x close

ดูแลหัวใจด้วย CRT-D

หัวใจ



CRT-D เครื่องกระตุกหัวใจเทคโนโลยีใหม่ดูแลการทำงานของหัวใจ (สุขภาพดี)

          หลังจากที่สุขภาพดีได้นำเสนอเรื่องราวของอุปกรณ์จิ๋วอัจฉริยะที่ใช้ฝังเข้าไปใต้ผิวหนังผู้ป่วยโรคหัวใจ เพื่อคอยดูแลการทำงานของหัวใจแล้ว เราได้รับโทรศัพท์จากผู้อ่านที่สอบถามรายละเอียดของเจ้าเครื่องนี้มือเป็นระวิง จนทีมงานต้องขอนัด ศ.พิเศษ นพ.เศวต นนทกานันท์ ผู้อำนวยการศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลไทยนครินทร์ อีกครั้งเพื่อขอข้อมูลมามอบให้กับคุณๆ

 เครื่องจิ๋วอัจฉริยะนี้จะติดที่ส่วนไหนของร่างกาย

          การติด Cardiac Resynchronization Therapy Defibrillator หรือ CRT-D เราจะติดตรงหน้าอกก็ได้ข้างซ้ายก็ได้ข้างขวาก็ได้ หรือบางคนที่ติดบริเวณหน้าอกไม่ได้ก็อาจจะติดที่หน้าท้อง หรือที่ใต้ผิวหนังส่วนใดส่วนหนึ่งก็ได้ แล้วเราก็จะส่งสายขั้วไฟฟ้าซึ่งคล้ายๆ สายไฟฟ้าที่เราเคยเห็นนี่แหละ แต่ผลิตด้วยวัสดุชนิดพิเศษ 3 เส้นเข้าไปสู่ห้องหัวใจแต่ละห้องตรงบริเวณยอดของหัวใจ เช่น ยอดของหัวใจห้องล่างขวา (Right Ventricle) 1 เส้น แอ่งเลือดหัวใจ (Coronary Sinus) 1 เส้น และหัวใจห้องบนขวา (Right Atrium) 1 เส้น

          เมื่อเราใส่สายไฟฟ้าเข้าไปการทำงานจะทำโดยเครื่องซึ่งจะเป็นตัวสั่งการให้หัวใจเต้นกี่ครั้งต่อนาที สั่งการให้แต่ละห้องหัวใจประสานงานในการบีบตัวอย่างไร แล้วก็สั่งการที่จะกระตุกให้หัวใจเต้นขึ้นมาใหม่ในกรณีที่หัวใจประสานงานในการบีบตัวอย่างไร แล้วก็สั่งการที่จะกระตุกให้หัวใจเต้นขึ้นมาใหม่ ในกรณีที่หัวใจกำลังจะหยุดเต้น โดยข้างในของเจ้าเครื่องอัจฉริยะนี้จะมีชิพซึ่งสามารถสั่งการเหล่านี้ได้ มันจะสามารถประมวลผลได้เองเลยว่าตอนนี้หัวใจเต้นเท่านี้ ต้องสั่งการกระตุกแบบไหนเพื่อให้หัวใจเต้นใกล้เคียงปกติมากที่สุด หรือหากหัวใจเต้นช้าแล้วมันก็จะกระตุกให้หัวใจนิ่งแล้วก็ตั้งค่าการเต้นหัวใจใหม่ อาจจะเป็น 70 ครั้ง/นาที หรือตามที่เราตั้งค่าไว้

 มีกระแสไฟฟ้าวิ่งในร่างกายอย่างนี้จะอันตรายหรือเปล่า

          สายไฟฟ้านี้ทำมาจากวัสดุอย่างดีและมีการผลิตที่ผ่านกระบวนการที่ทดลองแล้วทดลองอีกจนได้ผลที่น่าพอใจที่สุด ฉะนั้นกระแสไฟฟ้าจึงจะไม่รั่วไหลออกมา ยกเว้นสายนั้นมีการปริแตก แต่เนื่องจากการะแสไฟฟ้าที่ใช้ก็อยู่ในระดับต่ำ ไม่ใช่ระดับที่อันตรายคนไข้อาจจะรู้สึกว่า บริเวณกล้ามเนื้อที่สัมผัสกับสายบริเวณที่ปรินั้นเกิดการกระตุก ซึ่งเมื่อคนไข้มาบอกกับหมอเราก็จะเอกซเรย์ดูก็จะสามารถเห็นและจัดการได้

          อยากฝากว่าแม้เครื่องนี้จะเกี่ยวข้องกับหัวใจแต่ก็ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่ใครหลายๆ คนกังวล ในทางกลับกันมันมีประโยชน์มหาศาลด้วยซ้ำ แล้วการผ่าตัดใส่เครื่องนี้ไม่ได้น่ากลัว สามารถทำได้ทันที ไม่ต้องมีการมานอนรอเพื่อเตรียมตัวอะไรมากนัก แล้วหลังการผ่าตัดภายใน 24-48 ชม. ก็จะสามารถกลับบ้านได้ หลังจากนั้นก็แค่เข้ามาดูเป็นระยะๆ ตามที่หมอนัด

