ทำงานหนักมากเกินจนไม่มีเวลาตัวเองระวังให้ดี Burnout Syndrome อาการที่อาจกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้ รีบเช็ก 10 สัญญาณเงียบ และรีบหาทางแก้ไขกันค่ะ
อาการเหน็ดเหนื่อยและเมื่อยล้าทางร่างกายและจิตใจ
เป็นเรื่องปกติที่คนทำงานต้องเจอ เมื่อเจอกับงานหนักมาตลอดทั้งวัน
ซึ่งอาการเหล่านั้นก็สามารถหายไปได้เมื่อได้พักผ่อนอย่างเต็มที่
แต่ถ้าหากพักผ่อนก็แล้ว หากิจกรรมทำเพื่อผ่อนคลายก็แล้ว
แต่ก็ยังรู้สึกหมดไฟในการทำงาน และรู้สึกเหนื่อยอยู่ตลอดเวลาละก็
นั่นอาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณกำลังเป็นโรค Burnout Syndrome ค่ะ
ว่าแต่โรคนี้คือโรคอะไรล่ะ และอาการสังเกตได้จะมีอะไรบ้าง
แล้วถ้าหากเรามีอาการเหล่านั้นจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้โรคนี้คุกคามชีวิตของเรา
ลองไปดูคำตอบที่ Forbes.com นำมาฝากกันค่ะ อย่ามัวแต่ละเลยความเปลี่ยนแปลงทางสุขภาพกายและใจ เพราะนั่นอาจเป็นหนทางนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าที่อันตรายได้นะ
ก่อนที่เราจะไปดูสัญญาณและวิธีป้องกันของโรค Burnout Syndrome นี้ เรามาทำความรู้จักกันก่อนว่า โรคนี้แท้จริงแล้วมีสาเหตุมาจากอะไรและส่งผลเสียต่อร่างกายของเราอย่างไรบ้าง
ทั้งนี้โรคนี้ก็สามารถรักษาได้หากตรวจพบตั้งแต่เนิ่น ๆ การที่คุณปล่อยปละละเลยกับอาการจิตเวชนี้สามารถส่งผลให้เกิดความเสียหายทั้งในด้านสุขภาพ ความสุข ความสัมพันธ์ และประสิทธิภาพในการทำงาน และอาจส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้าที่มีความอันตรายมากกว่าอีกด้วย ซึ่งด็อกเตอร์ Ballard ได้แนะนำวิธีสังเกตอาการจากโรคนี้ง่าย ๆ ดังนี้ค่ะ
1. อ่อนเพลีย
สัญญาณที่ชัดเจนของโรค Burnout Syndrome คือจะรู้สึกเหนื่อย ๆ ตลอดเวลา โดยอาการอ่อนเพลียนี้จะส่งผลกระทบต่อภาวะอารมณ์ สภาพจิตใจ รวมทั้งสภาพร่างกายอีกด้วย
เมื่อคุณรู้สึกว่าตัวเองไม่มีความกระตือรือร้นและรู้สึกหมดแรงจูงใจในการทำงาน นั่นแปลว่าคุณกำลังเป็นโรค Burnout Syndrome ค่ะ วิธีที่สังเกตอาการได้ง่ายที่สุดคือ หากในตอนเช้าคุณรู้สึกไม่อยากไปทำงาน และต้องใช้ความพยายามอย่างมากกว่าจะลากตัวเองออกจากเตียงมาทำงาน ควรจะพบจิตแพทย์เพื่อขอรับคำปรึกษาดีที่สุดค่ะ
อีกอาการที่สามารถบอกได้ว่าคุณกำลังเป็น Burnout Syndrome ก็คือการที่คุณเริ่มจะทำอะไรโดยไม่แคร์ใคร และไม่แยแสกับสิ่งรอบข้าง และเริ่มมีทัศนคติที่ไม่ดีต่องานที่ทำอยู่ มองสิ่งที่ทำอยู่ในแง่ร้ายตลอดเวลา ในขณะที่คนอื่น ๆ ก็อาจจะเกิดความรู้สึกบ้างในบางครั้งเท่านั้น ถ้าหากมีอาการเหล่านี้คุณควรจะรีบพบจิตแพทย์ ก่อนที่อาการนี้จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ค่ะ
