วิ่งแล้วน่องใหญ่ ขาใหญ่ จริงไหม...เรามีคำตอบ !

           อยากวิ่งลดน้ำหนักแต่กลัวน่องใหญ่ ! ไหนมาไขคำตอบให้รู้กันไปข้าง วิ่งแล้วน่องใหญ่ขึ้นจริงหรือไม่ ใช่หรือมั่ว !

วิ่งลดน้ำหนัก

          วิ่งแล้วน่องใหญ่ขึ้น…นี่คือสิ่งที่ผู้หญิงเรากลัวนักหนาว่าการวิ่งออกกำลังกายจะมีขอ­­­งแถมเป็นน่องโต ปูด ๆ ดูไม่สวยงาม เพราะถ้าน่องโตขึ้นนี่ลดให้ลงยากกว่าน้ำหนักตัวซะอีก มาเคลียร์กันเลยดีกว่าว่า วิ่งลดน้ำหนักแล้วทำให้น่องใหญ่ขึ้นจริงหรือ

น่องใหญ่อยู่แล้วหรือไม่ เช็กให้ชัวร์ก่อนดีกว่า

         
ก่อนที่เราจะโทษว่าการวิ่งทำให้เราน่องใหญ่ขึ้นนั้น เราควรเช็กให้แน่ใจซะก่อนว่า น่องของเราเป็นแบบไหน มีกล้ามเนื้อมากกว่าไขมันหรือไม่ เพื่อที่ว่าเราจะได้เลือกบริหารได้อย่างถูกต้องนั่นเอง วิธีง่าย ๆ เช็กให้ชัวร์อยู่เพียงประการเดียว นั่นคือ ลองจับน่องของตัวเองดู

          หากพบว่าเป็นน่องนิ่ม ๆ เนื้อเหลว ก็หมายถึงว่า น่องของเรามีไขมันมากกว่ากล้ามเนื้อ ถ้าเราวิ่งออกกำลังกายไปเรื่อย ๆ นั้น ไขมันส่วนนี้จะลดลง ไม่มีทางเป็นกล้ามเนื้อแน่นอน แต่กรณีที่จับดูแล้วพบว่าน่องแข็งเล็กน้อย แสดงว่า น่องของเรามีกล้ามเนื้อพอสมควร มีไขมันน้อยมาก หากวิ่งออกกำลังกายไปเรื่อย ๆ กล้ามเนื้อส่วนนี้จะยิ่งกระชับ และแข็งขึ้น

วิ่งลดน้ำหนัก
 
 วิ่งทำให้น่องใหญ่ จริงหรือ?

          สำหรับข้อสงสัยของสาว ๆ ที่ว่า วิ่งแล้วน่องใหญ่ขึ้นนั้น ทางด้านแพทย์หญิงเสาวนิตย์ กมลธรรม ได้มีคำอธิบายมาฝากสาว ๆ อย่างชัดเจนเลยว่า ตามหลักของวิทยาศาสตร์การกีฬาแล้ว การออกกำลังใด ๆ ที่ไม่ได้ใช้แรงกล้ามเนื้ออย่างเต็มที่ จะไม่ทำให้กล้ามเนื้อเพิ่มขนาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวิ่งออกกำลังกายนั้น เป็นแค่การใช้งานกล้ามเนื้อทีละน้อยแต่บ่อย ๆ นาน ๆ ถือเป็นการฝึกความอดทนของกล้ามเนื้อ ช่วยเผาผลาญไขมันที่ติดอยู่กับบริเวณกล้ามเนื้อน่อง จึงไม่มีความเป็นไปได้ที่จะทำให้น่องโตขึ้น เว้นเสียแต่ว่า สาว ๆ ไปออกกำลังแบบที่ต้องใช้แรงกล้ามเนื้อหนักมาก เช่น การยกน้ำหนัก หรือเล่นเวท ปั่นจักรยานระยะไกล

          สำหรับกรณีที่คนมีความรู้สึกว่าน่องโตในช่วงวิ่งออกกำลังในระยะ­แรก­นั้น ขอให้รู้ไว้ว่าเป็นเรื่องปกติของกล้ามเนื้อที่จะมีการเกร็งตัวข­­­ึ้น เวลาเราจับดูจะรู้สึกเหมือนว่าน่องโตขึ้น ซึ่งหากเรายังคงวิ่งออกกำลังกายเหมือนเดิมต่อไป กล้ามเนื้อจะค่อย ๆ เข้ารูปเรียวสวยเอง

