
ดีเอสไอ บุกค้นโรงงานผลิตอาหารเสริม เมโซ หลังพบมีสารปนเปื้อน
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ดีเอสไอ บุกตรวจค้นบริษัทจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารเสริม เมโซ พ่วงโรงงานผลิตอาหารเสริม หลังพบมีสารอันตรายปนเปื้อน เร่งขยายผลตรวจสอบอีก 100 ยี่ห้อ
วันนี้ (4 กุมภาพันธ์ 2558) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางสุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พร้อมด้วย พ.ต.ต. สุริยา สิงหกมล ผบ.สำนักคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ ได้แถลงข่าว หลังจากเข้าตรวจสอบโรงงานผลิตภัณฑ์อาหารเสริมในจังหวัดสมุทรสาครของ บริษัทสุกฤษ 55 จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตอาหารเสริม ที่ตำบลคอกกระบือ อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร และบริษัท เมโซ เอนเทอร์ไพรซ์ จำกัด บริษัทจำหน่ายสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์อาหารเสริมตราเมโซ (Mezo) ที่ซอยนาคนิวาส 34 ถนนนาคนิวาส แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว กรุงเทพฯ
ทั้งนี้ จากการตรวจค้นพบว่า ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ยี่ห้อ เมโซ ที่จำหน่ายในท้องตลาดนั้น มีกระบวนการผลิตที่ใช้ยาควบคุมปนเปื้อนหรือเป็นส่วนผสมอยู่ และมีการดำเนินการไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา รวมทั้งมีการกระทำความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง เจ้าหน้าที่จึงได้ทำการอายัดผลิตภัณฑ์อาหารเสริมลดน้ำหนัก ยี่ห้อเมโซ เป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 5 ล้านบาท
ส่วนของ บริษัท สุกฤษ 55 จำกัด เจ้าหน้าที่ทำการตรวจค้น พบว่า มีอาหารเสริมที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และกฎหมายของ อย. เช่นกัน จึงถูกอายัดผลิตภัณฑ์อาหารเสริมลดน้ำหนัก ยี่ห้อเมโซ, ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนัก ตรา FOMO V Shape Body, ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ลดน้ำหนัก ตราดับบริวพีพลัส และผลิตภัณฑ์เอฟบีแอลพลัส มูลค่าความเสียหายประมาณ 100 ล้านบาท
ขณะที่ พ.ต.ต. สุริยา สิงหกมล ผบ.สำนักคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องอายัดผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เป็นเพราะแสดงชื่อไม่ตรงกับที่จดแจ้งไว้ และมีการแสดงฉลากข้อความอวดอ้างสรรพคุณต่าง ๆ ที่ฝ่าฝืนประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยอาหารและยา มาตรา 6 (10) และมีความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 คิดเป็นเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 45 ล้านบาท ซึ่งการซื้อขายอาหารเสริมดังกล่าวมียอดการจำหน่ายต่อปีประมาณ 600 ล้านบาท จึงต้องดำเนินการตรวจสอบเกี่ยวกับการยื่นเรื่องเสียภาษีตามกฎหมาย ส่วนบริษัท สุกฤษ 55 จำกัด ได้มีการจดทะเบียนถูกต้อง แต่มีการทำธุรกิจแบบเป็นเจ้าของสูตรยาเอง โดยทำการโฆษณาว่า ขอเพียงมีเงินลงทุนบริษัทจะเป็นผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์ กำหนดยี่ห้อสินค้า และทำการตลาดให้แต่ต้องใช้สูตรตัวยาเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ดีเอสไอ จะเร่งรวบรวมหลักฐานและพิสูจน์รายละเอียดของตัวยาเพื่อออกหมายจับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดต่อไป เบื้องต้นพบว่ามีผลิตภัณฑ์อาหารเสริมมากกว่า 100 ยี่ห้ออยู่ในข่ายถูกตรวจสอบ
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
