ผู้สูงอายุ เป็นวัยที่มีระบบการกลืนอาหารเริ่มทำงานช้าลง จึงมีโอกาสที่จะสำลักอาหารได้ง่าย หากกลืนอาหารคำโตเกินไป เพื่อเป็นการไม่ประมาท เราควรทำความเข้าใจกันสักหน่อยว่า ผู้สูงอายุควรมีหลักการกินอาหารที่ถูกต้องอย่างไร
จากกรณีของผู้สูงอายุวัย 70 ปีที่เสียชีวิตจากการที่ขาดอากาศหายใจจากการกินขนมเข่งนั้น แสดงให้เห็นว่า กลุ่มคนผู้สูงอายุนั้นก็เป็นอีกหนึ่งวัยที่เราควรให้ความสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องการกินอาหาร เพราะผู้สูงอายุนั้นเป็นวัยที่ระบบการกลืนอาหารนั้นไม่ปกติเหมือนคนวัยรุ่นแล้ว แค่อาการสำลักเพียงนิดเดียวก็อันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้น เพื่อความไม่ประมาท กระปุกดอทคอมจึงขอนำข้อมูลดี ๆ จากกระทรวงสาธารณสุข มาฝาก เพื่อให้ทุกคนได้นำไปใช้เป็นหลักความปลอดภัยเรื่องการกินอาหาร สำหรับผู้สูงอายุในบ้าน
ผูู้สูงวัยกับการกินอาหาร ถือเป็นสิ่งที่ทุกคนในบ้านควรใส่ใจเรื่องความปลอดภัยไม่แพ้เรื่องอื่น ๆ เลย สำหรับในเรื่องนี้ นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย ได้พูดถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านกายภาพและระบบการทำงานต่าง ๆ ของร่างกายผู้สูงอายุ ที่ทำให้คนวัยนี้มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการสำลักอาหารแล้วเสียชีวิต ดังนี้
1. ร่างกายสร้างน้ำลายน้อยลง ทำให้มีอาการปากแห้ง
2. ฟันและความแข็งแรงของฟันน้อยลง มีผลต่อกำลังการบดเคี้ยวลดลง ทำให้ต้องใช้เวลาบดเคี้ยวอาหารนานขึ้น
3. การทำงานของริมฝีปากและลิ้นลดลง ทำให้ต้องกลืนอาหารหลายครั้งกว่าปกติ
4. คอหอยของผู้สูงอายุปิดช้ากว่าวัยหนุ่มสาว ส่งผลให้อาหารอยู่ในคอหอยนานขึ้น
5. ร่างกายจะมีอาการหยุดหายใจขณะกลืน โดยเริ่มหยุดหายใจตั้งแต่หายใจเข้า ทำให้เมื่อกลืนอาหารแล้วต้องรีบหายใจทันที
8 ข้อปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยในการกินอาหาร
สำหรับการเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้สูงอายุเรื่องกินอาหารนั้น ทางด้าน นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย ได้แนะถึงวิธีที่จะช่วยผู้สูงอายุมีโอกาสสำลักอาหารน้อยลง ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติง่าย ๆ ดังนี้
1. นั่งตัวตรงขณะกินอาหาร และหลังกินเสร็จห้ามนอนทันที
2. กินอาหารช้า ๆ อย่างตั้งใจ ให้เวลากับมื้ออาหารอย่างเพียงพอ
3. อย่ากินอาหารขณะรู้สึกเหนื่อย หรือรีบเร่ง ควรพักก่อนสัก 30 นาที
4. อาหารที่กินควรมีขนาดชิ้นเล็ก ๆ หรือพอดีคำ ไม่ใหญ่เกินไป
5. ลดสิ่งรบกวนขณะกินอาหาร เช่น การพูดคุย การดูทีวี
6. กินอาหารคำละ 1 ชนิด อาหารที่มีเนื้อหลากหลายชนิดใน 1 คำจะสำลักง่าย
7. สามารถกินอาหารสลับกัน เช่น อาหารที่บดเคี้ยว สลับกับอาหารเหลว
8. อย่ากินอาหารแห้งเกินไป ควรมีน้ำซอสหรือน้ำซุป จะช่วยให้เนื้ออาหารชุ่ม และนุ่มขึ้น
ทั้งนี้ การดูแลผู้สูงอายุเพื่อให้มีสุขภาพกาย และใจแข็งแรงนั้น ควรใส่ใจเรื่องปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วยนะคะ เช่น ให้ท่านได้อยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเท ใส่ใจเรื่องสุขอนามัย รวมถึงการพาท่านออกไปหย่อนใจนอกบ้านบ้าง เช่น พาไปเดินสวนสาธารณะตอนเย็น ๆ หรือ พาท่านออกไปเที่ยวกับลูกหลานตามโอกาสบ้าง เพียงเท่านี้ ผู้สูงอายุก็จะมีสุขภาพกายใจแข็งแรงอยู่กับเราไปอีกนานเลยค่ะ