x close

Access your anger รู้ทันความโกรธ


Access your anger รู้ทันความโกรธ (Health Plus)

         
ชิวิตในแต่ละวันทำให้อารมณ์ของคุณขุ่นมัวหรือเปล่า คุณตวาดแว้ดใส่หน้าคนที่คุณรักหรือไม่ คุณใช่ไหมที่ภายนอกดูสงบนิ่ง แต่ภายในใจกลับเดือดปุดๆ ด้วยความโกรธ ถ้าหากความโกรธคือตัวปัญหา ลองแปลงความโกรธ ให้เป็นพลังในทางบวก ตามแผนปฏิบัติต่อไปนี้

         
ขบวนรถไฟของคุณดีเลย์… ใครบางคนขับรถปาดหน้าคุณในระยะกระชั้นชิด... เอาอีกแล้ว แฟนคุณไม่ยอมล้างจานที่กองอยู่ในอ่าง เป็นคุณจะทำอย่างไร… คุณมองสิ่งเหล่านี้ อย่างเป็นเหตุเป็นผล หรือเลือดในกายเดือดพล่าน มือกำหมัดแน่น โมโหเพราะรถติด หงุดหงิดเพราะรถไฟใต้ดินแน่นเอี๊ยด ในสังคมปัจจุบัน เรื่องเล็กที่สุด อาจก่อให้เกิดการตอบสนองที่รุนแรงได้ และหากคุณต้องทนเก็บกดอารมณ์พลุ่งพล่านนั้นไว้ ก่อนจะปล่อยโฮเมื่อกลับถึงบ้าน การทำเช่นนี้เท่ากับทำลายสุขภาพ ความโกรธเป็นอารมณ์ธรรมชาติ และการเรียนรู้ในการรับมือกับมันจะช่วยให้จิตใจของคุณเป็นสุข

           ความโกรธมีประโยชน์

          “ความรู้สึกโกรธเป็นสิ่งดี เพราะความรู้สึกนี้บอกให้เรารู้ว่า มีบางสิ่งบางอย่างไม่ถูกต้องเกิดขึ้นกับเรา ความโกรธเป็นสัญญาณเตือนที่ควบคุมคุณภาพของตัวเราเอง”
อินกริด เจ คอลลินส์ ที่ปรึกษาด้านจิตวิญญาณบำบัดของ Health Plus บอก หากมีใครบางคนปฏิบัติกับเราไม่ดี ความโกรธจะเป็นสิ่งเหมาะสม ถ้าคุณแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ ตรงกันข้ามหากคุณกับแฟนเก็บความโกรธเอาไว้ในใจ ไม่แม้แต่ทะเลาะเบาะแว้งกันเวลามีปัญหา การเก็บแต่ความรู้สึกเช่นนี้ รังแต่จะทำลายชีวิตมากกว่าการมีปากเสียง ความโกรธสร้างปัญหาก็ต่อเมื่อคุณเก็บกดมันเอาไว้ หรือหัวเสียด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่อง แค่ถูกคนเดินชนไหล่ก็โมโห จนบางครั้งถึงขั้นบานปลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต

           อย่าเก็บกด

          “หลายคนไม่สามารถระเบิดอารมณ์โกรธหรือแสดงความโกรธในทางที่เป็นประโยชน์” 
อินกริดกล่าว ขณะที่การเก็บความเกรี้ยวกราด เป็นเรื่องปกติของการจัดการความโกรธ “การทำเช่นนี้ อาจส่งผลเสียต่อร่างกายและจิตใจ ถ้าเราปฏิเสธอารมณ์ของตนเอง ก็อาจมีผลให้การแสดงออกของอารมณ์ เป็นไปในทางทำลาย”

          เดบอราห์ มาร์แชล-วอร์เรน ที่ปรึกษาด้านสะกดจิตบำบัดของ Health Plus กล่าว อาการปวดหลัง อาหารไม่ย่อย หรือความดันโลหิตสูงล้วนเป็นผลมาจากความโกรธที่ถูกอัดแน่นเอาไว้ภายใน

           รู้จักความโกรธ 

          คุณทำอย่างไรเวลาโกรธ เกรี้ยวกราด ร้องไห้ฟูมฟาย หรือนิ่งเงียบ ถ้าอยากทราบคำตอบ ให้เริ่มด้วยการจดบันทึกประจำวัน ทุกครั้งที่คุณโกรธ ไม่ว่าเพราะคุณถูกคนด่าหยาบคาย หรือต้องยืนเข้าคิวนาน เขียนสิ่งที่เกิดขึ้นและวิธีตอบสนองต่อความโกรธ “คนเรารู้จักสร้างชุดการตอบสนองต่อสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งโดยเฉพาะ”  เดฟ คุก โค้ช ชีวิตกล่าว “หากคุณรู้จักแยกแยะสาเหตุของความโกรธ และความรู้สึกที่เกิดขึ้นก่อนหน้าความรู้สึกโกรธ ก็จะช่วยให้คุณมีทางเลือกที่หลากหลายในการแสดงออก เวลาที่มีคนทำให้คุณโมโห”

           แผนจัดการความโกรธ
         

          คุณรู้จักความโกรธของตนเองมากขึ้นแล้ว ตอนนี้ถึงเวลาที่คุณจะปฏิบัติตามเคล็ดลับจากผู้เชี่ยวชาญของ Health Plus เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต

          จัดการความโกรธด้วยการสร้างจินตนาการ

          “นึกย้อนกลับไปถึงครั้งสุดท้ายที่คุณโกรธ นึกไปถึงช่วงก่อนที่คุณจะเริ่มรู้สึกโกรธ นึกถึงความคิดของคุณในเวลานั้น คุณรู้สึกอย่างไร และเกิดอะไรขึ้น” ตอนนี้ให้นึกย้อนไปถึงเหตุการณ์นั้นอีกครั้ง และมุ่งสมาธิไปที่ช่วงเวลานั้น ทันทีที่รู้สึกโกรธ ให้หยุด จากนั้นให้สั่งสมอง หยุดความโกรธ นึกภาพป้ายหยุดตัวโตๆ พร้อมเสียงใครบางคน ตะโกนให้หยุด หรือจะนึกถึงความรู้สึกเวลาที่มีมือมาแตะบ่าบอกให้ใจเย็นๆ อะไรก็ได้ที่ทำให้คลายความโกรธลงได้

          นึกภาพเหตุการณ์ในทำนองนี้อีกสัก 2- 3 ครั้ง จนกระทั่งคุณสร้างความเชื่อมโยงที่เข้มแข็ง ระหว่างสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนที่คุณจะรู้สึกโกรธและสมองหยุดความโกรธ และครั้งต่อไปหากรู้สึกโกรธ คุณก็จะรู้จักวิธีทำลายและจัดการกับความโกรธนั้น

          ละลายความโกรธ

          อย่าปล่อยให้ความโกรธสะสมทับทวีคูณ จนทำให้ตัวคุณเป็นเหมือนระเบิดเวลาที่เดินได้ “การออกกำลังกายเป็นประจำ จะช่วยขจัดความโกรธ”

          คิก บ็อกซ์ ช่วยปลดปล่อยความเครียดและความโกรธที่สะสมอยู่ภายใน หรือคุณอาจชอบอะไรที่ระงับความฉุนเฉียวได้ เช่น โยคะ หรือไทชิ 

          เบ็ธ แมคโค ที่ปรึกษาด้านโฮโมอีโอพาธี ของ Health Plus บอกว่า เลือกอะไรก็ได้ที่ส่งผลดีกับคุณมากที่สุด หากอยากระบายความโกรธ ให้เปิดเพลงดังๆ แดนซ์ให้กระจาย แต่ถ้าต้องการควบคุมอารมณ์ตนเอง ทำจิตใจสงบนิ่ง คุณต้องเลือกนั่งสมาธิ

          ทำใจให้สุขุมเยือกเย็น 

          “เวลาโมโห คุณจะลุกขึ้นสู้หรือไม่ก็หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า เวลาโกรธ สารอะดรีนาลินจะไหลอาบร่างกาย เพื่อเตรียมพร้อมที่จะสู้หรือหนีจากสถานการณ์นั้น การหายใจลึกๆช่วยได้ ” มาริลีน เดโวนิช  โค้ชชีวิตและที่ปรึกษาด้าน Neuro Linguistic Programming (NLP) บอก “หายใจเข้าลึกๆ ผ่านจมูก และหายใจออกทางปาก โดยหายใจออกให้ยาวหายใจเข้า 2 เท่า ทำซ้ำ 5 ครั้ง”

          เปิดอกพูดคุย

          “พูดคุยกับคนที่เป็นกลางและเห็นอกเห็นใจ เช่น เพื่อนผู้เชี่ยวชาญที่ให้คำปรึกษา หรือแพทย์” เบธกล่าว “ถ้าคุณโกรธใครสักคน จงบอกเขาให้รู้ตัวด้วยคำพูดประมาณว่า ‘ฉันรู้สึกโกรธที่คุณทำแบบนั้น’ ใช้คำว่า ‘ฉันรู้สึก’ ดีกว่าใช้คำว่า ‘คุณทำให้ฉันรู้สึก’ ซึ่งนั่นจะทำให้ช่องว่างระหว่างคุณสองคน ห่างออกจากกันเรื่อยๆ การเข้าใจต้นตอที่แท้จริงของความโกรธเป็นสิ่งสำคัญ คุณใช่ไหมที่ขึ้นเสียงกับแฟน เพียงเพราะเขาทิ้งผ้าเช็ดตัวเปียกๆ บนพื้น หรือคุณพกความหงุดหงิดจากที่ทำงานมาระบายใส่คนที่บ้าน ลองพูดคุยกับใครสักคน เพื่อจะได้ช่วยกันหาสาเหตุที่แท้จริงของอารมณ์ฉุนเฉียวที่เกิดกับคุณ”

          ใช้ความโกรธเปลี่ยนแปลงชีวิต

          เปลี่ยนความโกรธของคุณเป็นพลังในทางบวก “อารมณ์ที่รุนแรง ช่วยผลักดันให้คุณก้าวเดินไปข้างหน้า เพื่อจะได้รู้จักตนเอง” อินกริดบอก วาดแผนภูมิวงกลมลงบนกระดาษ พร้อมกับแบ่งวงกลมออกเป็น 7 ส่วน ให้เขียนหัวข้อลงบนแต่ละส่วน ประกอบด้วย สุขภาพ หน้าที่การงาน การเงิน เพื่อนฝูงและครอบครัว ความรัก ความสนุกสนานและนันทนาการ สิ่งแวดล้อม ความก้าวหน้าส่วนตัว

          จากนั้นเขียนสิ่งที่คุณสามารถทำได้ เพื่อเพิ่มพูนสิ่งที่คุณเห็นว่ายังขาดอยู่ในแต่ละส่วน ตัวอย่างเช่น ถ้าสัดส่วนความก้าวหน้าส่วนตัวดูน้อยไป ให้ลองไปเข้าชั้นเรียนภาคค่ำ เพื่อเพิ่มเติมความรู้ใช้ พลังที่ได้จากการเผาผลาญความโกรธ กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดเหล่านี้

 


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
Access your anger รู้ทันความโกรธ อัปเดตล่าสุด 16 ธันวาคม 2556 เวลา 14:01:27 13,919 อ่าน
TOP