x close

โรคมือเท้าปาก อาการที่มักระบาดในหน้าฝน


           โรคมือเท้าปาก เกิดจากอะไร ทำไมโรคมือเท้าปาก ถึงมักระบาดในช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะกับเด็กเล็ก มาเช็กอาการของโรคนี้ พร้อมวิธีป้องกันดีกว่า

          แม้กระทรวงสาธารณสุขจะออกมายืนยันว่า โรคมือเท้าปากเป็นโรคที่เกิดขึ้นทุกปีในประเทศไทย และไม่ใช่โรคร้ายแรงแต่อย่างใด แต่ในประเทศไทยเองก็พบผู้ติดเชื้อจนมีผู้เสียชีวิตทุกปี แม้จะเป็นจำนวนไม่มากนัก ซึ่งก็ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองตื่นตกใจกันไม่น้อย เพราะส่วนใหญ่โรคนี้จะเกิดขึ้นกับเด็ก ๆ

          เชื่อว่าตอนนี้หลายคนคงกำลังหาข้อมูลกันอยู่ว่า โรคมือเท้าปาก เกิดจากอะไร แล้วจริง ๆ โรคนี้อันตรายหรือไม่ หรือจะป้องกันตัวเองให้รอดพ้นจากโรคมือเท้าปาก ได้อย่างไร กระปุกดอทคอมขอนำข้อมูลมาบอกต่อกันในวันนี้ค่ะ

มือเท้าปาก

โรคมือเท้าปาก เกิดจากอะไร

          โรคมือเท้าปาก หรือ Hand, Foot and Mouth Disease บางคนเรียกติดปากว่า โรคมือเท้าปากเปื่อย หรือโรคปากเท้าเปื่อย ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะโรคปากเท้าเปื่อยเป็นโรคที่เกิดกับวัวและกระบือ

          สาเหตุโรคมือเท้าปากเกิดจากการติดเชื้อไวรัสลำไส้ หรือเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus)
โดยพบการระบาดของโรคมือเท้าปาก เมื่อปี พ.ศ. 2500 กับเด็กในเมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา โดยผู้ป่วยจะมีอาการไข้และยังมีตุ่มน้ำใสในช่องปาก มือ และเท้า

          ต่อมายังพบการระบาดกับกลุ่มเด็กในเมืองเบอร์มิงแฮม เมื่อปี พ.ศ. 2502 เช่นกัน จนได้มีการเรียกกลุ่มอาการที่พบนี้ว่า Hand-Foot-and Mouth Disease (HFMD) หลังจากนั้นก็มีรายงานการระบาดของโรคมือเท้าปากจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

          ทั้งนี้ โรคมือเท้าปากจะมีการระบาดแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ หากเป็นประเทศเขตหนาวจะพบในช่วงฤดูร้อน และต้นฤดูใบไม้ร่วง ส่วนประเทศเขตร้อนชื้นจะพบได้ตลอดทั้งปี แต่จะระบาดมากในช่วงฤดูฝนที่มีอากาศร้อนชื้น และมักพบในกลุ่มเด็กทารก และเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี

โรคมือเท้าปาก ติดต่อกันได้ทางไหน

          โรคมือเท้าปากสามารถติดต่อกันได้ง่าย ๆ โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์แรกของการป่วย สามารถติดต่อได้โดย

          - การสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่ง ทั้งจากจมูก, ลำคอ และน้ำจากในตุ่มใส (Respiratory route) โดยเชื้อโรคอาจติดมากับสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ หรือการไอจามรดกันก็ได้

          - ทางอุจจาระของผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสอยู่ (fecal - oral route ) โดยช่วงที่แพร่กระจายมากที่สุด คือ ในสัปดาห์แรกที่ผู้ป่วยมีอาการ และจะยังแพร่เชื้อได้จนกว่ารอยโรคจะหายไป แต่ก็ยังพบเชื้อในอุจจาระผู้ป่วยต่อได้อีกประมาณ 2-3 สัปดาห์

          ทั้งนี้เชื้อเอนเทอโรไวรัสสามารถทนสภาวะกรดในทางเดินอาหารมนุษย์ได้ และมีชีวิตอยู่ในอุณหภูมิห้องได้ 2-3 วัน โรคนี้ไม่สามารถติดต่อจากคนสู่สัตว์ หรือจากสัตว์สู่คนได้


โรคมือเท้าปาก

โรคมือเท้าปาก อาการที่สังเกตเห็นเด่นชัด

          โดยทั่วไป โรคมือเท้าปากมักจะมีอาการไม่รุนแรง โดยจะมีระยะฟักตัวประมาณ 3-6 วัน และมีอาการเริ่มต้นคือ เป็นไข้ต่ำ ๆ มีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว ประมาณ 1-2 วัน จากนั้นจะเริ่มเจ็บปาก ไม่ยอมทานอาหาร เพราะมีตุ่มแดงที่เหงือก ลิ้น กระพุ้งแก้ม โดยตุ่มนี้จะกลายเป็นตุ่มพองใส รอบแผลจะอักเสบแดง ต่อมาตุ่มจะแตกออกเป็นแผลหลุมตื้น จากนั้นจะพบตุ่มหรือผื่น (มักไม่คัน) ที่ฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า และอาจพบที่ก้น แขน ขา และอวัยวะสืบพันธุ์ด้วย ในเด็กทารกอาจพบกระจายทั่วตัวได้ ทั้งนี้อาการจะทุเลาและหายเป็นปกติภายใน  7-10 วัน โดยทิ้งรอยแผลเป็นให้เห็น