อาการของ Burnout Syndrome และความเครียดเรื้อรังจะไปรบกวนจิตใจจะทำให้คุณไม่มีสมาธิ เพราะเมื่อเรากำลังเครียด ความสนใจของเราจะลดน้อยลงและจะให้ความสนใจไปแต่ในสิ่งในแง่ลบ เมื่อถึงเวลาหนึ่งสมองและร่างกายจะจัดการปลดปล่อยความเครียดออกมาเหมือนกับระเบิดลูกย่อม ๆ จากนั้นทุกอย่างก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ถ้าหากความเครียดเหล่านั้นไม่ได้รับการปลดปล่อยออกมาก็อาจจะทำให้คุณมีปัญหาในเรื่องการให้ความสนใจกับสิ่งอื่น ๆ ได้ ซึ่งจะส่งผลต่อการตัดสินใจ การแก้ปัญหา และทำให้คุณขี้ลืมได้เช่นกัน
หากคุณยังไม่แน่ใจว่ากำลังเป็นโรค Burnout Syndrome หรือเปล่า ก็ลองนำผลงานเก่า ๆ ที่คุณเคยทำมาเปรียบกับงานที่คุณกำลังทำอยู่ หากงานในปัจจุบันของคุณไม่ค่อยดีเท่าไร นั่นแปลว่าโรคนี้กำลังเริ่มคุกคามคุณ เพราะความเหน็ดเหนื่อยจะส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานของคุณลดลง ซึ่งหากรีบรักษาก็จะทำให้อาการเหล่านี้หายไปได้
อาการนี้สังเกตได้ง่ายก็คือ หากคุณมีความขัดแย้งกับคนอื่น ๆ ในที่ทำงานมากขึ้น หรือ เริ่มคุยกับเพื่อนร่วมงานและคนในครอบครัวน้อยลง นั่นแปลว่าคุณกำลังมีอาการของโรค Burnout Syndrome และควรรีบรักษาก่อนที่อาการเหล่านั้นจะทำให้ความสัมพันธ์ของคุณกับคนรอบข้างเลวร้ายลงค่ะ
เมื่อผู้ป่วยด้วยโรคนี้เริ่มมีอาการที่รุนแรงขึ้น ก็มักจะแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการต่าง ๆ ที่ผิด เช่น การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ หรือทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ บางรายก็อาจจะนอนไม่หลับทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอ เมื่อพักผ่อนไม่เพียงพอแล้วก็จะแก้ปัญหาด้วยการดื่มกาแฟมากขึ้้นเพื่อให้มีแรงในการทำงาน ส่งผลให้เครียดกว่าเดิมและกลับไปดื่มเหล้ามากขึ้น วนเวียนไปมาไม่จบสิ้น
ความเครียดทำให้คุณเลิกคิดเกี่ยวกับเรื่องงานไมได้ จนทำให้คุณเอาแต่ทำงานจนกลายเป็นคนบ้างาน ทั้ง ๆ ที่เป็นเวลาที่คุณควรจะพักผ่อน ส่งผลให้คุณไม่มีเวลาผ่อนคลายและกลายเป็นโรค Burnout Syndrome นั่นเอง
เมื่อโรคดังกล่าวคุกคามชีวิตคุณจนทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิตและความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ก็จะทำให้คุณมีความสุขและพึงพอใจกับชีวิตส่วนตัวรวมทั้งการทำงานน้อยลง ขนาดแม้แต่สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็อาจจะทำให้คุณรู้สึกไม่พอใจจนทำให้คุณอาจหงุดหงิดไปได้ทั้งวัน
ความเครียดที่สะสมจนเรื้อรังเป็นเวลานานสามารถสร้างปัญหาสุขภาพได้มากมาย เช่น ปัญหาของระบบย่อยอาหาร โรค หัวใจ โรคอ้วน และที่สำคัญที่สุดคือโรคซึมเศร้า ซึ่งมีความอันตรายกว่าโรค Burnout Syndrome มากเลยล่ะค่ะ
