x close

สร้างสมดุลชีวิตด้วยดนตรีบำบัด

ดนตรีบำบัด


สร้างสมดุลชีวิตด้วยดนตรีบำบัด (Health plus)

          แม้จะมีเพียงเสียงเพลงลอยมาให้ได้ยิน แต่ก็ทำให้เรามีอารมณ์ร่วมได้ไม่น้อย ที่เป็นเช่นนี้เพราะดนตรีส่งผลต่อร่างกายและจิตใจ รวมถึงการทำงานของสมองของเรานั่นเองค่ะ

          มีข้อพิสูจน์จากผลการวิจัยหลายเรื่องที่แสดงว่า ดนตรีส่งผลต่อร่างกาย โดยสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอัตราการหายใจ อัตราการเต้นของชีพจร ความดันโลหิต การตอบสนองของม่านตา ความตึงตัวของกล้ามเนื้อ และการไหลเวียนโลหิต ขณะเดียวกันก็ส่งผลต่อจิตใจและสมอง คือ สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ สติสัมปชัญญะ จินตนาการ การรับรู้สภาพความเป็นจริง

          ด้วยเหตุนี้นอกจากเราจะใช้ประโยชน์จากดนตรีเพื่อความสุนทรีย์แล้ว ปัจจุบันมีการนำดนตรีมาใช้ประโยชน์ เพื่อการฟื้นฟูเยียวยาจิตใจของผู้ป่วยและคนทั่วไปมากขึ้น ในศาสตร์ของ ดนตรีบำบัด เพราะพบว่าดนตรีใช้ได้ผลดียิ่งกับโรคทางกายและทางจิตเวช

ดนตรีบำบัดคืออะไร

          ดนตรีบำบัด (Music Therapy) เป็นกระบวนการนำดนตรีหรือองค์ประกอบอื่น ๆ ทางดนตรี มาประยุกต์ใช้เพื่อการปรับเปลี่ยน พัฒนา บำบัดฟื้นฟูเยียวยาทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคมของผู้ป่วยและบุคคลทั่วไปที่มีความเครียด ดนตรีจะทำให้อารมณ์ด้านลบที่ถูกเก็บไว้ในร่างกายและจิตใจถูกเปิดออก และนำมาแปรเปลี่ยนไปในเชิงสร้างสรรค์ เมื่อได้รับการดูแลจากกระบวนการที่เหมาะสม ก่อให้เกิดกำลังใจ และค้นพบสภาวะสมดุลทางอารมณ์ อันจะนำไปสู่การเผชิญกับปัญหาและต่อสู้กับโรคภัยได้ โดยนักดนตรีบำบัดเป็นผู้ดำเนินการ โดยอาจจะอยู่ในรูปการฟังดนตรีหรือเล่นก็ได้

          เป้าหมายของดนตรีบำบัดไม่ได้เน้นที่ทักษะทางด้านดนตรี แต่จะมุ่งเน้นด้านพัฒนาการทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม ขึ้นอยู่กับสภาพและความจำเป็นของแต่ละบุคคลที่มารับการบำบัด

          การนำดนตรีมาใช้ประโยชน์อื่น ๆ นอกจากสร้างความรื่นรมย์ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น จากหลักฐานมากมายที่ค้นพบแสดงให้เห็นว่า ดนตรีผูกพันกับมนุษย์มาตั้งแต่ยุคหิน ซึ่งชนเผ่าพื้นเมืองทั่วโลกได้ใช้ดนตรีประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ใช้ในการเต้นรำ มีการนั่งล้อมวงรอบกองไฟ และร้องเพลง พร้อมกับเต้นไปรอบ ๆ กองไฟ รวมทั้งใช้ในการเยียวยารักษาโรค

          สำหรับหลักฐานทางการแพทย์ นายแพทย์ชาวดัทช์ได้บันทึกไว้ในปี 1960 ว่า เสียงดนตรีช่วยบำบัดลดการเจ็บปวดระหว่างการคลอด หรือในกรณีที่มีความเจ็บปวดมาก จะมีการนำดนตรีคลาสสิกมาใช้แทนยากล่อมประสาท หรือยาลดอาการปวดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต่อมาปี 1970 ได้มีนักดนตรีเริ่มทำดนตรีแนวใหม่ในลักษณะของ "New Age Music" ขึ้นมาโดยมีจุดประสงค์ เพื่อให้ผู้ฟังรู้สึกผ่อนคลายสร้างสมดุลของร่างกาย จิตใจ และอารมณ์เข้าด้วยกัน ดนตรีสไตล์นี้นิยมนำไปใช้ประกอบการนั่งสมาธิ เล่นโยคะ หรือในสปา ตัวอย่างเช่นดนตรีที่เรารู้จักกันดีในชื่อ Green Music

