เริมที่ปาก โรคทางผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อ ที่เกิดได้จากความเครียด และการพักผ่อนไม่เพียงพอ มาดูกันสิว่า เริมที่ปาก เกิดจากอะไร อาการเป็นอย่างไร และวิธีรักษาเริมที่ปากควรทำอย่างไร
หลายคนคงจะเคยประสบกับอาการที่มีตุ่มแดงใส รู้สึกปวดแสบปวดร้อนขึ้นบริเวณปาก ที่เรียกว่าเริมที่ปาก ใช่ไหมคะ ซึ่งอาการของโรคนี้นอกจากจะทำให้รู้สึกปวดแสบปวดร้อนแล้ว ก็ยังสร้างความรำคาญได้อีกด้วย กว่าจะรักษาหายก็กินเวลาเป็นสัปดาห์ แล้วเคยสงสัยไหมคะว่าโรคเริมที่ปากเกิดจากสาเหตุใดกันแน่ เริมที่ปากติดต่อได้หรือเปล่า ควรรักษาอย่างไร วันนี้กระปุกดอทคอมขอหยิบเอาเรื่องโรคเริมที่ปากมาอธิบายให้ทราบกันค่ะ ขอบอกเลยว่าเจ้าโรคนี้สาเหตุที่เกิดได้ง่ายสุด ๆ โดยที่คุณคาดไม่ถึงอีกด้วยล่ะ
เริม คืออะไร
โรคเริมที่ปากเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเฮอร์ปีส์ซิมเพลกซ์ (Herpes simplex virus) ซึ่งเชื้อไวรัสชนิดนี้แบ่งออกเป็น 2 ชนิดได้แก่ Herpes simplex Type 1 และ Herpes simplex Type 2 โดยไวรัสทั้ง 2 ชนิดนี้สามารถก่อให้เกิดตุ่มน้ำใส ๆ ได้ทั้งบริเวณรอยต่อระหว่างริมฝีปากกับผิวหนัง และสามารถเป็นได้ที่อวัยวะเพศเช่นกัน
เริมที่ปาก เกิดจากสาเหตุใดกันแน่
เริมที่ปากมีสาเหตุเกิดมาจากการติดเชื้อไวรัสที่อยู่ในน้ำลาย น้ำเหลือง หรืออสุจิ โดยเชื้อไวรัสจะเข้าสู่ร่างกายได้ทางผิวหนังบริเวณที่มีรอยถลอกหรือแผล นอกจากนี้ก็ยังสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ผ่านทางเยื่อเมือก เช่น เยื่อบุปาก เป็นต้น
โดยเมื่อเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายแล้ว ก็จะเข้าไปอยู่ในเซลล์ผิวหนังชั้นล่าง โดยบางครั้งก็อาจจะไม่มีอาการแสดงให้เห็น แต่ผู้ป่วยบางราย เชื้อไวรัสก็อาจจะเกิดการแบ่งตัวและทำลายเซลล์ผิวหนังทำให้เกิดเป็นตุ่มใส ๆ เมื่อตุ่มน้ำเหล่านี้แห้งหรือแตกแล้วก็จะเกิดเป็นสะเก็ดและหายไปโดยไม่มีแผลเป็นใด ๆ
เริมที่ปากสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ โดยปัจจัยที่เร่งให้เกิดเริมที่ปากนั้นก็มาจากความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือระดับภูมิคุ้มกันที่ลดลงค่ะ
เริมที่ปาก อาการเป็นอย่างไร
เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกาย เชื้อไวรัสจะใช้เวลา 2 - 12 วัน ในการฟักตัว หลังจากนั้นจะเกิดเป็นตุ่มน้ำใสเป็นกลุ่มอย่างรวดเร็ว ตุ่มน้ำใสเหล่านี้จะแห้งไปภายใน 7 - 10 วัน แต่ถ้าหากตุ่มน้ำนั้นอยู่ในบริเวณที่มักจะโดนน้ำอยู่ตลอดเวลาก็อาจจะใช้เวลานานกว่าจึงจะหายและอาจจะมีอาการคันร่วมด้วย และถ้าหากมีการติดเชื้อซ้ำซ้อน อาการก็อาจจะยิ่งหายช้าลง อาการเหล่านี้สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้หลังจากที่หายแล้ว โดยในช่วงแรกที่เป็นจะมีการกลับมาเป็นซ้ำบ่อย ขึ้นอยู่กับระดับภูมิต้านทานของร่างกายต่อเชื้อไวรัสนี้ค่ะ
เริมที่ปาก ติดต่อกันไหม
เริมที่ปากเป็นโรคที่สามารถติดต่อได้ ผ่านทางน้ำลาย และน้ำเหลืองของผู้ป่วย เช่น การดื่มน้ำแก้วเดียวกัน ใช้ของร่วมกัน การจูบปาก ซึ่งเชื้อไวรัสนี้เข้าสู่ร่างกายและแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ได้ผ่านทางเซลล์ประสาท ดังนั้นหากมีคนใกล้ตัวป็นเริม ควรจะแยกข้าวของ และของใช้ต่าง ๆ เพื่อป้องกันการติดต่อค่ะ
เริมที่ปาก เป็นแล้วต้องไปหาหมอหรือเปล่า