โรคมือเท้าปาก

          อย่างไรก็ตาม โรคมือเท้าปากอาจแสดงอาการในหลายระบบ เช่น

          1. ระบบทางเดินหายใจ อาจมีอาการเหมือนไข้หวัด ไอ มีน้ำมูกใส เจ็บคอ

          2. ทางผิวหนัง

          3. ทางระบบประสาท เช่น สมอง เยื่อหุ้มสมอง หรือเนื้อสมองอักเสบ

          4. ทางระบบทางเดินอาหาร เช่น อาการท้องเสีย ถ่ายเหลวเป็นน้ำเล็กน้อย ปวดหัว อาเจียน

          5. ทางตา มักพบเยื่อบุตาอักเสบ (chemosis and conjuntivitis) และ

          6. ทางหัวใจ เช่น สามารถทำให้เกิดกล้ามเนื้อหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบได้ ซึ่งอาจมีตั้งแต่อาการเล็กน้อยไปจนถึงอาการ หรือภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง

          ทั้งนี้หากผู้ป่วยเกิดผื่น ตุ่ม ที่มือ เท้า และปากนานเกิน 3 วัน แล้วยังมีอาการซึมตามมาด้วย ให้รีบพบแพทย์ทันที เพราะอาการซึมเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่า เชื้อกำลังเข้าสู่สมองแล้ว และหากปล่อยไว้ไม่ยอมมารักษา เชื้อจะเข้าไปในสมองส่วนที่ควบคุมการทำงานของหัวใจ จนทำให้หัวใจล้มเหลว และเกิดน้ำท่วมปอดจนเสียชีวิตได้

มือเท้าปาก

โรคมือเท้าปาก รักษาอย่างไร

          ปกติแล้วโรคมือเท้าปากสามารถหายได้เองภายใน 7-10 วัน หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน โรคนี้ไม่มียารักษาโดยเฉพาะ เพราะเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส จึงต้องใช้ภูมิคุ้มกันของตัวเองต่อสู้กับเชื้อโรค ทั้งนี้แพทย์จะให้ยารักษาตามอาการ เช่น ให้ยาลดไข้ ยาแก้ปวด

          ในการดูแล ควรเช็ดตัวผู้ป่วยเป็นระยะ ๆ ให้อาหารอ่อน ๆ ดื่มน้ำและผลไม้ และนอนพักผ่อนให้มาก ๆ ถ้าเป็นเด็กเล็กอาจต้องป้อนนมแทนการให้ดูดจากขวดนม

          หลังจากการติดเชื้อผู้ป่วยจะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสที่ก่อโรค แต่อาจเกิดโรคมือเท้าปากซ้ำได้จากเอนเทอโรไวรัสตัวอื่น ๆ ดังนั้นหากผู้ปกครองสังเกตเห็นลูกมีอาการที่อาจมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ไข้สูง ซึม อาเจียนบ่อย ๆ หอบ แขนขาอ่อนแรง ไม่ยอมรับประทานอาหารและนํ้า ก็ควรพาบุตรหลานมาพบแพทย์

 มือเท้าปาก
ภาพจาก frank60 / Shutterstock.com

โรคมือเท้าปาก ป้องกันอย่างไร

          ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคมือเท้าปาก แต่โดยปกติป้องกันโรคมือเท้าปากได้ โดยการรักษาสุขอนามัยที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการรักษาความสะอาด ตัดเล็บให้สั้น หมั่นล้างมือด้วยน้ำสบู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะหลังการขับถ่ายและก่อนรับประทานอาหาร รวมทั้งใช้ช้อนกลาง และไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน

          ที่สำคัญคือ ต้องแยกผู้ป่วยที่เป็นโรคออกจากกลุ่มเพื่อนในโรงเรียน สถานเลี้ยงเด็ก โดยไม่ให้เด็กทำกิจกรรมร่วมกับคนอื่น ๆ เป็นเวลา 1 สัปดาห์ และต้องคอยทำความสะอาดพื้น ห้องน้ำ สุขา เครื่องใช้ ของเล่น สนามเด็กเล่น ตลอดจนเสื้อผ้า ที่อาจปนเปื้อนเชื้อด้วยนํ้ายาฆ่าเชื้อที่ใช้ทั่วไปภายในบ้าน

          หากมีเด็กป่วยจำนวนมาก อาจจำเป็นต้องปิดสถานที่ชั่วคราว (1-2 สัปดาห์) และทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรค  โดยอาจใช้สารละลายเจือจางของน้ำยาฟอกขาว 1 ส่วนผสมกับน้ำ 30 ส่วน

ติดต่อขอคำแนะนำเพิ่มเติม

          - สถานบริการสาธารณสุขทุกแห่ง

          - ศูนย์ปฏิบัติการ กรมควบคุมโรค  โทร. 0-2590-3333

          - สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค  โทร. 0-2590-3194

          แจ้งการระบาดของโรคได้ที่ สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค โทร. 0-2590-1882

 
 
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
- สำนักโรคติดต่อทั่วไป
- คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคมือเท้าปาก อาการที่มักระบาดในหน้าฝน อัปเดตล่าสุด 28 เมษายน 2563 เวลา 10:56:59 91,732 อ่าน
TOP