ประโยชน์ของดนตรีบำบัด

          ดนตรีบำบัดสามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลายรูปแบบ ใช้ได้ทั้งในวัยเด็ก วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ เพื่อสนองตอบความจำเป็นที่แตกต่างกันไป ทั้งทางร่างกายและจิตใจ เช่น ปัญหาพัฒนาการบกพร่อง โรคซึมเศร้า โรคอัลไซเมอร์ ปัญหาการบาดเจ็บทางสมอง ความพิการทางกาย อาการเจ็บปวด หรือสำหรับคนปกติทั่วไป ก็สามารถใช้ประโยชน์จากดนตรีบำบัดเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด หรือเพื่อปลดปล่อยอารมณ์ได้เช่นเดียวกัน

ดนตรีบำบัดช่วยได้

          ปรับสภาพจิตใจให้สมดุล

          ผ่อนคลายความตึงเครียด ลดความวิตกกังวล

          กระตุ้น เสริมสร้าง และพัฒนาทักษะการเรียนรู้ และเสริมสร้างความจำ

          กระตุ้นประสาทสัมผัส

          เสริมสร้างสมาธิ

          พัฒนาทักษะทางสังคม

          พัฒนาทักษะการสื่อสารและการใช้ภาษา

          พัฒนาทักษะการเคลื่อนไหว

          ลดความตึงตัวของกล้ามเนื้อ

          ลดอาการเจ็บปวดจากสาเหตุต่าง ๆ

          ปรับลดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม

          สร้างสัมพันธภาพที่ดีในการบำบัดรักษาต่าง ๆ

          ช่วยเสริมสร้างในกระบวนการบำบัดทางจิตเวช ทั้งในการประเมินความรู้สึก สร้างเสริมอารมณ์เชิงบวก การควบคุมตนเอง การแก้ปมขัดแย้งต่าง ๆ

ดนตรีมีองค์ประกอบหลายอย่าง ซึ่งแต่ละองค์ประกอบนั้นต่างก็มีคุณสมบัติและประโยชน์แตกต่างกันไป

          จังหวะและลีลา (Rhythm) ช่วยเสริมสร้างสมาธิ และช่วยให้เกิดความผ่อนคลาย

          ระดับเสียง (Pitch) เสียงในระดับสูงปานกลาง จะช่วยให้เกิดความรู้สึกสงบ

          ความดัง (Volume / Intensity) เสียงเบานุ่มทำให้เกิดความสงบสบายใจ ส่วนเสียงดังทำให้เกิดการเกร็งกระตุกของกล้ามเนื้อได้ ความดังที่เหมาะสมจะช่วยสร้างระเบียบในการควบคุมตนเองได้ดี

          ทำนองเพลง (Melody) ช่วยในการระบายความรู้สึกส่วนลึกของจิตใจ ทำให้เกิดความริเริ่มสร้างสรรค์และลดความวิตกกังวล

          การประสานเสียง (Harmony) ช่วยในการวัดระดับอารมณ์ความรู้สึกได้ โดยดูจากปฏิทินที่แสดงออกมาเมื่อฟังเสียงประสานต่าง ๆ จากเพลง

          โดยทั่วไปแล้ว การทำดนตรีบำบัด ไม่มีรูปแบบที่ตายตัว ทั้งนี้นักดนตรีบำบัดจะออกแบบให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล โดยเริ่มจากการประเมินผู้รับการบำบัด แล้วค่อยวางแผนการบำบัดตามลำดับ พร้อมเลือกลักษณะดนตรีให้เหมาะสมกับแต่ละรายไป

          กชกร วรอาคม กระบวนกรศิลป์ แห่งกลุ่ม Artfield หรือนักศิลปะบำบัด ผู้นำกระบวนการด้านศิลปะมาใช้เพื่อฟื้นฟูเยียวยา เล่าให้ฟังถึงการทำงานด้านศิลปะบำบัดที่ใช้ดนตรีมาผสมผสานว่า

