หุ่นดี ๆ เสกมาเองไม่ได้ แต่เราต้องสร้างกล้ามเนื้อด้วยตัวเอง และไม่ว่าจะด้วยการออกกำลังกายหรือใครที่อยากมีกล้ามเร็ว ๆ อาจจะใส่ใจในเรื่องอาหารการกินร่วมด้วย ซึ่งสารอาหารที่จะช่วยสร้างกล้ามเนื้อได้เร็ว ๆ ทุกคนคงรู้ดีว่าคือเจ้าโปรตีน และวันนี้ทาง สสส. ก็ได้แนะนำวิธีการกินโปรตีนเพื่อสร้างกล้ามเนื้ออย่างได้ผลมาฝาก
"โค้ชปุ๊ก" ยลวรณัฏฐ์ จีรัชตกรณ์ ผู้จัดการศูนย์ออกกำลังกาย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช ให้ข้อมูลว่า โปรตีนเป็นสารอาหารที่สำคัญในการเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง และจำเป็นจะต้องมีอยู่ในอาหารทุกมื้อ โปรตีนนอกจากจะไปสร้างมวลกล้ามเนื้อแล้ว ยังป้องกันกระบวนการแคทาบอลิซึมของกล้ามเนื้อ อันเป็นสาเหตุที่ทำให้ใยกล้ามเนื้อถูกทำลาย ซึ่งสารอาหารชนิดนี้ก็ไม่ได้มีอยู่แค่ในเนื้อสัตว์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีอยู่ในอาหารอีกหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นผักใบเขียว ธัญพืช และถั่วชนิดต่าง ๆ
ทั้งนี้ ประโยชน์ของการออกกำลังกายสร้างกล้ามเนื้อ คือ ทำให้ไขมันลดลงจากการเพิ่มมวลกล้ามเนื้อ โดยร่างกายจะมีการเผาผลาญพลังงานเฉพาะแคลอรีหรือไขมันส่วนเกินออกไปได้ดีขึ้น ทำให้น้ำหนักลดลง รูปร่างกระชับได้สัดส่วน และยังช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้แก่ร่างกาย ลดความเสี่ยงในการบาดเจ็บ ปวดหลัง ปวดไหล่ ขณะทำกิจวัตรประจำวันได้
สำหรับเรื่องการลดปริมาณคาร์โบไฮเดรต จะสามารถช่วยสร้างกล้ามเนื้อได้ดีขึ้นหรือไม่
โค้ชปุ๊ก กล่าวว่า หากเราไม่รับประทานคาร์โบไฮเดรต จะทำให้กระบวนการในการนำไขมันส่วนเกินออกมาใช้นั้นไม่มีประสิทธิภาพ การงดคาร์โบไฮเดรต ร่างกายของเราก็จะไม่มีพลังงานมาใช้ ทำให้ร่างกายไปดึงโปรตีนมาใช้แทนจนส่งผลให้การสร้างกล้ามเนื้อไม่มีประสิทธิภาพ ส่วนคาร์โบไฮเดรตที่เราบริโภคควรจะเป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ที่ได้จากแป้งที่ไม่ผ่านการขัดขาว เพราะคาร์โบไฮเดรตจำพวกนี้จะเผาผลาญได้ช้า และให้พลังงานได้ตลอดวัน เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท ข้าวโอ๊ต เป็นต้น
การรับประทานเวย์โปรตีน ในการสร้างกล้ามเนื้อ
เวย์โปร์ตีน เป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่สกัดออกมาจากนม ซึ่งทั้งผู้หญิงและผู้ชายสามารถบริโภคได้ โดยให้ผลเป็นอาหารเสริมที่สร้างมาเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการเสริมโปรตีน แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในมื้ออาหารหลัก ร่างกายได้รับโปรตีนจากเนื้อสัตว์ ไข่ และนมอยู่แล้ว หากร่างกายได้รับปริมาณโปรตีนที่เพียงพอจากมื้อหลักแล้ว ไม่แนะนำให้กินโปรตีนเสริมมากเกินจำเป็น ซึ่งการบริโภคโปรตีนมากเกินไป เป็นระยะเวลานาน ๆ อาจมีผลข้างเคียงที่รุนแรง เช่น โรคกระดูกพรุน ความเสียหายที่ตับและไตอย่างรุนแรงได้
โค้ชปุ๊ก ย้ำว่า การรับประทานโปรตีนในทุกประเภท สามารถช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อได้ แต่ต้องควบคู่กับการฝึกกล้ามเนื้อไปด้วย หากฝึกไม่สม่ำเสมอ ก็ต้องใช้เวลานานมากกว่ากล้ามเนื้อจะแข็งแรง โดยการฝึกก็มีหลากหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับว่าต้องการฝึกกล้ามเนื้อบริเวณไหน และต้องการกล้ามเนื้อแบบไหน
สำหรับการคำนวณค่า BMI เป็นสิ่งสำคัญที่จะบ่งบอกในเรื่องภาวะโภชนาการ แต่ในนักกีฬาหรือผู้ออกกำลังกายสร้างกล้ามเนื้อไม่เหมาะกับการคำนวณค่า BMI เนื่องจากน้ำหนักของนักกีฬาเป็นน้ำหนักจากกล้ามเนื้อมากกว่าไขมัน หากคำนวณด้วยค่า BMI โดยใช้น้ำหนักตัว/ความสูง ยกกำลังสอง ผลที่ได้ก็จะทำให้เกินเกณฑ์มาตรฐานดัชนีมวลกาย
นอกจากนี้ การนอนหลับอย่างเพียงพอจะส่งผลถึงกล้ามเนื้อ เพราะในช่วงเวลาที่เรานอนหลับนั้น กล้ามเนื้อของเราที่ถูกใช้งานอย่างหนักจะได้รับการฟื้นฟู ใยกล้ามเนื้อที่เสียหายจากการฝึกกล้ามเนื้อก็จะได้รับการซ่อมแซม ซึ่งถ้าหากเรานอนหลับไม่เพียงพอ ก็อาจจะทำให้กล้ามเนื้อของเราเกิดอาการเมื่อยล้าและอาจจะทำให้กล้ามเนื้อไม่แข็งแรงได้
โค้ชปุ๊กยังกล่าวถึงกระแสในโลกโซเชียล เรื่องของท่าออกกำลังกาย เช่น ลดน่อง ลดแขน ต้นขาภายในเวลาสั้น ๆ เพียง 5 นาทีว่า อย่าหลงเชื่อ เพราะการออกกำลังกายทุกประเภทต้องอาศัยเวลา ไม่มีทางเห็นผลได้ชัดทันที นอกจากนี้การออกกำลังกายที่เน้นความรวดเร็วจนเกินร่างกายรับไหว อาจทำให้มีอันตรายจากการบาดเจ็บตามมามากมาย สิ่งสำคัญคือ ประสิทธิภาพของการออกกำลังต้องใช้เวลาและใส่ใจ ควรเลือกการออกกำลังกายให้เหมาะกับตัวเอง สร้างวินัยโดยปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารอย่างถูกต้องเท่านี้ก็เพียงพอแล้ว
"การออกกำลังกายทุกรูปแบบเปรียบได้กับยาสารพัดประโยชน์ แต่ก็ต้องเลือกชนิด ความหนัก ความนาน และความบ่อยของการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับเพศ วัย สภาพร่างกาย สภาพแวดล้อม และจุดประสงค์ของแต่ละคน จึงจะถือเป็นการออกกำลังเพื่อสุขภาพอย่างแท้จริง" โค้ชปุ๊ก กล่าวทิ้งท้าย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
โดยกิดานัล กังแฮ