x close

3 เคล็ด (ไม่) ลับอายุยืนร้อยปี ที่ชาวญี่ปุ่นขอบอกต่อ




           
          ผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นหลายคนก็มีชื่อติดอันดับคนที่อายุยืนที่สุดในโลกอยู่ในกินเนสส์ เวิลด์ เรคคอร์ด โดยเฉลี่ยแล้วอายุอยู่ในช่วง 110 ปีขึ้นไป พอเห็นตัวเลขนี้ก็น่าฉุกคิดทีเดียวว่าคนเราสามารถมีอายุยืนนานถึงร้อยกว่าปีได้เชียวเหรอ !
 
          อีกไม่นานข่าวคราวของคนแก่อายุร้อยปีเป่าเค้กวันเกิดตัวเองคงไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไปแล้ว เพราะทางเว็บไซต์ Businessinsider.com  นำเคล็ดลับอายุยืนของชาวญี่ปุ่นมาเปิดเผยให้เรารู้หมดแล้วว่า ความจริงแล้วพวกเขาใช้ชีวิตด้วยกฏเหล็กอยู่เพียง 3 ข้อเท่านั้นคือ กินดี อยู่ดี มีความสุข ซึ่งฟังดูแล้วก็คล้ายคลึงกับค่านิยมการใช้ชีวิตของคนไทยอยู่บ้าง แต่ว่าทำไมสถิติคนสูงอายุร้อยปีในบ้านเรากลับน้อยกว่าประเทศญี่ปุ่นเขากันละเนี่ย จะมัวรอช้าอยู่ไยลองอ่านกันดูเลยจ้า


ภาพประกอบจาก JIJI PRESS / AFP
 
           จากสถิติคนอายุยืนที่สุดในโลกที่ส่วนใหญ่เป็นชาวญี่ปุ่นนั้นดูท่าจะจริงทีเดียว เพราะองค์การอนามัยโลกเคยเปรียบเทียบความแข็งแรงของคนจากซีกโลกตะวันตก และซีกโลกตะวันออกเอาไว้ พบว่า ผู้สูงอายุชาวตะวันตกแข็งแรงสู้ผู้สูงอายุชาวตะวันออกไม่ได้ เห็นได้จากค่าเฉลี่ยของผู้สูงอายุในวัยเดียวกันระหว่าง 2 ประเทศคือ สหรัฐอเมริกา กับญี่ปุ่นที่แสดงว่าผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นวัย 87 ปีมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงกว่าผู้สูงอายุชาวอเมริกันที่มีอายุ 75 ปีเสียอีก ซึ่งผู้สูงอายุชาวอเมริกันในวัยนี้เริ่มป่วยด้วยโรคประจำตัวกันแล้ว ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นแทบจะไม่พบผู้ป่วยเป็นโรคร้ายแรงเลย
 
           ยกตัวอย่างผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นของกินเนสส์ เวิลด์ เรคคอร์ด คนล่าสุด คือ  Misao Okawa วัย 116 ปี ที่ออกมาให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อถึงเคล็ดลับอยู่อย่างไรให้มีอายุยืนข้ามศตวรรษ เธอเผยว่า เคล็ดลับอายุยืนก็คือการใช้ชีวิตทุกด้านให้สมดุล โดยที่เมื่อถึงเวลานอนก็ต้องนอนให้ครบ 8 ชั่วโมง ถึงเวลากินก็ต้องกินให้ครบ 3 มื้อใหญ่ และต้องรู้จักปล่อยวางเรื่องราวต่าง ๆ เสียบ้าง อย่าไปจริงจังกับทุกเรื่องที่ผ่านเข้ามาในชีวิต สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ต้องเลือกกินแต่ของดีมีประโยชน์ เพราะอาหารคือสิ่งที่ช่วยบำรุงร่างกาย ซึ่งทุกวันนี้เมนูโปรดของเธอก็ยังเป็นข้าวปั้นซูชิเหมือนเดิม เพราะเชื่อว่าเมนูนี้มีคุณค่าครบทั้ง 5 หมู่แล้ว  
                                                                                                                                                                                                                                            
           เมื่อลองพิจารณาถึงวิถีการดำเนินชีวิตของประชากรทั้ง 2 ประเทศจะพบว่ามีความต่างกันมาก โดยเฉพาะในเรื่องวัฒนธรรมการบริโภคอาหาร ซึ่งประเทศญี่ปุ่นจะเน้นกินอาหารปรุงสดใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ เช่น สาหร่าย เต้าหู้ และปลาทะเล เมนูมีคุณค่าทางอาหารครบ 5 หมู่ทุกมื้อ และมีการแบ่งสัดส่วนอาหารให้เท่ากัน ๆ ตามจำนวนสมาชิกในบ้านด้วยการจัดเป็นชุดที่ประกอบไปด้วย ข้าว กับข้าว และเครื่องเคียงประเภทซุปสาหร่าย ที่ดูแล้วไม่น่าให้พลังงานต่อร่างกายเท่าไรนัก มิหนำซ้ำยังเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหารจากการกินอาหารที่ยังสดอยู่อีกด้วย แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าพวกเขาไม่เคยมีอาการป่วยจากการกินอาหารที่ปรุงสด ๆ เลยนั่นก็เป็นเพราะว่าในอาหารสด เช่น ปลาดิบ ผัดสด เต้าหู้ และสาหร่าย นั้นอุดมไปด้วยสารอาหารประเภทโปรตีน แร่ธาตุ วิตามิน ที่ช่วยบำรุงให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันโรค มากกว่าอาหารหมู่ไขมัน หากลองมาเปรียบเทียบประโยชน์จากมื้ออาหารตะวันตกแล้วจะพบว่า ครอบครัวชาวอเมริกันมักจะกินอาหารจากการผ่านกระบวนการแปรรูปมาแล้วทั้งนั้น เช่น ไส้กรอก แฮม เป็นต้น


