ถั่งเช่า สรรพคุณดีจริงไหม กินยังไงให้ปลอดภัย ใครบ้างต้องระวัง

          ประโยชน์ของถั่งเช่า หรือ ตังถั่งเช่า ที่แท้จริงคืออะไร ทำไมถึงถูกขนานนามว่าเป็นสมุนไพรจีนสรรพคุณล้ำค่า แนะนำให้ไขความกระจ่างก่อนกินบำรุงร่างกาย

ถั่งเช่า

          ถั่งเช่า หรือสมุนไพรที่ถูกขนานนามว่า ไวอากร้าแห่งเทือกเขาหิมาลัย เป็นสมุนไพรจีนราคาสูงที่มีรูปร่างหน้าตาแปลก และเป็นหนึ่งในสุดยอดสมุนไพรจีน ถูกกล่าวอ้างสรรพคุณต่าง ๆ นานา ทว่าถั่งเช่าล้ำค่าน่าบำรุงสุขภาพอย่างที่กล่าวอ้างจริงไหม เราลองมาทำความรู้จักถั่งเช่า หรือตังถั่งเช่า กันให้ดี ๆ อีกสักทีเถอะว่า สรรพคุณของถั่งเช่ามีอะไรบ้าง โทษต่อสุขภาพที่ต้องระวังคืออะไร และใครกันนะที่ควรเลี่ยงถั่งเช่าไว้จะปลอดภัยกับสุขภาพมากกว่า

ถั่งเช่า คืออะไร ใช่หนอนจริงไหม
 
ถั่งเช่า

          ถั่งเช่า คือ พืชตระกูลเห็ดราในสกุล Ophiocordyceps มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ophiocordyceps sinensis มีชื่อเรียกทั่วไปอีกว่าหญ้าหนอน (ถั่ง แปลว่า หนอน ส่วน เช่า แปลว่า หญ้า) เกิดจากการที่ตัวหนอนอ่อนของตัวด้วงจำพวกผีเสื้อ หนอน มอด ตั๊กแตน หรือด้วงค้างคาว ซึ่งมีเชื้อราจากการกินเห็ดเป็นอาหาร มุดเข้าไปอยู่ใต้ดินในช่วงฤดูหนาว แต่พออยู่นาน ๆ ไปก็จะขาดอาหารตาย และค่อย ๆ กลายสภาพเป็นเชื้อราที่มีชื่อว่า Sclerotea และเมื่อถึงฤดูร้อน เส้นใยในตัวหนอนที่ตายแล้วก็จะสร้างดอกออกมาปกคลุมตัวหนอนจนมีรูปร่างคล้ายกระบอง จากนั้นก็จะเจริญเติบโตขึ้นมีลักษณะเป็นต้นหญ้า ด้วยเหตุนี้ถั่งเช่าจึงมีชื่อจีนเต็ม ๆ ว่า ตังถังเช่า ซึ่งแปลได้ว่า “ฤดูหนาวเป็นหนอน ฤดูร้อนเป็นหญ้า” นั่นเอง

          โดยถั่งเช่าประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่ ตัวหนอน และเห็ดที่เจริญเติบโตขึ้นบริเวณส่วนหัวของหนอน มีชื่อว่า Cordyceps sinensis (Berk.) Saec. รสชาติของถั่งเช่าออกขมและอมหวานเล็กน้อย สามารถกินได้ทั้งแบบสด ๆ หรือนำไปต้มเพื่อรับประทานก็ได้ ทั้งนี้ ถั่งเช่าที่ได้รับความนิยมในประเทศไทย ได้แก่ ถั่งเช่าทิเบต และถั่งเช่าสีทอง ซึ่งเป็นเห็ดในสกุลเดียวกัน และมีสรรพคุณใกล้เคียงกัน

