Dyslexia (ดิสเล็กเซีย) ความผิดปกติทางด้านการอ่าน หนึ่งในความบกพร่องที่คนรอบข้างอาจไม่เข้าใจ มารู้จักกันให้มากขึ้นเพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เล็ก ๆ
อีกเรื่องหนึ่งที่ยังคงอยู่ในกระแสสังคมมาอย่างต่อเนื่องก็คงหนีไม่พ้นเรื่องการใช้คำแบบผิด ๆ อย่างคำว่า นะคะ นะค่ะ น่ะคะ ซึ่งแม้จะเป็นคำสร้อยธรรมดา แต่ก็ยังพบการใช้ผิดกันอยู่ต่อเนื่องจนบางครั้งก็จุดให้เกิดการดราม่าขึ้นมาซะอย่างนั้น แต่หารู้ไม่ว่าจริง ๆ แล้วในกลุ่มที่มีคนใช้คำผิดเหล่านี้ หนึ่งในนั้นอาจจะเป็นคนที่มีความผิดปกติทางด้านการอ่าน หรือที่เรียกว่า ดิสเล็กเซีย (Dyslexia) อันเป็นความบกพร่องทางการรับรู้มาตั้งแต่เด็กก็เป็นได้ แต่ว่าอาการแบบนี้จะหนักหนามากเพียงใด มีสาเหตุมาจากอะไร เรานั้นควรทำความเข้าใจอย่างยิ่ง เพื่อที่จะได้ไม่เผลอไปซ้ำเติมให้คนที่มีความผิดปกติต้องรู้สึกย่ำแย่ไปกว่าเดิมค่ะ
Dyslexia หรือดิสเล็กเซีย คือความผิดปกติทางด้านการอ่าน อันมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของการทำงานของเซลล์สมองซีกซ้ายในส่วนของระบบประสาทด้านการตีความและความจำระยะสั้น ซึ่งมีมาแต่กำเนิด โดยอาการนั้นจะแสดงให้เห็นชัดในช่วงวัยเรียน เพราะจะไม่สามารถปรับตัวเข้ากับการเรียนได้เท่าที่ควร อีกทั้งยังอาจจะมีผลต่อภาวะอารมณ์ของผู้ป่วยอีกด้วย
ทั้งนี้ก็ยังมีผลการวิจัยว่า โรคดังกล่าวอาจสามารถถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม เพราะอาการนี้มีความเกี่ยวข้องกับความผิดปกติในโครโมโซมตัวที่ 7 แต่ก็ยังไม่มีผลการยืนยันแน่ชัด ไม่เพียงเท่านั้น อาการของโรคดิสเล็กเซียยังสามารถเชื่อมโยงกับโรคทางพันธุกรรมอื่น ๆ ได้อีกด้วย เช่น โรคสมาธิสั้น โรคออทิสติก หรือความบกพร่องทางสติปัญญา ขณะที่สิ่งแวดล้อมภายในบ้านก็อาจทำให้เด็กเกิดความผิดปกติได้อีกด้วย เช่น บ้านที่ไม่มีการส่งเสริมในเรื่องการอ่านหนังสือ หรือผู้ที่มีโอกาสทางการศึกษาน้อย ก็อาจจะมีการพัฒนาของเซลล์สมองที่ไม่ดีเท่าที่ควร และทำให้การเรียนรู้บกพร่องได้
โดยในประเทศไทย ความผิดปกติของโรค Dyslexia ถูกแบ่งออกเป็น 3 ด้านใหญ่ ๆ ดังนี้
1. ความบกพร่องทางด้านการอ่าน (Reading Disorder)
เป็นความผิดปกติที่เกิดกับด้านทักษะการอ่าน ผู้ป่วยจะมีความสามารถในการอ่านต่ำกว่าคนอายุเท่า ๆ กัน โดยอาการที่เห็นได้ชัดคือ จะไม่สามารถอ่านหนังสือได้อย่างคล่องแคล่วเช่นเดียวกับคนทั่วไป หรืออาจจะสามารถอ่านได้แต่ไม่สามารถจับใจความได้ จึงทำให้ผู้บกพร่องทางด้านนี้มีระดับสติปัญญาที่ต่ำกว่าคนอายุเท่า ๆ กันอยู่ประมาณ 2 ระดับชั้นเรียน โดยความบกพร่องนี้จะพบในเด็กมากที่สุด
