x close

ตรวจภายใน ต้องทำอะไรบ้าง สาว ๆ รู้ไว้จะได้เตรียมตัว เตรียมใจ !

          ตรวจภายใน เรื่องสุขภาพที่ผู้หญิงควรให้ความสำคัญ มาดูกันว่าต้องเตรียมตัวอย่างไร แล้วจะต้องตรวจอะไรบ้าง

ตรวจภายใน

          ผู้หญิงหลายคนไม่กล้าตรวจภายในด้วยความเขินอาย บ้างก็กลัวเจ็บ ซึ่งจริง ๆ แล้วการตรวจภายในมีความสำคัญกับผู้หญิงทุกคนเลยนะคะ ไม่ว่าจะเป็นสาวโสดหรือแต่งงานแล้วก็ควรได้รับการตรวจภายในทุกปี แต่ถ้าใครยังไม่เคยตรวจภายในมาก่อน ลองมาอ่านข้อมูลให้เข้าใจกันก่อนว่า การตรวจภายในมีขั้นตอนอย่างไร ต้องตรวจอะไรบ้าง จะได้เตรียมตัวได้ถูกต้องโดยไม่กังวลจนเกินไป

ตรวจภายในสำคัญอย่างไร โรคอะไรต้องตรวจ ?

          เนื่องจากอวัยวะภายในระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิงมีความซับซ้อน ประกอบด้วยอวัยวะสำคัญหลายอย่าง คือ รังไข่ ท่อนำไข่ มดลูก เยื่อบุโพรงมดลูก ปากมดลูก ช่องคลอด และอวัยวะสืบพันธุ์ส่วนนอก ซึ่งสามารถติดเชื้อหรือเกิดโรคได้ทุกส่วนโดยที่ไม่แสดงอาการให้เห็น แต่จะพบได้จากการตรวจภายใน เช่น โรคช็อกโกแลตซีสต์ เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ มะเร็งปากมดลูก โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อย่างหนองใน เริม เอชพีวี (HPV) ดังนั้นการตรวจภายในก็จะช่วยให้ค้นพบสาเหตุ รวมทั้งป้องกันหรือรักษาโรคนั้นได้ก่อนที่จะลุกลามหรือมีอาการร้ายแรง

ตรวจภายใน

อาการแบบไหนที่แพทย์จะให้ตรวจภายใน ?

          - มีอาการตกขาวผิดปกติ หรือเลือดออกจากช่องคลอดอย่างผิดปกติ
          - ปวดท้องน้อยแบบเฉียบพลัน เป็น ๆ หาย ๆ หรือคลำพบก้อนที่ท้องน้อย
          - ปวดประจำเดือนมากผิดปกติ หรือประจำเดือนมาผิดปกติ
          - มีการอักเสบเรื้อรังที่ปากมดลูกหรือสงสัยว่าจะมีเซลล์ผิดปกติเกิดขึ้น
          - ตรวจเพื่อค้นหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
          - ตรวจแปปสเมียร์ หรือตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
          - ตรวจก่อนการคุมกำเนิด
          - ตรวจเมื่อเริ่มตั้งครรภ์
         
ควรตรวจภายในบ่อยแค่ไหน ?

          มีคำแนะนำให้ผู้หญิงเข้ารับการตรวจภายในเป็นประจำสม่ำเสมออย่างน้อยปีละครั้ง แม้จะไม่มีอาการอะไร เพื่อตรวจดูว่ามีความผิดปกติของอวัยวะในอุ้งเชิงกรานหรือไม่ และเป็นการป้องกันโรคต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ค่ะ

อายุเท่าไรควรตรวจภายใน ?

          โดยทั่วไปแพทย์จะแนะนำให้ผู้หญิงอายุ 25-30 ปีขึ้นไปควรรับการตรวจภายใน แต่เนื่องจากปัจจุบัน วัยรุ่นไทยมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย ดังนั้นแม้อายุจะยังไม่มาก แต่ถ้าเคยมีเพศสัมพันธ์แล้วก็ควรไปตรวจภายใน เพื่อรับคำแนะนำที่ถูกต้องในการคุมกำเนิดและหลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์นะคะ

          แต่สำหรับคนที่มีปัญหาสุขภาพภายในช่องคลอด ก็สามารถตรวจได้ทุกช่วงอายุ หรือหากใครมีความเสี่ยงเรื่องสุขภาพบางประการ เช่น มีอาการอักเสบเรื้อรังที่ปากมดลูก หรือสงสัยว่าจะมีเซลล์ผิดปกติเกิดขึ้น แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจมากกว่า 1 ครั้งต่อปีได้เช่นกัน

ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์จำเป็นต้องตรวจภายในไหม ?

          สาวโสดหลายคนปลอบใจตัวเองว่ายังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ ถ้าไม่ตรวจคงไม่เป็นไรมั้ง แต่จริง ๆ แล้ว แม้ว่าสาวโสดจะมีความเสี่ยงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือโรคมะเร็งปากมดลูกน้อยกว่าผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว แต่ก็ยังอาจพบความผิดปกติในรังไข่ หรือเยื่อบุโพรงมดลูกได้เช่นกัน

          ทั้งนี้ นอกจากตรวจภายใน แพทย์อาจทำการอัลตราซาวด์เพื่อดูความผิดปกติของรังไข่ หรือมดลูกด้วย เพราะสาว ๆ อายุน้อย ๆ หลายคนมีเนื้องอก หรือถุงน้ำ (ซีสต์) ในรังไข่ไม่รู้ตัว เนื่องจากโรคนี้ไม่แสดงอาการให้เห็น ต้องตรวจภายในและอัลตราซาวด์เท่านั้นจึงจะทราบ ดังนั้นไม่ว่าจะเคยมีเพศสัมพันธ์หรือไม่ ก็อยากแนะนำให้สาว ๆ ตรวจภายในปีละครั้งก็ได้ค่ะ

ตรวจภายใน

เตรียมตัวอย่างไรเมื่อจะตรวจภายใน ?

          - หากอยู่ในช่วงมีประจำเดือนยังไม่ควรตรวจภายในในช่วงนี้ ควรให้ประจำเดือนหมดสนิทไปก่อนสัก 1 สัปดาห์ หรือตรวจในช่วงก่อนมีประจำเดือนรอบถัดไปประมาณ 1 สัปดาห์ เพราะช่วงมีประจำเดือนจะมีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายกว่า

          - ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ เหน็บยาในช่องคลอด หรือสวนล้างช่องคลอด ก่อนเข้ารับการตรวจ 24-48 ชั่วโมง เพราะอาจส่งผลต่อการตรวจได้

          - การใช้ยาบางชนิด เช่น ยารักษาภาวะช่องคลอดแห้ง อาจกระทบต่อผลการตรวจ จึงควรแจ้งแพทย์ก่อนว่ามีปัญหาสุขภาพและใช้ยารักษาชนิดใดอยู่บ้าง

          - ถ่ายอุจจาระมาก่อน ส่วนคนที่รู้ตัวว่าท้องผูกมาก ควรรับประทานยาระบายมาก่อน สัก 2-3 วัน

          -  ไม่ต้องโกนขน เพราะมีผลเสีย เช่น ทำให้หมอวินิจฉัยโรคทางพันธุกรรมบางอย่างไม่ได้ เพราะต้องอาศัยดูจากขนด้วย หรือทำให้รู้สึกเจ็บเวลาขนขึ้นใหม่เพราะแข็ง

          - สวมเสื้อผ้าที่ใส่สบาย เช่น นุ่งกระโปรง ไม่ควรนุ่งกางเกงหรือใส่เสื้อผ้า กางเกงที่รัดจนเกินไป

          - เมื่อมาถึงโรงพยาบาลแล้ว แพทย์จะทำการซักประวัติของคนไข้ก่อน เช่น เป็นสาวโสดหรือแต่งงานแล้ว มีบุตรหรือยัง เคยมีเพศสัมพันธ์หรือไม่ ประวัติการคุมกำเนิด การทำแท้ง  มีอาการผิดปกติเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์หรือเปล่า เช่น คันอวัยวะเพศ ตกขาวผิดปกติ ปวดประจำเดือนมาก ฯลฯ รวมทั้งปัญหาสุขภาพทั่วไปและอาการแพ้ยา

          - หากแพทย์ซักถามประวัติเรียบร้อยแล้ว และเห็นว่าสามารถตรวจภายในได้ คนไข้จะต้องยินยอมให้แพทย์ตรวจ หากไม่ยินยอม สามารถปฏิเสธการตรวจได้

          - ก่อนตรวจภายในควรทำความสะอาดอวัยวะเพศภายนอก และปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อน เพื่อจะได้ไม่รู้สึกปวดปัสสาวะขณะตรวจภายใน และแพทย์จะได้คลำขนาดมดลูกและปีกมดลูกให้ชัดเจน แต่ห้ามสวนล้างภายในช่องคลอดเด็ดขาด

          - หากมีตกขาวไม่จำเป็นต้องล้างออก เนื่องจากแพทย์จะได้สังเกตลักษณะของตกขาวเพื่อวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำขึ้น

          - ทำใจให้สบาย ไม่ต้องกังวล ไม่ต้องเกร็ง

ตรวจภายใน

ขั้นตอนการตรวจภายใน แพทย์จะตรวจอะไรบ้าง ?

