ไข้กาฬหลังแอ่น เช็กอาการโรคติดต่ออันตราย อาจตายได้เฉียบพลัน

          โรคไข้กาฬหลังแอ่น อาการป่วยร้ายแรงที่ติดต่อผ่านทางการสัมผัสและหายใจ สามารถเสียชีวิตได้ภายในไม่กี่วันหากรักษาไม่ทัน 
ไข้กาฬหลังแอ่น
ภาพจาก : กองโรคติดต่อทั่วไป

          "โรคไข้กาฬหลังแอ่น" แค่ฟังชื่อก็ดูน่ากลัว ยิ่งได้ยินว่าเป็นโรคที่คร่าชีวิตคนได้ภายในไม่กี่วัน ก็ยิ่งผวา แต่จริง ๆ แล้วไม่ต้องตื่นตระหนกขนาดนั้น กระปุกดอทคอม จะพาไปทำความเข้าใจกับโรคชื่อแปลก ๆ ชนิดนี้

ไข้กาฬหลังแอ่น คือโรคอะไร


          ได้ยินชื่อผ่าน ๆ คงสงสัยว่าทำไมชื่อแปลกประหลาดอย่างนี้ แล้วเกี่ยวกับ "นกนางแอ่น" หรือไม่ ซึ่งจริง ๆ ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันเลย ที่เรียกว่า "หลังแอ่น" เพราะผู้ป่วยโรคนี้อาจมีอาการชักเกร็ง หลังแอ่นแข็ง ส่วนชื่อโรคไข้กาฬ มาจากความรุนแรงของโรค ซึ่งทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ภายในเวลาอันสั้น

          โรคไข้กาฬหลังแอ่น เป็นโรคร้ายแรงโรคหนึ่งที่พบได้ทั่วโลก และรู้จักกันมานานแล้ว ไม่ใช่โรคใหม่ มีชื่อทางการแพทย์ว่า Meningococcemia (การติดเชื้อไข้กาฬหลังแอ่นในเลือด) หรือ Meningococcal meningitis (เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อไข้กาฬหลังแอ่น) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Neisseria meningitidis ซึ่งเป็นเชื้อกรัมลบรูปทรงกลมจำพวกเดียวกับเชื้อหนองในแท้ หรือ Neisseria gonorrhoeae แต่อาการของโรครุนแรงกว่ามาก สามารถทำให้ผู้ป่วยถึงแก่ชีวิตได้หากเกิดอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือแพร่กระจายในกระแสโลหิต โดยเชื้อตัวนี้แบ่งออกเป็น 13 กลุ่ม แต่กลุ่มที่ทำให้เกิดโรคได้บ่อยได้แก่ สายพันธุ์ บี และซี

ไข้กาฬหลังแอ่น เคยระบาดในประเทศไทยหรือไม่


          อาจเป็นเพราะโรคนี้ไม่ได้ระบาดรุนแรงและเป็นวงกว้างเหมือนกับอหิวาตกโรค หรือไข้หวัดใหญ่ ทำให้คนไม่ค่อยรู้จัก แต่จริง ๆ แล้วในประเทศไทยเคยมีการระบาดของโรคนี้หลายครั้ง แต่มักระบาดเฉพาะพื้นที่นั้น ๆ ในวงจำกัด เช่น ติดต่อกันในชุมชนเดียวกัน ในหอพัก ห้องเรียน ในบ้านเดียวกัน มีผู้ป่วยจำนวนน้อยในแต่ละปี ซึ่งหากพบต้องรายงานต่อกรมควบคุมโรคติดต่อ เพราะจัดเป็นโรคติดต่อร้ายแรงชนิดหนึ่ง มีอัตราการเสียชีวิตสูง

          ทั้งนี้ผู้ป่วยที่พบส่วนใหญ่อยู่ในวัยเด็ก หนุ่มสาว หรือผู้ใหญ่อายุน้อย จากสถิติย้อนหลังพบผู้ป่วยโรคนี้เฉลี่ย 20-50 คนต่อปี เสียชีวิตไม่เกินปีละ 10 คน และจำนวนผู้ป่วยค่อนข้างคงที่ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา 