เริมที่ปากไม่ใช่โรคร้ายแรง จึงไม่ต้องไปพบแพทย์ แต่ถ้าสังเกตว่ามีน้ำเหลืองไหลออกมาจากตุ่มแผล และมีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียสร่วมด้วย หรือมีอาการระคายเคืองตา ควรไปพบแพทย์เพราะนั่นอาจจะเป็นเพราะตุ่มเริมนั้นเกิดการติดเชื้อ แต่ถ้าโรคเริมที่เป็นเกิดจากอาการป่วยเรื้อรังที่เป็นสาเหตุทำให้ภูมิต้านทานโรคอ่อนแอ เช่น โรคมะเร็ง คุณก็ควรไปพบแพทย์เช่นกันค่ะ
เริมที่ปาก รักษาอย่างไร
โดยปกติแล้วเมื่อเป็นเริมที่ปาก หากปล่อยทิ้งไว้ก็จะหายเองภายในเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ แต่ถ้าหากต้องการให้หายไวขึ้นก็สามารถใช้ยาทาต้านเชื้อไวรัสเฉพาะที่ ทาบริเวณที่มีตุ่มน้ำใสขึ้น และรับประทานยาอะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) ภายใน 2 วันหลังจากมีอาการ และถ้าหากมีอาการปวด ก็ควรประคบด้วยน้ำเกลือหรือน้ำเย็นวันละ 4 - 5 ครั้ง จะช่วยให้อาการลดลงได้
สมุนไพรรักษาเริมที่ปากมีอะไรบ้าง
หากไม่ต้องการพึ่งยาแผนปัจจุบันก็สามารถใช้สมุนไพรในการรักษาเริ่มที่ปากได้ ได้แก่ พญายอ หรือที่มีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า เสลดพังพอนตัวเมีย สมุนไพรชนิดนี้สามารถช่วยลดอาการและทำให้ตุ่มน้ำใสหายได้เร็วขึ้น โดยปัจจุบันสามารถหาซื้อได้ในรูปแบบของครีมพญายอ
วิธีป้องกันเริมที่ปาก
เริมที่ปากเป็นอาการที่สามารถติดต่อกันได้ผ่านของใช้ส่วนตัว และการสัมผัสกับสารคัดหลั่ง ได้แก่ น้ำลาย น้ำเหลือง หรือแม้แต่อสุจิ ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดคือหากพบผู้ที่เป็นเริมที่ปากควรเลี่ยงการใช้ของใช้ส่วนตัว เช่น แก้วน้ำ แปรงสีฟัน ร่วมกัน และหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารคัดหลั่งของผู้ป่วยอีกด้วย
นอกจากนี้ผลการวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet ยังได้เปิดเผยอีกว่าการทาครีมกันแดดเป็นประจำทุกวันก็สามารถช่วยลดการเกิดได้อีกด้วย ขณะที่การรับประทานครบ 5 หมู่ รวมทั้งการพักผ่อนอย่างเพียงพอ และออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ก็สามารถช่วยให้โรคเริมเกิดได้น้อยลงอีกด้วย
มีเพศสัมพันธ์ทำให้เป็นเริมที่ปากได้ไหม
เนื่องจากเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดเริมที่ปากนั้นเป็นเชื้อไวรัสตัวเดียวกันกับเชื้อไวรัสที่อวัยวะเพศ ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดเริมที่ปากจากการมีเพศสัมพันธ์ โดยหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีเชื้อไวรัสเฮอร์ปีส์ซิมเพลกซ์ในร่างกาย และมีเชื้ออาศัยอยู่ในเยื่อบุอวัยวะเพศ และอีกฝ่าย มีบาดแผลหรือรอยถลอก ก็สามารถทำให้เชื้อเข้าสู่ร่างกายได้เช่นกัน นอกจากนี้การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อไวรัสดังกล่าวด้วยการใช้ปากก็เสี่ยงต่อการติดเชื้อและเกิดเริมทั้งที่ปากและอวัยวะเพศได้ง่ายค่ะ
โรคเริม แม้จะไม่ใช่โรคที่มีความอันตรายแต่ก็เป็นโรคที่สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้หากไม่ระมัดระวังให้ดี ฉะนั้นทางที่ดีที่สุดก็ควรที่จะรักษาสุขภาพของเราให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพราะเมื่อร่างกายของเราแข็งแรงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นโรคเริม หรือโรคอะไรก็ไม่สามารถมาทำร้ายเราได้แน่นอนเลยค่ะ
หมอชาวบ้าน
โรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
ศูนย์เภสัชสนเทศ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์