          ถั่งเช่าเป็นสมุนไพรที่อยู่ในแถบที่ราบสูงทิเบต ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความสูงจากน้ำทะเลมากกว่า 4,000 เมตรขึ้นไป นอกจากนี้ก็ยังสามารถพบได้ในบริเวณภาคใต้ของมณฑลชิงไห่ เขตซางโตว ในทิเบต มณฑลกานซู ภูฏาน เนปาล และยังมีการเพาะเห็ดชนิดนี้ในมณฑลเสฉวน ยูนนาน และกุ้ยโจว ถั่งเช่าถือเป็นสมุนไพรจีนที่หายากและราคาแพง แต่มีสรรพคุณมากมาย ทำให้เจ้าสมุนไพรชนิดนี้ยังคงความนิยมสูงนั่นเอง

ถั่งเช่าทิเบต กับ ถั่งเช่าสีทอง ต่างกันยังไง

ถั่งเช่า

          ถั่งเช่ามีอยู่หลายเกรด หลายสายพันธุ์ และแต่ละพันธุ์ก็แตกต่างกันด้วย โดยถั่งเช่าที่ถือว่ามีสรรพคุณดีเยี่ยมตามที่กล่าวอ้างก็จะเป็นถั่งเช่าทิเบต หรือ ถั่งเช่าป่า (Cordyceps sinensis) ถั่งเช่าชนิดนี้เป็นถั่งเช่าที่ขึ้นเองตามเทือกเขาสูง เป็นการผสมกันของหนอนและเห็ดโดยธรรมชาติ จึงมีสารสำคัญค่อนข้างมาก ยิ่งส่วนต่อระหว่างพืชกับตัวหนอนมีสีแดงครั่ง ลักษณะมัน ๆ จะยิ่งดี แต่ก็ค่อนข้างหายาก แม้จะมีความพยายามเพาะเลี้ยงเองแต่ก็ทำได้ยาก ซ้ำยังคุณภาพด้อยกว่าถั่งเช่าตามธรรมชาติมาก ด้วยเหตุนี้ถั่งเช่าทิเบตจึงมีราคาแพงมาก ๆ อาจสูงถึงกิโลกรัมละ 700,000-1,000,000 บาท

          ส่วนถั่งเช่าสีทอง (C.militaris) เป็นเห็ดที่เพาะเลี้ยงเองได้ คุณภาพขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของสารคอร์ไดเซปินในถั่งเช่า หากมีสารชนิดนี้น้อยก็จะมีราคาถูก เหมาะกับการนำไปปรุงอาหาร แต่หากมีสารคอร์ไดเซปินปริมาณมากก็มักนำไปผลิตเป็นอาหารเสริม อย่างไรก็ตาม ถั่งเช่าที่ปลูกในสภาพแวดล้อมต่างกัน อุณหภูมิ อาหาร ทุกอย่างต่างกัน ก็ย่อมให้สารสำคัญที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้น ถั่งเช่าสีทองจึงมีราคาถูกกว่า และหาได้ง่ายกว่าถั่งเช่าทิเบตนั่นเอง

ถั่งเช่า สรรพคุณที่แท้จริง ดียังไงบ้าง

          ถั่งเช่าถือเป็นสมุนไพรฤทธิ์ร้อนที่อุดมไปด้วยสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นโพลีแซคคาไรด์ (Polysaccharide) นิวคลีโอไทด์ (Nucleotide) กรดคอร์ไดเซปิก (Cordycepic Acid) ซึ่งเป็นสารที่มีเฉพาะในถั่งเช่า อีกทั้งยังมีกรดอะมิโน และเออร์โกสเตอรอล (Ergosterol) ที่มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อรา

          ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีสารอาหารที่สำคัญ อาทิ โปรตีน วิตามิน E วิตามิน K วิตามิน B1 วิตามิน B2 วิตามิน B12 โพแทสเซียม โซเดียม แคลเซียม แมกนีเซียม เหล็ก สังกะสี และซีลิเนียม จึงทำให้ถั่งเช่ากลายเป็นสมุนไพรที่ถูกนำมาใช้เป็นยาบำรุงสุขภาพและรักษาอาการบางชนิด ดังนี้