          "หลักการเบื้องต้นของดนตรีบำบัด คือ ดนตรี และศิลปะ มันจะดึงให้เรามาอยู่ที่ปัจจุบัน ไม่ว่าเขาจะเคยกลัว กังวลอะไรอยู่ ดนตรีจะทำให้ลืมเรื่องเหล่านั้น ให้เขาได้เล่นไปกับกระบวนการบำบัด ไม่ว่าจะเป็นการเล่นหรือฟังดนตรีเล่นกับสี เขาจะค่อยๆ เริ่มผ่อนคลาย เริ่มสนุก จนลืมข้อจำกัดหรือความคิดต่าง ๆ ที่เคยมี แล้วเราก็จะพาเขาเดินทางไปพร้อมกับกระบวนการนั้น การทำงานของเราจะเน้นที่ Process-Base ใช้กระบวนการเป็นพื้นฐาน สร้างพื้นที่ทางกาย ควบคู่กับการเปิดที่ว่างทางใจให้ผู้ร่วมโครงการ ได้เปิดประสบการณ์จริงผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ที่ผสมผสานการใช้สื่อทางทัศนศิลป์และดนตรี ทำให้เกิดแรงบันดาลใจ ความผ่อนคลาย การปลดปล่อย ปล่อยวาง และ การแสดงออกถึงอารมณ์ ความรู้สึกของแต่ละบุคคล โดยรูปแบบกิจกรรมต่าง ๆ จะส่งผลในการดูแลอารมณ์ ความรู้สึกตัวเอง และการแสดงออกต่อคนรอบข้าง และเป็นการส่งเสริมให้เกิดพลังเชิงบำบัดต่อบุคคล และการสร้างพลังการบำบัดเชิงกลุ่ม"

          "กระบวนการที่ใช้ดนตรีจะใช้ในเชิงกว้างให้เกิดการรวมกลุ่ม ซึ่งเราจะใช้เครื่องเคาะเยอะ เพราะใช้ง่าย สามารถนำมาใช้ประกอบให้ผู้เข้าร่วม ได้มีส่วนร่วมในการเล่นเครื่องดนตรี เพราะเราจะเน้นให้เขามีส่วนร่วม 100% ซึ่งการทำ Group therapy ได้ประโยชน์ในแง่ที่ได้แชร์ความรู้สึก ได้ในเรื่องของความหลากหลาย อย่างเพลงและเครื่องดนตรีที่นำมาใช้ เพราะแต่ละคนก็มีความชอบต่างๆ กัน เราจะเน้นเปิดประสาทสัมผัสของเขา ทั้งการฟัง การสัมผัส ทางตา ทางหู โดยจะใช้ทั้งศิลปะและดนตรีมาประกอบกัน"

          "ปัจจุบันการรักษาทางเลือก เริ่มมีบทบาทชัดเจนว่ามีส่วนช่วยการแพทย์แผนปัจจุบัน (Conventional Medicine) เป็นการสื่อสาร การดูแลไปถึงสุขภาพของคนไข้สำคัญไม่น้อยไปกว่าสุขภาพใจ เป็นการเรียนรู้เพื่อให้เกิดผล ตอนนี้ตามโรงพยาบาลต่างๆ ก็เริ่มเห็นความสำคัญโดยนำดนตรีและศิลปะบำบัด เข้าไปเป็นส่วนร่วมในการบำบัดรักษามากขึ้น การรักษาทางเลือกนี้จะไม่เป็นเพียงแค่ alternative therapy เท่านั้น แต่คือ additional therapy ของศิลป์บำบัดที่ผสมผสานกันระหว่าง ศิลปะบำบัด ดนตรีบำบัด เพื่อสร้างสภาวะสมดุล ซึ่งสภาวะสมดุลนั้นไม่ใช่สภาวะที่ดีที่สุด หรือแข็งแรงที่สุด แต่เป็นสภาวะสมดุลที่จะทำให้ชีวิตนั้น สามารถดำรงอยู่ต่อไปอย่างสบายดีหรือสบายใจ"

          สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับดนตรีบำบัด ศิลปะบำบัด และโครงการต่างๆ สามารถเข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.artfieldtherapy.blogspot.com


  เคล็ด ลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สร้างสมดุลชีวิตด้วยดนตรีบำบัด อัปเดตล่าสุด 18 ธันวาคม 2556 เวลา 09:32:26 22,241 อ่าน
TOP