วิ่งอย่างไร ดีต่อกล้ามเนื้อน่อง


          การวิ่งด้วยท่าทางที่ถูกต้องนั้นสำคัญต่อกล้ามเนื้อน่องอย่างมา­­­ก เพราะจะช่วยลดอาการเกร็งปวดของกล้ามเนื้อน่องได้ เป็นถนอมกล้ามเนื้อบริเวณน่องไม่ให้ได้รับบาดเจ็บด้วย

วิ่งแล้วน่องใหญ่


หลักปฏิบัติ 4 ข้อง่าย ๆ มีดังนี้


          * ควรวอร์มอัพก่อนทุกครั้งประมาณ 10-20 นาที ยืดหยุ่นร่างกายให้พร้อมสำหรับการวิ่ง

          * หากวิ่งออกกำลังกายตลอดทั้ง 7 วัน ควรเว้นสัก 1 วันเพื่อให้กล้ามเนื้อได้หยุดพักบ้าง

          * ควรวิ่งเหยาะ ๆ ช้า ๆ บนทางเรียบ หากร่างกายชินกับการวิ่งแล้ว ค่อย ๆ เพิ่มระยะทางการวิ่งให้เร็วขึ้น นานขึ้น ที่สำคัญคือ ต้องไม่ลงน้ำหนักทั้งหมดไปที่เท้ามากเกินไปขณะวิ่ง ควรใช้กล้ามเนื้อทุกส่วนช่วยส่งตัวด้วย

          *  ควรวิ่งช้า ๆ อย่างต่อเนื่องให้นาน 30-60 นาที จะทำให้ร่างกายเผาผลาญไขมันที่สะสมอยู่แบบค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ไม่เกิดอาการปวดขาและน่อง ที่จะก่อให้เกิดอาการกล้ามเนื้อน่องเกร็งตัวจนดูเหมือนใหญ่ขึ้น­

สาวน่องใหญ่ อยากน่องเรียว ทำตามนี้เลย !


          นอกเหนือจากวิธีการวิ่งเฟิร์มกล้ามเนื้อน่องแล้ว ยังมีอีกหลายปัจจัยที่สาว ๆ อยากน่องเล็กควรใส่ใจให้ดีด้วยนะคะ ดังนี้

- ใส่ใจเรื่องรองเท้าที่สวมเป็นประจำทุกวัน


          ควรงดใส่ส้นสูง หลีกเลี่ยงรองเท้าที่ใส่แล้วทำให้ต้องเดินในลักษณะยกส้น หันมาเลือกสวมรองเท้าที่ใส่เดินแล้วสบาย สามารถลงน้ำหนักได้เต็มเท้าแทนดีกว่าค่ะ


- หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายแบบใช้แรงต้านกล้ามเนื้อ


          การใช้เครื่อง Step machine การออกกำลังกายเน้นใช้การปีนป่าย การปั่นจักรยานด้วยการใช้เกียร์หนัก เพราะการออกกำลังกายที่ต้องใช้แรงต้านกล้ามเนื้อ จะยิ่งไปเสริมความแข็งแรงกล้ามเนื้อน่องให้มากขึ้นไปอีก ทำให้น่องใหญ่ขึ้น


- เน้นการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ


          สาว ๆ ที่ต้องการจะออกกำลังกายเพื่อเบิร์นไขมันที่น่องออกไปนั้น ควรเน้นออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ เช่น ว่ายน้ำ วิ่ง แอโรบิค ต่อยมวย และเดินเร็ว นอกจากนี้แล้วยังต้องควบคู่ไปกับการกินอาหารเน้นไฟเบอร์ ลดปริมาณคาร์โบไฮเดรตและโปรตีนอีกด้วย


- ยืดกล้ามเนื้อด้วยท่าโยคะ หรือพิลาทิส


          ท่าบริหารเหล่านี้ เน้นการยืดกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ช่วยปรับสมดุลของระบบไหลเวียนโลหิต ทำให้ร่างกายกำจัดของเสียออกมาในรูปเหงื่อได้ดี หากทำเป็นประจำจะช่วยกระชับสัดส่วนได้อีกด้วย


3 ท่าลดน่องง่าย ๆ ที่สาว ๆ ควรรู้ไว้


          วิธีบริหารกล้ามเนื้อน่องง่าย ๆ ที่สาว ๆ จะนำไปทำตอนไหนก็ได้

1.  ท่าดันกำแพง

วิ่งแล้วน่องใหญ่

          เริ่มจาก การหันหน้าเข้ากำแพงแยกเท้าออกจากกัน โดยให้เท้าข้างหนึ่งห่างจากกำแพงประมาณ 1 ฟุตอีกข้างหนึ่งห่างจากกำแพงประมาณ 3 ฟุต

