วิธีดูแลผู้ป่วยไข้เลือดออก ทำถูกวิธี มีสิทธิ์รอดสูง

 
          ไข้เลือดออก โรคที่มียุงเป็นพาหะ หากป่วยแล้วควรต้องดูแลผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกให้ถูกวิธี เพื่อเพิ่มโอกาสรอดชีวิต


 
          โรคไข้เลือดออกเป็นทั้งโรคที่มียุงเป็นพาหะ แถมยังเป็นโรคติดต่อที่ระบาดมากในช่วงหน้าฝน ทำให้มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง และหากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกก็สุ่มเสี่ยงอันตรายจนอาจถึงแก่ชีวิตได้เลยนะคะ ดังนั้นหากคุณหรือคนใกล้ตัวเป็นโรคไข้เลือดออกขึ้นมา ก็ควรศึกษาวิธีดูแลผู้ป่วยไข้เลือดออกอย่างถูกวิธีตามนี้ เพื่อความปลอดภัยที่มากขึ้น

อาการไข้เลือดออก สังเกตได้จากตรงไหนถึงเรียกว่าป่วย

          โดยปกติแล้วอาการไข้เลือดออกจะคล้าย ๆ อาการไข้หวัดธรรมดาเลยล่ะค่ะ เนื่องจากระยะฟักตัวของเชื้อไวรัสยาวนานกว่า 2 สัปดาห์กว่าที่ผู้ป่วยจะมีไข้ ทว่าอาการไข้ของผู้ป่วยไข้เลือดออกมักจะไม่มีอาการไอ ไม่มีน้ำมูกร่วมด้วย ดังนั้นเลยมีคนจำนวนไม่น้อยที่ป่วยไข้เลือดออกแล้วไม่รู้ตัว แต่เมื่อใดก็ตามที่อาการป่วยลุกลามถึงขั้นมีเลือดออกผิดปกติในข­­­ณะที่มีไข้สูงกว่า 39-40 องศาเซลเซียส อาเจียนมาก ปวดท้อง ปัสสาวะออกน้อย มือเท้าเย็น ตัวลาย เหงื่อออกมากในช่วงที่ไข้ลด ลักษณะอาการป่วยตามนี้ให้สงสัยไว้ก่อนว่าป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก และควรต้องรีบไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจเช็กอาการโดยด่วน­­­



 วิธีดูแลผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก

          - พยายามให้ผู้ป่วยอยู่ในที่ที่ปลอดยุง ที่พักของผู้ป่วยควรมีมุ้งลวดหรือกางมุ้งป้องกันยุงให้ผู้ป่วย เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค

          - ควรให้ผู้ป่วยอยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก

          - ให้ผู้ป่วยพักผ่อนมาก ๆ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกบ้าน

          - ดื่มน้ำหรือเกลือแร่ให้เพียงพอ โดยสังเกตดูว่า สีปัสสาวะจะเป็นสีเหลืองอ่อน ๆ หากมีปัสสาวะสีเข้ม ต้องดื่มน้ำเพิ่มขึ้นอีก

          - หมั่นเช็ดตัวผู้ป่วยด้วยผ้าสะอาดชุบน้ำอุ่น เพื่อรักษาอุณหภูมิร่างกายผู้ป่วยให้ต่ำกว่า 39 องศาเซลเซียส และในกรณีที่มีไข้ ห้ามเช็ดตัวหรืออาบน้ำด้วยน้ำเย็นเด็ดขาด เพราะผู้ป่วยอาจมีอาการสั่นได้

          - รับประทานยาลดไข้ด้วยยาพาราเซตามอล ตามขนาดที่แพทย์สั่ง เพราะหากคนไข้รับยาเกินขนาด อาจทำให้เกิดอาการตับอักเสบได้

          - ห้ามใช้ยาแอสไพ­­­รินและยากลุ่ม NSAIDS (เช่น Ibuprofen, Naproxen) เด็ดขาด เนื่องจากยาทั้ง 2 ตัวที่ว่ามีคุณสมบัติต้านการจับตัวเป็นก้อนของเลือด ซึ่งอาจไปกระตุ้นอาการเลือดออกที่เป็นอาการบ่งชี้ของไข้เลือดออ­­­กได้