     1. ช่วยปรับการทำงานของหัวใจ
      
          ในเรื่องของหัวใจ ถั่งเช่าถือเป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณช่วยปรับอัตราการเต้นของหัวใจให้เป็นปกติได้ อีกทั้งยังช่วยบรรเทาอาการหัวใจขาดออกซิเจน และเพิ่มออกซิเจนให้หัวใจได้ เหมาะสำหรับบำรุงผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

     2. ปรับการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน            
        
          ในเรื่องของการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน ถั่งเช่าก็ทำได้ดีไม่ใช่น้อย เพราะถั่งเช่ามีสรรพคุณช่วยปรับปรุงการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันให้เป็นปกติ ช่วยให้ร่างกายสร้างเซลล์ภูมิคุ้มกันมากขึ้น กระตุ้นการสร้างแอนติบอดีในร่างกาย เพื่อเพิ่มจำนวนของเซลล์ที่ใช้เพื่อกำจัดเซลล์แปลกปลอมหรือเซลล์ที่ตายแล้ว แต่ก็ต้องใช้ในปริมาณที่พอเหมาะ เพราะการใช้มากเกินไปสารในถั่งเช่าอาจไปกดการทำงานบางอย่างของระบบภูมิคุ้มกันได้

     3. ลดไขมันในเลือด
     
          อีกสรรพคุณหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คงจะเป็นการควบคุมระดับไขมันในเลือด ลดคอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์ ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคภัยอื่น ๆ อย่างเช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ก็ยังเพิ่มปริมาณคอเลสเตอรอลชนิดที่ดี ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อการลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดแดงแข็งได้

     4. บำรุงไต  
        
          ตามตำราแพทย์แผนจีน ถั่งเช่ามีสรรพคุณบำรุงไตหยาง และจากผลการศึกษาสถิติก็พบว่า ถั่งเช่าช่วยบำรุงการทำงานของไตได้   

     5. บำรุงโลหิต
        
          นอกจากจะบำรุงไต รวมทั้งหัวใจแล้ว สารที่อยู่ในถั่งเช่าก็ยังช่วยเสริมสร้างการทำงานของระบบโลหิต ทำให้ร่างกายสร้างไขกระดูกมากขึ้น ซึ่งทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงและเซลล์เม็ดเลือดขาวถูกสร้างในปริมาณที่เพียงพอต่อร่างกาย

     6. บำรุงร่างกาย เสริมสมรรถภาพทางเพศ  
         
          ในเมื่อถั่งเช่ามีสรรพคุณบำรุงไตหยาง จึงช่วยบำรุงการเจริญเติบโตของร่างกาย บำรุงกำลังวังชา เสริมให้ร่างกายทำงานได้ตามปกติ ซึ่งจะส่งผลให้สมรรถภาพทางเพศไม่พร่อง ไม่เสื่อมไปด้วย นอกจากนี้ก็มีงานวิจัยที่พบว่า ถั่งเช่าสามารถช่วยเพิ่มปริมาณของสเปิร์มในอสุจิได้ โดยจากการศึกษาในผู้ชาย 22 คน พบว่า เมื่อใช้ถั่งเช่าเป็นอาหารเสริมแล้ว ปริมาณของสเปิร์มในอสุจิเพิ่มขึ้น 33% อีกทั้งยังลดปริมาณสเปิร์มที่มีความผิดปกติลงได้ถึง 29%

          และเมื่อศึกษาเพิ่มเติมก็พบว่าถั่งเช่าสามารถช่วยเพิ่มความต้องการทางเพศได้ 66-86% อีกทั้งยังมีคุณสมบัติในการปกป้องและเสริมสร้างการทำงานของต่อมหมวกไต และเพิ่มโอกาสที่สเปิร์มจะปฏิสนธิได้ 300% แต่ทั้งนี้ก็ต้องระมัดระวังในการใช้สักหน่อย โดยควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญก่อนนำมาใช้รักษาอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงได้ค่ะ

