ลมพิษ อาการทางผิวหนังใกล้ตัว รู้ให้ชัดเพื่อความปลอดภัย

               ลมพิษ อาการทางผิวหนังที่ได้ยินกันบ่อย มาดูให้รู้จริง ว่าลมพิษเกิดจากอะไร อาการลมพิษเป็นอย่างไร และมีวิธีรักษาลมพิษอย่างไรกันบ้าง

          อาการแพ้ที่เกิดกับผิวหนังอย่างเฉียบพลันอย่าง "ลมพิษ" สร้างความรำคาญให้คนที่เป็นไม่น้อย บางคนเกิดผื่นลมพิษขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก จึงพยายามหาทางป้องกัน แต่ก่อนจะป้องกันได้ ก็คงต้องรู้สาเหตุที่ทำให้เกิดลมพิษเสียก่อน งั้นมาดูว่าลมพิษเกิดจากอะไร วิธีรักษาแบบไหนถึงได้ผล แล้วมีสมุนไพรแก้ลมพิษอะไรอยู่ใกล้ตัวเราที่พอจะบรรเทาโรคได้บ้าง

ลมพิษ คืออะไร ?

ลมพิษ อาการทางผิวหนังใกล้ตัว

          ลมพิษคือโรคทางผิวหนังชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นโดยเฉียบพลัน เป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาเนื่องมาจากลมพิษเกิดจากการที่ร่างกายได้รับสิ่งกระตุ้นซึ่งส่วนใหญ่เป็นสารที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้เข้าสู่ร่างกาย โดยบางครั้งอาการลมพิษอาจเกิดขึ้นกับผิวหนังภายนอก แต่บางรายที่มีอาการรุนแรงก็อาจส่งผลกระทบต่ออวัยวะภายในได้ ส่วนใหญ่แล้วอาการจะอยู่ไม่นาน รับประทานยาแก้แพ้ก็หาย แต่ถ้าหากเป็นบ่อยครั้ง เช่น เป็นทุกวันติดต่อกันนาน 2 เดือนอาจจะกลายเป็นลมพิษเรื้อรังซึ่งถือเป็นอาการที่ต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญค่ะ

        
ลมพิษเกิดจากอะไร ?
        
          ลมพิษเป็นอาการแพ้ที่เกิดจากการตอบสนองของร่างกายต่อสิ่งที่แพ้ โดยจะสร้างสารแพ้ที่เรียกว่า ฮิสตามีน (histamine) หลั่งออกมาจากเซลล์ใต้ชั้นผิวหนังทำให้หลอดเลือดเกิดการขยายตัว และทำให้มีพลาสมาซึมออกมาในผิวหนังจนเกิดผื่นนูนแดง โดยสาเหตุของลมพิษเกิดได้จากหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอาหาร อาทิ อาหารทะเล อาหารหมักดอง หรือสารที่ผสมในอาหาร เช่น ผงชูรส สารกันบูด สีผสมอาหาร หรืออาจจะเกิดอาการแพ้จากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาบางชนิด เซรุ่ม พิษจากแมลง สัตว์ กัดต่อย ฝุ่นละออง เกสรดอกไม้ ขนสัตว์บางชนิด นุ่น หรือสารเคมีต่าง ๆ เป็นต้น
       
          นอกจากนี้โรคติดเชื้อบางชนิดอาจจะทำให้เกิดอาการของลมพิษได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น ทอนซิลอักเสบ หูอักเสบ ท้องเดิน ไซนัสอักเสบ ไตอักเสบ โรคเชื้อรา โรคพยาธิ แต่ถ้าหากเป็นในรายที่มีอาการลมพิษเรื้อรัง คือติดต่อกันนานเกิน 2 เดือน ส่วนมากก็จะไม่สามารถหาสาเหตุได้แน่ชัด มีเพียงส่วนน้อยที่สามารถหาสาเหตุได้ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการลมพิษเรื้อรังก็อาจจะมาจากการแพ้ความร้อน ความเย็น แสงแดด เหงื่อ น้ำ แรงดันหรือแรงกดที่เกิดขึ้นกับผิวหนัง การยกน้ำหนัก หรือโรคติดเชื้อเรื้อรัง ทั้งนี้ผู้ที่มีอาการป่วยด้วยโรคมะเร็ง โรคเอสแอลอี รวมทั้งผู้ที่มีภาวะความเครียด ความวิตกกังวลและภาวะอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงก็อาจเป็นสาเหตุของลมพิษเรื้อรังได้เช่นกันค่ะ
        