          โดยทั่วไปจะใช้เวลาตรวจภายในประมาณ 10 นาที สำหรับแพทย์ที่ทำการตรวจจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็ได้ แต่ข้อสำคัญต้องมีพยาบาลผู้ช่วยซึ่งต้องเป็นผู้หญิงเท่านั้น อยู่ภายในห้องตรวจในทุกขั้นตอนด้วย เพื่อเป็นพยานให้แพทย์ และทำให้ผู้รับการตรวจรู้สึกสบายใจขึ้น แต่หากไม่มีพยาบาลเป็นผู้หญิงอยู่ด้วย ควรปฏิเสธการตรวจเด็ดขาด ซึ่งขั้นตอนการตรวจภายในจะเป็นไปในลักษณะนี้

          - เปลี่ยนเสื้อผ้า ถอดกางเกงชั้นในให้เรียบร้อย เปลี่ยนไปใส่ชุดคลุม หรือผ้าถุง ที่ทางโรงพยาบาลเตรียมไว้ให้ เพื่อสะดวกแก่การตรวจ

          - ตรวจในห้องตรวจที่เป็นส่วนตัว โดยนอนบนเตียงขาหยั่ง แยกเข่าออกให้กว้าง ซึ่งแพทย์หรือพยาบาลจะคอยแนะนำขั้นตอนต่าง ๆ ว่าจะทำอะไรบ้าง ใช้เครื่องมืออะไรบ้าง พร้อมกับพูดคุยให้คนไข้รู้สึกผ่อนคลาย ไม่เครียด ไม่เกร็ง แต่ถ้าเรารู้สึกเขินอาย สามารถขอผ้าคลุมปิดตาได้

ตรวจภายใน

          - แพทย์จะเริ่มจากการตรวจดูอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกว่ามีแผล มีเม็ด มีตุ่ม บวม มีติ่งเนื้อ หรือมีความผิดปกติอะไรหรือไม่ หากมีตกขาวจะดูว่าสี กลิ่น ปริมาณผิดปกติหรือเปล่า

          - จากนั้นใช้เครื่องมือปากเป็ด (Speculum) ขนาดที่เหมาะสมกับแต่ละคนสอดเบา ๆ เข้าไปในช่องคลอด เพื่อขยายช่องคลอดให้กว้างขึ้น จึงจะสามารถตรวจมดลูกได้ โดยแพทย์จะตรวจผนังเยื่อบุมดลูกว่าอักเสบหรือไม่ และตรวจมดลูกที่อยู่ในอุ้งเชิงกรานว่ามีความผิดปกติไหม

ตรวจภายใน

          - หากเป็นสาวโสด ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ หรือยังไม่เคยคลอดลูกมาก่อน แพทย์จะเลือกใช้เครื่องมือที่มีขนาดเล็ก หรือใส่น้ำยาหล่อลื่น เพื่อไม่ให้รู้สึกเจ็บ

          - แพทย์อาจตรวจแปปสเมียร์ หรือคัดกรองมะเร็งปากมดลูกไปพร้อม ๆ กัน โดยใช้เครื่องมือป้ายตัวอย่างของเซลล์ปากมดลูกบางส่วนไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ

          - เมื่อตรวจอุ้งเชิงกรานเสร็จสิ้น แพทย์จะนำเครื่องมือออก จากนั้นจะตรวจด้วยนิ้ว โดยใช้นิ้วสอดเข้าไปในช่องคลอด และใช้อีกมือกดหน้าท้องไว้ เนื่องจากบางจุดไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยภายนอก ส่วนการกดหน้าท้องก็เพื่อตรวจดูขนาดและตำแหน่งของมดลูกว่ามีความผิดปกติอะไรหรือไม่ กดแล้วเจ็บปวดหรือไม่ เพื่อวินิจฉัยภาวะมดลูกโต หรือเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ หรือมีซีสต์ในมดลูก โดยทุกขั้นตอนแพทย์จะแจ้งให้ทราบตลอด เพื่อให้คนไข้เตรียมพร้อมและเกิดความสบายใจขึ้น

          - หากรู้สึกเจ็บปวด สามารถปฏิเสธการตรวจได้แม้อยู่ระหว่างการตรวจ

          - เมื่อเสร็จสิ้นการตรวจ แพทย์จะแจ้งผลให้ทราบว่ามีความผิดปกติอะไรหรือไม่ พร้อมให้คำแนะนำต่าง ๆ ต่อไป โดยทั่วไปจะทราบผลในวันที่ตรวจเลย แต่หากมีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วย จะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์จึงจะทราบผล

ตรวจภายในเจ็บไหม มีผลข้างเคียงอะไรหรือเปล่า ?