Burnout Syndrome รักษาได้ด้วยตนเอง
นอกจากวิธีการสังเกตอาการข้างต้นแล้วอาการโรค Burnout Syndrome ก็สามารถรักษาให้อาการบรรเทาลงได้ด้วยตนเองค่ะ ซึ่งมีวิธีดังต่อไปนี้
1. ผ่อนคลายความเครียด
เมื่อคุณรู้สึกเครียดขึ้นมาเมื่อใด ให้คุณลองหากิจกรรมที่ทำแล้วรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่จะต้องใช้ความคิดอย่างหนัก ลองเปลี่ยนมานั่งสมาธิ ฟังเพลง อ่านหนังสือ ไปเดินเล่น หรือไปเยี่ยมเพื่อนและญาติ ก็ได้ค่ะ กิจกรรมเหล่านี้จะทำให้คุณรู้สึกสบายใจมากขึ้นได้เยอะเลยเชียวล่ะ
2. หากิจกรรมอย่างอื่นทำ
ชีวิตคนเราไม่ได้มีแต่งาน ฉะนั้นนอกเหนือจากเวลางานแล้ว ควรจะมองหากิจกรรมที่สร้างความท้าทายและให้คุณได้ออกไปใช้ชีวิตจริง ๆ อย่างเช่น กีฬา การออกกำลังกาย หรือกิจกรรมที่ทำให้คุณได้มีส่วนร่วมกับชุมชนก็เป็นสิ่งที่ช่วยเยียวยาความเครียดได้ค่ะ
3. เลิกใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
แม้ว่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรืออุปกรณ์สื่อสารบางชิ้นจะเป็นสิ่่งที่ขาดไม่ได้ แต่สำหรับในเวลาพักผ่อน ก็ควรจะออกให้ห่างจากสิ่งของเหล่านี้ เวลาพักผ่อนคือเวลาพักผ่อนค่ะ การที่เรายังเล่นโทรศัพท์มือถือหรือเอาแต่เช็กอีเมลในเวลาพักผ่อนจะทำให้เครียดอยู่เหมือนเดิมค่ะ ฉะนั้นไม่ว่าจะหลังเลิกงานหรือเที่ยวพักร้อน อยู่ให้ไกลจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ดีกว่า
4. นอนหลับให้เพียงพอ
5. จัดระเบียบให้ชีวิต
ความเครียดที่เรื้อรังทำให้ชีวิตยุ่งเหยิง เพราะคุณแทบจะไม่มีสมาธิกับสิ่งอื่น ๆ เลยนอกจากปัญหาที่อยู่ตรงหน้า และพาลทำให้ทุก ๆ อย่างรอบตัวเกิดปัญหาด้วย วิธีแก้ไขก็ไม่ยากค่ะ แค่เพียงเริ่มจัดระเบียบชีวิตของคุณ เรียงลำดับความสำคัญของสิ่งต่าง ๆ ในชีวิต เมื่อคุณจัดสรรชีวิตได้แล้ว ความเครียดก็จะลดลงเองค่ะ
6. ขอความช่วยเหลือ
หากอาการต่าง ๆ ของโรค Burnout Syndrome ที่คุณกำลังประสบอยู่ไม่สามารถรักษาด้วยตนเองได้ ทางที่ดีที่สุดคือคุณควรจะขอความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงาน หรือคนรอบข้าง หรือถ้าหากอาการที่คุณเป็นส่งผลกระทบร้ายแรงต่อชีวิตก็ควรที่จะพบจิตแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างจริงจังค่ะ
ได้รู้จักกับโรคนี้กันไปแล้ว แถมยังได้วิธีการสังเกตอาการรวมทั้งวิธีการรักษาด้วยตนเองด้วย อย่างนี้ใครที่กำลังรู้สึกเครียด ๆ และหมดไฟในการทำงานก็ลองสังเกตตัวเองกันดูนะคะ จะได้รับรักษาการได้ทันท่วงที อย่าปล่อยให้ความเครียดเล็ก ๆ น้อยสะสมจนเรื้อรังจนกลายเป็นโรคซึมเศร้า แบบนี้ไม่คุ้มกันหรอกค่ะ