ไข้กาฬหลังแอ่นติดต่อกันได้ทางไหน


          โรคนี้มีระยะฟักตัวอยู่ระหว่าง 2-10 วัน (เฉลี่ย 3-4 วัน) แต่สามารถติดกันได้ตั้งแต่ 7 วันก่อนมีอาการ เป็นโรคติดต่อทางการหายใจ ผ่านทางการไอ หรือจาม การสัมผัสสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย เสมหะ น้ำมูก จากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ เช่น จูบปาก เป่าปาก ใบหน้าใกล้ชิดกันเป็นเวลานาน สูบบุหรี่ร่วมกัน ดื่มน้ำแก้วเดียวกัน การผายปอดช่วยชีวิต

          อย่างไรก็ตาม บางคนติดเชื้อแล้วไม่มีอาการ เป็นเพียงพาหะเท่านั้น เพราะมีภูมิคุ้มกันที่สร้างไว้ในวัยเด็กหลงเหลืออยู่จึงสามารถต้านเชื้อชนิดที่ก่อโรครุนแรงได้

          แต่หากผู้นั้นมีปัจจัยภายในตัวเองผิดปกติ เช่น ร่างกายไม่สร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรคนี้ หรือเชื้อสามารถเล็ดลอดเข้าสู่กระแสโลหิต หรือระบบประสาทส่วนกลางได้ อาการของโรคจะรุนแรง ซึ่งมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ดังนั้นการพบโรคนี้จึงมีเป็นระยะ ๆ (Sporadic) ไม่สัมพันธ์กับฤดูกาลแต่อย่างใด เนื่องจากเกี่ยวข้องกับปัจจัยภายในร่างกายผู้ป่วยเอง

ไข้กาฬหลังแอ่น

ไข้กาฬหลังแอ่น อาการบ่งชี้ที่ต้องเฝ้าระวัง


          อย่างที่บอกว่าเมื่อรับเชื้อเข้าไปแล้ว เชื้อจะเข้าไปอยู่ในลำคอ หากคนไหนมีภูมิคุ้มกันแข็งแรง ก็จะไม่เกิดอาการใด ๆ จะเป็นเพียงพาหะเท่านั้น แต่หากใครมีร่างกายอ่อนแอ เชื้อในลำคอจะเพิ่มจำนวนแล้วเข้าสู่กระแสเลือดเพื่อไปยังเยื่อหุ้มสมอง ทำให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis)

          ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายไข้หวัด โดยเริ่มจากการเจ็บคอ ไอ ปวดศีรษะและกล้ามเนื้อ ตามด้วยไข้สูงและมีอาการซึม หากเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดจะมีอาการรุนแรงและรวดเร็ว ผู้ป่วยราว ๆ ร้อยละ 75 จะมีผื่นขึ้นตามตัว ลักษณะคล้ายจุดเลือดออก และเป็นแฉกคล้ายดาวกระจาย ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรค มักเป็นบริเวณลำตัวส่วนล่าง ขา เท้า และบริเวณที่มีแรงกดบ่อย ๆ เช่น ขอบกางเกง ขอบถุงเท้า เยื่อบุตา หรือมือ แต่อาจพบผื่นลักษณะอื่นด้วยได้

          หากมีการติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมองจะปวดศีรษะอย่างรุนแรง อาเจียน คอแข็ง ไม่ค่อยรู้สึกตัว สับสน อาจมีอาการชักเกร็ง หลังแอ่นแข็งได้ ในรายที่รุนแรงจะมีเลือดออกในลำไส้และต่อมหมวกไต รวมทั้งภาวะที่เลือดจับตัวกันเป็นลิ่มทั่วร่างกาย (Waterhouse-Friderichsen Syndrome) จนเกิดอาการช็อกและเสียชีวิตในที่สุด โดยอาการทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นภายในระยะเวลาอันสั้น อาจเสียชีวิตได้ภายใน 48 ชั่วโมง

          อัตราการเสียชีวิตขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ในรายที่รุนแรงมีโรคแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อในเลือด มีภาวะช็อก ความดันโลหิตต่ำร่วมด้วย จะเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว อัตราตายสูงถึง 70-80% ของผู้ป่วยทั้งหมด ส่วนในรายที่มีเยื่อหุ้มสมองอักเสบโดยไม่มีการติดเชื้อในเลือด จะมีอัตราตายต่ำกว่ามาก ประมาณ 2-10% ของผู้ป่วยทั้งหมด อย่างไรก็ดี หากได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงทีจะช่วยลดอัตราการตายได้ 

          สรุปก็คือลักษณะสำคัญที่บ่งชี้ว่าเป็นไข้กาฬหลังแอ่นก็คือ มีไข้ ขึ้นผื่นเป็นแฉก ๆ คล้ายรูปดาวกระจาย และเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หากเด็กหรือผู้ใหญ่อายุน้อยมีอาการลักษณะนี้ให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วน เพราะเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ หากรักษาไม่ทันอาจเสียชีวิตได้

ไข้กาฬหลังแอ่น รักษาอย่างไร


          แม้จะเป็นโรคติดต่ออันตรายที่เป็นแล้วมีอัตราการเสียชีวิตสูง แต่หากรู้ตัวเร็วว่าป่วย แล้วรีบรักษา จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้ โดยเมื่อไปพบแพทย์ แพทย์จะทำการสอบถามประวัติความเจ็บป่วย ตรวจร่างกายผู้ป่วย ควรแจ้งแก่แพทย์ด้วยว่ามีโรคประจำตัวใดหรือไม่ แพ้ยาใดหรือไม่ เนื่องจากแพทย์จะต้องพิจารณาให้ยาต้านจุลชีพโดยเร็ว

          จากนั้นแพทย์จะทำการเพาะเชื้อในเลือดและน้ำไขสันหลัง แล้วจะเริ่มให้ยาต้านจุลชีพโดยการฉีด ยาที่มักจะเลือกใช้ คือ ยากลุ่ม penicillin หรือ cephalosporins ร่วมกับการรักษาประคับประคอง เช่น ให้น้ำเกลือแก้ไขภาวะขาดน้ำเกลือแร่ กรดด่างไม่สมดุล

          แต่หากเกิดภาวะแทรกซ้อน ผู้ป่วยอาจได้รับผลกระทบทางร่างกาย เช่น อาจเกิดสมองเสื่อม ปัญญาอ่อน หรือหูหนวกได้ หรือหากมีการติดเชื้อในกระแสเลือดชนิดรุนแรง ตามปลายนิ้วมือ ปลายนิ้วเท้าอาจเกิดการเน่าตาย แพทย์อาจต้องตัดแขน ขา เพื่อรักษาชีวิต หรือหากผู้ป่วยมีภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หากรอดชีวิตก็อาจเป็นอัมพฤกษ์ หรืออัมพาตครึ่งซีกของร่างกายได้

ไข้กาฬหลังแอ่น ป้องกันได้หรือไม่ ก่อนโรคร้ายคุกคาม


          แม้โรคนี้จะอันตราย แต่สามารถป้องกันได้ด้วย 2 วิธี คือ

           1. กินยาต้านจุลชีพ เช่น ยากลุ่ม rifampicin หรือ ciprofloxacin

           2. ฉีดวัคซีนป้องกันโรค ในประเทศไทยมีวัคซีนที่สามารถป้องกันไข้กาฬหลังแอ่นได้เฉพาะสายพันธุ์  A, C, Y, W-135 แต่ในประเทศไทยมักพบการระบาดของสายพันธุ์ A และ B ซึ่งสายพันธุ์ที่พบบ่อยสุดคือ B และมีวัคซีนแล้วในต่างประเทศ แต่ยังไม่มีวัคซีนที่ครอบคลุมสายพันธุ์ B ในไทย