 ใส่ CRT-D แล้วจะสามารถใช้ชีวิตเหมือนเดิมได้ไหม

          หลังใส่เครื่องนี้ก็สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ อย่างสัก 3 เดือนหลังติด หากเคยว่ายน้ำก็ไปว่ายน้ำได้ เคยตีกอล์ฟก็ไปตีกอล์ฟได้เคยทำอะไรก็ไปทำได้ สามารถใช้กล้ามเนื้อได้ตามปกติ เพราะเราฝังอยู่ที่ใต้ผิวหนังชั้นไขมัน แต่อยู่เหนือกล้ามเนื้อ ห้ามอย่างเดียวคือห้ามทำ MRI ห้ามอยู่ในบริเวณที่มีสนามแม่เหล็กและบริเวณมีไฟฟ้าแรงสูง แต่ทั้งนี้ยังสามารถผ่านเครื่องเอกซเรย์ที่สนามบินได้นะครับ แต่โดยปกติแล้วคนที่ติดเครื่องพวกนี้จะมีบัตรประจำตัว เพื่อแสดงว่าเขามีเครื่องนี้ ยี่ห้อนี้ รุ่นนี้ ติดไว้ตั้งแต่เมื่อไหร่อยู่แล้ว เวลาจะผ่านเครื่องเอกซเรย์เข้า-ออกประเทศ ก็ให้ยื่นบัตรให้เจ้าหน้าที่ดูก็อาจจะไม่ต้องผ่านเครื่องเอกซเรย์หรือไม่ก็ตรวจด้วยวิธีอื่นแทน

 เมืองไทยมีคนติดเครื่องนี้ทันแพร่หลายหรือยัง

          เวลานี้เมืองไทยมีจำหน่ายอยู่ 2 บริษัท เท่าที่สำรวจดูจาก 2 บริษัทนี้ที่เขาขายไปแล้วประมาณ 40-50 เครื่อง ที่ยังน้อยอยู่อาจเป็นเพราะเครื่องนี้ต้องอาศัยการประเมินโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจ แต่ถ้าประเมินโดยหมอทั่วๆ ไปเขาก็จะไม่รู้ว่าควรต้องใช้วิธีนี้ ฉะนั้นคนไข้พวกนั้นก็จะเสียโอกาส นอกจากนี้หากได้รับการประเมินแล้วแต่คนไข้ไม่อยู่ในภาวะที่จะสามารถติดเครื่องนี้ได้ ก็อาจจะเสียโอกาสอีกเช่นกัน

 กำลังชั่งใจอยู่ว่าจะติดเครื่องนี้ดีไหม

          ถ้าได้รับการประเมินว่าควรติดแล้วสามารถติดได้ ก็คือดีแน่ๆ เพราะมันก็มีประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคหัวใจอยู่สูง แต่ข้อจำกัดก็มีคือราคาแพง อาจมีกระแสไฟฟ้าก็ไม่ได้สูงจนเป็นอันตรายตามที่บอกไป หรือในบางคนอาจจะเกิดการติดเชื้อหรืออาจแพ้วัสดุเหล่านี้ได้ ซึ่งเท่าที่ผ่านมาก็น้อยมาก เพราะวัสดุเหล่านี้ผ่านการศึกษาและทดลองแล้วว่าโอกาสที่จะแพ้น้อย ถึงแม้มีข้อจำกัดอย่างไรหากอยู่ในมือของแพทย์และนักเทคนิคที่เชี่ยวชาญก็ไม่น่าจะมีปัญหา

 ห่วงใยด้วยหัวใจจากหมอโรคหัวใจ

          ถึงเครื่องนี้จะอัจฉริยะขนาดไหน แต่ถ้าเป็นไปได้หมอก็ไม่อยากให้มีผู้ป่วยที่จำเป็นต้องติดเครื่องนี้ ซึ่งก่อนจะมาถึงชั้นนี้มันจะมีสาเหตุมาจากหลายๆ อย่าง ที่สำคัญที่สุดคือจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ซึ่งทั้งหมดนั้นสุดท้ายแล้วก็คืออาจจะมีผลต่อระบบไฟฟ้าในหัวใจ ถามว่าป้องกันได้ไหม เราสามารถดูแลตั้งแต่เนิ่นๆ ได้ ด้วยการเรียนรู้พฤติกรรมในการใช้ชีวิตประจำวันให้ถูกต้อง ซึ่งก็เป็นเบสิกทั่วๆ ไปที่ทุกคนก็รู้กันไม่ว่าจะเรื่องของอาหาร การออกกำลังกาย การควบคุมอารมณ์ การได้รับอากาศที่บริสุทธิ์ แล้วหากป้องกันแล้วแต่ยังเกิดโรคที่จะทำให้เกิดความเสี่ยง เช่น เบาหวาน ความดัน ไขมัน โรคไต ก็ต้องรักษาให้ถูกต้องตามโรคนั้นๆ ไป

          หัวใจเป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุดของร่างกาย เพราะเป็นฐานปฏิบัติการของอวัยวะทุกส่วน ซึ่งหากคุณดูแลให้ฐานปฏิบัติการนี้เข้มแข็งและแข็งแรงได้ สุขภาพดีก็เป็นเรื่องไม่ยากอีกต่อไป แต่หากวันใดที่ฐานปฏิบัติการนี้มีปัญหา ก็คงต้องหาเครื่องมือเสริมดีๆ มาช่วยพิทักษ์หัวใจ ซึ่ง CRT-D นี้แหละสุดยอดเทคโนโลยีทางด้านหัวใจ ณ ตอนนี้แล้ว


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ดูแลหัวใจด้วย CRT-D อัปเดตล่าสุด 19 กรกฎาคม 2552 เวลา 16:11:31 8,901 อ่าน
TOP