกายและหมั่นดูแลสุขภาพเพื่อที่หัวใจจะได้แข็งแรงและไม่ทำงานหนักกันเลยดีกว่า ยิ่งเริ่มเร็วชีวิตก็ยิ่งยืนยาวขึ้นนะคะ