อาการลมพิษ มีอะไรบ้าง

ลมพิษ อาการทางผิวหนังใกล้ตัว
      
          อาการของลมพิษจะเกิดอย่างเฉียบพลัน โดยอาการที่จะเห็นได้ชัดคือมีผื่นนูนแดงเป็นรูปร่างต่าง ๆ โดยเนื้อตรงกลางจะมีสีซีดกว่าขอบเล็กน้อย และจะมีอาการคัน หากเกาตรงไหน ตรงนั้นก็จะเกิดผื่นแดงขึ้นในทันที บางรายอาจจะมีอาการไข้ร่วมด้วย ผื่นเหล่านี้สามารถขึ้นได้ทุกส่วนของร่างกาย และจะหายไปเมื่ออาการแพ้บรรเทาลงโดยไม่หลงเหลือรอยแผลเป็นแต่อย่างใด ซึ่งอาการนี้จะหายไปภายในเวลา 24 ชั่วโมง หากหลังจากนี้แล้วยังไม่หายเป็นปกติ หรือมีผื่นสีดำเกิดขึ้นควรไปพบแพทย์เพราะนั่นอาจจะเป็นลมพิษที่มีอาการผิดปกติค่ะ
       
          ทั้งนี้ก็ยังมีอาการลมพิษที่รุนแรง เรียกว่าลมพิษยักษ์ มีอาการร้ายแรงกว่าลมพิษทั่วไป โดยจะมีอาการบวมที่เนื้อเยื่อในผิวหนัง กดแล้วไม่บุ๋ม และจะหายไปภายใน 24 ชั่วโมง บางรายอาจจะมีอาการบวมของกล่องเสียง ทำให้หายใจลำบากจนเกิดอาการตัวเขียว และอาจจะทำให้เป็นอันตรายได้ ซึ่งลมพิษยักษ์นั้นเกิดจากการแพ้อาหารหรือแพ้ยาบางชนิด เช่น แอสไพริน ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ หรือยาลดความดันโลหิตบางกลุ่ม
        
          นอกจากนี้ก็ยังมีอาการลมพิษเรื้อรัง ซึ่งจะเป็น ๆ หาย ๆ ติดต่อกันทุกวันเป็นเวลานานกว่า 2 เดือน หรืออาจจะนานนับปีกว่าอาการจะหายขาดค่ะ
        
วิธีรักษาลมพิษ
        
          ในการรักษาโรคลมพิษ สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือต้องทราบสาเหตุของอาการ ผู้ป่วยต้องสังเกตอาการว่าอะไรคือสิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ โดยแพทย์จะให้ยาในกลุ่มแอนติฮีสตามีน ซึ่งมีอยู่หลายชนิดเพื่อบรรเทาอาการแพ้ลง แต่ยาในกลุ่มนี้บางชนิดก็มีผลข้างเคียง เช่น ทำให้ง่วง จึงไม่ควรรับประทานยาหากจะต้องขับรถหรือทำงานที่มีความเสี่ยงว่าจะเกิดอุบัติเหตุได้ และยาเหล่านี้บางชนิดก็อาจจะต้องกินอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานเพื่อให้หายขาด หากบางรายมีอาการรุนแรงมากก็อาจจะต้องฉีดสเตียรอยด์ หรืออะดรีนาลิน เพื่อบรรเทาอาการ แต่ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ค่ะ
        
          นอกจากนี้หลังจากรับประทานยาเข้าไปบรรเทาอาการแล้วก็สามารถใช้ยาทาแก้คันทาบริเวณที่มีลมพิษเพื่อลดอาการคันได้อีกด้วย หรือจะใช้สมุนไพรแก้ลมพิษร่วมด้วยก็ช่วยทำให้อาการหายเร็วขึ้นได้ค่ะ
       
