x close

9 วิธีพูดถึงเรื่อง "ความตาย" ให้ผ่อนคลายยิ่งขึ้น

วิธีพูดเรื่องความตาย

          เรื่องความตายเป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากพูดถึง เพราะอาจทำให้บรรยากาศการสนทนาดูอึมครึม แต่ถ้าเรามองว่านี่เป็นเรื่อง "ธรรมดา" ของสรรพสิ่งที่ล้วนมีเกิด มีดับ ก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาคุยกัน


          การสูญเสียที่เรียกว่า "ความตาย" เป็นสิ่งที่มีใครหยิบเรื่องนี้มาเป็นประเด็นในวงสนทนาเสียเท่าไร ทั้ง ๆ ที่ต่างก็เป็นสิ่งใกล้ตัวพวกเรากว่าที่คิด และอาจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิดอีกด้วย ดังนั้นการพูดถึงเรื่องนี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ควรจะมีวิธีพูดอย่างมีหลักการเพื่อไม่ให้เรื่องเหล่านี้กลายเป็นเรื่องที่ทำให้รู้สึกหดหู่กันเสียเปล่า ๆ เว็บไซต์ สสส. มีข้อแนะนำดี ๆ มาบอกกันค่ะ 

          เมื่อพูดถึง "ความตาย" คนส่วนใหญ่อาจจะยังรู้สึกว่าเป็นเรื่องอัปมงคล จึงหลีกเลี่ยงที่จะกล่าวถึงหรือนำมาพูดคุยกัน ในขณะที่วงสนทนาของแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายกลับมีความเห็นว่า "หากใครที่ได้ลองคิด ลองคุยถึงความตาย และมีการวางแผนชีวิตในช่วงวาระสุดท้ายได้ดี ก็มีโอกาสที่คน ๆ นั้นจะสามารถจากโลกนี้ไปได้อย่างสงบ"

          เมื่อทราบดังนี้แล้ว "คุณเอกภพ สิทธิวรรณธนะ" ผู้จัดการโครงการความตายพูดได้ เครือข่ายพุทธิกา จึงให้คำแนะนำถึงวิธีการพูดคุยเรื่องความตายไว้ 9 ข้อ ดังต่อไปนี้

วิธีพูดเรื่องความตาย

ปรับเปลี่ยนทัศนคติ

          วิธีพูดถึงความตายนั้น ก่อนอื่นผู้พูดจะต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติเสียก่อน อย่าเพิ่งกลัวที่จะพูดเรื่องนี้ เพราะความเกร็ง ความกลัว จะทำให้คนพูด หรือขณะพูด มีรังสีหรือบรรยากาศแปลก ๆ และเครียดจนเกินไป
 
          “ผู้พูดจะต้องรู้สึกว่ากำลังพูดเรื่องธรรมดาของชีวิต ไม่ใช่เรื่องอัปมงคล จะช่วยทำให้บรรยากาศเป็นไปได้ด้วยดี ผ่อนคลายมากขึ้น ในขณะที่ผู้ฟังเองก็อาจจะอยากคุยเรื่องนี้กับเราอยู่แล้วก็ได้ แต่อาจจะเกร็ง และไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นพูดยังไงก่อนดี โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ อาจจะคิดถึงเรื่องนี้อยู่บ้างแล้ว” คุณเอกภพอธิบาย

ใช้บรรยากาศ และสถานการณ์แวดล้อม

          ยกตัวอย่างเช่น ตอนที่ไปร่วมงานศพ หรืองานรวมญาติ ทำบุญกระดูก เป็นต้น โดยวิเคราะห์จากสถานการณ์ว่าพอจะเอื้อให้เราพูดคุยถึงเรื่องความตายได้หรือไม่ หรือแม้แต่การไปเยี่ยมญาติมิตรในโรงพยาบาล ถือเป็นบรรยากาศที่พอจะทำให้เราเปิดประเด็นพูดคุยเรื่องนี้ได้ และการพูดเรื่องความตายก็น่าจะง่ายขึ้น

วิธีพูดเรื่องความตาย

ตั้งประเด็นคำถาม

          คุณเอกภพอธิบายต่อว่า พอมีจังหวะก็อาศัยจังหวะเหล่านี้ใช้คำถามที่เป็นประเด็นสนทนาเรื่องความตาย เช่น ถ้าเป็นงานศพก็อาจจะถามว่า

          “คุณรู้จักคนที่ตายไหม? เขาตายยังไง? การตายของเขาเป็นยังไง? ถ้าเป็นงานศพเราล่ะ จะจัดงานแบบไหน?” หรือถ้าเป็นงานรวมญาติก็อาจจะพูดถึงบรรพบุรุษสมัยที่มีชีวิตอยู่ว่า “ท่านดูแลสุขภาพยังไง? ท่านเสียชีวิตอย่างไร? ซึ่งก็มีหลายคำถามที่สามารถพูดคุยเปิดประเด็นพูด คุยกันได้


เป็นผู้ฟังที่ดี

          ทีนี้พอถามแล้ว เราก็ต้องเป็นผู้ฟังที่ดีด้วย ซึ่งการตั้งใจฟัง มีสติ ก็เป็นการเปิดโอกาสที่คนที่เราคุยด้วย ได้พูดคุยได้แสดงความคิดเห็นออกมาตามที่เขาได้คิด อย่างเป็นอิสระทำให้การพูดคุยไหลลื่น คุยกันได้มากขึ้น

ยอมรับและตั้งสติ

          เราอาจจะกลัวว่าคนที่เราพูดด้วยนั้นอาจรู้สึกเป็นกังวล เศร้าเสียใจ หรือร้องไห้ แต่ความกังวลเหล่านี้ที่จะทำให้เราไม่กล้าเปิดใจ เพราะกลัวว่ารับมือกับความรู้สึกสะเทือนใจไม่ได้ ก็ให้ “ตั้งสติ” ว่ามันอาจจะเกิดเหตุแบบนี้ได้ทุกเมื่อให้เตรียมใจรับมือ ยอมรับว่ามันกำลังจะเกิดขึ้น โดยไม่เร่งรัดให้หยุดยั้งอารมณ์เร็วจนเกินไป ไม่ดุด่าว่ากล่าวว่า อย่าร้องไห้ หรือบอกว่ามันไม่ดี

          แม้กระทั่งถ้าจะมีจังหวะที่เงียบบ้างก็ไม่เป็นไร ปล่อยให้จังหวะนี้เกิดขึ้นได้ บางทีเราสามารถใช้จังหวะนี้ในการบอกรักหรือว่าจับมือ ให้การสัมผัส ให้ความเชื่อมั่นว่าเราจะอยู่เคียงข้างกัน และดูแลกันไปจนตลอดรอดฝั่ง นี่ก็เป็นวิธีการ รับมือกับอารมณ์เหล่านี้ด้วยเหมือนกัน

ส่งสัญญาณเตือน

          บางทีเราก็จำเป็นต้องพูดเรื่องเหล่านี้ เพราะอาจจะต้องบอกข่าวร้าย หรือต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญ ดังนั้นก่อนจะพูด ต้องส่งคำเตือนก่อนว่าเราจะพูดเรื่องสำคัญ เช่น นัดหมายว่าจะคุยเรื่องสำคัญ บอกด้วยน้ำเสียงที่จริงจังแตกต่างออกไปว่าจะคุยเรื่องความเป็นความตาย หรือเรื่องที่จริงจังในชีวิต และนัดหมายเวลา สถานที่ ส่งสัญญาณให้คนที่เราอยากจะคุยด้วยให้เขาทำใจเอาไว้

ใช้เกมเดาใจ

          ผู้พูดสามารถชวนคุยโดยการเล่นเกมเดาใจ โดยการตั้งคำถามว่า ถ้าเกิดสถานการณ์แบบนี้ คุณจะทำอย่างไรกับฉัน เช่น ถ้าวันหนึ่งพบว่าฉันนอนยิ้ม หลับตาและหยุดหายใจไปแล้ว ตัวยังอุ่นอยู่ ให้ลองเดาใจว่าฉันอยากให้เธอพาไปโรงพยาบาลไหม หรืออาศัยจังหวะให้ฉันหลับตายไปเลยตอนนั้น จากนั้นก็ลองให้อีกฝ่ายเดาใจว่าเขาคิดว่าเราต้องการแบบไหน ก็เน้นย้ำหรือผลัดกันถาม ก็จะเป็นการบอกความต้องการว่าในสถานการณ์วิกฤติต่าง ๆ แต่ละคนต้องการอะไร ถึงแม้จะเดาผิด เดาถูกก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยก็ได้คุยกัน ทำความเข้าใจกัน

วิธีพูดเรื่องความตาย

เขียน Living Will

          หนังสือแสดงเจตนาเลือกวิธีการรักษาในช่วงระยะท้ายของชีวิต ซึ่งสามารถใช้แบบฟอร์มของ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ก็ได้ หรือเขียนเองตามแนวคำถามก็ได้

ใช้สื่อหรือเครื่องมืออื่น ๆ

          อาจจะเป็นการดูหนังที่มีประเด็นเกี่ยวข้องเหล่านี้ หรือว่าอ่านหนังสือที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและความตายซึ่งปัจจุบันมีตัวเลือกเพิ่มขึ้นมากมาย ทางเครือข่ายพุทธิกาได้จัดทำเครื่องมือออกมา 2 ชิ้น อันแรกคือ แอพพลิเคชั่นนับเวลาถอยหลังชีวิต ชื่อ Life Countdown หรือเคาท์ดาวน์ชีวิต และสองคือ เกมไพ่ ไขชีวิต ซึ่งจะมีการ์ดคำถาม นำเรื่องชีวิตและความตาย มาคุยกันผ่านประเด็นต่าง ๆ เช่น การเงิน การดูแลสุขภาพ การขอโทษและให้อภัย เป็นต้น

          คุณเอกภพทิ้งท้ายว่า สำหรับข้อปฏิบัติเหล่านี้สามารถนำไปใช้กับญาติมิตรพี่น้อง มิตรสหายทุกคนได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงดี หรือผู้ที่อาจมีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย และแม้แต่ผู้ป่วยหนัก ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับจังหวะเวลาและสภาพจิตใจของคนที่เราจะชวนคุยดูว่าเป็นยังไงและอ่อนไหวแค่ไหน

          เมื่อทุกคนสามารถพูดคุยและยอมรับได้ว่าความตายเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต เมื่อเจอวิกฤต เช่น ข่าวร้ายหรืออาจจะต้องเลือกวิธีการรักษา คนเหล่านั้นจะตั้งสติได้เร็ว รวมไปถึงมีวิธีการรักษา วิธีการปฏิบัติต่อผู้ป่วยอย่างมีสติ และนำมาสู่การตัดสินใจที่มั่นคง เหมาะกับผู้ป่วย ไม่ตื่นตระหนกตกใจ และรับมือสถานการณ์ได้ดีขึ้น
 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

โดย ภาวิณี เทพคำราม


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
9 วิธีพูดถึงเรื่อง "ความตาย" ให้ผ่อนคลายยิ่งขึ้น อัปเดตล่าสุด 26 สิงหาคม 2558 เวลา 16:13:19 6,724 อ่าน
TOP