x close

น้ำมันมะพร้าว ตัวช่วยสุขภาพดี ที่หลายคนมองข้าม


           น้ำมันมะพร้าว น้ำมันที่ให้ประโยชน์อันน่าทึ่งต่อสุขภาพ นอกเหนือจากการบำรุงความงาม แต่คนส่วนใหญ่กลับมองข้ามไปเสียอย่างนั้น 

น้ำมันมะพร้าว

          น้ำมันมะพร้าวที่ถูกบอกต่อกันมาว่าเป็นน้ำมันที่ดีต่อสุขภาพมาก­กว่าน้ำมันชนิดอื่น ๆ แต่ก็ยังมีข้อสงสัยกันอยู่ว่า กินแล้วดีจริงหรือ เพราะถึงจะมีสรรพคุณต่อสุขภาพอันน่าทึ่งหลายประการ แต่ก็ยังเป็นน้ำมันชนิดหนึ่งอยู่ดี หากกินมาก ๆ อาจเกิดผลเสียต่อร่างกายได้ กระปุกดอทคอมจึงมีคำเฉลยในเรื่องนี้มาให้อ่านกัน ให้รู้ไปเลยว่า­สรุปแล้ว คำร่ำลือที่บอกว่ากินน้ำมันมะพร้าวแล้วดีต่อสุขภาพน่ะ แท้จริงแล้ว เขากินกันอย่างไร แล้วมีประโยชน์ในด้านไหนบ้าง

น้ำมันมะพร้าว คืออะไร 

          น้ำมันมะพร้าว ก็คือ น้ำมันที่ได้จากผลมะพร้าวนั่นเอง โดยนำมาสกัดแยกน้ำมันออกจากเนื้อมะพร้าวด้วยวิธีสกัดเย็น ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ใช้ความร้อนสูง และไม่ต้องผ่านกระบวนการแปรรูปทางเคมี น้ำมันที่ได้จึงมีลักษณะใสเหมือนน้ำ ไม่มีกลิ่นหืน อาจมีชิ้นเนื้อมะพร้าว และกลิ่นหอมอ่อน ๆ ของมะพร้าวปนมาด้วย เพราะเหตุนี้เอง น้ำมันมะพร้าวจึงมีชื่อเรียกหลายชื่อ ทั้งน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น น้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ (Extra Virgin Coconut Oil) น้ำมันมะพร้าวบีบเย็น น้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์สกัดเย็น 

          น้ำมันมะพร้าวเป็นของเหลวก็จริง แต่ก็สามารถกลายสถานะเป็นของแข็งได้ โดยน้ำมันมะพร้าวจะมีสถานะเป็นของเหลวที่อุณหภูมิสูงกว่า 25 องศาเซลเซียส และกลายสถานะเป็นของแข็งที่อุณหภูมิต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส แต่เราสามารถทำให้มันเป็นของเหลวได้อย่างง่ายโดยใช้ความร้อนเพียงเ­ล็กน้อย 

          ในน้ำมันมะพร้าวนั้นประกอบด้วยกรดไขมันอิ่มตัว (มากกว่า 90% จากปริมาณกรดไขมันทั้งหมด) แต่กรดไขมันอิ่มตัวส่วนใหญ่ที่พบในน้ำมันมะพร้าว เป็นกรดไขมันที่มีขนาดโมเลกุลปานกลาง (medium chain fatty acid) 

น้ำมันมะพร้าวที่ดี สังเกตยังไง 

          น้ำมันมะพร้าวที่วางขายกันทั่วไปอาจมีหลายยี่ห้อ ทำให้เราตัดสินใจเลือกไม่ถูกว่าแบบไหนดีกว่ากัน เรามีวิธีการสังเกตน้ำมันมะพร้าวที่ได้คุณภาพมาฝากค่ะ 

          * ต้องมีความใส ไม่มีสี ลักษณะโปร่งแสง ไม่มีการตกตะกอน แต่การสังเกตจากข้อนี้อาจไม่ชัดเจน เพราะบางยี่ห้อก็บรรจุในขวดพลาสติกขุ่น หรือมีสี แต่ถ้าบรรจุขวดแก้วก็จะสังเกตได้ง่ายกว่า 