      7. ลดน้ำตาลในเลือด
         
          จากการศึกษาพบว่า ถั่งเช่ามีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด โดยช่วยในการทำงานของอินซูลิน และจากการทดลองให้ผู้ป่วยเบาหวานรับประทานถั่งเช่าวันละ 3 กรัม ก็พบว่าถั่งเช่าช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ถึง 95% ซึ่งมากกว่าการใช้ยาแผนปัจจุบันที่ควบคุมได้เพียงแค่ 54%   

     8. ช่วยให้ปอดทำงานดีขึ้น  

          มีงานวิจัยที่ยืนยันว่า ถั่งเช่ามีสรรพคุณบำรุงปอด ช่วยให้การทำงานของปอดดีขึ้น และในตำราแพทย์แผนจีนยังใช้ถั่งเช่าแก้โรคไอเรื้อรัง ละลายเสมหะ แก้ไอหอบ ไอจากโรควัณโรค รวมไปถึงอาการไอเป็นเลือดอีกด้วย

     9. บรรเทาอาการปวดเมื่อย

          โดยเฉพาะอาการปวดหลัง เมื่อยเอว ปวดข้อ ข้ออักเสบจากโรคเกาต์ หรือข้ออักเสบจากรูมาตอยด์ ซึ่งเป็นสรรพคุณของถั่งเช่าที่อยู่ในตำราแพทย์แผนจีน แสดงว่ามีการใช้ถั่งเช่าบำรุงร่างกาย แก้ปวดเมื่อยมาอย่างยาวนาน

     10. ดีต่อระบบทางเดินปัสสาวะและต่อมลูกหมาก   

          ช่วยปรับอาการปัสสาวะบ่อยผิดปกติให้ดีขึ้น บำรุงหยิน-หยางให้สมดุล ซึ่งจะดีต่อระบบทางเดินปัสสาวะและต่อมลูกหมาก

          นอกจากนี้ ในตำราแพทย์แผนจีนยังระบุว่า ถั่งเช่าช่วยให้จิตใจสงบ นอนหลับได้ดี ชะลอความชรา บรรเทาอาการบ้านหมุน บำรุงร่างกาย ช่วยให้เม็ดเลือดแดงจับออกซิเจนได้ดี กระตุ้นการทำงานของสมอง บำรุงความจำ บำบัดอาการโรคหอบหืด และต้านการแข็งตัวของลิ่มเลือดได้ แต่อย่างไรก็ตาม สรรพคุณถั่งเช่าในหลาย ๆ อย่าง ยังเป็นเพียงการศึกษาในเบื้องต้น ไม่เพียงพอจะนำมายืนยันสรรพคุณของถั่งเช่าได้อย่างเป็นทางการ จำเป็นต้องศึกษาวิจัยให้มากกว่านี้ ดังนั้น ก่อนรับประทานถั่งเช่า ควรปรึกษาแพทย์ก่อนนะคะ

ถั่งเช่า

ถั่งเช่า ป้องกันมะเร็งได้จริงหรือเปล่า  

          แม้งานวิจัยเก่า ๆ จะพบว่า ถั่งเช่ามีสารที่มีฤทธิ์ต้านมะเร็ง ทว่าในงานวิจัยยุคปัจจุบัน ตรวจไม่พบสารที่ว่านี้ในถั่งเช่าแล้ว ดังนั้นก็เท่ากับว่า ถั่งเช่าไม่มีสรรพคุณในการต้านมะเร็งหรือรักษามะเร็งได้ 