2. ความบกพร่องทางทักษะการเขียน การสะกดคำ การสร้างคำ หรือการสร้างประโยค (Written expression disorder)
ผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีทักษะในด้านการเขียน การสะกดคำ รวมทั้งการสร้างประโยคที่บกพร่อง โดยจะไม่สามารถสะกดคำได้ถูกต้อง รวมทั้งยังไม่สามารถสร้างประโยคที่มีความหมายเข้าใจได้ หรือเขียนแล้วอ่านไม่รู้เรื่องเป็นต้น โดยอาการนี้สามารถพบร่วมกับความบกพร่องทางด้านการอ่านได้อีกด้วย
3. ความบกพร่องทางด้านทักษะการคำนวณ (Mathematic disorder)
ความบกพร่องนี้เป็นความบกพร่องทำให้ผู้ป่วยขาดทักษะในด้านการคำนวณ และทำให้ไม่เข้าใจถึงกระบวนการในการคำนวณต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น บวก ลบ คูณ หรือหาร โดยผู้ป่วยจะไม่เข้าใจว่า การบวกเลขจะต้องทำอย่างไร ลบออกจะต้องหักออกอย่างไร นอกจากนี้ยังอาจมีบางกลุ่มที่มีปัญหาเรื่องการทดเลข และการตีโจทย์ปัญหา กล่าวคือ สามารถแก้โจทย์เลขบวกลบได้ตามปกติ แต่หากเป็นโจทย์ปัญหาที่เป็นสถานการณ์สมมติ ผู้ป่วยก็จะไม่เข้าใจว่าจะต้องแก้โจทย์อย่างไร
อาการของโรคดังกล่าวมักจะแสดงให้เห็นได้ชัดตั้งแต่ยังเล็ก โดยอาการทั่วไปของผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ก็คือ เด็กจะเริ่มพูดช้ากว่าเด็กคนอื่น ๆ และจะพูดน้อย ไม่สามารถเข้าใจคำว่าซ้าย-ขวาได้ หรือบางครั้งก็อาจจะพูดติดอ่าง
นอกจากนี้เด็กบางคนยังอาจจะมีการเขียนตัวอักษรที่กลับด้าน รวมทั้งในผู้ป่วยบางรายอาจจะมีความพิเศษที่เกินกว่าคนอื่น ๆ เช่น มีความฉลาดสูง หรือมีความสามารถพิเศษทางด้านศิลปะ ด้านกีฬา หากเป็นในผู้ใหญ่ก็อาจจะเป็นผู้ที่มีความสามารถในด้านการออกแบบ การสร้าง การบริหาร หรือการขายที่โดดเด่นมาก แต่ก็จะเป็นผู้ที่มีปัญหาด้านพฤติกรรมต่าง ๆ เช่น ขี้เกียจ สมาธิสั้น มีความนับถือตัวเองต่ำ อีกทั้งยังมีอาการไฮเปอร์ร่วมด้วย หรืออาจจะมีอาการในด้านอื่น ๆ ที่สามารถสังเกตได้ดังนี้
1. ด้านทัศนคติ การอ่าน และการสะกดคำ
โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยที่มีอาการของโรค Dyslexia จะมีอาการที่แสดงถึงความบกพร่อง คือ มักจะมีอาการคลื่นไส้ ปวดหัว ปวดท้องเวลาที่ต้องอ่านหนังสือ ไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับตัวอักษร ตัวเลข คำ วลีสั้น ๆ หรือแม้แต่การอธิบายใด ๆ อีกยังทั้งมีปัญหาในการเรื่องการตีโจทย์ ไม่สามารถเข้าใจได้ว่าปัญหาคืออะไรและต้องแก้ไขอย่างไร รวมทั้งในเรื่องการสะกดคำก็จะมีปัญหาตามไปด้วย