          * ต้องมีกลิ่นหอมของมะพร้าว ไม่มีกลิ่นหืน หรือเปรี้ยว แม้ว่าจะมีการเปิดใช้หลายครั้งแล้ว แต่ด้วยกระบวนการผลิตในบางยี่ห้อ อาจมีการดัดแปลงโดยใช้น้ำหอมสังเคราะห์กลิ่นมะพร้าว หรือกลิ่นมะพร้าวน้ำหอมเข้าไป ทำให้มีกลิ่นหอมมากในตอนเปิดขวดแรก ๆ แต่หลังจากนั้นความหอมจะจางลง เปลี่ยนเป็นเหม็นเปรี้ยว ซึ่งจะทำให้อายุของน้ำมันมะพร้าวอยู่ได้ไม่นาน 

          * ต้องมีความหนืดน้อย สามารถกลืนลงคอได้อย่างง่ายดาย มีความรู้สึกเหมือนละลายในปาก ไม่ให้ความรู้สึกเลี่ยน หรือเมื่อนำไปทาผิวแล้วสามารถซึมสู่ผิวได้เร็ว ไม่ทิ้งคราบน้ำมันลอยอยู่บนผิว 

ประโยชน์น้ำมันมะพร้าว ดีต่อสุขภาพยังไง 

น้ำมันมะพร้าว
 

          มาดูกันว่าในน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นนั้นแฝงไว้ด้วยประโยชน์สุขภา­พในเรื่องใดบ้าง 

* ดูดซึมง่าย ร่างกายเผาผลาญได้ดี

          น้ำมันมะพร้าวมีกรดไขมันอิ่มตัวที่ไม่ทำให้เกิดสารอนุมูลอิสระและไขมันทรานส์ เป็นกรดไขมันที่มีขนาดโมเลกุลปานกลาง ซึ่งถูกดูดซึมที่ตับได้ทันที และเผาผลาญเป็นพลังงานได้ง่าย น้ำมันมะพร้าวเลยถือเป็นไขมันอิ่มตัวที่ดีต่อสุขภาพกว่าน้ำมันชนิดอื่น ๆ แต่ทั้งนี้ก็ไม่ควรรับประทานน้ำมันมะพร้าวเกินปริมาณ เพราะยังไงก็จัดเป็นไขมัน หากได้รับเยอะเกินไปก็สะสมในร่างกายได้อยู่ดี
 
* ช่วยดูดซึมวิตามินที่ละลายได้ดีในไขมัน

          ร่างกายเราต้องการไขมันเพื่อช่วยในการดูดซึมวิตามินบางชนิดที่ละลายได้ดีในไขมัน เช่น วิตามิน A, D, E และวิตามิน K ซึ่งน้ำมันมะพร้าวก็จัดเป็นน้ำมันอิ่มตัวที่ดีชนิดหนึ่ง

* ช่วยลดไขมันเลวในร่างกาย

          ไขมันอิ่มตัวในน้ำมันมะพร้าวจะช่วยลดคอเลสเตอรอลชนิดเลว (LDL) และเพิ่มคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) ในร่างกายได้ ทว่าก็ควรรับประทานน้ำมันมะพร้าวในปริมาณที่เหมาะสม ไม่เกิน 1-2 ช้อนชาต่อวัน และปริมาณน้ำมันที่มาจากอาหารอื่น ๆ ก็ไม่ควรเกิน 9 ช้อนชา หรือสัดส่วนไขมันทั้งหมดไม่เกิน 30% ของพลังงานที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน เพื่อลดความเสี่ยงโรคอ้วน และภาวะไขมันในเลือดสูง

* ลดการอักเสบและติดเชื้อของผิวหนัง

          น้ำมันมะพร้าวสามารถช่วยบรรเทาอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ที่เกิดจากการอักเสบติดเชื้อที่ผิวหนังได้ เพราะกรดลอริกในน้ำมันมะพร้าวจะถูกเปลี่ยนเป็นสารโมโนลอริน (monolaurin) เมื่อเข้าสู่ร่างกาย สารนี้มีคุณสมบัติสร้างภูมิคุ้มกัน และมีฤทธิ์ฆ่าแบคทีเรีย ถือเป็นทั้งยาปฏิชีวนะธรรมชาติที่ช่วยบรรเทาอาการของโรคผิวหนัง เช่น โรคภูมิแพ้ผิวหนังอักเสบ โรคสะเก็ดเงิน หรือโรคงูสวัด โดยจะช่วยลดอาการคันจากผิวแห้งแตก และให้ความชุ่มชื้นกับผิวหนัง ทำให้อาการเจ็บบรรเทาลง