          ระหว่างตรวจภายใน สาว ๆ อาจรู้สึกตึง ๆ เจ็บ ๆ อยู่บ้างในขณะที่สอดเครื่องมือเข้าไปในช่องคลอด โดยเฉพาะหญิงสาวที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ หรือยังไม่เคยคลอดลูก ซึ่งแพทย์ก็จะเลือกใช้เครื่องมือที่มีขนาดเหมาะสมกันไปแต่ละรายเพื่อจะได้ไม่เจ็บมาก แต่หลังจากตรวจภายในเสร็จสิ้นแล้ว อาการเหล่านั้นก็จะหายไปได้เองค่ะ

ตรวจภายใน

ตรวจภายใน ราคาเท่าไร ?

         ค่าใช้จ่ายในการตรวจภายในขึ้นอยู่กับว่าเราตรวจอะไรบ้าง รวมทั้งสถานพยาบาลที่เข้ารับการตรวจด้วย คือ หากตรวจในโรงพยาบาลรัฐบาล ค่าตรวจก็จะไม่แพงมากนัก เริ่มต้นที่หลักร้อย ประมาณ 300 บาทขึ้นไป แล้วแต่สถานพยาบาลด้วยค่ะ

         แต่หากตรวจในคลินิก คลินิกนอกเวลา หรือโรงพยาบาลเอกชน ส่วนใหญ่จะมีค่าใช้จ่ายเริ่มต้นที่ราว ๆ 1,000 บาท อย่างไรก็ตาม ลองสอบถามค่าใช้จ่ายและรายละเอียดต่าง ๆ จากโรงพยาบาลที่เราจะเข้ารับการตรวจอีกครั้งนะคะ

ตรวจภายใน ใช้สิทธิประกันสังคมได้ไหม ?

         หากมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ เช่น ปวดท้องประจำเดือนผิดปกติ มีเลือดออก ตกขาวผิดปกติ ให้เราไปพบแพทย์ในสถานพยาบาลที่เรามีสิทธิประกันสังคมเพื่อรับการตรวจทั่วไปก่อนค่ะ ซึ่งถ้าแพทย์มีความเห็นว่าควรตรวจภายในหรืออัลตราซาวด์ด้วย แพทย์ถึงจะส่งตัวไปยังแผนกสูตินรีเวชเพื่อตรวจภายในต่อไป แต่ถ้าเราไม่มีอาการผิดปกติอะไรแล้วไปขอตรวจภายในเพื่อเช็กสุขภาพแบบนี้จะไม่สามารถใช้สิทธิประกันสังคมได้

         อย่างไรก็ตาม หากเป็นการตรวจแปปสเมียร์หรือคัดกรองมะเร็งปากมดลูก กรณีนี้ผู้หญิงที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป สามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้ในสถานพยาบาลของรัฐทุกแห่ง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และหากตรวจพบมะเร็ง ให้นำผลตรวจมารับการรักษาที่สถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯ ได้ทันที
 
         การตรวจภายในไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ดังนั้น แนะนำให้สาว ๆ สลัดทิ้งความอายไปตรวจภายในปีละครั้ง เพื่อป้องกันโรคที่อาจเกิดขึ้นในระบบสืบพันธุ์ ยิ่งถ้าใครมีปัญหาปวดประจำเดือนเรื้อรัง มีอาการตกขาวหรือเลือดออกผิดปกติ เคสนี้ยิ่งควรรีบเข้าไปพบแพทย์ เพราะหากตรวจพบสาเหตุได้เร็วก็จะรักษาได้เร็วก่อนจะลุกลามนะคะ


* หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 16 พฤศจิกายน 2561



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ตรวจภายใน ต้องทำอะไรบ้าง สาว ๆ รู้ไว้จะได้เตรียมตัว เตรียมใจ ! อัปเดตล่าสุด 14 ตุลาคม 2563 เวลา 16:52:49 140,059 อ่าน
TOP