สมุนไพรแก้ลมพิษ
        
          นอกจากจะใช้ยารับประทานและยาทาแก้คันแล้ว ลมพิษยังสามารถบรรเทาอาการได้ด้วยการใช้สมุนไพร ซึ่งสมุนไพรที่นำมาใช้ก็ไม่ใช่สมุนไพรที่หายากเลยล่ะค่ะ โดยสมุนไพรแก้ลมพิษมีดังนี้
        
1. ขมิ้น


ลมพิษ อาการทางผิวหนังใกล้ตัว
        
          ขมิ้น เป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณต้านการอักเสบที่ยอดเยี่ยม นอกจากนี้ยังพบอีกว่าสารในขมิ้นยังทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ และสารต้านแอสทามีน อันเป็นสาเหตุของอาการลมพิษได้อีกด้วย โดยการนำผงขมิ้นเล็กน้อยผสมในน้ำอุ่นแล้วดื่มวันละ 2 ครั้ง ก็จะช่วยให้อาการแพ้ที่เกิดภายในร่างกายลดลง หรือนำผงขมิ้นผสมกับน้ำให้เป็นเนื้อครีมแล้วทาบริเวณที่เป็นลมพิษก็จะช่วยให้ผื่นนูนแดงนุ่มลงและหายไปในที่สุดค่ะ

        
2. ชาเขียว
        
          ชาเขียวอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระและสารแอนติแอสทามีน ซึ่งการดื่มชาเขียวจะช่วยบรรเทาอาการลมพิษได้ โดยจะช่วยให้อาการอักเสบบรรเทาลง ลดอาการคันลงได้โดยไม่ต้องทายาแก้คันเลยล่ะค่ะ และถ้าหากดื่มชาเขียววันละ 3 แก้วด้วยละก็ จะช่วยให้ร่างกายได้รับสารโพลีฟีนอลซึ่งช่วยป้องกันอาการแพ้ที่ทำให้เกิดลมพิษได้อีกด้วยค่ะ

        
3. คาโมมายล์

          ไม่เพียงแต่ช่วยให้นอนหลับสบายขึ้น แต่ดอกคาโมมายล์ยังมีประโยชน์ช่วยในการรักษาโรคลมพิษได้ ด้วยการนำดอกคาโมมายล์ผสมกับน้ำแล้วอาบ จะทำให้ผื่นนูนแดงและอาการคันบรรเทาลง หรือจะใช้สำลีชุบคาโมมายล์เช็ดบริเวณผื่นลมพิษก็ได้เช่นกันค่ะ
 
      
4. ขิง


ลมพิษ อาการทางผิวหนังใกล้ตัว
        
          การดื่มน้ำขิงผสมเกลือทุกวันเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้ปัญหาการเกิดลมพิษลดลงได้ แต่ก็ควรจะระมัดระวังการรับประทานน้ำขิงคู่กับอาหารเสริมบางชนิด เนื่องจากอาจจะยิ่งส่งผลให้เกิดอาการแพ้ได้เช่นกัน ดังนั้นหากจะใช้การดื่มน้ำขิงช่วยลดอาการลมพิษควรได้รับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญก่อนจะดีกว่าค่ะ
        

5. ว่านหางจระเข้

ลมพิษ อาการทางผิวหนังใกล้ตัว
        
          สมุนไพรใกล้ตัวที่หลาย ๆ บ้านนิยมปลูกไว้นอกจากจะช่วยลดอาการแสบร้อนจากแผลที่โดนความร้อน เช่น ไฟไหม้ น้ำร้อนลวกแล้ว ก็ยังช่วยแก้ลมพิษได้ด้วย โดยการนำเนื้อว่านหางจระเข้มาทาลงบนผื่นลมพิษ จะช่วยให้อาการคันและบวมแดงลดลงค่ะ
        

