x close

ฮีตเวฟ ... คลื่นความร้อนที่ควรระวัง




เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

            ด้วยสภาพอากาศแปรปรวนอย่างหนัก อันเป็นผลจากความวิปริตแปรปรวนของปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้อุณหภูมิแทบจะทุกตารางนิ้วของประเทศไทยพุ่งพรวดเหยียบ 40 องศาเซลเซียส ติดต่อกันมาหลายวัน ส่งผลให้อากาศร้อนอบอ้าวผิดปกติ โดยเฉพาะที่จังหวัดลำปาง อุณหภูมิสูงถึง 43 องศาเซลเซียส ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน 

            นอกจากนี้ ยังส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจาก "ภาวะคลื่นความร้อน" หรือ "ฮีตเวฟ" ไปแล้วหลายราย ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าประเทศไทยกำลังเผชิญกับปรากฏการณ์ "ฮีตเวฟ" อย่างหนัก 

            เอ่ยมาถึงตรงนี้หลายคนอาจสงสัยและยังไม่รู้ว่า "ฮีตเวฟ" คืออะไร น่ากลัวอย่างไร วันนี้กระปุกดอทคอมมีคำตอบดี ๆ มาอธิบายกันค่ะ...

            ภาวะคลื่นความร้อน หรือ ฮีตเวฟ (Heat wave) หมายถึง อากาศร้อนจัดที่สะสมอยู่พื้นที่บริเวณหนึ่ง แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ

            - แบบสะสมความร้อน เกิดในพื้นที่ซึ่งสะสมความร้อนเป็นเวลานาน อากาศแห้ง ลมนิ่ง ทำให้ความร้อนจากแสงอาทิตย์ไม่เคลื่อนที่ เมื่ออุณหภูมิร้อนสะสมหลายวันจะเกิดคลื่นความร้อนมากขึ้น เช่น หากพื้นที่ไหนมีอุณหภูมิ 38-41 องศาเซลเซียส แล้วไม่มีลมพัดต่อเนื่อง 3-6 วัน ไอร้อนจะสะสมจนกลายเป็นคลื่นความร้อน

            - แบบพัดพาความร้อน ซึ่งคลื่นความร้อนชนิดนี้เกิดจากลมแรงหอบความร้อนจากทะเลทราย ขึ้นไปในเขตหนาว ซึ่งมักเกิดในยุโรป

            ทั้งนี้ ประเทศไทยเรียกว่าแทบจะไม่มีโอกาสเกิด "คลื่นความร้อน" หรือ "ฮีตเวฟ" ได้เลย เนื่องจากไม่ได้ตั้งอยู่ในพื้นที่มีมวลอากาศร้อนจัด ประกอบกับไม่มีทะเลทราย นอกจากนี้ ฮีทเวฟจะเกิดได้ก็ต่อเมื่ออุณหภูมิร้อนเกิน 40 องศาต่อเนื่องกันหลายสัปดาห์ แต่สภาพอากาศของไทยมีมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนแผ่ลงมาทุก 7-10 วัน ทำให้เกิดฝนตก ช่วยลดอุณหภูมิไม่ให้ไต่ระดับสูงถึงขั้นเป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่ปี 2553 ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น อันเนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญ่ ทำให้ฤดูร้อนปีนี้ของประเทศไทยอุณหภูมิเฉลี่ย 42-43 องศา ทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านโลกร้อนยืนยันว่า ไทยเสี่ยงต่อปรากฏการณ์ "ฮีตเวฟ" เป็นอย่างมาก

            เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.สมิทธ ธรรมสโรช ประธานมูลนิธิเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวว่า สภาพอากาศของไทยช่วงนี้มีความแปรปรวนสูง โดยเฉพาะอากาศร้อนจัดและที่มีแนวโน้มจะร้อนเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นเรื่องอันตรายอย่างยิ่ง เพราะอุณหภูมิสูงติดต่อกันเกิน 3 วันขึ้นไปจะทำให้เกิด "คลื่นความร้อน" และคนที่ได้รับคลื่นความร้อนอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ และตามรายงานมีผู้เสียชีวิตจากความร้อนแล้ว 15 คน ซึ่งถือว่าเยอะเป็นประวัติการณ์ จึงขอฝากบอกไปยังกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้รีบออกประกาศเตือนภัย เพราะหากปรับสภาพร่างกายไม่ทัน อาจทำให้หัวใจวายและเสียชีวิตในที่สุด หากทุกคนยังไม่ตระหนักถึงเรื่องนี้ แนวโน้มความรุนแรงของสภาพอากาศจะยิ่งสูงขึ้นอีกในปีต่อ ๆ ไป โดยเฉพาะในปี 2554 จะมีปรากฏการเอลนินโญ่เกิดขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิก ก็ยิ่งจะทำให้สภาพอากาศเลวร้ายและประชาชนจะต้องประสบกับปัญหาภัยแล้ง และเผชิญกับคลื่นความร้อนที่รุนแรงมากขึ้นอีก

            อย่างไรก็ตาม ไม่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้นที่กำลังเผชิญหน้ากับ "ฮีตเวฟ" อันเนื่องมาจากผลของภาวะโลกร้อน เพราะทั่วโลกก็กำลังได้รับผลกระทบเหมือน ๆ กัน ซึ่งทำให้เกิดคำถามตามมาว่า ... ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะหันมาศึกษาและป้องกันภัยจาก "ภาวะโลกร้อน" อย่างจริงจัง

      สำหรับวิธีปฏิบัติตัวเพื่อบรรเทาความร้อน ได้แก่...

            1. ให้หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดที่ร้อนจัด พยายามอยู่ในที่ร่มโดยเฉพาะเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว

            2. ให้ดื่มน้ำมาก ๆ ไม่น้อยกว่าวันละ 8 แก้ว หรือ 2 ลิตรต่อวัน มีวิธีสังเกตง่าย ๆ ว่าร่างกายได้รับน้ำเหมาะสมหรือไม่ คือสังเกตจากสีของปัสสาวะ ถ้าปัสสาวะมีสีเหลืองจาง ๆ แสดงว่าได้รับน้ำเพียงพอ แต่ถ้าปัสสาวะสีเหลืองเข้มและปัสสาวะออกน้อย แสดงว่าได้รับน้ำไม่เพียงพอ จะต้องดื่มน้ำให้มาก ๆ

            3. หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้ง

            4. หากร้อนจัดแล้วเหงื่อไม่ออกให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว เพื่อระบายความร้อนในตัวออกมา และเป็นการลดความร้อนออกจากร่างกาย

            5. หากมีอาการของโรคลมแดด คืออาการกระหายน้ำ ตัวร้อนแต่ไม่มีเหงื่อออก หายใจถี่ ปากคอแห้งและอาจวิงเวียนศีรษะ ขอให้รีบไปพบแพทย์




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ฮีตเวฟ ... คลื่นความร้อนที่ควรระวัง อัปเดตล่าสุด 18 เมษายน 2555 เวลา 17:23:38 17,990 อ่าน
TOP