วิธีกินน้ำมันมะพร้าว 

          สำหรับวิธีการกินน้ำมันมะพร้าวที่เหมาะสม ควรเลือกกินน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น เพราะเป็นวิธีสกัดน้ำมันมะพร้าวที่มีความบริสุทธิ์ ทำให้ได้น้ำมันมะพร้าวที่ไม่มีสารอื่นเจือปน และการกินน้ำมันมะพร้าวไม่ควรเกินวันละ 1-2 ช้อนชา

         อย่างไรก็ตาม แม้ว่าน้ำมันมะพร้าวจะกินแล้วดีต่อสุขภาพ แต่ก็ยังต้องระวังเรื่องปริมาณการบริโภค เนื่องจากในแต่ละวัน ร่างกายเราไม่ควรบริโภคน้ำมันเกิน 9 ช้อนชา ในคนที่ร่างกายแข็งแรง ไม่มีน้ำหนักเกิน และไม่ควรเกิน 6 ช้อนชา ในคนที่มีภาวะอ้วน น้ำหนักเกิน หรือผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ รวมถึงต้องปรับพฤติกรรมการกินควบคู่ไปด้วย

          นอกจากนี้การกินน้ำมันมะพร้าวภายในครั้งเดียวร่างกายอาจรับไม่ได้ ดังนั้น ควรจะแบ่งรับประทาน หรืออาจนำน้ำมันมะพร้าวไปเป็นส่วนหนึ่งในการปรุงประกอบอาหาร เช่น นำไปผัดอาหารแทนน้ำมันชนิดอื่น ๆ และควรลดการรับประทานไขมันชนิดอื่น ๆ ในแต่ละมื้อด้วย

          อ้อ ! ควรเลือกผลิตภัณฑ์น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ด้วยนะคะ

น้ำมันมะพร้าว ทำอาหารได้ไหม 

น้ำมันมะพร้าว

          น้ำมันมะพร้าวสามารถนำไปปรุงอาหารได้เหมือนกับน้ำมันชนิดอื่น ซึ่งเราสามารถใช้น้ำมันมะพร้าวแทนเนย และมาร์การีน ที่จะช่วยเพิ่มความหอมอร่อยให้กับเมนูอาหารนั้น ๆ น่ารับประทานขึ้นอีกด้วย 

น้ำมันมะพร้าว มีข้อเสียไหม

          ข้อดีของน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น คือ เป็นน้ำมันมะพร้าวจากธรรมชาติที่มีความบริสุทธิ์ค่อนข้างสูง ดังนั้น จึงก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ยาก สามารถใช้ได้กับผิวที่บอบบาง แม้แต่ในเด็กทารกก็สามารถใช้น้ำมันมะพร้าวบำรุงผิวพรรณได้

          อย่างไรก็ตาม การบริโภคน้ำมันมะพร้าวก็อย่างที่บอกว่าควรกินในปริมาณที่เหมาะสม ไม่ควรกินไขมันเกิน 30% ของพลังงานที่ร่างกายควรได้รับทั้งหมด เช่น หากต้องการพลังงานวันละ 2,000 กิโลแคลอรี ก็ควรกินไขมันไม่เกิน 700 กิโลแคลอรี เป็นต้น เพราะถ้าหากรับประทานไขมันเกินกว่าความต้องการของร่างกาย ร่างกายกำจัดออกไม่หมด ก็เกิดการสะสมได้ไม่ต่างจากไขมันประเภทอื่น

น้ำมันมะพร้าว บ้วนปากดีจริงหรือ

          ขอเตือนเลยนะคะว่า ไม่ควรใช้น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นไปบ้วนปาก เพราะน้ำมันมะพร้าวอาจไหลลงปอด ก่อโรคปอดอักเสบได้ เนื่องจากน้ำมันมีน้ำหนักเบากว่าน้ำ หากเราอมน้ำมันมะพร้าวไว้ในปากก็มีโอกาสเล็ดลอดเข้าไปสะสมในปอดและก่อโรคได้