ไข้กาฬหลังแอ่น

          สำหรับการจะฉีดวัคซีนได้ต้องทราบสายพันธุ์ที่ระบาดในพื้นที่นั้นก่อน อย่างไรก็ตาม ประชาชนทั่วไปไม่จำเป็นต้องป้องกันโรคนี้ด้วยการกินยาต้านจุลชีพ และฉีดวัคซีน เพราะมักจะใช้ในกลุ่มที่มีความเสี่ยง เช่น

          - คนที่จะเดินทางเข้าไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคเป็นประจำ เช่น ประเทศในแถบแอฟริกา

          - กลุ่มผู้แสวงบุญในพิธีฮัจญ์และอุมเราะห์ โดยประเทศซาอุดีอาระเบียได้กำหนดไว้ว่าต้องฉีดวัคซีนชนิดนี้ก่อนเข้าร่วมพิธี

          - คนที่อยู่อาศัยในเขตที่มีการระบาด

          - ครอบครัวของผู้ป่วย คนที่อยู่ในบ้าน และละแวกเดียวกัน ซึ่งมีโอกาสติดเชื้อจากผู้ป่วยได้

          - ผู้ที่จะเดินทางเข้าไปในเขตที่มีโรคชุกชุม

          - นักเรียน นักศึกษา ที่จะเดินทางไปเรียนในสหรัฐอเมริกา (ซึ่งมีข้อกำหนดให้ฉีดวัคซีนชนิดนี้ก่อนเข้าไป) รวมทั้งบางประเทศในทวีปยุโรป เช่น อังกฤษ

          - กลุ่มแพทย์ พยาบาล

          ทั้งนี้วัคซีนดังกล่าวไม่ได้ฉีดให้คนทั่วไป จึงไม่มีในโรงพยาบาล หากจำเป็นต้องฉีดวัคซีนติดต่อได้ที่

          - คลินิกเวชศาสตร์ท่องเที่ยวและการเดินทาง โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล
          - สถานเสาวภา สภากาชาดไทย
          - สถาบันบำราศนราดูร กระทรวงสาธารณสุข
          - กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข
          - ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา  
          - สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 14 จังหวัดภาคใต้

          นอกเหนือจากการให้ยาและฉีดวัคซีนแล้ว อีกทางที่ป้องกันได้ก็คือ

          - ดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อจะได้มีภูมิต้านทางโรค
          - ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในแหล่งชุมชนที่หนาแน่น ขาดระบบสุขาภิบาลที่ดี
          - ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แออัดไม่มีอากาศถ่ายเทเป็นเวลานาน
          - ล้างมือบ่อย ๆ
          - นอนพักผ่อนให้มาก ๆ
          - อย่าไอ จาม หายใจรดกัน
          - อย่าดื่มน้ำแก้วเดียวกับผู้อื่น หรือสูบบุหรี่มวนเดียวกับผู้อื่น
          - ล้างมือเมื่อสัมผัสถูกน้ำมูกและน้ำลายของผู้อื่น

          ซึ่งการป้องกันตัวเองด้วยวิธีข้างต้นนี้จะช่วยป้องกันโรคต่าง ๆ ได้ ไม่ใช่แค่โรคไข้กาฬหลังแอ่นเท่านั้น

          ทำความเข้าใจกับโรคนี้แล้วก็คงรู้แล้วว่า ไข้กาฬหลังแอ่น ไม่ใช่โรคใหม่ หากเราไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงก็ไม่ต้องตื่นตระหนกจนเกินไปนัก แต่การได้รู้ว่าอาการของโรคนี้เป็นอย่างไร เมื่อเจอคนใกล้ตัวหรือใครมีอาการต้องสงสัย จะได้รักษาอย่างทันท่วงที เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตได้


* หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 28 พฤศจิกายน 2565


ขอบคุณภาพจาก : กองโรคติดต่อทั่วไป

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไข้กาฬหลังแอ่น เช็กอาการโรคติดต่ออันตราย อาจตายได้เฉียบพลัน อัปเดตล่าสุด 28 พฤศจิกายน 2565 เวลา 14:40:36 59,576 อ่าน
TOP
x close