6. ชะเอม


ลมพิษ อาการทางผิวหนังใกล้ตัว
        
          ชาร้อน ๆ จากรากชะเอมนอกจากจะเป็นเครื่องดื่มที่ช่วยให้ชุ่มคอแล้วก็ยังช่วยรักษาอาการลมพิษได้จากภายในอีกด้วย การดื่มชาชะเอมเป็นประจำทุกวันจะช่วยให้อาการคันที่เกิดจากลมพิษลดลง นอกจากนี้ยังมีเป็นแบบเจลที่สกัดจากชะเอมอีกด้วย แต่ก็ต้องระมัดระวังในการใช้ และไม่ควรใช้ติดต่อกันนานเกิน 1 เดือนครึ่งค่ะ
      
 
7. ใบพลู
        
          การใช้ใบพลูในการรักษาโรคลมพิษเป็นภูมิปัญญาของไทยที่มีมานานตั้งแต่โบราณ โดยการนำใบพลูแก่และข่าแก่ 1 หัว ตำให้ละเอียดผสมกับเหล้าขาวเล็กน้อยก่อนจะนำมาพอกบริเวณที่เป็นลมพิษก็จะทำให้อาการบรรเทาลงเร็วขึ้น

วิธีการป้องกันลมพิษ
      
          อาการลมพิษมีสาเหตุหลักมาจากอาการแพ้ ดังนั้นผู้ที่มักจะเป็นลมพิษบ่อย ๆ ควรจะสังเกตเพื่อให้ทราบว่าตนเองแพ้อะไร และควรหลีกเลี่ยงสิ่งนั้นเพื่อไม่ให้อาการแพ้กำเริบ นอกจากนี้ยังควรที่จะรับประทานยาทุกครั้งที่เกิดอาการแพ้ เพื่อบรรเทาอาการของลมพิษค่ะ
        
ลมพิษในเด็ก ไม่อันตรายอย่างที่คิด
        
          ลมพิษในเด็ก มีอาการเช่นเดียวกับลมพิษที่เกิดในผู้ใหญ่ เพียงแต่การเกิดลมพิษในเด็กนั้น อาการคันอาจจะทำให้เด็กทนไม่ได้ และทำให้เด็กร้องไห้งอแง ซึ่งวิธีการรักษาและบรรเทาอาการนั้นก็ใช้วิธีเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ แต่ควรใช้อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะดีกว่าค่ะ

ท้องแล้วเป็นลมพิษอันตรายไหม ?
        
          สำหรับว่าที่คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์นั้น เวลาที่เกิดลมพิษก็อาจจะกังวลว่าอาการลมพิษอาจจะส่งผลต่อเด็กในท้องได้ ซึ่งนายแพทย์ธีรศักดิ์ ธำรงธีระกุล แพทย์ประจำศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก ผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช โรงพยาบาลวิภาวดี ได้ให้คำตอบเรื่องนี้ไว้ว่าลมพิษนั้นเป็นเพียงแค่อาการแพ้ธรรมดาซึ่งจะไม่มีอันตรายต่อเด็กแต่อย่างใดค่ะ

          แต่ถึงอย่างไรก็ตามหากมีอาการลมพิษติดต่อกันนานจนเกินไปจนกลายเป็นลมพิษเรื้อรังก็ควรไปปรึกษาแพทย์จะดีกว่าค่ะ
        
          รู้จักกับโรคลมพิษกันมากขึ้นแล้วก็คงจะพอคลายความกังวลลงได้บ้าง ถึงอย่างไรก็ตามผู้ที่มีอาการลมพิษก็อย่าลืมรับประทานยา และหมั่นสังเกตสิ่งที่แพ้ให้ดีด้วยนะ จะได้ไม่เข้าใกล้ให้อาการกำเริบจนต้องมานั่งเกาจนเสียบุคลิกนะคะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
มหาวิทยาลัยแม้ฟ้าหลวง
โรงพยาบาลวิภาวดี
สมุนไพรดอทคอม
findhomeremedy.com
searchhomeremedy.com
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ลมพิษ อาการทางผิวหนังใกล้ตัว รู้ให้ชัดเพื่อความปลอดภัย อัปเดตล่าสุด 2 กรกฎาคม 2564 เวลา 14:56:22 584,686 อ่าน
TOP
x close