x close

4 วิธีง่าย ๆ ช่วยคุณผู้หญิงบอกลาอุ้งเชิงกรานหย่อน

อุ้งเชิงกรานหย่อน

          อุ้งเชิงกรานหย่อน ภาวะที่ผู้หญิงหลายคนมองข้ามและไม่ระวัง แต่เราสามารถป้องกันและดูแลตัวเองให้ดีก่อนอาการเหล่านี้จะมาเยือนได้

          รู้ไหมคะ โรคที่หลายคนมักมองข้ามอย่างโรคอวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อนส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก และยังทำให้สิ้นเปลืองค่ารักษาพยาบาลอยู่มากโขทีเดียว นิตยสารชีวจิต เลยขอชวนคุณผู้หญิงทั้งหลายมาสนใจและดูแลป้องกันโรคอวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อน ซึ่งจะทำให้คุณมีความสุขอย่างเต็มร้อยโดยไม่มีปัญหาแบบหน่วง ๆ มากวนใจแต่อย่างใด
อวัยวะในอุ้งเชิงกรานคืออะไร

          ข้อมูลจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า โรคนี้พบได้บ่อยในผู้หญิงสูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีลูกแล้วพบถึงร้อยละ 50 โดยรองศาสตราจารย์ นายแพทย์สุวิทย์ บุณยะเวชชีวิน หัวหน้าสาขาวิชาเวชศาสตร์เชิงกรานสตรีและศัลยกรรมซ่อมเสริม ภาควิชาสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อธิบายว่า...

          "อวัยวะในอุ้งเชิงกราน คือ มดลูก ช่องคลอด ลำไส้ และกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งโรคอวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อนส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการให้เห็นด้วยตาเปล่า แต่ในกรณีที่เป็นมาก ๆ อาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกหน่วงบริเวณท้องน้อย มีก้อนตุงที่บริเวณอวัยวะเพศ เดินลำบาก ปัสสาวะ-อุจจาระลำบาก และปัสสาวะเล็ดราด รวมไปถึงกลั้นอุจจาระไม่อยู่"

อุ้งเชิงกรานหย่อน

7 สาเหตุเสี่ยงอุ้งเชิงกรานหย่อน

          - ตั้งครรภ์
          - คลอดบุตรทางช่องคลอด
          - ภาวะอ้วน
          - เคยผ่าตัดอุ้งเชิงกรานมาก่อน
          - ทำอาชีพที่ต้องออกแรงเกร็งช่องท้อง เช่น ผู้ที่ต้องยกของหนัก หมอนวด
          - มีโรคประจำตัวบางอย่างที่เพิ่มแรงดันในช่องท้อง เช่น ไอเรื้อรัง มีก้อนในช่องท้อง
          - ภาวะวัยทอง

อุ้งเชิงกรานหย่อน

4 วิธีธรรมชาติป้องกันการหย่อน

          คุณหมอสุวิทย์แนะนำวิธีการป้องกันและดูแลไม่ให้อวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อน ดังนี้

- ลดน้ำหนัก ลดแรงดันในช่องท้อง

          ความอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคอวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อน โดยคนอ้วนมีความเสี่ยงในการเป็นโรคนี้มากกว่าสตรีที่มีดัชนีมวลกายปกติถึง 4.2 เท่า เพราะการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัวจะทำให้น้ำหนักในช่องท้องเพิ่มขึ้น ส่งผลให้แรงดันในช่องท้องและกระเพาะปัสสาวะเพิ่มขึ้น จึงมีโอกาสเกิดโรคนี้สูงมาก ควรลดน้ำหนักอย่างน้อยร้อยละ 5 ของน้ำหนักตัวจะสามารถลดความเสี่ยงได้ถึงร้อยละ 5

- เลี่ยงยกของหนัก หยุดการออกแรง

          การออกแรงมาก ๆ เพื่อยกของหนักทำให้แรงดันในช่องท้องเพิ่มขึ้น ซึ่งนำไปสู่การเกิดโรค ดังนั้นแนะนำให้เลี่ยงการยกของหนักหรือใช้อุปกรณ์ช่วยทุ่นแรง

- ป้องกันท้องผูก ยิ่งเบ่ง โรคยิ่งทรุด

          เมื่อมีอาการท้องผูก ผู้ป่วยจะต้องเกร็งหน้าท้องเพิ่มขึ้นเพื่อเบ่งอุจจาระ ดังนั้นวิธีป้องกันโรคอวัยวะอุ้งเชิงกรานหย่อนจึงต้องป้องกันไม่ให้เกิดอาการท้องผูก ซึ่งมีวิธีง่าย ๆ คือ ดื่มน้ำปริมาณพอเหมาะ ประมาณวันละ 2 ลิตร หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือที่มีคาเฟอีนเป็นส่วนผสม เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม และเพิ่มการกินอาหารที่มีใยอาหารปริมาณสูง เช่น ผัก ผลไม้ ข้าวกล้อง

- ฝึกขมิบ เพิ่มความกระชับในช่องท้อง

          การบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานโดยเฉพาะการขมิบ สามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติของอวัยวะในอุ้งเชิงกราน รวมถึงภาวะปัสสาวะเล็ดได้อย่างน้อยร้อยละ 60-85

          การขมิบทำโดยเกร็งกล้ามเนื้อบริเวณช่องคลอด และแก้มก้น โดยฝึกติดต่อกันครั้งละ 20 นาที วันละ 3 ครั้ง ฝึกติดต่อกันอย่างน้อย 3 เดือน จะช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน ซึ่งจะทำให้อาการดีขึ้นหรือหายเป็นปกติได้

          แม้ว่าโรคอวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อนจะไม่อันตรายมากนัก แต่ก็สามารถลดทอนความสุขในชีวิตประจำวันของคุณผู้หญิงได้มาก ดังนั้นรีบป้องกันไว้แต่เนิ่น ๆ เพื่อคงสุขภาพที่แข็งแรงสดใสไว้ได้ทุกวัน


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

โดย พรรณิกา จำปาคง


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
4 วิธีง่าย ๆ ช่วยคุณผู้หญิงบอกลาอุ้งเชิงกรานหย่อน อัปเดตล่าสุด 12 ตุลาคม 2560 เวลา 17:42:03 31,733 อ่าน
TOP