          - ห้ามฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ และงดใช้ยาอื่น ๆ ที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะยากลุ่มปฏิชีวนะ เนื่องจากเชื้อไวรัสของโรคไข้เลือดออกไม่ใช่เชื้อแบคทีเรีย ดังนั้นยาปฏิชีวนะจึงไม่จำเป็นกับผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเลย

          - รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย รสไม่จัด เช่น ข้าวต้ม แกงจืด ซุปผัก เป็นต้น

          - ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกไม่ควรรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีสีแดง ดำ หรือสีน้ำตาล เนื่องจากเวลาปัสสาวะและอุจจาระอาจทำให้สังเกตได้ยากว่าของเสียที่ผู้ป่วยขับถ่ายออกมามีเลือดปนมาด้วยหรือไม่

          - ควรหมั่นสังเกตปัสสาวะและอุจจาระของผู้ป่วยว่ามีเลือดปนออกมาด้วยหรือไม่



          ในกรณีที่อาการของผู้ป่วยไม่ดีขึ้น ยังคงมีไข้สูงต่อเนื่อง และมีอาการเตือนความรุนแรงของโรคร่วมด้วย ให้รีบพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลโดยด่วน โดยอาการของผู้ป่วยไข้เลือดออกที่ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล มีดังนี้

          - ผู้ป่วยซึมหรืออ่อนเพลียมากขึ้น
 
          - ผู้ป่วยดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารน้อยลง
        
          - รู้สึกคลื่นไส้อาเจียนตลอดเวลา
         
          - ปวดท้องมาก
         
          - มีเลือดออกผิดปกติ เช่น มีเลือดกำเดาไหล อาเจียน หรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำหรือมีเลือดปน
         
          - ปัสสาวะน้อยลง หรือไม่ปัสสาวะเลยภายในระยะ 4-6 ชั่วโมง
         
          - กระหายน้ำตลอดเวลา
         
          - มีพฤติกรรมกระสับกระส่าย หงุดหงิด เอะอะโวยวาย
         
          - คนไข้เด็กอาจร้องกวนตลอดเวลา
         
          - ตัวเย็นชื้น เหงื่อออก สีผิวคล้ำลง ตัวลาย ซึ่งขั้นนี้อาจเริ่มเข้าสู่ระยะช็อก

 การป้องกันโรคไข้เลือดออก

          - แจ้งให้สาธารณสุขในเขตพื้นที่มาฉีดยากันยุง

          - พยายามอย่าให้ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกที่กลับมาพักฟื้นที่บ้านโดนยุงกัดภายในระยะเวลา 5 วันแรก เนื่องจากในระยะนี้ผู้ป่วยจะยังคงมีเชื้อไวรัสโรคไข้เลือดออกหลงเหลืออยูในตัว ซึ่งหากโดนยุงกัดอาจทำให้โรคไข้เลือดออกแพร่กระจายสู่คนในบ้านได้

          - กำจัดลูกน้ำยุงลายรอบ ๆ บริเวณบ้าน อย่าลืมตรวจสอบภายในบ้านให้ดีนะคะว่า มีถ้วยน้ำรองขาโต๊ะหรือน้ำในแจกันที่ไม่ได้ถ่ายทิ้งบ้างหรือเปล­­­่า

          - ติดมุ้งลวดให้แน่นหนา หรืออย่างน้อยควรกางมุ้งกันยุงเวลาจะนอน

          - ป้องกันยุงกัดด้วยการทายากันยุง



ขอบคุณข้อมูลจาก
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
โรงพยาบาลสงขลานครินทร์
โรงพยาบาลวิภาวดี
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิธีดูแลผู้ป่วยไข้เลือดออก ทำถูกวิธี มีสิทธิ์รอดสูง อัปเดตล่าสุด 19 มิถุนายน 2563 เวลา 17:29:21 107,340 อ่าน
TOP
x close