          จากนั้น ใช้มือสองข้างยันกำแพงไว้ ขณะออกแรงดันกำแพงนั้น ควรให้ขาข้างที่ยืดไปข้างหลังอยู่ในแนวเส้นตรงส่วนขาที่อยู่ด้า­­­นหน้าให้งอเล็กน้อย ออกแรงดันค้างไว้ประมาณ 30 วินาทีหยุดพักเล็กน้อยสลับไปทำอีกข้าง ทำซ้ำประมาณ 5-10 รอบ

2.  ท่าเตะกลางอากาศ

วิ่งแล้วน่องใหญ่

          เริ่มจาก นอนหงาย ชันเข่าขึ้นให้ชิดกัน ฝ่าเท้าราบไปกับพื้น มือทั้งสองข้างแนบลำตัวในลักษณะคว่ำฝ่ามือไว้

          จากนั้น ยกขาข้างหนึ่งขึ้นมา เตะขึ้นไปบนอากาศอย่างรวดเร็ว ประมาณ 10-20 ครั้ง จากนั้นทำสลับข้างกัน ทำซ้ำประมาณ 5-10 รอบ

3.  ท่าแกว่งเท้าสลับ

วิ่งแล้วน่องใหญ่

วิ่งแล้วน่องใหญ่
 
          เริ่มจาก ยืนเท้าเอวสองข้าง ยืนเท้าแยกกันพอเสมอกับช่วงไหล่

          จากนั้น เอียงตัวเล็กน้อยยกขาข้างหนึ่งขึ้น ยืดออกไปด้านข้าง แล้วเริ่มแกว่งขึ้น ลงให้ปลายเท้าแตะพื้น ทำสลับข้างละ 15 ครั้ง ทำซ้ำประมาณ 5-10 รอบ

ข้อน่ารู้เกี่ยวกับการวิ่ง


          สำหรับใครที่มีความคิดอยากจะวิ่งกระชับกล้ามเนื้อน่องบ้างแล้ว ก็ควรมาอ่านข้อน่ารู้เกี่ยวกับการวิ่งกันก่อน เพื่อให้เราได้เตรียมตัวไปวิ่งได้อย่างถูกต้อง

          - ควรสวมรองเท้าสำหรับวิ่งเท่านั้น และควรเลือกชุดวิ่งที่เนื้อผ้าโปร่งสบาย ดูดซับเหงื่อได้ดี ทางที่ดีควรเลือกสวมชุดสำหรับออกกำลังกายโดยเฉพาะ

          - การวิ่งสำหรับผู้หญิงและผู้ชายไม่ต่างกัน วิ่งให้เป็นธรรมชาติ อย่าเกร็งมากไป อย่าโน้มตัวไปข้างหน้ามากไป

          - สำหรับผู้หญิงควรสวมสปอร์ตบราเพื่อความคล่องตัวขณะวิ่ง
         
          - เลือกสไตล์การวิ่งที่เหมาะสมกับร่างกายตัวเอง เช่น วิ่งในฟิตเนส วิ่งในสวนสาธารณะ

          - การวิ่งเป็นการเผาผลาญไขมัน ซึ่งไม่มีผลในการกระชับสัดส่วน หากวิ่งแล้วน้ำหนักลงได้พอสมควรแล้ว ก็ควรหาวิธีอื่นช่วยกระชับสัดส่วนเอาไว้ด้วย เช่น เล่นโยคะ ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน เป็นต้น

          - หากเพิ่งเริ่มวิ่งในช่วงแรก ขาจะใหญ่ขึ้น น้ำหนักก็ขึ้นนิดหน่อยด้วย เพราะร่างกายสร้างกล้ามเนื้อขึ้นมาหนากว่าเดิม ทำให้ดูขาใหญ่ขึ้น แต่ถ้าวิ่งต่อไปอีกสักระยะ การเผาผลาญไขมันจะดีขึ้น น่องและเรียวขาของเราจะดูเล็กลงเอง

          - หากวันไหนร่างกายไม่พร้อม ควรหยุดพัก อย่าฝืนร่างกาย

          อย่างไรก็ตาม การออกกำลังกายใด ๆ นั้น สิ่งแรกที่เราควรคำนึงถึงเสมอก็คือ ความพร้อมของร่างกายนะคะ และต้องไม่ลืมว่าความแข็งแรงของร่างกายแต่ละคนนั้นไม่เท่านั้น สิ่งสำคัญคือ อย่าหักโหมมากเกินไป มิเช่นนั้น การออกกำลังกายจะให้ผลเสียมากกว่าผลดี

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิ่งแล้วน่องใหญ่ ขาใหญ่ จริงไหม...เรามีคำตอบ ! อัปเดตล่าสุด 5 มิถุนายน 2563 เวลา 10:33:29 315,521 อ่าน
TOP
x close