2. การได้ยิน และการพูดจาสื่อสาร
อาการในด้านนี้ที่จะเห็นได้ชัดก็คือ จะได้ยินเสียงมากกว่าคนทั่วไป และทำให้เกิดอาการฟุ้งซ่านได้ง่าย มีปัญหาในด้านการพูด ไม่สามารถพูดให้คนอื่นเข้าใจความหมายได้ รวมทั้งอาจจะมีน้ำเสียงและโทนเสียงสูงต่ำที่ผิดเพี้ยนไปจากปกติ พูดติดอ่างหรือพูดตะกุกตะกัก ขณะที่ในการพูดจาสื่อสารนั้นก็อาจจะพูดไม่จบประโยคอีกด้วย
3. การเขียน และการเคลื่อนไหวร่างกาย
มีปัญหาในด้านการเขียน หรือการคัดลอกข้อความ มีลักษณะการจับดินสอที่ผิดปกติ ลายมือที่เขียนออกมาไม่สามารถอ่านออกได้ อีกทั้งยังอาจมีอาการซุ่มซ่ามกว่าปกติ เกิดอาการสับสนระหว่างซ้าย-ขวา และบน-ล่างอยู่เสมอ
4. ด้านการคำนวณและการจัดการเวลา
ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มีอาการบกพร่องทางการอ่านจะไม่สามารถบอกเวลาได้ อีกทั้งยังไม่สามารถจัดสรรเวลาได้ถูกต้อง มักจะพบว่ามีปัญหาด้านการตรงต่อเวลาอีกด้วย ในเรื่องของการคำนวณ ผู้ป่วยจะสามารถคำนวณโดยการนับนิ้วหรือวิธีอื่น ๆ ได้ แต่จะไม่สามารถเขียนวิธีในการคำนวณลงในกระดาษได้เหมือนคนทั่ว ๆ ไป สามารถนับสิ่งของที่เป็นรูปธรรมได้ แต่จะไม่สามารถนับสิ่งอื่น ๆ ที่ยากกว่าปกติ เช่น การนับเงินได้ เป็นต้น
5. ด้านความจำและความรู้ความเข้าใจ
แม้จะมีความบกพร่องในการอ่านและการสื่อสาร แต่ผู้ที่มีความผิดปกตินี้มักจะมีความจำระยะยาวที่ดีเยี่ยม สามารถจดจำประสบการณ์ สถานที่ และใบหน้าคนได้อย่างแม่นยำ แต่จะมีปัญหาในเรื่องความจำระยะสั้น และมีปัญหาเกี่ยวกับการเรียนรู้สิ่งที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่มีอาการเหล่านี้มักจะคิดถึงสิ่งต่าง ๆ ในรูปแบบของภาพ และความรู้สึก แต่จะไม่สามารถอธิบายออกมาเป็นรูปแบบของเสียงหรือการเขียนได้
6. ด้านพฤติกรรม บุคลิกภาพและสุขภาพโดยรวม
ในด้านพฤติกรรมการวางตัว บุคลิกภาพ ของผู้ที่มีความบกพร่องนี้ จะค่อนข้างเห็นได้ชัดเจน เพราะผู้ป่วยจะมีปัญหาในเรื่องการวางตัวในสังคม และมักจะควบคุมอารมณ์ไม่ค่อยได้ มีพัฒนาการในการเจริญเติบโตที่ผิดปกติ มีความอดทนต่ำ อารมณ์อ่อนไหว แต่ก็มีความมุ่งมั่นที่ชัดเจน ทั้งนี้ในเรื่องของสุขภาพ ผู้ป่วยจะมีความไวต่ออาหาร และสารเคมีทุกชนิด และมีความเสี่ยงในการติดเชื้อที่หูมากกว่าปกติ นอกจากนี้อาจจะยังมีสุขภาพที่ไม่แข็งแรงอีกด้วย