น้ำมันมะพร้าว ช่วยลดความอ้วนได้จริงไหม

          หากกินน้ำมะพร้าววันละ 2-3 ช้อนโต๊ะ เพื่อหวังผลให้ลดความอ้วนนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะแม้น้ำมันมะพร้าวจะมีไขมันน้อยกว่าน้ำมันชนิดอื่น แต่ก็ยังจัดเป็นอาหารที่มีไขมันสูงถึง 8.6 กิโลแคลอรีต่อกรัม ขณะที่อาหารประเภทโปรตีน หรือคาร์โบไฮเดรต ให้พลังงานเพียง 4 กิโลแคลอรีต่อกรัมเท่านั้น ทั้งนี้ การที่จะลดความอ้วนได้ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น หากรับประทานอาหารกลุ่มแป้ง ไขมัน มากเกินไป และไม่ได้ออกกำลังกายเพื่อเผาผลาญเลย ยังไงก็อ้วน

          ดังนั้น ถ้าต้องการกินน้ำมันมะพร้าวก็ไม่ควรกินเพื่อต้องการลดความอ้วน และอาจบริโภคน้ำมันมะพร้าวให้เป็นส่วนหนึ่งของอาหารในชีวิตประจำวันแต่พอประมาณ เช่น ใช้น้ำมันมะพร้าวแทนน้ำมันประเภทอื่น เป็นต้น

น้ำมันมะพร้าว ทาหน้าได้ไหม 

          น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นสามารถนำมาทาหน้าได้นะคะ โดยเฉพาะสาวผิวแห้ง เพียงแต่มีข้อควรรู้ในการใช้อยู่บ้าง เรามาอ่านกันดีกว่าว่า ควรใช้น้ำมันมะพร้าวทาหน้าอย่างไร 

          - ทาตอนกลางคืนดีกว่ากลางวัน เพราะน้ำมันมะพร้าวมีคุณสมบัติอุ้มแสง อาจทำให้ผิวหน้าเราคล้ำลงบ้าง แต่สีผิวก็จะสม่ำเสมอกัน เพราะน้ำมันมะพร้าวมีคุณสมบัติกระจายแสง 

          - สามารถผสมกับไนท์ครีมที่ใช้อยู่เป็นประจำได้ โดยการหยดน้ำมันมะพร้าวประมาณ 1-2 หยด ผสมกับไนท์ครีมที่ใช้อยู่ประจำ จะช่วยเก็บล็อกความชุ่มชื้นให้ผิวยามหลับได้ดี 

          - หากเป็นคนผิวหน้ามัน และผิวแพ้ง่าย ควรหลีกเลี่ยง เพราะจะยิ่งทำให้สิวขึ้นเห่อ 

          - ใช้มาสก์หน้าเพิ่มความชุ่มชื้นได้ นำสำลีชุบน้ำอุ่นบีบให้หมาด แล้วหยดน้ำมันมะพร้าวประมาณ 1-2 หยดบนสำลี เช็ดเบา ๆ ให้ทั่วใบหน้าโดยไม่ต้องล้างออก 

น้ำมันมะพร้าวทำผิวสีแทน ได้ไหม 

          ความมหัศจรรย์ของน้ำมันมะพร้าวไม่ได้มีแค่เรื่องบำรุงสุขภาพอย่­างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีความพิเศษอีกข้อคือ สามารถทำให้ผิวขาว ๆ ของเรากลายเป็นผิวสีแทนสวยได้ เพราะน้ำมันมะพร้าวมีจุดเดือดสูง จึงไม่ไวต่อแสง แต่สามารถอุ้มแสงและกระจายแสงได้ดี หากเราทาหลังออกแดด สีผิวของเราจะถูกปรับสภาพให้คล้ำลงอย่างสม่ำเสมอกัน และคล้ำลงแบบดูสุขภาพผิวดีด้วย 

น้ำมันมะพร้าวกับ 10 ประโยชน์ความงามที่น่าลอง 

          นอกจากประโยชน์ด้านสุขภาพแล้ว น้ำมันมะพร้าวยังมีคุณสมบัติบำรุงความงามตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท­้าได้อีกด้วย มาอ่านกันดีกว่า 

 1. หมักผม 

น้ำมันมะพร้าว

          หากนำน้ำมันมะพร้าวไปหมักผม ก็ควรจะสระด้วยยาสระผมอีกครั้ง และล้างออกด้วยน้ำอุ่น จะทำให้ความมันบนเส้นผมลดลง เส้นผมจะนุ่มขึ้นและดูเงางาม 

