โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เผย สรรพคุณสมุนไพร ตดหมูตดหมา หรือกระพังโหม เพิ่มฮอร์โมนแอนโดรเจนเสริมสมรรถภาพทางเพศ เพิ่มกล้ามเนื้อ ลดน้ำตาลในเลือด-ไขมันเลว ผลักดันเป็นยาอาหารเสริม
เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2558 ภญ.วัจนา ตั้งความเพียร หัวหน้างานการแพทย์แผนไทย โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เผยว่า กระพังโหมหรือ ตดหมูตดหมา เป็นพืชสมุนไพรไม้เถา มีใบเรียวแหลมเขียวเข้มและมีเอกลักษณ์คือมีกลิ่นเหม็น ทำให้ถูกละเลยและมองว่าเป็นเพียงวัชพืชตัวหนึ่ง แต่จากการศึกษาข้อมูลภูมิปัญญาของไทยและการศึกษาวิจัยในต่างประเทศพบว่า ตดหมูตดหมามีสรรพคุณในการลดน้ำตาลในเลือดสำหรับผู้เป็นเบาหวาน แล้วยังลดไขมันแอลดีแอล หรือไขมันเลว ได้อีกด้วย
ทั้งนี้ ตดหมูตดหมา ยังมีสรรพคุณในการเพิ่มสมรรถภาพทางเพศของผู้ชาย เพราะมีฤทธิ์ในการเพิ่มแอนโดรเจน หรือฮอร์โมนเพศชาย รวมทั้งมีผลในการสร้างกล้ามเนื้อ ล่ำขึ้น เหมาะสำหรับผู้ชายวัยทองที่เริ่มพร่องฮอร์โมนก็จะสามารถใช้ตดหมูตดหมาแก้ไขได้ แต่หากเป็นเพราะหลอดเลือดไม่ดีก็ต้องเลี่ยงไปใช้ตัวอื่นแก้ไขแทน และตดหมูตดหมาไม่ได้มีผลต่อผู้ที่เป็นโรคหัวใจ ไม่เหมือนกับแก้เซ็กส์เสื่อมในปัจจุบัน ที่มีผลในการขยายหลอดเลือด นอกจากนี้ตดหมูตดหมายังมีสรรพคุณแตกต่างจากหมามุ่ยที่มีฤทธิ์ในการเพิ่มพละกำลัง เพิ่มความแข็งแรงของสเปิร์ม
ภญ.วัจนา กล่าวต่อว่า ในประเทศไทยยังไม่มีการพัฒนาสมุนไพรตดหมูตดหมาไปทำเป็นยาหรือเป็นอาหารเสริมเพื่อเพิ่มสรรถภาพทางเพศเนื่องจากติดที่ข้อกฎหมายหลาย ๆ อย่าง ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นไปในเรื่องของการช่วยรักษาโรคเรื้อรังมากกว่า แต่หากหน่วยงานระดับสูง เช่น กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สนใจนำสมุนไพรตัวนี้ไปพัฒนาต่อยอด ทางโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรก็ยินดีให้ความร่วมมือ เนื่องจากมีวัตถุดิบมากพอ รวมถึงกระบวนการผลิตไม่ยากหากทำเป็นแคปซูล หรือมีการคุยกันหลายฝ่ายว่าจะสามารถต่อยอดได้มากแค่ไหน ขณะนี้ก็เพียงแค่เผยแพร่องค์ความรู้ให้กับประชาชนว่าสามารถรับประทานได้
อีกทั้ง ต้นตดหมูตดหมา สามารถพบได้ทั่วไป ในภาคใต้จะนำตดหมูตดหมามาใส่ในข้าวยำ หรือเอาส่วนเหนือดินมาคั้นน้ำผสมเป็นขนมวุ้น หรือนำมาใส่น้ำร้อนหรือผสมในขนมจะมีกลิ่นหอม ไม่เหมือนตอนเอาใบสดมาขยี้จะมีกลิ่นเหม็น และยังสามารถนำมาชงน้ำดื่มได้โดยใช้ใบตดหมูตดหมา 7 ใบมาต้มดื่มแก้ปวดเมื่อยได้ดี ส่วนคนที่มีปัญหาสมรรถภาพทางเพศก็ยังมีอีกหลายทางเลือก เช่น หมามุ่ย สูตรตำรับยาดอง ยาต้ม และยาแผนปัจจุบัน เป็นต้น
ภาพจาก ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก