เจ็บหน้าอก ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น เช็กให้เน้น ๆ ระวังหัวใจขาดเลือด

อาการเจ็บหน้าอก

          อาการเจ็บหน้าอก อย่าคิดว่าเจ็บนิด ๆ ไม่มีความหมาย หากปล่อยทิ้งไว้จนเป็นหนัก อาจทำให้ถึงขั้นกล้ามเนื้อหัวใจตายได้เลยนะ

          โรคหัวใจ โรคอันตรายที่คร่าชีวิตคนมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก หลายคนคิดว่าโรคนี้เป็นภัยเงียบที่แทบจะไม่มีสัญญาณใด ๆ เตือนล่วงหน้า ทั้ง ๆ ที่จริงแล้วสัญญาณเหล่านั้นเราสามารถสังเกตได้ง่ายมากเลยเชียวล่ะ อย่างเช่นอาการเจ็บหน้าอก ไม่ต้องถึงกับเจ็บมากจนทนไม่ไหวก็อาจจะเป็นสัญญาณของโรคหัวใจขาดเลือดได้เหมือนกัน อย่างที่นิตยสารหมอชาวบ้าน จะพาไปทำความเข้าใจกับโรคนี้ผ่านตัวอย่างผู้ป่วยเคสหนึ่งที่น่าสนใจกันค่ะ อย่างน้อยแม้เราจะอาจไม่สามารถป้องกันตัวเองจากโรคนี้ได้ 100 % แต่ก็จะสามารถสังเกตอาการเพื่อให้การรักษาทำได้ทันท่วงที ดีกว่าปล่อยให้สายเกินแก้ค่ะ

อาการเจ็บหน้าอก

ตัวอย่างผู้ป่วย

          ชายไทยวัยกลางคนคนหนึ่งไปที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ที่มีชื่อเสียงมากแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร เมื่อต้นปี 2558 ด้วยอาการเจ็บอกมา 2-3 ชั่วโมง

          ในปัจจุบัน ผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่เข้าห้องฉุกเฉินด้วยอาการเจ็บอก มักจะได้รับการดูแลอย่างเร่งด่วนในระบบ  “ทางด่วน” หรือ “fast track” เพื่อการรักษาอย่างเจาะจงที่จะสลายก้อนเลือดที่อุดตันหลอดเลือดหัวใจได้ทันเวลา เพื่อไม่ให้กล้ามเนื้อหัวใจตายมากขึ้น จากการขาดเลือดอยู่นาน ถ้าอาการเจ็บอกนั้นเกิดจากอาการเจ็บหัวใจจากการขาดเลือด”

          ผู้ป่วยรายนี้จึงได้รับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) และการตรวจเลือดดู cardiac troponin (สารเคมีชนิดหนึ่งที่มักถูกปล่อยออกมาอย่างรวดเร็วสู่กระแสเลือดเมื่อกล้ามเนื้อหัวใจเริ่มตาย)

          คลื่นหัวใจของผู้ป่วยรายนี้ค่อนข้างจะปกติ แต่ cardiac troponin สูงขึ้นเล็กน้อย แพทย์ประจำบ้านห้องฉุกเฉินจึงคิดว่า ผู้ป่วยน่าจะมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (acute myocardial infarction) จึงปรึกษาแพทย์ประจำบ้านหน่วยโรคหัวใจ ซึ่งก็เห็นด้วย และนำผู้ป่วยไปสวนหัวใจ เพื่อขยาย (balloon) หลอดเลือดหัวใจที่ตีบนั้น แต่การสวนหลอดเลือดหัวใจกลับพบว่า หลอดเลือดหัวใจทุกเส้นปกติดี ไม่มีการตีบหรืออุดตัน

          ผู้ป่วยจึงถูกส่งตัวเข้านอนพักดูอาการในหอผู้ป่วย นักศึกษาแพทย์ปีที่ 4 ที่ได้รับมอบหมายให้ร่วมรับผิดชอบในการดูแลผู้ป่วย จึงได้ซักประวัติและตรวจร่างกายผู้ป่วย และพบว่า ที่ผู้ป่วยบอกว่า ”เจ็บอก” นั้น แท้จริงแล้วเป็นอาการเจ็บที่ท้องส่วนบนในบริเวณที่ชาวบ้านจำนวนมากเรียกว่า “ยอดอก” หรือบริเวณลิ้นปี่ และพบว่าผู้ป่วยมีอาการไม่สบาย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ ไม่ถ่ายอุจจาระ และเจ็บในท้องด้วยประมาณ 1-2 วัน ก่อนมาโรงพยาบาล
 
          เมื่อตรวจร่างกายก็พบว่า การกดหน้าท้องของผู้ป่วยจะทำให้ผู้ป่วยเจ็บ และถ้ากดแล้วปล่อยทันทีจะทำให้ผู้ป่วยเจ็บมากขึ้นจนสะดุ้ง (rebound tenderness) จึงรีบแจ้งแพทย์ประจำบ้านศัลยศาสตร์ แล้วผู้ป่วย ก็ถูกนำไปผ่าตัดในเวลาต่อมา และพบว่าเป็น “โรคไส้ติ่งอักเสบ” ที่กำลังจะแตกพอดี

          ตัวอย่างผู้ป่วยรายนี้ ทำให้ผู้ที่เป็นแพทย์หรือกำลังจะเป็นแพทย์พึงตระหนักอยู่เสมอว่า ประวัติของการเจ็บป่วยและการตรวจร่างกายให้ละเอียดครบถ้วนทุกระบบมีความสำคัญมากสำหรับการวินิจฉัยโรค ยิ่งกว่าการตรวจทางห้องปฏิบัติมากนัก

อาการเจ็บหน้าอก

          แพทย์จำนวนมากในปัจจุบันกลับไปสนใจและใส่ใจผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการมากกว่า

          แต่เป็นที่น่าเสียใจที่ในยุคปัจจุบัน แพทย์จำนวนมากกลับละเลยที่จะซักประวัติและตรวจร่างกายให้ละเอียดครบถ้วน และทักษะ (ความชำนาญ) ในการซักประวัติและตรวจร่างกายได้อย่างถูกต้องครบถ้วน กำลังจะหมดไป เพราะแพทย์จำนวนมากในปัจจุบันกลับไปสนใจกับผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการมากกว่า ดังในกรณีผู้ป่วยข้างต้น ทั้งแพทย์ประจำบ้านห้องฉุกเฉินและแพทย์ประจำบ้านหน่วยโรคหัวใจต่างก็ไปให้ความสำคัญกับผลการตรวจเลือด cardiac troponin (ซึ่งเป็นผลบวกเท็จ false positive) จนเข้าใจผิดว่า ผู้ป่วยเป็น “โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน” ในระยะแรก ๆ ที่การสวนหัวใจและขยายหลอดเลือดหัวใจจะเป็นการรักษาที่ดีที่สุด

          เคราะห์ดีที่นักศึกษาแพทย์ปีที่ 4 ซึ่งต้องซักประวัติและตรวจร่างกายให้ครบถ้วนทุกระบบเพื่อเขียนรายงานส่งอาจารย์ ได้ประวัติและผลการตรวจที่ถูกต้อง จึงนำไปสู่การวินิจฉัย และการรักษาโรคที่ถูกต้อง ทำให้ผู้ป่วยหายจากการเจ็บป่วย มิฉะนั้นอาจเกิดอาการกำเริบรุนแรงจากภาวะไส้ติ่งแตกจนถึงแก่ชีวิตได้



          ในปัจจุบัน ประชาชนจำนวนมากรวมทั้งแพทย์และพยาบาลจำนวนมากกลัว “โรคหัวใจ” โดยเฉพาะโรคหัวใจที่อาจทำให้เสียชีวิตเฉียบพลัน (heart attack) ทำให้เวลามีอาการ “เจ็บอก” มักจะคิดว่าเป็นอาการ “เจ็บหัวใจจากการขาดเลือด” (ischemic cardiac pain หรือ ANGINA) จึงมักไปหาแพทย์โรคหัวใจ และแพทย์โรคหัวใจบางคนที “หวังดีแต่ประสงค์ร้าย” มักจะนำผู้ป่วยไปตรวจพิเศษต่าง ๆ นานา แม้กระทั่งการลงเอยด้วยการสวนหัวใจซึ่งการตรวจพิเศษบางอย่าง เช่น การ “วิ่งสายพาน” (TREADMILL EXERCISE) การสวนหัวใจเป็นต้น มีอันตรายถึงชีวิตได้

          อาการ “เจ็บอก” อาจจะใช่หรือไม่ใช่ “อาการเจ็บหัวใจจากการขาดเลือด” (อาการ “เจ็บหัวใจฯ”) ก็ได้ โดยทั่วไปคนที่จะเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากการขาดเลือดเพราะหลอดเลือดหัวใจตีบมักมีอาการ “เจ็บหัวใจฯ” นำมาก่อนเสมอ

          อาการ “เจ็บหัวใจฯ” เป็นอาการที่จะวินิจฉัยได้จากประวัติของการเจ็บเป็นสำคัญ เพราะการตรวจร่างกายและการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจส่วนใหญ่ (เกือบทั้งหมด) จะเป็นปกติ การตรวจเลือดดูสารเคมีจากหัวใจ (CARDIAC ENZYMES) ทั้งหมดจะปกติ ดังนั้นแพทย์และประชาชนทั่วไปจึงควรรู้จักอาการ “เจ็บหัวใจฯ” ว่าเป็นอย่างไร จะได้ไม่ผิดพลาดดังกรณีตัวอย่างผู้ป่วยข้างต้น

          การวินิจฉัยว่า อาการ "เจ็บอก" ที่เป็นอยู่นั้นว่า "น่าจะใช่" หรือ "น่าจะไม่ใช่" อาการ "เจ็บหัวใจฯ" ได้แสดงในตารางต่อไปนี้ ถ้ามีลักษณะ "น่าจะใช่" หลายข้อ และมีลักษณะ "น่าจะไม่ใช่" เลย อาการเจ็บอกดังกล่าวน่าจะใช่อาการ "เจ็บหัวใจฯ"
 

 
          อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่ให้ประวัติได้ไม่ชัดเจน (คนชรา คนสมองเสื่อม ฯลฯ) ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน เป็นต้น อาจต้องใช้การตรวจพิเศษอื่น ๆ เพื่อยืนยัน อาการ "เจ็บหัวใจ"

          เพื่อสุขภาพที่ดีแล้ว ไม่ใช่แค่เพียงการป้องกันตั้งแต่เนิ่น ๆ เท่านั้นที่สำคัญ แต่การเรียนรู้ และสังเกตอาการที่ควรจะมีร่วมด้วย เพราะหากเราชะล่าใจว่าตนเองดูแลสุขภาพดีแล้วแต่ละเลยกับอาการเล็ก ๆ น้อย ๆ สิ่งที่ไม่คาดฝันที่อาจได้รับอาจจะต้องแลกมากับความเจ็บปวดทรมานแสนสาหัส ไม่คุ้มกันเลย


ขอขอบคุณข้อมูลจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เจ็บหน้าอก ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น เช็กให้เน้น ๆ ระวังหัวใจขาดเลือด อัปเดตล่าสุด 5 สิงหาคม 2558 เวลา 16:38:27 22,369 อ่าน
TOP
x close