 2. น้ำมันนวดตัว (Body Oil) 

          น้ำมันมะพร้าวสามารถเป็นน้ำมันสำหรับนวดสปาได้ สามารถผสมน้ำมันหอมระเหยเข้าไปด้วยประมาณ 2-3 หยด เพิ่มความผ่อนคลาย 

 3. ลิปบาล์ม 

          เพิ่มความชุ่มชื้นให้เรียวปากด้วยน้ำมันมะพร้าว แค่หยดบนนิ้วมือ ทาบาง ๆ บนริมฝีปาก ก็จะช่วยให้เรียวปากไม่แห้งตึงแล้ว 

 4. บำรุงเล็บ 

น้ำมันมะพร้าว

          น้ำมันมะพร้าวช่วยเพิ่มความแข็งแรงของเล็บและจมูกเล็บได้ ทำให้เรียวมือของเราเต่งตึง ไม่เหี่ยวย่น 

 5. รอยคล้ำใต้ดวงตา 

          ผิวบริเวณใต้ดวงตานั้นมีความบอบบางมาก สามารถเกิดริ้วรอยเหี่ยวย่น ถุงใต้ตา หรือรอยคล้ำใต้ตาได้ง่าย น้ำมันมะพร้าวก็มีคุณสมบัติบำรุงผิวรอบดวงตาได้เหมือนกับอายครี­ม 

 6. บำรุงเส้นผม 

          หากลองใช้น้ำมันมะพร้าวปริมาณเท่าเมล็ดถั่วบำรุงเส้นผม จะช่วยเพิ่มความหนา ลดอาการชี้ฟู ขาดเส้น และหลุดร่วงได้ 

 7. เพิ่มความฉ่ำวาวให้ผิวหน้า 

          เราสามารถใช้น้ำมันมะพร้าวเพิ่มความฉ่ำวาวให้ผิวหน้าเราได้เหมื­อนการลงเมคอัพไฮไลต์ เช่น ทาบริเวณโหนกแก้ม เปลือกตา หรือโหนกคิ้ว ก็จะทำให้ผิวหน้าเราดูเปล่งปลั่ง มีสุขภาพดี 

 8. เมคอัพ รีมูฟเวอร์ 

          ใช้น้ำมันมะพร้าว 1 ช้อนโต๊ะ หรือน้อยกว่านี้ก็ได้ ช่วยลบเมคอัพได้ ใช้สำลีชุบน้ำมันมะพร้าวเช็ดเบา ๆ บนเมคอัพ ล้างออกด้วยน้ำอุ่น 

 9. บอดี้สครับ 

          ผสมเกลือและน้ำตาลในอัตราส่วนเท่ากัน นำไปละลายในน้ำมันมะพร้าว ใช้ขัดผิวในบริเวณที่ต้องการ ช่วยขจัดเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว ทำให้ผิวนุ่มขึ้น ใช้ขัดข้อศอกและหัวเข่าที่ด้าน หากต้องการเพิ่มกลิ่นหอมที่ผ่อนคลายมากขึ้น ก็หยดน้ำมันหอมระเหยเพิ่มเข้าไปได้ 

 10. ครีมกำจัดขน 

น้ำมันมะพร้าว

          ครีมกำจัดขนที่ใช้อยู่หมด ไม่ต้องห่วงเลย ถ้าเรามีน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นซะอย่าง เพียงแค่นำไปผสมกับน้ำอุ่นให้ร้อนเล็กน้อย ชโลมให้ทั่วผิวบริเวณที่ต้องการจะโกนขน ก็จะโกนได้เกลี้ยงเกลา ไม่เกิดการระคายเคือง ผิวเนียนนุ่ม 

น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น วิธีการทำที่หลายคนอยากรู้ 

          เคยสงสัยกันบ้างไหมว่า น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นราคาแพง ๆ แพ็กเกจสวย ๆ ในซูเปอร์มาร์เกตนั้น มีขั้นตอนการทำอย่างไรบ้าง แล้วเราสามารถทำเองได้ไหม เราขอตอบเลยว่า ทำได้ ลองทำตามสูตรนี้เลย 