 
           ทีนี้ลองมาดูชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นกันดูบ้างว่าในแต่ละวันพวกเขามีกิจกรรมอะไรบ้าง แน่นอนว่าหลายคนจะต้องประหลาดใจทีเดียวที่พวกเขามักจะหาอะไรทำแทนการนอนติดเตียงทั้งวัน เช่น เขียนหนังสือ อ่านหนังสือ ตกปลา ปลูกต้นไม้ วาดภาพ เลี้ยงหลาน และที่น่าตกใจไปกว่านั้นคือ พวกเขายังคงใช้ชีวิตอย่างมีแบบแผนอยู่เสมอแม้จะเข้าสู่วัยชราแล้ว เห็นได้จากการที่พวกเขาสามารถเปลี่ยนงานอดิเรกธรรมดาให้การเป็นผลงานชิ้นโบแดงได้ เช่น การทำสถิติประจำวันในการวิ่งขึ้นเขา เป็นต้น ซึ่งการใช้ชีวิตแบบนี้น่าจะเป็นเพราะความเคยชินจากการใช้ชีวิตในช่วงวัยทำงานที่ต้องปฏิบัติตัวตามกฏระเบียบในบริษัทที่ขึ้นชื่อว่าเป็นสังคมการทำงานที่มีความเครียดสูงมาก พนักงานทุกคนต้องกดดันตัวเองเพื่อทำผลงานออกมาให้ดีเป็นที่ยอมรับของหัวหน้างาน รวมถึงต้องมีวินัยต่อตัวเองสูงในการบริหารจัดการเวลาของตัวเอง เห็นได้จากการที่พวกเขาไม่เคยทำงานสายเลยแม้แต่นาทีเดียว แม้ว่าจะต้องโดยสารรถไฟขบวนที่มีคนแน่นเป็นปลากระป๋องที่สุดมาทำงานก็ตาม จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมพวกเขาถึงเครียดกับชีวิตมากจนถึงขนาดต้องฆ่าตัวตายดังปรากฏเป็นข่าวอยู่บ่อย ๆ  แต่อย่างไรก็ตามยังมีคนญี่ปุ่นอีกจำนวนไม่น้อยที่สามารถจัดการกับความเครียดของตัวเองได้ด้วยการแวะดื่มสังสรรค์หลังเลิกงานก่อนกลับบ้านตามร้านบาร์ คาราโอเกะ และสถานบันเทิงต่าง ๆ เป็นการผ่อนคลายความตึงเครียดจากงานที่สะสมมาทั้งวัน ร่างกายก็จะมีกำลังใจทำงานในวันต่อไปนั่นเอง

 
           และอีกเคล็ดลับสุดท้ายที่ส่งผลให้ผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นอายุยืนมากที่สุดในโลก ก็คือ ความสุข ซึ่งจากธรรมเนียมดั้งเดิมของชาวญี่ปุ่นนั้นจะให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุอย่างมาก เพราะลูกหลานส่วนใหญ่เห็นว่าผู้สูงอายุช่วยอบรมสั่งสอนจนได้ดีจึงต้องดูแลเป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้เราจึงมักไม่ค่อยเห็นผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นมีบั้นปลายชีวิตที่ไม่มีความสุข นอกจากนี้ผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะมีสะใภ้เป็นผู้ดูแล คอยถามไถ่สารทุกข์สุขดิบอยู่ใกล้ ๆ เมื่อมีคนพูดคุยด้วยทั้งวันผู้สูงอายุย่อมมีสุขภาพจิตดีตามไปด้วย
 
           จากเคล็ดไม่ลับทั้งหมด 3 ข้อที่กล่าวมานี้ หลายคนอาจกำลังคิดว่าดูเหมือนผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นจะหลงลืมเรื่องการออกกำลังกายไปซะแล้วแต่ความจริงคือพวกเขาได้บริหารร่างกายไปกับกิจวัตรประจำวันแล้ว เช่น ลงมือทำงานอดิเรกที่ชอบ การเดินไปทำธุระในที่ใกล้ ๆ รวมถึงการเล่นเกมฝึกสมองอยู่กับบ้าน เห็นแบบนี้แล้วก็บอกได้เลยว่าสำหรับผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นแล้วอายุเป็นเพียงแค่ตัวเลขจริง ๆ 










เรื่องที่คุณอาจสนใจ
3 เคล็ด (ไม่) ลับอายุยืนร้อยปี ที่ชาวญี่ปุ่นขอบอกต่อ อัปเดตล่าสุด 28 สิงหาคม 2558 เวลา 15:56:59 20,340 อ่าน
TOP