เล็บขบจบง่าย ๆ รักษาได้ด้วยตัวเอง

          หยุดความทรมานจากอาการเล็บขบด้วยของใกล้ตัว ที่เราสามารถหยิบมารักษาเล็บขบด้วยตัวเองในเบื้องต้นได้

เล็บขบ

          เล็บขบเป็น ๆ หาย ๆ ดูเหมือนจะรักษาเล็บขบไม่เคยหายขาดได้สักที เลยต้องทนทรมานกับอาการเล็บขบจนเหมือนจะเป็นเพื่อนซี้กันอยู่แล้ว ใครประสบปัญหาเล็บขบไม่จบไม่สิ้น ลองจัดการเล็บขบด้วยวิธีเหล่านี้ดูค่ะ การันตีว่าง่าย ไม่ต้องจ่ายแพง !

* แช่เท้าในน้ำเกลือ

เล็บขบ

          เกลือถูกนำมาใช้รั­­กษาอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับร่างกายอย่างแพร่หลาย และกับอาการเล็บขบเองก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น โดยแค่แช่เท้าในน้ำอุ่­­นผสมเกลือ 1 ถ้วยตวง นาน 10 นาที เกลือจะช่วยบรรเทาอาการอักเสบ และลดอาการปวดลงได้ แต่หากยังไม่หายปวดดี สามารถแช่เท้าในน้ำอุ่นได้อีก วันละ 4 ครั้งเลยค่ะ

* ใบบัวบกลดการอักเสบ

เล็บขบ

          ในกรณีที่เป็นเล็บขบชนิดไม่มีหนอง ไม่ได้เกิดจากสาเหตุที่รุนแรง อาการไม่ได้เป็นมาก สามารถใช้ใบบัวบกล้างสะอาด ตำให้แหลก แล้วทาลงไปบนเล็บขบ ปล่อยให้แห้ง จากนั้นพันด้วยผ้าพันแผลทิ้งไว้ สรรพคุณของใบบัวบกที่มีสารช่วยลดการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ น่าจะช่วยลดอาการอักเสบของเล็บขบได้

* ทาน้ำมันมะกอกช่วยให้ตัดเล็บง่าย

เล็บขบ

          สำหรับเล็บขบที่แข็ง ตัดออกยาก แนะนำให้ทาน้ำมันมะกอกเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนังและเล็บให้ทั่ว แต่หลีกเลี่ยงการทาน้ำมันลงบนเล็บขบโดยตรงนะคะ น้ำมันมะกอกจะช่วยให้หนังหุ้มโคนเล็บนุ่มขึ้น และตัดง่าย ลดอาการบาดเจ็บหรือเล็บเป็นร่อง เป็นสันนูน ช่วยให้ตัดเล็บขบได้สะดวกขึ้น

          รู้วิธีบรรเทาความเจ็บปวดของเล็บขบในเบื้องต้นกันไปแล้ว คราวนี้มาเรียนรู้วิธีตัดเล็บขบที่ถูกต้องกันต่อค่ะ

วิธีตัดเล็บขบที่ถูกต้อง

เล็บขบ

          1. แช่เท้าในน้ำอุ่นผสมเกลือตามที่แนะนำไป รอจนกว่าผิวเนื้อบริเวณที่เป็นเล็บขบจะอ่อนนุ่ม ลดอาการปวด บวม ลง

          2. ใช้กรรไกรตัดเล็บส่วนเกินที่ไม่ใช่เล็บขบ ส่วนเล็บที่ไม่รู้สึกเจ็บออก เพื่อลดความเสี่ยงการอักเสบ ติดเชื้อ จากเศษผงหรือสิ่งสกปรกที่ค้างอยู่ที่เล็บ

          3. ใช้แอลกอฮอล์ 70% เช็ดเล็บให้สะอาด

          4. ค่อย ๆ ใช้กรรไกรตัดเล็บเล็มเนื้อที่เป็นเล็บขบ จากด้านข้างเข้ามาทีละนิด แต่ขั้นตอนนี้ไม่จำเป็นต้องตัดเนื้อที่อักเสบออกไปจนหมดค่ะ ตัดเท่าที่ตัดไหว จะได้ไม่ต้องเจ็บมาก

          5. ปั้นสำลีเป็นก้อนเล็ก ๆ คั่นระหว่างนิ้วที่เป็นเล็บขบเพื่อไม่ให้เล็บของแต่ละนิ้วเท้าก­ระทบถึงกันจนอาการเล็บขบกำเริบอีกครั้ง

          6. ทายาแก้อักเสบลงไปยังบริเวณที่เป็นเล็บขบ ให้ตัวยาเข้าไปรักษาอาการอักเสบที่หลงเหลืออยู่ หรือหากปวดมากให้กินยาแก้ปวด

          7. พยายามเปลือยเท้าให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หรืออย่างน้อย ๆ ขณะที่เป็นเล็บขบก็ควรใส่รองเท้าแตะไว้ก่อน อากาศจะได้ถ่ายเทได้สะดวก แล้วอาการเล็บขบก็จะหายเร็วขึ้นด้วย

วิธีป้องกันอาการเล็บขบ

เล็บขบ

          * พยายามรักษาความสะอาดให้เท้าอย่างสม่ำเสมอ

          * ตัดเล็บเท้าไม่ให้สั้นจนเกินไป

          * สวมใส่ถุงเท้าและรองเท้าที่สะอาด ไม่อับชื้น

          * บำรุงเท้าให้เนียนนุ่มไม่แข็งกระด้าง

          * หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าที่มีหัวแหลมเรียวเกินไป รวมทั้งรองเท้าส้นสูง

          * อย่าปล่อยให้มือ เท้า เปียกชื้นตลอดเวลา เพราะก่อให้เกิดเล็บขบได้

          อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เล็บขบมีหนอง นั่นอาจหมายถึงการติดเชื้อที่เล็บขบ ซึ่งควรต้องรักษาอาการติดเชื้อให้หายก่อน แล้วจึงรักษาอาการเล็บขบภายหลัง และทางที่ดีควรปรึกษาแพทย์ก่อนด้วยนะคะ เพราะการใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อ ควรต้องใช้อย่างถูกต้อง เพื่อลดความเสี่ยงภาวะเชื้อดื้อยาจนอาจอันตรายต่อสุขภาพ

          *หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563

ขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เล็บขบจบง่าย ๆ รักษาได้ด้วยตัวเอง อัปเดตล่าสุด 10 พฤศจิกายน 2563 เวลา 17:54:42 352,439 อ่าน
TOP
x close