โรคดิสเล็กเซียแม้จะเป็นอาการบกพร่องที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติทางพันธุกรรม แต่ก็สามารถรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์ได้ ด้วยวิธี Phonological Intervention ซึ่งวิธีนี้ยังไม่เป็นที่แพร่หลายสักเท่าไรนัก จึงทำให้วิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการที่ดีขึ้นก็คือ การปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยและคนรอบข้าง โดยเฉพาะต้องเปลี่ยนทัศนคติไม่ว่าจะผู้ป่วยหรือคนรอบข้างว่า ภาวะความบกพร่องนี้ไม่ได้เกิดจากระดับสติปัญญาหรือปัญหาเรื่องความรับผิดชอบ แต่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม อีกทั้งหากเป็นผู้ป่วยที่อยู่ในวัยเรียน
ทางที่ดีไม่ควรนำเด็กไปเรียนรวมกับเด็กปกติ เพราะอาจจะยิ่งทำให้เกิดความกดดันได้ แต่ควรนำเด็กไปเรียนในสถาบันที่มีการเรียนการสอนสำหรับที่บกพร่องโดยเฉพาะ หรืออาจจะจัดการเรียนการสอนด้วยตัวเองที่บ้านตาม พ.ร.บ การศึกษา เพื่อให้เด็กสามารถเรียนรู้และเข้าใจได้โดยไม่ต้องรับแรงกดดันจากคนรอบข้าง
ทั้งนี้ผู้ป่วยที่มีอาการบกพร่องโดยส่วนใหญ่จะมีความถนัดหรือความสามารถพิเศษที่เหนือกว่าเด็กโดยทั่วไป ดังนั้นครอบครัวควรสนับสนุนในเรื่องของความถนัดนั้น ๆ ก็จะช่วยให้ผู้ป่วยมีการพัฒนาที่ดีขึ้น อีกทั้งยังควรหมั่นพาผู้ป่วยไปพบแพทย์และจิตแพทย์เพื่อติดตามอาการและตรวจหาความผิดปกติทางจิตที่อาจเกิดขึ้นจากสภาพจิตใจของผู้ป่วยด้วย และที่สำคัญที่สุด ควรพาผู้ป่วยไปขึ้นทะเบียนเพื่อรับหนังสือรับรองความพิการ เพราะปัญหาความบกพร่องทางการอ่านหนังสือ ถือเป็นความพิการอย่างหนึ่งที่ต้องได้รับการฟื้นฟูและช่วยเหลือตามกฎหมายค่ะ
ความบกพร่องทางการอ่านแม้จะดูเป็นอาการที่ไกลตัว และมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีคนกลุ่มนี้อยู่เลยนะคะ อยากให้ทุกคนเข้าใจว่า เขาก็พยายามที่จะใช้ชีวิตให้เป็นปกติที่สุดเช่นกัน ทางที่ดีหากเริ่มเห็นว่ามีใครที่ใช้คำผิด ๆ หรือเขียนหนังสือผิดก็ไม่ควรจะไปต่อว่าหรือซ้ำเติมเขาจะดีกว่า เพราะเราไม่รู้ว่าเขาคือผู้ที่มีความผิดปกติหรือไม่ และคำต่อว่านั้นอาจจะยิ่งกลายเป็นบาดแผลในใจให้ผู้ที่มีความผิดปกติยิ่งกว่าเดิมก็ได้ แค่เพียงเราตักเตือนและช่วยแก้ไขน่าจะดีกว่า อย่างน้อยสังคมจะได้สงบสุขไร้เรื่องดราม่าค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย
Davis Dyslexia Association International