           1. เก็บมะพร้าวงอก หรือมะพร้าวที่มีจาว 

           2. นำมะพร้าวที่ขูดได้ ผสมน้ำเปล่า ในอัตราส่วน หัวกะทิ 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ 1 ลิตร เพื่อนำไปคั้นเป็นน้ำกะทิ 

           3. นำน้ำกะทิมากรองใส่ถัง แล้วผสมกับน้ำกะทิที่ได้ คนให้เข้าเนื้อกัน 

           4. ครอบฝาโดยการแง้มไว้ อย่าปิดแน่น ทิ้งไว้ประมาณ 14-20 ชั่วโมง หรือประมาณ 1 คืนกว่า ๆ เพื่อให้กะทิและน้ำมันแยกชั้น โดยส่วนที่เราต้องการคือตรงกลาง เป็นส่วนของน้ำมัน 

           5. เอาน้ำที่แยกชั้นอยู่ด้านล่างออก โดยการดูดด้วยสายยางขนาดเล็ก กรณีใส่ถังที่มีก๊อกก็ปล่อยน้ำส่วนล่างออก 

           6. ใช้ช้อนตักส่วนที่เป็นขี้มันด้านบนออก แล้วตักน้ำมันมะพร้าวแยกไว้ต่างหาก ส่วนน้ำมันที่เหลือชั้นล่างสามารถนำไปทำน้ำมันเกรดสอง หรือใช้ในการประกอบอาหาร 

           7. ตักส่วนที่เป็นน้ำมันออกมา นำไปกรองด้วยกระชอน 2 ใบซ้อนกัน แต่การซ้อนของกระชอนจะต้องรองด้วยกระดาษทิชชูที่มีความหนาเล็กน้อยซ้อนกันประมาณ 6 ชั้น ส่วนที่ไหลผ่านกระชอนก็คือ น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น 

           8. นำไปบรรจุขวดที่มีฝาปิดสนิท 

การเก็บรักษาน้ำมันมะพร้าว 

น้ำมันมะพร้าว

          น้ำมันชนิดอื่น ๆ หากนำไปแช่ตู้เย็น ก็ยังคงสภาพเป็นของเหลว แต่สำหรับน้ำมันมะพร้าวนั้นสามารถแข็งตัวได้ที่อุณหภูมิต่ำกว่า­ 25 องศาเซลเซียส ซึ่งวิธีการเก็บรักษาน้ำมันมะพร้าวไม่ให้เสียเร็วก่อนวันหมดอาย­ุ หรือมีกลิ่นหืน ก็ควรจะบรรจุในภาชนะที่มีฝาปิดสนิท เก็บในอุณหภูมิห้อง และไม่ควรโดนแสงแดด กรณีนำไปแช่ไว้ในตู้เย็นแล้วเป็นไข ก็สามารถทำให้ละลายได้โดยการอุ่นด้วยความร้อน 

น้ำมันมะพร้าวที่เสียแล้ว เป็นอย่างไร 

          วิธีการสังเกตน้ำมันมะพร้าวที่เสียแล้วนั้นง่ายมาก คือ สีจะเปลี่ยนจากใสกลายเป็นเหลืองอ่อน ๆ หรือมีความขุ่น มีการตกตะกอน ซึ่งปัจจัยที่ทำให้น้ำมันมะพร้าวเสียเร็วนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าการเก็บรักษาหลังการใช้ เช่น ปิดฝาไม่สนิท มีสิ่งเจือปนอื่น ๆ เก็บในที่ที่มีแสงแดดส่องเป็นเวลานาน เป็นต้น 

          อย่างไรก็ตาม การใช้น้ำมันมะพร้าวบำรุงสุขภาพนั้น หากต้องการให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี ก็ควรดูตามความเหมาะสมของสุขภาพเราด้วย เพราะถึงแม้ว่าจะมีประโยชน์มากมาย แต่ก็ยังเป็นน้ำมันอยู่ดี หากร่างกายได้รับในปริมาณมาก ผลลัพธ์ก็อาจตรงกันข้ามก็ได้ 

* หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
น้ำมันมะพร้าว ตัวช่วยสุขภาพดี ที่หลายคนมองข้าม อัปเดตล่าสุด 1 พฤศจิกายน 2564 เวลา 13:59:28 631,133 อ่าน
TOP