ถั่งเช่า ไม่มีการรับรองในจีนจริงไหม  
    
          มีกระแสลือไปต่าง ๆ นานา บ้างก็ว่าสมุนไพรถั่งเช่าไม่ได้อยู่ในประวัติศาสตร์จีน บ้างก็ว่าถั่งเช่าถูกถอนจากบัญชีอาหารไปแล้ว ซึ่งข้อเท็จจริงคือ ถั่งเช่าเป็นสมุนไพรที่มีบันทึกว่าใช้เป็นยาในประวัติศาสตร์จีนมานานหลายร้อยปีแล้ว แต่ในปัจจุบัน อย. ประเทศจีน ได้ถอนถั่งเช่าออกจากบัญชีอาหาร และบัญชีอาหารเสริมไป เนื่องจากพบว่าถั่งเช่าสด ๆ มีสารตกค้าง โดยเฉพาะสารหนู แม้ตัวถั่งเช่าจะมีฤทธิ์เป็นยาก็ตาม แต่เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ทางการจีนเลยต้องกำหนดปริมาณการกินถั่งเช่าโดยต้องให้แพทย์เป็นผู้จ่ายยาเท่านั้น เพื่อป้องกันการนำถั่งเช่าไปกินเป็นอาหาร หรืออาหารเสริมในปริมาณมากเกินไป ซึ่งจะทำให้ได้รับพิษจากถั่งเช่าในปริมาณที่สูงเกินมาตรฐาน และเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพได้ 

ถั่งเช่า กินอย่างไรให้ปลอดภัย

          ถั่งเช่าเป็นยาสมุนไพร ซึ่งหมายความว่าควรกินตามความจำเป็นของร่างกาย หากไม่ป่วยก็ไม่ควรกินพร่ำเพรื่อ และมีคำแนะนำให้กินในปริมาณที่จำกัด ดังนี้

          1. กินถั่งเช่าได้วันละ 0.5-1.0 กรัม หลังอาหารเช้า

          2. หากใช้เป็นยาอาจต้องกินวันละ 3-6 กรัม และควรกินถั่งเช่าที่มีความเข้มข้นของสารคอร์ไดเซปินที่ได้มาตรฐาน ซึ่งต้องให้แพทย์เฉพาะทางเป็นคนสั่งจ่ายยา

          นอกจากนี้ การกินถั่งเช่าให้ได้ประโยชน์ที่แท้จริงต้องคำนึงถึงคือคุณภาพของถั่งเช่าด้วย เพราะเมื่อมีราคาแพงมาก ในท้องตลาดจึงมีถั่งเช่าปลอมอยู่เยอะมากเช่นกัน รวมไปถึงถั่งเช่าแท้ ๆ ที่ถูกสกัดเอาสารสำคัญไปแล้วก็ด้วย เพราะถั่งเช่าเป็นสมุนไพรที่ต้มนานก็ไม่เปื่อยไม่ยุ่ย จึงมีการนำถั่งเช่าต้มแล้วมาหลอกขาย ดังนั้น ควรเลือกกินถั่งเช่าที่มีการรองรับมาตรฐาน ผ่านการรับรองจาก อย. และเพื่อความปลอดภัยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนกินถั่งเช่าด้วยนะคะ

ถั่งเช่า อันตรายไหม มีข้อควรระวังอะไรบ้าง

ถั่งเช่า

          เดี๋ยวนี้หาถั่งเช่ารับประทานได้ง่ายขึ้น เพราะมีการผลิตถั่งเช่าสกัดเป็นอาหารเสริม หรือเครื่องดื่มออกมา แต่แม้ว่าถั่งเช่าจะมีสรรพคุณในการดูแลสุขภาพและบรรเทาอาการเจ็บป่วยบางโรค ก็ยังมีสิ่งที่ควรระมัดระวังในการรับประทานถั่งเช่าอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะในคนกลุ่มนี้

     * ผู้ป่วยโรคเบาหวาน

          การรับประทานถั่งเช่า อาจไปเสริมฤทธิ์ของยาลดน้ำตาลในเลือด และอาจทำให้น้ำตาลในเลือดผู้ป่วยเบาหวานต่ำ มีอาการวูบ หน้ามืด จนเป็นอันตรายได้

     * ผู้ป่วยโรคหัวใจ หรือผู้ที่ใช้ยากลุ่มป้องกันการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด

          ถั่งเช่าอาจมีผลกับยาละลายลิ่มเลือดที่กิน จนทำให้เกิดปัญหาเลือดออกง่ายได้

     * ผู้ที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน

          ถั่งเช่ามีฤทธิ์ต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด และกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน หากใช้แล้วอาจจะเกิดอันตรายได้

     * หญิงมีครรภ์ หญิงให้นมบุตร และในเด็ก
            
          เนื่องจากยังมีข้อมูลไม่เพียงพอว่ากินแล้วจะส่งผลเสียอย่างไรหรือไม่

     * ผู้ที่แพ้เห็ด
           
          โดยเฉพาะเห็ดในกลุ่มสายพันธุ์ Cordyceps เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ได้

     * ผู้ป่วยที่มีอาการหลอดลมอักเสบเรื้อรัง
            
          สารในถั่งเช่าอาจออกฤทธิ์ให้อาการที่เป็นอยู่มีความรุนแรงขึ้นได้
             
     * ผู้ป่วยที่มีการเต้นของหัวใจผิดปกติ
            
          ถั่งเช่าอาจออกฤทธิ์เสริมการทำงานของยา ดังนั้น หากกินยารักษาโรคหัวใจอยู่ต้องระมัดระวัง และควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวก่อน

     * ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่าง ๆ
           
          จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ก่อนกินถั่งเช่า หรือสมุนไพรใด ๆ ก็ตาม เพราะสมุนไพรเหล่านี้อาจมีผลข้างเคียงหรือทำให้อาการกำเริบได้

     * ผู้ที่กินยารักษาโรคเป็นประจำ
            
          เนื่องจากถั่งเช่าอาจกระตุ้นฤทธิ์ยาบางชนิด ซึ่งจะส่งผลในการรักษา

     * ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่มีความไวต่อฮอร์โมน

     * ผู้ที่เริ่มกินใหม่ควรกินแต่น้อย เพื่อให้ร่างกายได้ปรับตัว

     * ผู้สูงอายุควรบริโภคอย่างพอเหมาะ ไม่มากเกินไป

ถั่งเช่า กินมากไป ไตวาย ตายไวนะ !

          สิ่งที่ต้องระวังอีกเรื่องก็คือ ไม่ว่าจะกินถั่งเช่าเป็นอาหาร หรืออาหารเสริม ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์หรือเภสัชกร และไม่ควรกินต่อเนื่องเป็นเวลานาน เพราะปัจจุบันมีคนจำนวนไม่น้อยซื้อถั่งเช่ามากินเป็นอาหารเสริมในปริมาณที่มากจนเกินไป ส่งผลให้มีอาการไตวายตามมา เนื่องจากไตทำงานหนักขึ้นเพื่อขับสารส่วนเกินและสารปนเปื้อนที่อยู่ในถั่งเช่า
 
           - ไตวาย...ตายเร็ว ! แพทย์เตือน กินถั่งเช่าสกัดต่อเนื่อง เสี่ยงไตวาย ชี้โฆษณาเกินจริง
  
          ได้รู้จักถั่งเช่าแล้ว ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกคนจะมีสติในการเลือกกินอาหารหรือสมุนไพรกันมากขึ้น เพราะทุกสิ่งบนโลกใบนี้ไม่ได้มีแค่ข้อดีเท่านั้น แต่ข้อควรระวังก็ต้องไม่มองข้ามด้วยนะคะ ดังนั้น ถ้าอยากเลือกสมุนไพรหรืออาหารเสริมมาบำรุงสุขภาพอย่างได้ผลดีจริง ๆ ก็ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญก่อนดีกว่า


* หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 20 มกราคม 2564

ขอบคุณข้อมูลจาก
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
chineseherbshealing.com
lindbergnutrition.com
ชัวร์ก่อนแชร์
DrAmp Team
DrAmp Team
หัวเฉียว แพทย์แผนจีน
เฟซบุ๊ก Drama-addict
สมาคมพืชสวน แห่งประเทศไทย

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ถั่งเช่า สรรพคุณดีจริงไหม กินยังไงให้ปลอดภัย ใครบ้างต้องระวัง อัปเดตล่าสุด 5 กรกฎาคม 2564 เวลา 14:10:43 195,803 อ่าน
TOP
x close